2016
จงเป็นที่พักพิงจากพายุ
พฤษภาคม 2016


จงเป็นที่พักพิงจากพายุ

ช่วงเวลานี้จะไม่ได้นิยามผู้ลี้ภัย แต่การตอบสนองของเราจะช่วยนิยามพวกเรา

“เพราะว่าเมื่อเราหิว พวกท่านก็จัดหาให้เรากิน เรากระหายน้ำ ท่านก็ให้เราดื่ม เราเป็นแขกแปลกหน้า พวกท่านก็ต้อนรับเรา:

“เราเปลือยกายพวกท่านก็ให้เสื้อผ้าเรานุ่งห่ม …

“… เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า ซึ่งพวกท่านได้ทำกับคนใดคนหนึ่งที่เล็กน้อยที่สุดในพี่น้องของเรานี้ ก็เหมือนทำกับเราด้วย”1

ในโลกเราทุกวันนี้ มีผู้ลี้ภัยประมาณ 60 ล้านคน ซึ่งหมายความว่า “มีมนุษย์ 1 คนในทุกๆ 122 คน …ถูกบังคับให้หนีจากบ้าน”2 และครึ่งหนึ่งของคนเหล่านี้เป็นเด็ก3เป็นเรื่องน่าตกใจเมื่อพิจารณาจำนวนที่เกี่ยวข้องและสะท้อนให้เห็นว่านี่หมายถึงอะไรในชีวิตของมนุษย์แต่ละคน ปัจจุบันงานมอบหมายของข้าพเจ้าอยู่ในทวีปยุโรป ซึ่งมีผู้ลี้ภัยเหล่านี้หนึ่งล้านสองแสนห้าหมื่นคนมาถึงในช่วงปีที่แล้วโดยหนีภัยสงครามจากส่วนต่างๆ ของตะวันออกกลางและแอฟริกา4เราเห็นพวกเขาจำนวนมากที่มีเพียงเสื้อผ้าพันกายและสิ่งสามารถนำมาได้ในกระเป๋าใบเล็กๆ เพียงใบเดียว ส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้มีการศึกษาดี และพวกเขาจำต้องละทิ้งบ้าน โรงเรียนและงานมา

ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายประธานสูงสุด ศาสนจักรกำลังทำงานกับ 75 องค์กรใน 17 ประเทศในทวีปยุโรป องค์กรเหล่านี้มีตั้งแต่สถาบันนานาชาติขนาดใหญ่จนถึงโครงการที่เริ่มใหม่ของชุมชนขนาดเล็ก ตั้งแต่หน่วยงานรัฐบาลจนถึงองค์การการกุศลทางศาสนาและทางโลก เป็นเรื่องดีที่ได้ทำงานกับผู้อื่นและเรียนรู้จากพวกเขาซึ่งทำงานกับผู้ลี้ภัยทั่วโลกมานานหลายปี

ในฐานะสมาชิกศาสนจักร ในฐานะผู้คน เราไม่ต้องมองย้อนไปไกลจนถึงประวัติศาสตร์ของเราเพื่อหวนนึกถึงวันเวลาที่เราเคยเป็นผู้ลี้ภัย ถูกขับไล่ด้วยความรุนแรงจากบ้านและฟาร์มครั้งแล้วครั้งเล่า สุดสัปดาห์ก่อนเราพูดถึงผู้ลี้ภัย ซิสเตอร์ลินดา เบอร์ตัน ขอให้สตรีของศาสนจักรพิจารณาว่า “จะเป็นอย่างไรถ้า เรื่องราว ของพวกเขา เป็นเรื่องราว ของฉัน5 เรื่องของพวกเขา เป็น เรื่องของเรา ที่เพิ่งผ่านมาไม่นาน

มีการโต้แย้งอย่างเคร่งเครียดในรัฐบาลและสังคมหน่วยต่างๆ เกี่ยวกับคำนิยามของผู้ลี้ภัยและสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัย สิ่งที่ข้าพเจ้าเอ่ยถึงไม่ได้มีเจตนาไม่ว่าโดยทางใดที่จะก่อให้เกิดการอภิปรายที่ร้อนแรงแบบนั้นขึ้นอีก ไม่ทั้งแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายผู้ลี้ภัย แต่ต้องการมุ่งเน้นไปที่ ผู้คน ที่ถูกสงครามบังคับขับไสให้ต้องทิ้งบ้านและประเทศของพวกเขาโดยที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในการเริ่มต้นเลย

