2017
กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์: ศาสดาพยากรณ์ผู้มองโลกในแง่ดีและมีวิสัยทัศน์
มกราคม 2017


กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์:ศาสดาพยากรณ์ผู้มองโลกในแง่ดีและมีวิสัยทัศน์

เมื่อท่านศึกษา คำสอนของประธานศาสนจักร: กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ในฐานะปุโรหิตและสมาคมสงเคราะห์ปีนี้ ท่านจะเรียนรู้จากศาสดาพยากรณ์ผู้มองโลกในแง่ดี มีความรัก และมองการณ์ไกลอย่างไม่มีขอบเขต

ภาพ
President Gordon B. Hinckley with cane

“ข้าพเจ้าจำเป็นต้องปลูกต้นไม้ทุกฤดูใบไม้ผลิ” ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์เขียนไว้ในบันทึกส่วนตัวเมื่ออายุ 82 ปี “ข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าปลูกมาแล้วอย่างน้อย 50 ปีที่ผ่านมา … มีบางอย่างน่าอัศจรรย์เกี่ยวกับต้นไม้ เริ่มจากต้นเล็กและเติบโตตามฤดูกาล ต้นไม้ให้ร่มบังแดดหน้าร้อน ออกผลอร่อย ต้นไม้ทำการสังเคราะห์แสงได้อย่างน่าทึ่ง … ต้นไม้เป็นงานสร้างอันน่าทึ่งอย่างหนึ่งของพระผู้ทรงฤทธานุภาพ”1

ประธานฮิงค์ลีย์ยังคงปลูกต้นไม้ในวัยเก้าสิบของท่าน การที่ท่านชอบปลูกต้นไม้สะท้อนให้เห็นในหลายๆ ด้านในการปฏิบัติศาสนกิจขณะเป็นอัครสาวกและประธานศาสนจักร เมื่อท่านปลูก นั่นเป็นวิธีแสดงให้เห็นว่าท่านมองโลกในแง่ดี อันเป็นลักษณะพิเศษประการหนึ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของการสอนและการปฏิสัมพันธ์ของท่านกับผู้อื่น ท่านบำรุงเลี้ยงต้นไม้แต่ละต้น เฉกเช่นที่ท่านบำรุงเลี้ยงคนแต่ละคน ท่านมองไปในอนาคต โดยดูว่าต้นไม้จะเป็นอะไรได้—เช่นที่ท่านเห็นศักยภาพนิรันดร์ของแต่ละคนและอนาคตอันรุ่งโรจน์ในงานของพระผู้เป็นเจ้า

“เรามีเหตุผลทุกอย่างให้มองโลกในแง่ดี”

ภาพ
President Gordon B. Hinckley at the pulpit

“ข้าพเจ้าเป็นคนมองโลกในแง่ดี!” ประธานฮิงค์ลีย์ประกาศบ่อยครั้ง “คำขอร้องของข้าพเจ้าคือขอให้เราเลิกเสาะหาพายุและดื่มด่ำกับแสงตะวันมากขึ้น”2 การมองโลกในแง่ดีของท่านลึกซึ้งยิ่งกว่าการมีทัศนคติเชิงบวก ทั้งที่ท่านปลูกฝังเช่นนั้น แหล่งสุดท้ายของการมองโลกในแง่ดีของท่าน—แหล่งที่ทำให้การมองโลกในแง่ดีมีพลัง—คือศรัทธาของท่านในพระผู้เป็นเจ้า และประจักษ์พยานของท่านในแผนของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อความสุขและความรอดของบุตรธิดาพระองค์

ข้อบ่งชี้อย่างหนึ่งของการมองโลกในแง่ดีของประธานฮิงค์ลีย์คือความเชื่อมั่นของท่านที่ว่า “สถานการณ์จะคลี่คลาย”3 เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่าวลีนั้น “อาจเป็นคำยืนยันที่ประธานฮิงค์ลีย์พูดกับครอบครัว มิตรสหาย และเพื่อนร่วมงานบ่อยที่สุด ‘พยายามต่อไป’ ท่านจะพูด ‘จงเชื่อ จงมีความสุข อย่าท้อใจ ทุกอย่างจบลงด้วยดี’”4

