เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 9: อิทธิพลอันลึกซึ้งของพระผู้ช่วยให้รอด


บทที่ 9

อิทธิพลอันลึกซึ้งของพระผู้ช่วยให้รอด

คำนำ

ใน “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก” ผู้นำศาสนจักรประกาศดังนี้ “เรามอบประจักษ์พยานของเราถึงความจริงในพระชนม์ชีพอันหาที่เปรียบมิได้ของพระองค์และพระบารมีอันหาที่สุดมิได้ของการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้อันยิ่งใหญ่ของพระองค์ ไม่มีผู้ใดอื่นอีกแล้วที่มีอิทธิพลลึกซึ้งเช่นนั้นต่อผู้คนที่มีชีวิตอยู่และยังจะมีชีวิตอยู่ต่อไปบนแผ่นดินโลก” (เลียโฮนา, เม.ย. 2000, 2) บทเรียนนี้จะแสดงให้เห็นว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงหาที่เปรียบมิได้เพราะนอกเหนือจากเหตุผลอื่นแล้ว พระองค์ทรงปราศจากบาปและทรงยอมตามพระบิดาบนสวรรค์อย่างครบถ้วน โดยศึกษาการปฏิสัมพันธ์ของพระองค์กับหญิงชาวสะมาเรียที่บ่อน้ำ นักเรียนจะเห็นอิทธิพลอันลึกซึ้งที่พระองค์ทรงมีต่อทุกคนที่เปิดใจรับพระองค์เช่นกัน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

มัทธิว 4:1–11; 2 โครินธ์ 5:21; ฮีบรู 2:17–18; 4:15–16; หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:22

พระเยซูคริสต์ทรงดำเนินพระชนม์ชีพที่ปราศจากบาป

เริ่มชั้นเรียนโดยเขียนบนกระดานว่า ความประสงค์ของฉัน และ พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 6:38 และขอให้นักเรียนที่เหลือดูตามโดยหาดูว่าพระเยซูทรงตัดสินใจตาม “ความประสงค์ของฉัน” กี่ครั้ง เชื้อเชิญนักเรียนให้พิจารณาในใจว่าพวกเขาได้ตัดสินใจกี่ครั้งเมื่อเร็วๆ นี้ที่จัดอยู่ในประเภท “ความประสงค์ของฉัน” และกี่ครั้งจัดอยู่ในประเภท “พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า”

บอกนักเรียนว่าหลังจากรับบัพติศมา พระเยซูทรงถูกซาตานล่อลวงให้ทำสิ่งที่จัดอยู่ในประเภท “ความประสงค์ของฉัน” ขอให้นักเรียนหลายคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก มัทธิว 4:1–11 เชื้อเชิญนักเรียนที่เหลือให้ดูตาม โดยหาดูว่าพระเยซูคริสต์ทรงเอาชนะการล่อลวงอย่างไร (ท่านอาจจะชี้ให้นักเรียนเห็นว่างานแปลของโจเซฟ สมิธสำหรับ มัทธิว 4:1–11 ชี้แจงว่าพระวิญญาณ ไม่ใช่ซาตาน คือผู้นำพระเยซูขึ้นไปบนยอดหลังคาพระวิหาร [ดู ข้อ 5] แล้วขึ้นไปบนภูเขาสูง [ดู ข้อ 8] หลังจากพระวิญญาณพาพระเยซูไปยังที่เหล่านี้ มารมาล่อลวงพระองค์)

  • ท่านสังเกตเห็นอะไรเกี่ยวกับวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบสนองการล่อลวงของซาตาน

  • ท่านเรียนรู้อะไรจากแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในข้อเหล่านี้

  • การล่อลวงที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงประสบคล้ายกับการล่อลวงที่เราประสบในชีวิตเราอย่างไร

ให้ดูและอ่านข้อความต่อไปนี้ของประธานเดวิด โอ. แมคเคย์ (1873–1970) ผู้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการล่อลวงที่พระเยซูทรงประสบในถิ่นทุรกันดาร

ประธานเดวิด โอ. แมคเคย์

“การล่อลวงแทบทุกอย่างที่มาถึงท่านและข้าพเจ้ามาในรูปแบบหนึ่งในนั้น ลองแยกประเภทดู และท่านจะพบว่าการล่อลวงแทบทุกอย่างที่ทำให้ท่านและข้าพเจ้าด่างพร้อย อาจจะด่างพร้อยเล็กน้อย มาถึงเราภายใต้หนึ่งในสามรูปแบบนั้น คือ (1) การล่อลวงเรื่องความอยาก (2) การยอมอ่อนข้อให้ความจองหอง ความนิยม และความถือตัวของคนที่เหินห่างจากเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า หรือ (3) การสนองความลุ่มหลง หรือปรารถนาความร่ำรวยของโลก หรืออำนาจในหมู่มนุษย์” (Unspotted from the World, Ensign, Aug. 2009, 27)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฮีบรู 2:17–18; 4:15–16 ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:22 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตามและสังเกตความคล้ายคลึงระหว่างสองข้อนี้ จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • เหตุใดพระเยซูจึงจำเป็นต้องประสบการล่อลวง

  • เหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องเข้าใจว่าพระเยซูคริสต์ทรงประสบการล่อลวงแบบเดียวกับที่เราประสบในเวลานี้

บอกนักเรียนว่าวัตถุประสงค์ประการหนึ่งของบทเรียนวันนี้คือแสดงให้เห็นพระชนม์ชีพอันหาที่เปรียบมิได้ของพระผู้ช่วยให้รอด ถามนักเรียนว่าข้อพระคัมภีร์ที่ศึกษาในบทเรียนแสดงให้เห็นแง่มุมหนึ่งของพระชนม์ชีพอันหาที่เปรียบมิได้ของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร (นักเรียนควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: พระเยซูคริสต์ทรงดำเนินพระชนม์ชีพอันหาที่เปรียบมิได้เพราะพระองค์ไม่ทรงยอมต่อการล่อลวงและไม่ทรงทำบาป)

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ (1907–1995) และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

“สำคัญที่ต้องจำไว้ว่าพระเยซูทรงสามารถทำบาปได้ พระองค์จะทรงยอมจำนนก็ได้ พระองค์จะทรงทำลายแผนแห่งชีวิตและความรอดก็ได้ แต่พระองค์ไม่ทรงทำ หากไม่มีโอกาสให้พระองค์ทรงยอมต่อการชักจูงของซาตาน จะไม่มีการทดสอบที่แท้จริง จะไม่มีชัยชนะที่แท้จริงเกิดขึ้น … พระองค์ทรงดีพร้อมและปราศจากบาป ไม่ใช่เพราะพระองค์ต้องเป็น แต่เพราะพระองค์ตั้งพระทัยและแสดงให้เห็นชัดเจนว่าทรงต้องการเป็นเช่นนั้น” (The Temptations of Christ, Ensign, Nov. 1976, 19).

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน ลูกา 22:42, 44 และ 3 นีไฟ 11:11 ในใจ โดยมองหาคุณลักษณะของพระเยซูคริสต์ที่เป็นอีกแบบอย่างหนึ่งของพระชนม์ชีพอันหาที่เปรียบมิได้ของพระองค์ (นักเรียนควรระบุว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงยอมทำตามพระประสงค์ของพระบิดา)

ให้ดูข้อความต่อไปนี้ของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (1899-1994) และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

“พระองค์ทรงทนรับความเจ็บปวดของมวลมนุษย์ในเกทเสมนีเพื่อพวกเขาจะไม่ต้องทนทุกข์ถ้าพวกเขาจะกลับใจ

“พระองค์ทรงยอมรับความอัปยศอดสูและการเหยียดหยามจากศัตรูของพระองค์โดยไม่พร่ำบ่นหรือแก้แค้น

“และสุดท้าย พระองค์ทรงอดทนต่อการเฆี่ยนตีและความอัปยศอันทารุณโหดร้ายของกางเขน ตอนนั้นเองที่พระองค์สมัครพระทัยยอมรับความตาย …

“พระองค์ทรงเชื่อฟังพระบิดาบนสวรรค์ของเราอย่างครบถ้วน” (Jesus Christ: Our Savior and Redeemer, Ensign, Nov. 1983, 7, 8)

ติดตามผลโดยถามคำถามต่อไปนี้

  • ในแผนแห่งความรอดของพระบิดาบนสวรรค์ เหตุใดพระเยซูจึงจำเป็นต้องปราศจากบาปโดยสิ้นเชิงและยอมตามพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์อย่างครบถ้วน (นักเรียนอาจให้คำตอบหลากหลาย แต่พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้: แผนแห่งความรอดเรียกร้องให้พระเยซูเชื่อฟังอย่างครบถ้วนจึงจะทำการชดใช้ได้)

  • การรู้ว่าพระองค์ทรงปราศจากบาปโดยสิ้นเชิงและทรงเชื่อฟังพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์อย่างครบถ้วนมีอิทธิพลต่อศรัทธาของท่านในพระเยซูคริสต์อย่างไร (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เน้นว่า เราจะมีพลังเอาชนะการล่อลวงและเชื่อฟังได้เมื่อเราทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ในการหมายมั่นทำตามพระประสงค์ของพระบิดาแทนที่จะทำตามความประสงค์ของเราเอง)

ยอห์น 4:1–29

อิทธิพลอันลึกซึ้งของพระผู้ช่วยให้รอด

เขียนบนกระดานหรือให้ดูประโยคต่อไปนี้จาก “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก,” (เลียโฮนา, เม.ย. 2000, 2)

“ไม่มีผู้ใดอื่นอีกแล้วที่มีอิทธิพลลึกซึ้งเช่นนั้นต่อผู้คนที่มีชีวิตอยู่และยังจะมีชีวิตอยู่ต่อไปบนแผ่นดินโลก”

