บทที่ 5
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระเยโฮวาห์แห่งพันธสัญญาเดิม
คำนำ
ในการเป็นพยานถึงพระผู้ช่วยให้รอด พระเยซูคริสต์ ศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบันประกาศว่า “พระองค์ทรงเป็นพระเยโยวาห์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งพันธสัญญาเดิม” (“พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก,” เลียโฮนา, เม.ย. 2000, 2) พระเยซูคริสต์ ในฐานะพระเยโฮวาห์ ทรงสถาปนาพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระบิดาบนสวรรค์บนแผ่นดินโลกในทุกสมัยการประทานเพื่อรวบรวมบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้าที่หายไป ศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์จะแรงกล้าขึ้นเมื่อเรารับรู้ถึงธรรมชาติที่ไม่เปลี่ยนแปลงของพระองค์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์
ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน
-
รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “พันธสัญญา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 108–111.
-
“พันธสัญญาเอบราแฮม,” พระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่า คู่มือนักเรียน (คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2000), 93–98.
-
“ส่วนเสริมความเข้าใจ A: ผู้ใดคือพระผู้เป็นเจ้าแห่งพันธสัญญาเดิม พระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม คู่มือนักเรียน: ปฐมกาล−2 ซามูเอล, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 (คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003), 33–37.
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
อพยพ 3:11–14; 6:2–3; ยอห์น 8:52–53, 56–59; 18:5, 8; 3 นีไฟ 15:5; อับราฮัม 1:16; 2:8
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระเยโฮวาห์แห่งพันธสัญญาเดิม
เชื้อเชิญนักเรียนให้บอกพระนามหรือชื่อบางชื่อของพระผู้ช่วยให้รอดที่พวกเขารู้จัก เขียนคำตอบของพวกเขาบนกระดาน บอกนักเรียนว่าวันนี้ท่านจะสนทนาเรื่องชื่อหรือพระนามสำคัญที่ใช้เรียกพระเยซูคริสต์ก่อนการปฏิบัติศาสนกิจมรรตัยของพระองค์ เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน ยอห์น 8:52–53, 56–59 ในใจ จากนั้นให้ถามว่า
-
ชาวยิวกำลังถามอะไรพระผู้ช่วยให้รอด
-
ท่านคิดว่าพระเยซูทรงหมายความว่าอย่างไรเมื่อทรงตอบว่า “ก่อนอับราฮัมเกิด เราเป็นอยู่แล้ว” (ข้อ 58)
เพื่อช่วยนักเรียนนิยามวลี “เราเป็นอยู่แล้ว” ให้แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ และขอให้พวกเขาอ่าน อพยพ 3:11–14; 6:2–3 โดยดูว่าพระผู้เป็นเจ้าแห่งพันธสัญญาเดิมทรงเรียกพระองค์เองว่าอย่างไร หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้
-
ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ พระผู้เป็นเจ้าแห่งพันธสัญญาเดิมทรงเรียกพระองค์เองว่าอย่างไร (ชี้ให้เห็นว่า งานแปลของโจเซฟ สมิธของ อพยพ 6:3 อ่านได้ว่า “เราคือพระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพ พระเจ้าพระเยโฮวาห์ และเราไม่ได้ให้พวกเขารู้พระนามนั้น” ดู อับราฮัม 1:16ด้วย)