แต่ข่าวสารนี้ไม่ใช่สำหรับคนอื่นๆ เท่านั้น “ข้าพเจ้าพูดกับตนเองแบบนี้ทุกเช้า” ประธานฮิงค์ลีย์บอกผู้เข้าร่วมประชุม “ถ้าท่านทำดีที่สุด ทุกอย่างจะจบลงด้วยดี จงวางใจในพระผู้เป็นเจ้า ก้าวไปข้างหน้าด้วยศรัทธาและด้วยความมั่นใจในอนาคต พระเจ้าจะไม่ทรงทอดทิ้งเรา”5

การมองโลกในแง่ดีของประธานฮิงค์ลีย์ค้ำจุนท่านผ่านการทดลอง ความรู้สึกไม่ดีพอ และแรงกดดันท่วมท้น ท่านมีความเชื่อมั่นว่า “ทุกอย่างจะจบลงด้วยดี” แม้เมื่อท่านประสบอุปสรรคและความผิดหวัง ความปวดร้าวใจและความเหงา

การมองโลกในแง่ดีไม่ได้ทำให้ประธานฮิงค์ลีย์มองว่าปัญหาเล็กลง ท่านอธิบายว่า “ข้าพเจ้าเห็นโลกนี้มามาก … ข้าพเจ้าเคยอยู่ในบริเวณที่การรบดุเดือดและความเกลียดชังคุกรุ่นในใจผู้คน ข้าพเจ้าเคยเห็นความยากจนข้นแค้นจนน่าใจหายเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ … ข้าพเจ้าเฝ้าดูศีลธรรมของสังคมเรากำลังเสื่อมถอยด้วยความหวาดกลัว

“แต่ข้าพเจ้ายังเป็นคนมองโลกในแง่ดี ข้าพเจ้ามีศรัทธาที่เรียบง่ายและจริงจังว่าความถูกต้องจะชนะและความจริงจะมีชัย”6

ระหว่างสัมภาษณ์กับนักข่าว New York Times ในเมืองนอวู รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ประธานฮิงค์ลีย์ยอมรับว่าเรื่องเศร้าและปัญหามีดาษดื่น ท่านใช้ความรักที่ท่านมีต่อประวัติศาสนจักรมาสอนเรื่องการมองโลกในแง่ดี

“เรามีเหตุผลทุกอย่างให้มองโลกในแง่ดี … ดูที่นอวูสิ ดูสิ่งที่พวกเขาสร้างที่นั่นในเจ็ดปีแล้วจากไป แต่พวกเขาทำอะไร พวกเขานอนลงและตายหรือ เปล่าเลย! พวกเขาไปทำงาน! พวกเข้าย้ายข้ามไปอีกครึ่งหนึ่งของทวีปนี้ พลิกผืนดินที่เป็นทะเลทรายและทำให้เบ่งบานดังดอกกุหลาบ รากฐานนั้นทำให้ศาสนจักรนี้เติบโตเป็นองค์กรใหญ่ระดับโลกที่ส่งผลดีต่อชีวิตผู้คนใน 140 กว่าประเทศ ท่านไม่สามารถ ท่านไม่สร้างสิ่งใดจากการมองโลกในแง่ร้ายหรือการเยาะเย้ยถากถาง ท่านมองโลกในแง่ดี ทำงานด้วยศรัทธา และความสำเร็จเกิดขึ้น”7

การมองโลกในแง่ดีของประธานฮิงค์ลีย์มีอิทธิพลต่ออารมณ์ขันของท่านเช่นกัน—คำพูดสร้างสรรค์ชวนฟังที่สร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ครั้งหนึ่งท่านพักอยู่กับประธานสเตคที่ครอบครัวของเขาอาศัยอยู่ในอาคารเรียนหลังเก่าที่พวกเขาเปลี่ยนเป็นบ้าน คืนนั้นพวกเขาใช้ห้องเรียนเป็นห้องนอนของประธานฮิงค์ลีย์ ระหว่างการประชุมใหญ่สเตควันต่อมา ท่านพูดติดตลกว่า “ข้าพเจ้า [เคย] นอนหลับในห้องเรียนหลายครั้งมาก—แต่ไม่เคยนอนหลับบนเตียงอย่างนั้น”8