เชื้อเชิญนักเรียนให้ไตร่ตรองข้อความนี้โดยถามดังนี้

  • ลักษณะพิเศษใดของพระเยซูคริสต์ทำให้พระองค์ทรงสามารถมีอิทธิพลเช่นนั้นต่อทุกคนที่เคยมีชีวิตและจะมีชีวิต

บอกนักเรียนว่าบุคคลหนึ่งที่พระเยซูทรงมีอิทธิพลลึกซึ้งต่อเธอในช่วงการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัยคือหญิงชาวสะมาเรีย ช่วยนักเรียนใช้สิ่งช่วยศึกษาในพระคัมภีร์ของพวกเขาเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับชาวสะมาเรีย (ดู Bible Dictionary,Samaritans; คู่มือพระคัมภีร์, “ชาวสะมาเรีย”; scriptures.lds.org) สรุป ยอห์น 4:1–8จากนั้นขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 4:9 ชี้ให้เห็นว่าคำตอบของหญิงคนนั้นต่อคำขอของพระเยซูเผยให้เห็นความเป็นอริที่มีอยู่ระหว่างชาวยิวกับชาวสะมาเรียสมัยนั้น จากนั้นขอให้นักเรียนอ่าน ยอห์น 4:10–15 ในใจ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ท่านจะบอกลักษณะปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระเยซูกับหญิงคนนั้นว่าอย่างไร

  • พระเยซูทรงเสนออะไรให้เธอ

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 4:16–19 ขณะที่นักเรียนที่เหลือดูตามและนึกภาพว่าจะเป็นอย่างไรถ้าพวกเขาเป็นผู้หญิงคนนั้นในการสนทนาครั้งนี้ (หมายเหตุ: การนึกภาพจะช่วยทำให้เรื่องราวพระคัมภีร์มีชีวิตและเป็นจริงมากขึ้น) จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ท่านจะคิดอย่างไรถ้าท่านเป็นหญิงชาวสะมาเรียคนนั้น เพราะเหตุใด

  • มีหลักฐานอะไรยืนยันว่าพระเยซูทรงมีอิทธิพลต่อเธอ (ชี้ให้เห็นความก้าวหน้าของชื่อที่หญิงคนนั้นเอ่ยถึงพระองค์: “คนยิว” [ข้อ 9]; “ท่านเจ้าคะ” [ข้อ 11, 15]; และ “ผู้เผยพระวจนะ” [ข้อ 19])

เชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก ยอห์น 4:20–29 ขอให้นักเรียนบอกพระนามของพระผู้ช่วยให้รอดใน ข้อ 25 และข้อ 29 จากนั้นขอให้นักเรียนไตร่ตรองสักครู่ก่อนถามคำถามต่อไปนี้

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรในช่วงเวลาสั้นๆ นี้เพื่อเปลี่ยนการรับรู้ของหญิงคนนั้นเกี่ยวกับพระองค์จากการเป็น “คนยิว” (ข้อ 9) จนเป็น “พระคริสต์” (ข้อ 29) (เชื้อเชิญนักเรียนให้แบ่งปันสิ่งที่สังเกตเห็นในข้อเหล่านี้ คำตอบอาจได้แก่: พระองค์ทรงแสดงความเคารพเธอ พระองค์ทรงสอนหลักคำสอนแก่เธอ พระองค์ทรงสอนเธอในลักษณะที่พระวิญญาณบริสุทธิ์จะเป็นพยานต่อเธอ พระองค์ทรงเปิดเผยเรื่องส่วนตัวของเธอ และพระองค์ทรงมุ่งความสนใจไปที่เธอ)

  • เรื่องราวของพระผู้ช่วยให้รอดกับหญิงชาวสะมาเรียสอนอะไรในเรื่องที่ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้สึกต่อท่านอย่างไรและอิทธิพลที่ทรงมีต่อท่านได้

  • ท่านเคยเห็นพระผู้ช่วยให้รอดทรงมีอิทธิพลอย่างไรในชีวิตท่านหรือในชีวิตของคนบางคนที่ท่านรู้จัก อิทธิพลของพระผู้ช่วยให้รอดมีผลอะไร

  • ท่านตั้งใจจะทำอะไรเพื่อรับรู้อิทธิพลของพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิตท่านมากขึ้นและยอมให้อิทธิพลของพระองค์เปลี่ยนท่าน

เป็นพยานว่าเมื่อเราเปลี่ยนชีวิตไปหาพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์จะทรงมีอิทธิพลลึกซึ้งต่อเรา อิทธิพลใหญ่หลวงที่สุดของพระผู้ช่วยให้รอดเกิดขึ้นเมื่อเราเชื้อเชิญเดชานุภาพแห่งการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์ให้ชำระเรา ยกเราขึ้น และเปลี่ยนเรา กระตุ้นให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแสดงความสำนึกคุณต่อพระผู้ช่วยให้รอดสำหรับอิทธิพลของพระองค์ในชีวิตพวกเขา เชื้อเชิญพวกเขาให้ทำตามสิ่งที่พวกเขารู้สึก

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน