บทที่ 4
พระเยโฮวาห์ทรงสร้างโลก
คำนำ
“พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก” กล่าวว่า “ภายใต้การกำกับดูแลของพระบิดา [พระเยซูคริสต์] ทรงเป็นพระผู้สร้างของแผ่นดินโลก ‘พระเจ้าทรงสร้างสรรพสิ่งขึ้นมาโดยพระวาทะในบรรดาสิ่งที่เป็นอยู่นั้น ไม่มีสักสิ่งเดียวที่เป็นอยู่นอกเหนือพระวาทะ’ (ยอห์น 1:3)” (เลียโฮนา, เม.ย. 2000, 2) เมื่อนักเรียนเข้าใจจุดประสงค์นิรันดร์ของการสร้างโลก พวกเขาสามารถดำเนินชีวิตด้วยความตั้งใจมากขึ้นเพื่อทำให้จุดประสงค์ในการสร้างของพวกเขาเกิดสัมฤทธิผล
ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน
-
รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “การสร้าง,” เลียโฮนา, ก.ค. 2000, 108–111.
-
ถ้ามีในภาษาของท่าน ท่านอาจจะอ่าน นีล เอ. แม็กซ์เวลล์, “Our Creator’s Cosmos,” ใน By Study and by Faith: Selections from the Religious Educator, ed. Richard Neitzel Holzapfel and Kent P. Jackson (2009), 37–50.
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
ปฐมกาล 1:1; ยอห์น 1:1–3; ฮีบรู 1:1–2; เจคอบ 4:9; หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:1–3; 76:22–24; 104:14–17; โมเสส 1:30–33; 2:1
พระเยโฮวาห์ทรงสร้างโลก
ให้ดูสิ่งของชิ้นหนึ่งที่มีคนทำให้ท่าน (อาจจะเป็นของขวัญชิ้นหนึ่ง) แบ่งปันกับชั้นเรียนถึงความรู้สึกที่ท่านมีต่อสิ่งของชิ้นนั้นและต่อคนทำ จากนั้นให้ถามว่า
-
มีคนทำบางสิ่งบางอย่างให้ท่านเมื่อใด ท่านรู้สึกอย่างไรต่อคนนั้น
เชื้อเชิญนักเรียนให้เปรียบเทียบ ปฐมกาล 1:1; ยอห์น 1:1–3; เอเฟซัส 3:9; ฮีบรู 1:1–2; และ โมเสส 2:1 ขอให้นักเรียนเขียนความคล้ายคลึงและความแตกต่างที่พวกเขาสังเกตเห็นระหว่างข้อเหล่านี้ไว้บนกระดาน (หมายเหตุ: ขณะที่นักเรียนเปรียบเทียบข้อพระคัมภีร์ หลักคำสอนและหลักธรรมจะชัดเจนขึ้น) จากนั้นให้ถามว่า
-
ตามที่กล่าวไว้ในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ ใครสร้างโลก (เน้นว่า พระเยโฮวาห์ทรงสร้างแผ่นดินโลกภายใต้การกำกับดูแลของพระบิดา หรือตามที่เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอน “[พระบิดาบนสวรรค์] ทรงเป็นผู้วางแผนการสร้างทั้งหมด” (“การสร้าง,” เลียโฮนา, ก.ค. 2000, 108)
ให้เวลานักเรียนอ่านและเปรียบเทียบ หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:22–24; 104:14–17; และ โมเสส 1:30–33 ในใจ โดยดูว่าพระเยโฮวาห์ทรงสร้างอะไรอีก ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าพระองค์ทรงสร้างโลกนับไม่ถ้วนและ “แผ่นดินโลกเต็มเปี่ยมและมีเพียงพอและเกินพอ” (คพ. 104:17) ช่วยนักเรียนวิเคราะห์ข้อความนี้โดยถามว่า
-
ข้อความนี้บอกอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดต้องทรงทราบเมื่อทรงสร้างโลก (พระองค์จะต้องทรงทราบว่าจะมีคนอาศัยอยู่บนแผ่นดินโลกเท่าใดและพวกเขาจะต้องการอะไรตลอดประวัติศาสตร์แต่ละช่วง)
อธิบายให้นักเรียนฟังว่าสิ่งหนึ่งที่ต้องรู้คือ ใคร สร้างโลกแต่อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องรู้คือสร้างโลกโดย อำนาจอะไร เชื้อเชิญนักเรียนให้เปรียบเทียบและอ้างโยง มอรมอน 9:16–17; หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:1–3; กับ เจคอบ 4:9 และระบุว่าพระองค์ทรงสร้างแผ่นดินโลก อย่างไร เชื้อเชิญนักเรียนให้อธิบายด้วยคำพูดของตนเองว่าข้อความเหล่านี้หมายความว่าอย่างไร จากนั้นให้ดูข้อความต่อไปนี้
“พระเยซูคริสต์ทรงสร้างโลกนี้และทุกสิ่งในนั้น พระองค์ทรงสร้างโลกอีกมากมายด้วย พระองค์ทรงทำสิ่งนี้ผ่านอำนาจฐานะปุโรหิต ภายใต้การกำกับดูแลของพระบิดาบนสวรรค์” (หลักธรรมพระกิตติคุณ [2009], 23)