“ความห่วงใยของเรามักจะอยู่กับบุคคลแต่ละคนเสมอ”

ในคำปราศรัยการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกของท่านในฐานะประธานศาสนจักร กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์พูดกว้างๆ เกี่ยวกับการเติบโตของศาสนจักรดังนี้ “เรากำลังเป็นสังคมใหญ่ระดับโลก” ท่านกล่าว ต่อจากนั้นท่านเปลี่ยนมาเน้นหลักธรรมสำคัญนี้ “ความสนใจและความห่วงใยของเรามักจะอยู่กับบุคคลแต่ละคนเสมอ …

“… เราพูดในแง่ของจำนวน แต่ความพยายามทั้งหมดของเราต้องอุทิศให้พัฒนาการของแต่ละบุคคล”9

ขณะเป็นสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสอง ประธานฮิงค์ลีย์เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้คนยังพื้นที่ไกลสุดบางแห่งของโลก รวมทั้งเขตสงคราม ไม่มีคนกลุ่มใดอยู่ไกลเกินไปหรือเล็กเกินกว่าความสนใจของท่าน ท่านยังคงทำแบบเดิมเมื่อเป็นประธานศาสนจักร โดยเดินทางกว่าหนึ่งล้านไมล์ไป 60 กว่าประเทศ บางครั้งพบปะกับคนกลุ่มใหญ่ บางครั้งพบปะกับคนแค่หยิบมือเดียว

ภาพ
President and Sister Hinckley in Hong Kong

พื้นหลัง © iStock/Thinkstock; ซ้าย: ถ่ายภาพโดย Busath Photography; ขวา: ภาพถ่ายในประเทศจีน โดย เกอร์รีย์ อวานท์, Deseret News; ล่างขวา: ภาพถ่ายเอื้อเฟื้อโดยหอจดหมายเหตุและหอสมุดประวัติศาสนจักร

ในปี ค.ศ. 1996 ประธานและซิสเตอร์ฮิงค์ลีย์เดินทาง 18 วันไปแปดประเทศในเอชียและแปซิฟิก พวกท่านเดินทางด้วยความกระฉับกระเฉงเริ่มตั้งแต่ญี่ปุ่นเพื่อพบปะกับคนหลายพันคนซึ่งเบียดกันแน่นในที่ประชุมทุกแห่ง “นี่เป็นประสบการณ์ที่น่าตื้นตันใจสำหรับข้าพเจ้า” ประธานฮิงค์ลีย์บันทึกขณะอยู่ในเกาหลี “ข้าพเจ้าเห็นสิ่งที่ข้าพเจ้าแทบไม่กล้าฝันถึงเมื่อมาถึงที่นี่ครั้งแรกในปี 1960”10 ในการเดินทางครั้งนี้ท่านอุทิศพระวิหารฮ่องกง ประเทศจีนด้วย

จุดแวะสุดท้ายตามกำหนดการคือฟิลิปปินส์ หลังจากพูดกับที่ประชุม 35,000 คนในมะนิลา ประธานฮิงค์ลีย์บันทึกว่า “ข้าพเจ้ายืนโบกมือให้พวกเขาด้วยความรู้สึกตื้นตันใจมาก เราจากมาพร้อมน้ำตาคลอหน่วย” เช้าวันนั้นท่านกลับไปยังที่ซึ่งเคยสวดอ้อนวอนอุทิศในปี 1961 เพื่อเริ่มงานเผยแผ่ศาสนาในฟิลิปปินส์ “เราสามารถหาสมาชิกชาวฟิลิปปินส์ได้เพียงคนเดียว” ท่านจำได้ “จากสมาชิกศาสนจักรหนึ่งคนนั้นเพิ่มเป็นสมาชิกมากกว่า 300,000 คน”11