พระผู้ช่วยให้รอดทรงทราบความรู้สึกของผู้ลี้ภัย—พระองค์ทรงเป็นหนึ่งในนั้น เมื่อยังเด็ก พระเยซูกับครอบครัวต้องหลบหนีคำสั่งฆ่าของเฮโรดไปอียิปต์ หลายครั้งในการปฏิบัติศาสนกิจ พระเยซูทรงพบว่าพระองค์เองถูกข่มขู่และพระชนม์ชีพตกอยู่ในอันตราย จนในที่สุดต้องยอมต่อแผนของคนชั่วที่วางแผนสังหารพระองค์ ทั้งหมดทำให้เป็นที่น่าสนใจต่อเรายิ่งขึ้น ที่ทรงสอนครั้งแล้วครั้งเล่าให้เรารักกันและกัน ให้รักดังที่พระองค์ทรงรัก ให้รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง แท้จริงแล้ว “ธรรมะที่บริสุทธิ์ไร้มลทินเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าพระบิดานั้น คือการช่วยเหลือเด็กกำพร้าและหญิงม่ายที่มีความทุกข์ร้อน”6 และ “ดูแลคนจนและคนขัดสน, และช่วยสงเคราะห์เพื่อคลายความทุกข์ยากของคนเหล่านั้นเพื่อพวกเขาจะไม่ต้องทนทุกข์”7

นับเป็นแรงบันดาลใจมาตลอด ที่ได้เห็นว่าสมาชิกจากทุกมุมโลกบริจาคอย่างเอื้อเฟื้อเพื่อช่วยเหลือบุคคลและครอบครัวเหล่านี้ผู้สูญเสียมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั่วทั้งทวีปยุโรป ข้าพเจ้าเห็นสมาชิกศาสนจักรมากมายผู้ได้รับประสบการณ์ที่ทำให้จิตวิญญาณปีติยินดีและอิ่มเอิบขณะพวกเขาตอบสนองต่อความปรารถนาอันลึกซึ้งแต่กำเนิดที่จะออกไปรับใช้บรรดาผู้ขัดสนยิ่งเหล่านั้นซึ่งอยู่รายรอบพวกเขา ศาสนจักรได้จัดเตรียมที่พักอาศัยและการดูแลด้านการแพทย์ให้ สเตคและคณะเผยแผ่รวบรวมชุดสุขอนามัยได้หลายพันชุด สเตคอื่นๆ จัดเตรียมอาหารและน้ำ เสื้อผ้า ชุดกันน้ำ จักรยาน หนังสือ เป้ แว่นอ่านหนังสือและอื่นๆอีกมากมาย

บุคคลต่างๆ จากสกอตแลนด์ถึงซิซิลีก้าวเข้ามารับหน้าที่ทุกอย่างที่พอจะนึกออก แพทย์ พยาบาลเป็นอาสาสมัครเข้ารับใช้ในจุดที่ผู้ลี้ภัยมาถึงในสภาพเปียกปอน หนาวสั่นและบ่อยครั้งบอบช้ำจากการข้ามน้ำ ขณะผู้ลี้ภัยเริ่มขั้นตอนการตั้งหลักแหล่ง สมาชิกในท้องที่จะช่วยสอนภาษาของประเทศเจ้าบ้าน ขณะที่คนอื่นๆ ช่วยยกระดับจิตใจทั้งของเด็กๆ และพ่อแม่โดยจัดเตรียมของเล่น วัสดุสำหรับงานศิลปะ ดนตรีและการละเล่นต่างๆ บางคนนำด้ายถัก เข็มถักนิตติ้ง และขอถักโครเชต์ที่มีผู้บริจาคมามอบให้และสอนทักษะเหล่านั้นแก่ผู้ลี้ภัยในท้องที่ทั้งผู้สูงอายุและผู้เยาว์

สมาชิกศาสนจักรที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้ว เคยรับใช้และเป็นผู้นำมาหลายปีได้ทราบชัดแล้วว่าการสงเคราะห์ผู้คนเหล่านี้โดยด่วนเป็นสิ่งจำเป็น พวกเขาจึงมอบประสบการณ์อันทรงคุณค่าที่สุดและประสบความสำเร็จสูงสุดในการรับใช้ที่ผ่านมาให้กับงานนี้

หากไม่เห็นด้วยตาคงไม่เชื่อว่านี่คือสถานการณ์จริง ในฤดูหนาว ท่ามกลางผู้คนมากมาย ข้าพเจ้าพบสตรีมีครรภ์จากซีเรียในค่ายเตรียมย้ายผู้ลี้ภัย เธอรู้สึกสิ้นหวังกับการหาความมั่นใจว่าไม่ต้องคลอดลูกบนพื้นเย็นๆ ของอาคารหลังใหญ่ที่เธออาศัยขณะนั้น ที่ประเทศซีเรีย เธอเป็นศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย และในประเทศกรีซ ข้าพเจ้าสนทนากับครอบครัวหนึ่งที่เปียก ตัวสั่น และตื่นกลัวจากการข้ามน้ำมาจากประเทศตุรกีด้วยเรือยางลำเล็กๆ ข้าพเจ้ามองตาและฟังเรื่องราวของพวกเขา ทั้งเหตุสยองขวัญที่เขาหนีมาและการเดินทางที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเพื่อหาที่ลี้ภัย ข้าพเจ้าไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