-
ข้อเหล่านี้อธิบายความสำคัญในพระดำรัสของพระเยซูคริสต์ที่ว่า “ก่อนอับราฮัมเกิด เราเป็นอยู่แล้ว” อย่างไร (นักเรียนควรรู้ว่า พระเยซูคริสต์ ทรงเป็น พระเยโฮวาห์ พระผู้เป็นเจ้าแห่งพันธสัญญาเดิม และเราเป็นผู้ยิ่งใหญ่)
ให้ดูข้อความต่อไปนี้
“นี่คือการยืนยันความเป็นพระเจ้าที่ชัดเจนและตรงประเด็นมากเท่าที่บุคคลหนึ่งเคยทำหรือทำได้ ‘เราเป็นพระเยโฮวาห์ก่อนอับราฮัมเกิด’ นั่นคือ ‘เราเป็นพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพ เราเป็นผู้ยิ่งใหญ่ เราเป็นองค์นิรันดร์ที่ดำรงอยู่ด้วยตัวเราเอง เราเป็นพระผู้เป็นเจ้าของบรรพบุรุษพวกท่าน นามของเราคือ เราเป็นที่เราเป็น’” (บรูซ อาร์. แมคคองกี, Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. (1965–1973), 1:464)
พระเยโฮวาห์ทรงเป็น “พระนามแห่งพันธสัญญาหรือพระนามเฉพาะของพระผู้เป็นเจ้าแห่งอิสราเอล พระนามนี้หมายถึง ‘องค์ที่ไม่เปลี่ยนแปลง’” (Bible Dictionary, “Jehovah”)
-
เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องรู้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระเยโฮวาห์แห่งพันธสัญญาเดิม (คำตอบควรรวมถึงความจริงต่อไปนี้: พระผู้เป็นเจ้ามักจะทรงปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ผ่านพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์เสมอ ดู 3 นีไฟ 15:5 ด้วย ซึ่งบันทึกคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดที่ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ให้กฎ)
ท่านอาจต้องการเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความต่อไปนี้ของประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ (1876–1972)
“การเปิดเผยทั้งหมดตั้งแต่การตกล้วนผ่านมาทางพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นพระเยโฮวาห์แห่งพันธสัญญาเดิม … พระบิดา [เอโลฮิม] ไม่เคยติดต่อกับมนุษย์โดยตรงและเป็นส่วนพระองค์ตั้งแต่การตก และพระองค์ไม่เคยปรากฏยกเว้นเพื่อแนะนำและเป็นพยานถึงพระบุตร” (Doctrines of Salvation, comp. Bruce R. McConkie, 3 vols. [1954–56], 1:27)
-
การรู้ว่าพระเยโฮวาห์ หรือพระเยซูคริสต์ ไม่ทรงเปลี่ยนแปลงช่วยให้ท่านมีศรัทธาในพระองค์อย่างไร (คำตอบอาจได้แก่ ความรู้ที่ว่าพระเยซูคริสต์ไม่ทรงเปลี่ยนแปลงช่วยให้เรามีศรัทธาว่าพระองค์ทรงรักษาสัญญากับผู้คนตามที่เราอ่านในพระคัมภีร์ฉันใด พระองค์จะทรงรักษาสัญญาของพระองค์กับเราฉันนั้น
ชี้ให้เห็นว่าราวช่วงแรกๆ หลังยุคพระคัมภีร์ไบเบิล ชื่อฮีบรูของพระเยโฮวาห์ (มักจะเป็นคำว่า Yahweh [พระยาห์เวห์] ในวรรณกรรม) ถือว่าศักดิ์สิทธิ์เกินกว่าจะเอ่ย ด้วยเหตุผลนี้ ยกเว้นบางกรณี (ดู อพยพ 6:3; สดุดี 83:18; อิสยาห์ 12:2; 26:4) งานแปลของพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับคิงเจมส์จึงใช้คำ พระเยโฮวาห์ เป็น LORD (พระเจ้า) (ในรูปตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด) ในศาสนายิวยุคปัจจุบันแทนชื่อนี้ด้วยคำว่า Adonai ซึ่งหมายถึง “พระเจ้า”
ปฐมกาล 13:14–16; 17:1–9; โมเสส 6:51–52, 64–66; อับราฮัม 1:18–19; 2:8–11
พระเยโฮวาห์ทรงสถาปนาพระกิตติคุณอันเป็นนิจในสมัยโบราณ
ให้นักเรียนทำงานเป็นคู่เหมือนเดิม และขอให้พวกเขาอ่าน โมเสส 6:51–52, 64-66 และระบุสิ่งที่พระเยโฮวาห์ทรงสอนอาดัม บอกพวกเขาว่าใน ข้อ 51–52 พระเยโฮวาห์กำลังตรัสแทนพระบิดา จากนั้นให้ถามว่า
-
ท่านสังเกตเห็นอะไรเกี่ยวกับพระกิตติคุณที่ทรงสอนอาดัม (เป็นพระกิตติคุณเดียวกันกับที่สอนในสมัยนี้) [ดู 2 นีไฟ 31:10–16 เป็นตัวอย่างของพระกิตติคุณเดียวกันกับที่สอนในอเมริกา] ท่านอาจจะเน้นความจริงนี้โดยเขียนข้อความต่อไปนี้บนกระดาน: พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นพระกิตติคุณอันเป็นนิจและไม่เปลี่ยนแปลงในสมัยการประทานพระกิตติคุณแต่ละสมัย)
บอกนักเรียนว่าในสมัยการประทานต่อมา พระเยโฮวาห์ทรงเริ่มพระกิตติคุณอันเป็นนิจใหม่อีกครั้งผ่านพันธสัญญาที่ทำกับอับราฮัมเรียกว่าพันธสัญญาแห่งอับราฮัม แบ่งนักเรียนออกเป็นสองกลุ่ม มอบหมายให้กลุ่มแรกศึกษา ปฐมกาล 13:14–16; 17:2–8; อับราฮัม 1:18–19; 2:8–11 และเขียนสัญญาที่พระเจ้าทรงทำกับอับราฮัมออกมาเป็นข้อๆ มอบหมายให้อีกกลุ่มศึกษา ปฐมกาล 17:1–5, 9; อับราฮัม 1:19; 2:8–11 และเขียนสิ่งที่ขอให้อับราฮัมทำเพื่อจะได้รับพรที่สัญญาไว้ (หมายเหตุ: เมื่อนักเรียนฝึกที่จะระบุรายการในพระคัมภีร์ออกมาเป็นข้อๆ พวกเขาจะสามารถรับรู้ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนพระคัมภีร์ตั้งใจเน้นมากขึ้น)
ขณะที่นักเรียนกำลังศึกษา ให้ลอกสำเนาแผนภูมิต่อไปนี้ไว้บนกระดานโดยเว้นที่ให้เขียนคำตอบ
พันธสัญญาแห่งอับราฮัม | |
---|---|
สัญญาที่ทำไว้กับอับราฮัม |
ความรับผิดชอบของอับราฮัม |
หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชิญนักเรียนกลุ่มละสองสามคนออกมาที่กระดานและเขียนสิ่งที่พวกเขาพบใต้หัวข้อที่เหมาะสม ท่านอาจจะสรุปพันธสัญญาแห่งอับราฮัมโดยให้ดูข้อความต่อไปนี้และให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“อับราฮัมได้รับพระกิตติคุณและได้รับแต่งตั้งสู่ฐานะปุโรหิตที่สูงกว่า (คพ. 84:14; อับราฮัม 2:11) และเขาเข้าสู่การแต่งงานซีเลสเชียล ซึ่งคือพันธสัญญาของความสูงส่ง (คพ. 131:1–4; 132:19, 29) อับราฮัมได้รับสัญญาว่าลูกหลานมนุษย์ของเขาจะได้รับมอบพรทุกประการของพันธสัญญาเหล่านี้ (คพ. 132:29–31; อับราฮัม 2:6–11) พันธสัญญาและสัญญาเหล่านี้เรียกรวมกันว่าพันธสัญญาแห่งอับราฮัม การฟื้นฟูพันธสัญญาดังกล่าวคือการฟื้นฟูพระกิตติคุณในวันเวลาสุดท้าย เพราะทุกประชาชาติของแผ่นดินโลกได้รับพรผ่านพระกิตติคุณ (กาลาเทีย 3:8–9, 29; คพ. 110:12; 124:58; อับราฮัม 2:10–11)” (คู่มือพระคัมภีร์, “พันธสัญญาแห่งอับราฮัม”; scriptures.lds.org)
เน้นว่านับจากกาลเริ่มต้น พระบิดาทรงทำพันธสัญญากับบุตรธิดาของพระองค์ว่าจะทรงรวบรวมพวกเขาผ่านความจริง ศาสนพิธี และพรของพระกิตติคุณอันเป็นนิจ การฟื้นฟูพระกิตติคุณรวมถึงการฟื้นฟูพันธสัญญาแห่งอับราฮัมด้วย กล่าวคือ พันธสัญญาแห่งอับราฮัมเป็นส่วนสำคัญของพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ ซึ่งคือความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ถามนักเรียนว่า
-
การรู้ว่าเราเป็นผู้สืบตระกูลของอับราฮัมและเป็นทายาทสืบทอดทั้งหมดที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญากับเขามีอิทธิพลต่อวิธีที่เราดำเนินชีวิตอย่างไร
