บทที่ 11
พระเยซูคริสต์เสด็จไปกระทำคุณประโยชน์
คำนำ
“พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก” สอนว่า “[พระเยซู] ‘เสด็จไปกระทำคุณประโยชน์’ (กิจการ 10:38) กระนั้น ยังทรงถูกดูหมิ่นเหยียดหยามจากการนั้น” ( เลียโฮนา, เม.ย. 2000, 2) ในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ เราพึงทำตามแบบอย่างการกระทำคุณประโยชน์ของพระองค์แม้อาจจะถูกข่มเหงก็ตาม ในบทเรียนนี้ นักเรียนจะสนทนาว่าเหตุใดเราจึงควรปฏิบัติต่อคนที่ปฏิบัติไม่ดีต่อเราเพราะความเชื่อของเราด้วยความรักและความเคารพแบบเดียวกับที่พระเยซูทรงแสดงต่อผู้ข่มเหงพระองค์ เมื่อเราทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด เราจะได้รับพรแห่งความกล้าหาญในการดำเนินชีวิตและปกป้องศรัทธาของเราและเราจะสามารถช่วยให้ผู้อื่นใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้น
ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน
-
ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “รักผู้อื่นและอยู่ร่วมกับผู้ที่แตกต่าง,”เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 25–28.
-
เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ราคา—และพร—ของการเป็นสานุศิษย์,”เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 6–9.
-
โรเบิร์ต ดี. เฮลส์, “ความกล้าหาญแบบชาวคริสต์: คุณค่าแห่งความเป็นสานุศิษย์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 89–92.
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
มัทธิว 5:43–47; 9:9–13; 12:22–30; มาระโก 3:1–6; 11:15–19; ยอห์น 11:43–53
พระเยซูคริสต์ทรงถูกข่มเหงเพราะกระทำคุณประโยชน์
เริ่มชั้นเรียนโดยถามนักเรียนดังนี้
-
เมื่อท่านนึกถึงพระชนม์ชีพที่เป็นแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด ในบรรดาคุณประโยชน์ทั้งหมดที่พระองค์ทรงกระทำในพระชนม์ชีพมรรตัย อะไรสะดุดใจท่านมากที่สุด
หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้อ่าน (หรือแบ่งปันด้วยคำพูดของพวกเขาเอง) เรื่องต่อไปนี้ที่เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเล่าเกี่ยวกับซิสเตอร์ผู้สอนศาสนาสองคน
“ด้วยความชื่นชมและต้องการให้กำลังใจทุกคนที่จะต้องมั่นคงแน่วแน่ในยุคสุดท้ายนี้ ข้าพเจ้ากล่าวกับทุกท่านโดยเฉพาะเยาวชนของศาสนจักรว่า หากท่านยังไม่ได้อยู่ในจุดนั้น วันหนึ่งท่านจะพบตนเองถูกเรียกร้องให้ปกป้องศรัทธาของท่าน หรือบางทีแม้กระทั่งอดทนรับการข่มเหงส่วนตัวบางอย่างเพียงเพราะว่าท่านเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ช่วงเวลาเช่นนั้นจะต้องใช้ทั้งความกล้าหาญและมารยาทในส่วนของท่าน
“ตัวอย่างเช่น ซิสเตอร์ผู้สอนศาสนาคนหนึ่งเขียนถึงข้าพเจ้าเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ‘ดิฉันกับคู่เห็นชายคนหนึ่งนั่งรับประทานอาหารกลางวันอยู่บนม้านั่งในจตุรัสกลางเมือง เมื่อเราเข้าไปใกล้ เขาเงยหน้ามองและเห็นป้ายชื่อผู้สอนศาสนาของเรา เขารีบลุกขึ้นและมองด้วยสายตาน่ากลัวพลางเงื้อมือจะตีดิฉัน ดิฉันหลบทัน แต่ไม่วายถูกเขาพ่นอาหารใส่จนเลอะเทอะและเริ่มสบถถ้อยคำเลวร้ายที่สุดใส่เรา เราเดินหนีโดยไม่พูดอะไร ดิฉันพยายามปัดอาหารออกจากหน้า แต่กลับเจอก้อนมันฝรั่งบดปาใส่ศีรษะด้านหลัง บางครั้งการเป็นผู้สอนศาสนาก็ยาก เพราะตอนนั้นดิฉันอยากเดินกลับไปคว้าผู้ชายตัวเล็กๆ คนนั้น แล้วพูดว่า ‘คุณมีปัญหาอะไร!’ แต่ดิฉันไม่ได้ทำ’” (“ราคา—และพร—ของการเป็นสานุศิษย์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 6)
ขอให้นักเรียนอ่าน มัทธิว 5:43–47 ในใจ โดยมองหาหลักธรรมที่พระเยซูทรงสอนในคำเทศนาบนภูเขาที่ซิสเตอร์ผู้สอนศาสนาสองคนนี้ปฏิบัติ (ท่านอาจต้องการเสนอแนะนักเรียนให้ฝึกทักษะการศึกษาพระคัมภีร์ขณะอ่านด้วยการแทนชื่อตัวเพื่อช่วยให้ข่าวสารของข้อนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น เพื่อฝึกทักษะนี้ นักเรียนควรใช้ชื่อตนเองแทนคำว่า ท่าน และ พวกท่าน)
-
พระเยซูทรงสอนหลักธรรมอะไรในข้อเหล่านี้ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: ถ้าเราต้องการทำตามคำสอนของพระเยซูคริสต์ เราต้องเรียนรู้ที่จะรักศัตรูและเมตตาต่อคนที่ข่มเหงเรา)
-
อะไรทำให้ดำเนินชีวิตตามหลักธรรมพระกิตติคุณข้อนี้ได้ยาก
ให้ดูข้อความต่อไปนี้บนกระดาน
อธิบายว่าถึงแม้คนมากมายทั้งในกาลิลีและยูเดียยอมรับพระผู้ช่วยให้รอด และหลายคนเห็นว่างานดีของพระองค์เป็นพยานถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์ แต่คนอื่นๆ ดูหมิ่นเหยียดหยามและข่มเหงพระองค์เพราะงานดีของพระองค์
เขียนข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ไว้บนกระดานใต้ “พระเยซูเสด็จไปกระทำคุณประโยชน์”
แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ และมอบหมายให้แต่ละกลุ่มศึกษาข้อพระคัมภีร์หนึ่งชุดบนกระดาน ขอให้นักเรียนระบุงานดีที่พระเยซูทรงทำในข้อนั้นและผู้คนตอบสนองอย่างไร หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พวกเขาค้นพบ ชี้ให้เห็นว่าพระคัมภีร์ชุดนี้เปิดเผยแบบฉบับในพระชนม์ชีพของพระเจ้าที่เราเรียนรู้ได้ ถามคำถามต่อไปนี้
-
ท่านสังเกตเห็นอะไรเกี่ยวกับวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบสนองการข่มเหงที่ทรงประสบ
กระตุ้นนักเรียนให้นึกภาพเหตุการณ์ที่เล่าไว้ในข้อพระคัมภีร์ที่พวกเขาศึกษา จากนั้นให้ถามว่า
-
ท่านจะมีความคิดหรือความรู้สึกอย่างไรถ้าท่านเห็นพระเยซูในโอกาสนั้น
-
ท่านคิดว่าพระเยซูทรงประสงค์ให้ท่านเรียนรู้อะไรจากพระดำรัสและการกระทำของพระองค์เวลานั้น (ต่อไปนี้เป็นหลักธรรมหนึ่งข้อที่นักเรียนอาจระบุ: เมื่อเราหมายมั่นทำตามแบบอย่างการกระทำคุณประโยชน์ของพระผู้ช่วยให้รอด บางครั้งเราจะต้องอดทนต่อการข่มเหง)
มัทธิว 5:9–12, 21–24, 38–41; 6:14–15; 7:1–5, 12
การตอบสนองการข่มเหง
บอกนักเรียนว่าในคำเทศนาบนภูเขา พระเยซูคริสต์ทรงแนะนำเหล่าสานุศิษย์ของพระองค์เกี่ยวกับวิธีตอบสนองเมื่อถูกข่มเหง คัดลอกวลีและพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน มอบหมายให้นักเรียนแต่ละคนอ่านอย่างน้อยคนละหนึ่งข้อ ขอให้นักเรียนระบุหลักธรรมที่พระเยซูทรงสอนในข้อที่พวกเขาอ่านซึ่งจะนำทางพวกเขาได้ในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนอธิบายหลักธรรมที่พบและวิธีประยุกต์ใช้ในความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่น ขณะนักเรียนแบ่งปันหลักธรรมที่พบใน มัทธิว 5:21–24 ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่า 3 นีไฟ 12:22 และงานแปลของโจเซฟ สมิธ มัทธิว 5 ไม่มีคำว่า “without a cause” (มัทธิว 5:22; ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 5:24 ด้วย [ใน มัทธิว 5:22 เชิงอรรถ b]) (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เน้นความจริงต่อไปนี้: พระบิดาบนสวรรค์ทรงคาดหวังให้เราทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์เมื่อเราถูกข่มเหงเพราะความเชื่อของเรา)
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์และเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“ปกป้องความเชื่อของท่านด้วยมารยาทและการุณยธรรม แต่จงปกป้อง” (เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ราคา—และพร—ของการเป็นสานุศิษย์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 9)
“ผู้ติดตามพระคริสต์ควรเป็นแบบอย่างของการเป็นพลเมืองดี เราพึงรักทุกคน เป็นผู้ฟังที่ดี และแสดงความห่วงใยต่อความเชื่ออันจริงใจของพวกเขา แม้เราไม่เห็นด้วย เราก็ไม่ควรหยาบคาย จุดยืนและการสื่อสารของเราในหัวข้อซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันไม่ควรก่อให้เกิดความขัดแย้ง เราควรฉลาดเมื่อกำลังอธิบายและปฏิบัติตามจุดยืนของเรา และเมื่อเรามีอิทธิพลต่อผู้อื่น …
“เมื่อความคิดเห็นของเราไม่เหนือกว่า เราควรยอมรับผลที่ไม่น่าพอใจด้วยความสุภาพ และปฏิบัติตัวเป็นพลเมืองดีต่อปฏิปักษ์ของเรา” (ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, รักผู้อื่นและอยู่ร่วมกับผู้ที่แตกต่าง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 27)
สนทนากับนักเรียนเรื่องความท้าทายและพรของการทำตามคำแนะนำของเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์และเอ็ลเดอร์โอ๊คส์ จากนั้นให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 5:9–12
-
ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ พระเยซูทรงสัญญาอะไรที่อาจทำให้การตอบสนองเหมือนพระคริสต์ง่ายขึ้นเมื่อเราถูกข่มเหงเพราะความเชื่อทางศาสนาของเรา
เชื้อเชิญนักเรียนให้ไตร่ตรองว่าพวกเขาจะประยุกต์ใช้คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดในคำเทศนาบนภูเขาหนึ่งอย่างหรือมากกว่านั้นกับความสัมพันธ์ปัจจุบันที่มีอย่างไรหรือพวกเขาได้ประยุกต์ใช้กับประสบการณ์ในอดีตอย่างไร ถามว่านักเรียนคนใดเต็มใจแบ่งปันความคิดกับชั้นเรียนบ้าง
แจกสำเนาคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“บางคนเข้าใจผิดคิดว่าการตอบสนองอย่างเช่น การนิ่งเงียบ ความสุภาพอ่อนน้อม การให้อภัย และการแสดงประจักษ์พยานอันอ่อนน้อมเป็นความเฉยเฉื่อยหรืออ่อนแอ แต่การ ‘รักศัตรู [ของเรา] อวยพรผู้ที่สาปแช่ง [เรา] ทำดีต่อผู้ที่เกลียดชัง [เรา] และสวดอ้อนวอนเพื่อพวกเขาผู้ที่ใช้ [เรา] อย่างมุ่งร้าย และข่มเหง [เรา]’ (มัทธิว 5:44) ต้องใช้ศรัทธา ความเข้มแข็ง และเหนือสิ่งอื่นใด ความกล้าหาญแบบชาวคริสต์ …