การออกไปดูแลช่วยเหลือมาจากผู้คนหลากหลายที่ทำงานบรรเทาทุกข์อย่างอุทิศตน หลายคนทำด้วยจิตอาสา ข้าพเจ้าเห็นการกระทำของสมาชิกศาสนจักรผู้ทำงานตลอดคืนนานหลายเดือนเพื่อจัดหาสิ่งจำเป็นเร่งด่วนให้แก่ผู้ข้ามจากตุรกีมาจนถึงกรีซ นอกจากความพยายามด้านอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน เธอยังดูแลปฐมพยาบาลผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด่วนที่สุด เธอคอยดูว่าสตรีและเด็กๆ ที่เดินทางตามลำพังจะได้รับการดูแล เธอกอดผู้สูญเสียคนรักระหว่างทาง และทำดีที่สุดที่จะแบ่งสันปันส่วนทรัพยากรอันมีขีดจำกัดแก่ผู้ขัดสนที่ไม่มีขีดจำกัด เฉกเช่นอีกหลายคนที่เหมือนกัน เธอเป็นเทพผู้ปฏิบัติอย่างแท้จริง มีการกระทำที่ ไม่ว่าผู้รับการดูแลหรือพระเจ้าซึ่งเธอทำกิจธุระให้ จะไม่มีวันลืม

ทุกคนที่อุทิศตนเพื่อบรรเทาทุกข์คนรอบข้าง เหมือนกับผู้คนของแอลมามาก: “และดังนี้, ในสภาพอันรุ่งเรืองของพวกเขา, พวกเขาไม่ได้ ไล่ผู้ ใดที่เปลือยเปล่า, หรือที่หิวโหย, หรือที่กระหาย, หรือที่เจ็บป่วย, หรือที่ไม่ได้รับการบำรุงเลี้ยง … ฉะนั้นพวกเขาจึงโอบอ้อมอารีคนทั้งปวง, ทั้งชราและหนุ่ม ทั้งทาสและไท, ทั้งชายและหญิง, ไม่ว่านอกศาสนจักรหรือในศาสนจักร โดยที่ไม่ลำเอียง ต่อบุคคลใดในบรรดาคนเหล่านั้นซึ่งขัดสน”8

เราต้องระวังไม่ให้ข่าวความเดือดร้อนของผู้ลี้ภัยกลายเป็นเรื่องชินชา เมื่อความตื่นตระหนกครั้งแรกเริ่มจางลง ทั้งที่สงครามก็ยังไม่หยุด และยังมีอีกหลายครอบครัวกำลังอพยพมา ผู้ลี้ภัยหลายล้านคนทั่วโลกซึ่งเรื่องราวของพวกเขาไม่เป็นข่าวแล้ว ยังคงต้องการความช่วยเหลืออย่างยิ่งอยู่

ถ้าถามว่า “ฉันจะทำอะไรได้บ้าง?” ก่อนอื่นต้องจำไว้ว่าเราจะไม่บำเพ็ญประโยชน์โดยมีผลกระทบต่อครอบครัวและความรับผิดชอบอื่นๆ ของเรา9 ทั้งเราจะไม่คาดหวังให้ผู้นำจัดโครงการต่างๆ ขึ้นเพื่อเรา แต่ในฐานะเยาวชน ผู้ชาย สตรี และครอบครัว เราจะมีส่วนร่วมในงานเพื่อมนุษยธรรมนี้ได้

ในการตอบรับคำเชิญชวนจากฝ่ายประธานสูงสุดให้มีส่วนร่วมในการรับใช้เหมือนพระคริสต์ต่อผู้ลี้ภัยทั่วโลก10 ฝ่ายประธานองค์การสามัญของสมาคมสงเคราะห์ เยาวชนหญิง และปฐมวัยได้จัดให้มีงานบรรเทาทุกข์ขึ้นโดยใช้ชื่อว่า “เราเป็นแขกแปลกหน้า” ซิสเตอร์เบอร์ตันแนะนำโครงการนี้แก่สตรีในศาสนจักรในภาคการประชุมใหญ่สตรีเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว มีแนวคิด แหล่งช่วยและคำแนะนำที่มีประโยชน์มากมายสำหรับการบำเพ็ญประโยชน์ใน IWasAStranger.lds.org