เมื่อท่านกับภรรยาเริ่มเดินทางกลับบ้าน พวกท่านทราบว่าเครื่องบินจะแวะเติมเชื้อเพลิงบนเกาะไซปัน ประธานฮิงค์ลีย์ถามว่ามีผู้สอนศาสนาบนเกาะไซปันหรือไม่และมีคนบอกท่านว่ามีไม่กี่คน ถึงแม้การเดินทางที่เหนื่อยล้าสิ้นสุดแล้ว แต่ท่านต้องการพบผู้สอนศาสนาไม่กี่คนนั้น “ข้าพเจ้าถามว่าเราจะส่งข่าวถึงพวกเขาได้ไหมว่าเราจะลงจอดที่ไซปันราวหนึ่งทุ่ม และจะออกมาที่สนามบินเพื่อทักทายพวกเขา”

หลายชั่วโมงต่อมาในไซปัน ผู้สอนศาสนา 10 คนและสมาชิกศาสนจักรราว 60 คนอยู่ต้อนรับท่านที่นั่น “พวกเขาโอบกอดเรา” ประธานฮิงค์ลีย์บันทึก “พวกเขาซาบซึ้งใจมากที่ได้พบเรา และเราซาบซึ้งใจมากที่ได้พบพวกเขา เราใช้เวลากับพวกเขาได้สั้นมากเนื่องจากเครื่องบินใช้เวลาเติมเชื้อเพลิงครู่เดียว เราฝากพรไว้กับพวกเขาและกลับขึ้นเครื่อง”12

อีกตัวอย่างหนึ่งของความอาทรผู้อื่นเกิดขึ้นในช่วงโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2002 ซึ่งจัดในซอลท์เลคซิตี้ ยูทาห์ ประธานฮิงค์ลีย์พบปะกับประธานาธิบดี เอกอัครราชทูต และผู้ทรงเกียรติแทบทุกวัน วันหนึ่ง ไม่นานก่อนพบกับประธานาธิบดีของเยอรมนี ท่านพบกับเด็กสาววัย 13 ปีในวันคล้ายวันเกิดของเธอ “[เธอ] ป่วยหนักมากด้วยโรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ” ท่านบันทึก “เราพูดคุยกันด้วยความเบิกบานใจ … ข้าพเจ้าบอกเธอว่าเราจะนึกถึงเธอในการสวดอ้อนวอนของเรา”13

ประธานฮิงค์ลีย์มีความรักเป็นพิเศษต่อเด็กและเยาวชนของศาสนจักร และพวกเขารักท่านเช่นกัน หลังจากฟังท่านพูดในบราซิล เยาวชนหญิงคนหนึ่งกล่าวว่า “ดิฉันรู้สึกถึงพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าอย่างแรงกล้า เมื่อประธานฮิงค์ลีย์จบคำพูดของท่าน ท่านกล่าวกับเราว่า ‘พวกท่านจะออกจากที่นี่ กลับบ้าน และลืมทุกอย่างที่ข้าพเจ้าพูดที่นี่วันนี้ แต่อย่าลืมว่าข้าพเจ้ารักท่าน’ ดิฉันจะไม่มีวันลืมคำพูดเหล่านั้น”14

ภาพ
President and Sister Hinckley

พื้นหลัง © iStock/Thinkstock; ซ้าย: ถ่ายภาพโดย Busath Photography; ขวา: ภาพถ่ายในประเทศจีน โดย เกอร์รีย์ อวานท์, Deseret News; ล่างขวา: ภาพถ่ายเอื้อเฟื้อโดยหอจดหมายเหตุและหอสมุดประวัติศาสนจักร

มาร์จอรีภรรยาของประธานฮิงค์ลีย์เป็นทั้งคู่หูและผู้มีส่วนทำให้ท่านห่วงใยแต่ละบุคคล ท่านบันทึกว่า “ทุกคนที่เธอรู้จักดูเหมือนจะรักเธอเพราะเธอสนใจผู้คนด้วยใจจริง เธอเป็นห่วงปัญหาและความต้องการของพวกเขา ข้าพเจ้าโชคดีเหลือเกินที่มีคู่ชีวิตเช่นเธอ”15