เน้นว่าในความเป็นจริงแล้ว พระคัมภีร์ให้รายละเอียดไม่มากเกี่ยวกับวิธีสร้างโลก แต่เราได้รับสัญญาว่าสักวันหนึ่งจะทรงเปิดเผยรายละเอียดเรื่องนี้ (ดู คพ. 101:32-34) ในพระคัมภีร์สอนไว้อีกมากเกี่ยวกับจุดประสงค์ของการสร้าง
ให้ชั้นเรียนสนทนาคำถามต่อไปนี้
-
ขณะที่ท่านสังเกตโลกรอบตัวท่าน งานสร้างของพระผู้เป็นเจ้าสอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด ฐานะปุโรหิตของพระองค์ และความสำคัญของพระองค์ในโลกก่อนเกิด
-
การเข้าใจความจริงเหล่านี้มีผลอย่างไรกับความรู้สึกของท่านต่อพระเยซูคริสต์และประจักษ์พยานของท่านในพระองค์
-
การเข้าใจความจริงเหล่านี้มีผลอย่างไรกับสิ่งที่ท่านรู้สึกเกี่ยวกับแผ่นดินโลก
ก่อนสนทนาเรื่องต่อไป ให้เน้นกับนักเรียนว่า ด้วยเหตุที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสร้างโลก พระบิดาบนสวรรค์จึงทรงเป็นพระบิดาของวิญญาณเราและทรงสร้างร่างกายของอาดัมและเอวา
1 นีไฟ 17:36; 2 นีไฟ 2:23–25; หลักคำสอนและพันธสัญญา 49:16–17; โมเสส 1:27–33, 39
จุดประสงค์ของการสร้างโลก
แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ และขอให้พวกเขาค้นคว้า โมเสส 1:27–33, 39; 1 นีไฟ 17:36; และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 49:16–17 ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายคำและวลีในข้อเหล่านี้ที่ช่วยพวกเขาสร้างคำตอบของคำถามนี้ “ท่านจะอธิบายให้เพื่อนฟังอย่างไรว่า เหตุใด พระองค์จึงทรงสร้างโลก เชิญนักเรียนสองสามคู่แบ่งปันคำตอบกับชั้นเรียน นักเรียนควรเห็นว่า พระเยโฮวาห์ทรงสร้างโลกเพื่อเตรียมที่ให้บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าอาศัยอยู่และเจริญก้าวหน้าสู่ชีวิตนิรันดร์ ถามว่า
-
วลี “มนุษย์ตามจำนวนที่กำหนดไว้” ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 49:17หมายความว่าอย่างไร หากจำเป็น ให้ดูข้อคิดเห็นสำหรับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 49:16–17 ใน คำสอนและพันธสัญญา คู่มือนักเรียน [(คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2001), 143])
เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน 2 นีไฟ 2:18–25 ในใจ แล้วถามว่า
-
สภาพในสวนเอเดนจะขัดขวางอาดัมและเอวาไม่ให้เจริญก้าวหน้าในแผนแห่งความรอดของพระบิดาบนสวรรค์อย่างไร
-
การตกของอาดัมและเอวาช่วยให้แผ่นดินโลกบรรลุจุดประสงค์ของการสร้างอย่างไร (ทำให้อาดัมและเอวามีบุตรได้)
-
ผลของการตกตามที่บรรยายไว้ใน ข้อ 23 จะช่วยให้เราเจริญก้าวหน้าในแผนของพระบิดาบนสวรรค์ได้อย่างไร
จัดเตรียมสำเนาคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี (1915–1985) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองและซิสเตอร์จูลี บี. เบค อดีตประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญให้นักเรียนแต่ละคน ให้นักเรียนมีเวลาอ่านคำกล่าวเหล่านี้มากพอและไตร่ตรองบทบาทการสร้างในแผนของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อความรอดของบุตรธิดาพระองค์
“ความรอดเกิดขึ้นเพราะการชดใช้แน่นอนฉันใด ความรอดเกิดขึ้นเพราะการตกด้วยฉันนั้น …
“จงจำไว้เช่นกันว่าการตกเกิดขึ้นได้เพราะพระผู้สร้าง … ทรงทำให้แผ่นดินโลก มนุษย์ และชีวิตทุกรูปแบบอยู่ในสภาพที่ตกได้ … สิ่งทั้งปวงสร้างไว้เพื่อให้ตกหรือเปลี่ยนแปลงได้ และด้วยเหตุนี้จึงมีการดำรงอยู่ในรูปแบบที่จำเป็นต่อการดำเนินตามข้อตกลงและเงื่อนไขทั้งหมดในแผนแห่งความรอดนิรันดร์ของพระบิดา