เริ่มด้วยการคุกเข่าสวดอ้อนวอน แล้วคิดถึงการทำบางอย่างใกล้บ้าน ในชุมชนของท่านเอง ที่ซึ่งท่านจะพบผู้คนที่ต้องการให้ช่วยในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ เป้าหมายสูงสุดคือการฟื้นฟูสภาพให้กลับไปสู่ชีวิตที่ขยันขันแข็งและพึ่งพาตนเอง

ความเป็นไปได้ที่เราจะยื่นมือเข้าช่วยและเป็นเพื่อนไม่มีที่สิ้นสุด ท่านอาจช่วยผู้ลี้ภัยที่ตั้งหลักแหล่งใหม่เรียนภาษาประเทศเจ้าบ้าน ปรับทักษะการทำงานให้ทันสมัย หรือฝึกการสัมภาษณ์งาน ท่านอาจช่วยเป็นพี่เลี้ยงแก่ครอบครัวหรือคุณแม่ตัวคนเดียวขณะปรับตัวเข้าสู่วัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคย อาจจะเป็นสิ่งที่เรียบง่ายเช่น พาพวกเขาไปร้านขายของชำหรือพาไปโรงเรียน บางวอร์ดและบางสเตคมีองค์การที่วางใจได้ที่จะทำงานร่วมกันอยู่แล้ว และ ท่านสามารถเป็นผู้ให้แก่งานด้านมนุษยธรรมที่จัดขึ้นเป็นพิเศษของศาสนจักรได้ ตามสถานการณ์ของท่าน

นอกจากนี้ เราแต่ละคนอาจเพิ่มความตื่นตัวให้มากขึ้นต่อเหตุการณ์โลกที่ผลักดันให้ครอบครัวเหล่านี้ต้องจากบ้านของตน เราต้องยืนหยัดต่อต้านความใจแคบและสนับสนุนความเคารพและความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมประเพณี การพบกับครอบครัวผู้ลี้ภัยและรับฟังเรื่องราวของพวกเขาโดยตรง ไม่ใช่จากจอหรือหนังสือพิมพ์ จะเปลี่ยนท่าน มิตรภาพที่แท้จริงจะพัฒนาและจะเสริมสร้างความเห็นอกเห็นใจ และการผสมผสานที่ประสบความสำเร็จ

พระเจ้าทรงสอนเราว่าสเตคแห่งไซอันต้องเป็น “ที่คุ้มภัย” และ “ที่พักพิงจากพายุ”11 เราพบที่พักพิงแล้ว ให้เราออกจากที่ปลอดภัยของเราและแบ่งปันให้พวกเขา จากความอุดมสมบูรณ์ของเรา ความหวัง ในอนาคตที่สดใส ศรัทธา ในพระผู้เป็นเจ้า และในเพื่อนมนุษย์ และ ความรัก ที่มองข้ามความแตกต่างทางวัฒนธรรมและคตินิยมจนเห็นความจริงอันเลิศล้ำที่ว่าเราทุกคนเป็นลูกๆ ของพระบิดาบนสวรรค์

“เพราะว่าพระเจ้าไม่ได้ประทานใจที่ขลาดกลัวแก่เรา แต่ประทานใจที่ประกอบด้วยฤทธานุภาพ และความรัก”12

การเป็นผู้ลี้ภัยอาจเป็นช่วงเวลาที่อยู่ในวงจำกัดของชีวิตผู้ลี้ภัย แต่การเป็นผู้ลี้ภัยไม่ได้ขีดวงจำกัด พวกเขา เฉกเช่นคนนับไม่ถ้วนที่มาก่อน นี่จะเป็นเพียงช่วงหนึ่งของเวลา—ซึ่งหวังว่าจะเป็นช่วงสั้นๆ—ในชีวิตพวกเขา พวกเขาบางคนอาจดำเนินต่อไปจนได้เป็นผู้รับรางวัลโนเบล เป็นข้าราชการ แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักดนตรี ศิลปิน ผู้นำทางศาสนา และผู้อุทิศตนในสาขาต่างๆ ที่จริงพวกเขาหลายคน เป็น สิ่งเหล่านี้อยู่แล้วก่อนที่จะสูญเสียทุกสิ่ง ช่วงเวลานี้จะไม่ได้นิยามพวกเขา แต่การตอบสนองของเราจะช่วยนิยามพวกเรา

“เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า ซึ่งพวกท่านได้ทำกับคนใดคนหนึ่งที่เล็กน้อยที่สุดในพี่น้องของเรานี้ ก็เหมือนทำกับเราด้วย”13 ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

ข้ออ้างอิงเพิ่มเติม ดู IWasAStranger.lds.org และ mormonchannel.org/blog/post/40-ways-to-help-refugees-in-your-community.