หลังจากบุตรธิดาทั้งห้าคนของพวกท่านโตเป็นผู้ใหญ่ พวกท่านมักจะเดินทางไปด้วยกัน และซิสเตอร์ฮิงค์ลีย์หยิบยื่นความรักให้คนทั่วโลก เมื่อเธอพบผู้สอนศาสนา เธอมักจะทำให้พ่อแม่ของพวกเขาประหลาดใจด้วยการโทรศัพท์ไปหาเมื่อเธอกลับถึงบ้าน เธอมีพรสวรรค์ด้านการติดต่อกับคนกลุ่มใหญ่ด้วย “[มาร์จ] รู้วิธีพูดสิ่งที่จะช่วยและทำให้ผู้คนพอใจ” ประธานฮิงค์ลีย์บันทึกหลังจากการประชุมใหญ่ระดับเขต “พวกเราที่เหลือสอนส่วนเธอแค่พูดคุยกับพวกเขา”16

ณ พิธีศพของประธานฮิงค์ลีย์ ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ที่ปรึกษาคนหนึ่งของท่านสรุปความสำเร็จบางประการของท่าน ต่อจากนั้นประธานอายริงก์ตั้งข้อสังเกตว่าความสำเร็จทั้งหมดนี้มีอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน

“ความสำเร็จเหล่านั้นมักจะเป็นพรให้แต่ละบุคคลมีโอกาส ท่านมักจะนึกถึงคนที่มีโอกาสน้อยกว่าผู้อื่น คนธรรมดาที่กำลังกระเสือกกระสนกับความยุ่งยากของชีวิตประจำวันและความท้าทายของการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ หลายครั้งที่ท่านใช้นิ้วเคาะอกข้าพเจ้าเมื่อข้าพเจ้าเสนอบางอย่างและพูดว่า ‘ฮัล คุณจำคนที่กำลังกระเสือกกระสนคนนั้นได้ไหม’”17

ภาพ
President Hinckley with youth

วิสัยทัศน์สำหรับอนาคต

วิสัยทัศน์สำหรับอนาคตของประธานฮิงค์ลีย์เชื่อมโยงกับการมองโลกในแง่ดีและการให้ความสนใจกับแต่ละบุคคลของท่าน วิสัยทัศน์อันลึกซึ้งที่สุดนั้นเกี่ยวข้องกับพระวิหาร ประธานฮิงค์ลีย์เน้นว่า ศาสนพิธีพระวิหารเป็น “พรสูงสุดที่ศาสนจักรมอบให้”18

เมื่อท่านเป็นประธานศาสนจักรในปี ค.ศ. 1995 มีพระวิหารเปิดดำเนินการ 47 แห่งทั่วโลก ภายใต้การนำของท่าน ศาสนจักรมีพระวิหารเพิ่มมากกว่าสองเท่าในเวลาห้าปีเศษ วิสัยทัศน์ของท่านเกี่ยวกับพระวิหารกว้างไกลและชัดเจน แต่จุดประสงค์โดยรวมคือเพื่อเป็นพรแก่แต่ละบุคคลเป็นรายตัว

การดลใจสำหรับการสร้างพระวิหารยุคใหม่นี้เกิดขึ้นในปี 1997 เมื่อประธานฮิงค์ลีย์ไปเมืองโคโลเนียฮัวเรซ เม็กซิโกเพื่อฉลองครบรอบ 100 ปีของโรงเรียนที่ศาสนจักรเป็นเจ้าของ หลังจากนั้น ระหว่างการเดินทางที่ยาวนานโดยรถยนต์บนถนนที่เต็มไปด้วยฝุ่น ท่านครุ่นคิด “ท่านนั่งเงียบ” ดอน เอช. สตาเฮลีเลขานุการของท่านนึกย้อนไป “และจากนั้น ตามที่ข้าพเจ้าเข้าใจ การเปิดเผยเริ่มมา ในอดีตท่านเคยคิดเรื่องพระวิหารขนาดเล็ก แต่ไม่เหมือนกับที่ท่านนึกถึงพระวิหารเหล่านั้นในครั้งนี้”19