“เมื่อเราไม่ตอบโต้—เมื่อเราหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้และสกัดกั้นความรู้สึกโกรธ—เราก็ยืนหยัดกับพระผู้ช่วยให้รอดเช่นกัน เราแสดงความรักของพระองค์ออกไป ซึ่งเป็นพลังเพียงอย่างเดียวที่จะสยบปฏิปักษ์และโต้ตอบผู้กล่าวร้ายเราโดยไม่กล่าวร้ายพวกเขาเป็นการตอบแทน นั่นไม่ใช่ความอ่อนแอ นั่น คือความกล้าหาญแบบชาวคริสต์ …
“เมื่อเราตอบสนองผู้อื่น แต่ละสภาพการณ์จะต่างกันไป นับเป็นเรื่องดีที่พระเจ้าทรงรู้ใจผู้ที่กล่าวร้ายเราและวิธีที่เราจะตอบสนองคนเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เมื่อสานุศิษย์ที่แท้จริงแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณ พวกท่านได้รับการดลใจที่เหมาะกับการเผชิญหน้าแต่ละครั้ง และในการเผชิญหน้าทุกครั้ง สานุศิษย์ที่แท้จริงตอบสนองในวิธีที่อัญเชิญพระวิญญาณของพระเจ้า …
“ในฐานะสานุศิษย์ที่แท้จริง เรื่องที่เรากังวลอันดับแรกต้องเป็นความผาสุกของผู้อื่น ไม่ใช่การพิสูจน์ว่าตนเองถูก คำถามและคำวิพากษ์วิจารณ์เปิดโอกาสให้เราเอื้อมออกไปหาผู้อื่นและแสดงให้พวกเขาเห็นว่าพวกเขามีความสำคัญต่อพระบิดาบนสวรรค์ของเราและต่อเรา เป้าหมายของเราควรเป็นการช่วยให้พวกเขาเข้าใจความจริง ไม่ใช่ปกป้องตัวตนของเราหรือพิสูจน์ว่าเราเหนือกว่าด้วยการโต้คารมทางศาสนศาสตร์ ประจักษ์พยานจากใจจริงของเราคือคำตอบอันทรงพลังที่สุดที่เราจะให้แก่ผู้กล่าวร้ายเรา” (ดู “ความกล้าหาญแบบชาวคริสต์: คุณค่าแห่งความเป็นสานุศิษย์, “ เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 89–91)
ให้เวลานักเรียนอ่านและใช้ปากกาเน้นข้อความหลักธรรมที่เอ็ลเดอร์เฮลส์สอน เชื้อเชิญพวกเขาให้แบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้ ท่านอาจต้องการสนทนาคำถามต่อไปนี้บางข้อหรือทุกข้อ
-
การกระทำของเราต่อผู้อื่นจะมีผลต่อความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร (ช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเราทำตามแบบอย่างของพระคริสต์ในการตอบสนองด้วยความรักและความเมตตาต่อคนที่ต่อต้านเรา เราสามารถทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระผู้เป็นเจ้าและของเราแน่นแฟ้นขึ้น)
-
การปฏิบัติต่อผู้อื่นในลักษณะนี้เป็นส่วนหนึ่งของพันธสัญญาบัพติศมาที่เราทำไว้กับพระบิดาบนสวรรค์อย่างไร (นี่เป็นวิธีสำคัญวิธีหนึ่งของการยืนเป็นพยานเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าทุกเวลา และในทุกสิ่ง และในทุกแห่ง [ดู โมไซยาห์ 18:9])
ถามนักเรียนว่าพวกเขาเคยมีประสบการณ์ซึ่งการทำตามแบบอย่างและคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดเอื้ออำนวยให้พวกเขาได้ช่วยให้คนบางคนใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้นหรือไม่ ขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา
กระตุ้นให้นักเรียนสำรวจความสัมพันธ์ของพวกเขากับผู้อื่น ระบุความสัมพันธ์ที่จะปรับปรุงได้ และจดลงไปว่าพวกเขาจะประยุกต์ใช้หลักธรรมที่สนทนาในวันนี้กับความสัมพันธ์นั้นอย่างไร
สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน
-
กิจการของอัครทูต 10:38; มัทธิว 5:9–12, 21–24, 38–41, 43–47; 6:14–15; 7:1–5.
-
เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ราคา—และพร—ของการเป็นสานุศิษย์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 6–9.