-
การมีพรที่สัญญาไว้กับอับราฮัมและลูกหลานของเขาเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวและนำทางเราในการตัดสินใจที่เราทำอย่างไร
เชื้อเชิญนักเรียนให้แบ่งปันวิธีที่ตัวพวกเขาและครอบครัวจะได้พรที่สัญญาไว้ของพันธสัญญานี้ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
โยชูวา 24:3–13; 1 นีไฟ 17:23–32
พระเยโฮวาห์ประทานพรและนำอิสราเอลสมัยโบราณ
บอกนักเรียนว่าส่วนหนึ่งของพันธสัญญาแห่งอับราฮัมคือพระเยโฮวาห์ทรงสัญญาพรของพระกิตติคุณกับลูกหลานของอับราฮัมและผู้ที่รวมกับพวกเขา เชิญนักเรียนครึ่งชั้นอ่าน โยชูวา 24:3–13 และเชิญอีกครึ่งชั้นอ่าน 1 นีไฟ 17:23–32 ขอให้นักเรียนมองหาคำและวลีที่สอนว่าพระเยโฮวาห์ทรงทำอะไรเพื่ออิสราเอลสมัยโบราณ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายสิ่งที่พบ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ เขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน เพื่อจะเข้าว่าเหตุใดพระเยโฮวาห์ทรงทำบางสิ่งที่พระองค์ทรงทำ ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง อพยพ 6:2–6 ถามนักเรียนว่า
-
พระเยโฮวาห์ทรงให้เหตุผลอะไรสำหรับการทำสิ่งต่างๆ มากมายที่ท่านอ่านในโยชูวาและ 1 นีไฟ
-
สิ่งนี้บอกอะไรท่านเกี่ยวกับสัญญาที่พระเจ้าทรงทำไว้กับท่าน (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน: ถ้าเราดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์ พระเจ้าจะทรงรักษาสัญญาที่ทรงทำไว้กับเรา)
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคดอร์ฟ
“เพราะพระผู้เป็นเจ้าทรงซื่อสัตย์และทรงรักษาสัญญาในอดีต เราจึงหวังได้ด้วยความมั่นใจว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับเราทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ในยามทุกข์ใจ เราสามารถตั้งมั่นในความหวังที่ว่าสิ่งต่างๆ จะ ‘ทำงานไปด้วยกันเพื่อความดี [ของเรา]’ [คพ. 90:24]” (“พลังอันไร้ขอบเขตของความหวัง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 28).
-
การรู้เกี่ยวกับสิ่งที่พระเยโฮวาห์ทรงทำสมัยโบราณจะช่วยท่านในช่วงเวลาของการทดลองได้อย่างไร
-
พระองค์ทรงทำอะไรเพื่ออิสราเอลสมัยโบราณที่พระองค์จะทรงทำเพื่อท่านเช่นกัน
เป็นพยานว่าในทุกสมัยการประทาน พระเยซูคริสต์ประทานพรบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าด้วยพระกิตติคุณอันเป็นนิจ ผู้คนแห่งพันธสัญญาในสมัยโบราณได้รับพรที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ฉันใด เราจะได้รับพรตามเงื่อนไขของการเชื่อฟังด้วยฉันนั้น
สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน
-
ยอห์น 8:51–59; 18:5, 8; อพยพ 3:11–14; 6:2–3; 3 นีไฟ 15:5; โมเสส 6:51–52, 64–66; ปฐมกาล 17:1–9; อับราฮัม 1:18–19; 2:8–11.
-
“ส่วนเสริมความเข้าใจ A: ผู้ใดคือพระผู้เป็นเจ้าแห่งพันธสัญญาเดิม พระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม คู่มือนักเรียน: ปฐมกาล−2 ซามูเอล, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 (คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003), 33–37