“การสร้างสิ่งทั้งปวงทางโลกครั้งแรก … อยู่ในสภาพคล้ายสวรรค์ ในยุคแรกและยุคเอเดน สิ่งมีชีวิตทุกรูปแบบมีชีวิตอยู่ในสถานะที่สูงกว่าและต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การตกที่จะเกิดขึ้นจะทำให้ทุกชีวิตลงต่ำ และไปข้างหน้า ความตายและการให้กำเนิดยังไม่เข้ามาในโลก” (บรูซ อาร์. แมคคองกี, “Christ and the Creation,” Ensign, June 1982, 9)
“ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เรามีศาสนศาสตร์เรื่องครอบครัวซึ่งตั้งอยู่บนฐานของการสร้าง การตก และการชดใช้ การสร้างโลกจัดเตรียมสถานที่หนึ่งให้ครอบครัวอยู่ พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างชายและหญิงผู้มีความสำคัญเท่าเทียมกันในครอบครัว นั่นคือส่วนหนึ่งในแผนของพระบิดาบนสวรรค์ที่อาดัมกับเอวาได้รับการผนึกและสร้างครอบครัวนิรันดร์
“การตกเตรียมทางให้ครอบครัวเติบโต อาดัมและเอวาเป็นผู้นำครอบครัวที่เลือกรับประสบการณ์ในชีวิตมรรตัย การตกทำให้พวกท่านมีบุตรและธิดา
“การชดใช้เอื้ออำนวยให้ครอบครัวได้รับการผนึกด้วยกันชั่วนิรันดร์ อีกทั้งเอื้ออำนวยให้ครอบครัวมีการเติบโตชั่วนิรันดร์และดีพร้อม แผนแห่งความสุข อีกชื่อหนึ่งคือแผนแห่งความรอด เป็นแผนซึ่งสร้างไว้สำหรับครอบครัว อนุชนรุ่นหลังต้องเข้าใจว่าเสาหลักของศาสนศาสตร์ของเรามีศูนย์รวมอยู่ที่ครอบครัว” (จูลี บี. เบค, “การสอนหลักคำสอนเรื่องครอบครัว,” เลียโฮนา, มี.ค. 2011, 32)
-
คำกล่าวเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจบทบาทอันสำคัญยิ่งของการสร้างในแผนทั้งหมดของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อความรอดของบุตรธิดาพระองค์อย่างไร
-
เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องเข้าใจว่าโลกสร้างขึ้นเพื่อช่วยให้แต่ละคนและครอบครัวสูงส่ง (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน: เมื่อเราเข้าใจจุดประสงค์ของการสร้างโลก เราย่อมปรารถนาจะบรรลุจุดประสงค์ของการสร้างของเรามากขึ้น)
อธิบายให้นักเรียนฟังว่าอำนาจการผนึกของฐานะปุโรหิตทำให้สามีภรรยา บิดามารดา และบุตรธิดาได้อยู่ด้วยกันหลังความตาย หากปราศจากอำนาจการผนึกที่เอลียาห์นำกลับมา บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าจะไม่ได้รับพรครบถ้วนของความสูงส่งและจุดประสงค์นี้ของการสร้างโลกจะไม่เกิดสัมฤทธิผล หรือตามที่สอนไว้ในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา “แผ่นดินโลกจะร้างลงสิ้น” (คพ. 2:3; ดู มาลาคี 4:6 ด้วย)
สรุปบทเรียนโดยเป็นพยานถึงความจริงสำคัญๆ เหล่านี้: (1) พระเยโฮวาห์ทรงสร้างโลกภายใต้การกำกับดูแลของพระบิดา (2) พระองค์ทรงสร้างโลกเพื่อเตรียมที่ให้บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าได้อยู่และเจริญก้าวหน้าสู่ชีวิตนิรันดร์ และ (3) เมื่อเราเข้าใจจุดประสงค์ของการสร้างโลก เราย่อมปรารถนาจะบรรลุจุดประสงค์ของการสร้างของเรามากขึ้น
กระตุ้นนักเรียนให้ไตร่ตรองว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแสดงความกตัญญูต่องานสร้างของพระเยซูคริสต์ กระตุ้นนักเรียนให้ทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณที่พวกเขารู้สึกระหว่างบทเรียน
สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน
-
ปฐมกาล 1:1; ยอห์น 1:1–3; ฮีบรู 1:1–2; โมเสส 2:1; มอรมอน 9:16–17; หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:1–3; 76:22–24; 104:14–17; เจคอบ 4:9; หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:32–34; โมเสส 1:27–33, 39; 1 นีไฟ 17:36; หลักคำสอนและพันธสัญญา 49:16–17
-
รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “การสร้าง,” เลียโฮนา, ก.ค. 2000, 108–111.