ต่อมาประธานฮิงค์ลีย์พูดถึงขั้นตอนดังนี้ “ข้าพเจ้าเริ่มถามตัวเองว่าจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้คนเหล่านี้มีพระวิหาร … ขณะตรึกตรองเรื่องนี้ มีความคิดเข้ามาในใจข้าพเจ้าว่า … เราสามารถสร้างองค์ประกอบที่จำเป็นทั้งหมดของพระวิหารให้เป็นอาคารค่อนข้างเล็กได้ …ข้าพเจ้าร่างแปลน … ภาพทั้งหมดเข้ามาในความคิดข้าพเจ้าชัดเจนมาก ข้าพเจ้าเชื่อสุดหัวใจว่านี่เป็นการดลใจ เป็นการเปิดเผยจากพระเจ้า ข้าพเจ้ากลับถึงบ้านและพูดคุยกับที่ปรึกษาเรื่องนี้ และพวกเขาเห็นด้วย ต่อจากนั้นข้าพเจ้าเสนอต่อสภาสิบสอง และพวกเขาเห็นด้วย”20

สี่เดือนต่อมาในการประชุมใหญ่สามัญ ประธานฮิงค์ลีย์ทำการประกาศครั้งประวัติศาสตร์ว่าศาสนจักรจะเริ่มสร้างพระวิหารขนาดเล็กในพื้นที่ซึ่งมีสมาชิกไม่พอให้สร้างพระวิหารขนาดใหญ่ “เราตั้งใจ … จะนำพระวิหารไปให้ผู้คนและให้พวกเขามีโอกาสรับพรล้ำค่ามากที่มาจากการนมัสการในพระวิหาร” ท่านกล่าว21

ในการประชุมใหญ่สามัญครั้งต่อมา ประธานฮิงค์ลีย์ทำการประกาศครั้งประวัติศาสตร์อีกครั้งว่าแผนจะมีพระวิหาร 100 แห่งเปิดดำเนินการราวสิ้นปี 2000 กำลังคืบหน้า “เรากำลังก้าวไปในระดับที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน” ท่านกล่าว22 เมื่อท่านรายงานความก้าวหน้าของการสร้างพระวิหารในเดือนเมษายน ค.ศ. 1999 ท่านใช้ประโยคคล้ายกันนี้ “นี่เป็นภารกิจใหญ่หลวง มีปัญหามากมาย แต่ไม่ว่าจะยากเพียงใด ทุกอย่างจะจบลงด้วยดีและข้าพเจ้ามั่นใจว่าเราจะบรรลุเป้าหมาย”23

ภาพ
President Packer, President Hinckley, Elder Andersen at the Boston Massachusetts Temple

พื้นหลัง © iStock/Thinkstock; ซ้าย: ถ่ายภาพโดย Busath Photography; ขวา: ภาพถ่ายในประเทศจีน โดย เกอร์รีย์ อวานท์, Deseret News; ล่างขวา: ภาพถ่ายเอื้อเฟื้อโดยหอจดหมายเหตุและหอสมุดประวัติศาสนจักร

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2000 ประธานฮิงค์ลีย์เดินทางไปเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกาเพื่ออุทิศพระวิหารแห่งที่ 100 ของศาสนจักร—หนึ่งใน 21 แห่งที่ท่านอุทิศปีนั้นในสี่ทวีป ราวช่วงสุดท้ายของชีวิตท่าน พระวิหาร 124 แห่งเสร็จสมบูรณ์ และอีก 13 แห่งประกาศสร้างหรือกำลังก่อสร้าง

วิสัยทัศน์ของประธานฮิงค์ลีย์สำหรับอนาคตกระตุ้นให้ท่านแสวงหาการดลใจอีกหลายด้านเพื่อเป็นพรแก่บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า ท่านทรมานใจกับความทุกข์ยากและความยากไร้ที่ท่านเห็น ด้วยเหตุนี้ท่านจึงกำกับดูแลงานเพื่อมนุษยธรรมของศาสนจักรให้ขยายวงกว้างขึ้น หลักๆ แล้วจะดำเนินการในหมู่ผู้ไม่เป็นสมาชิกของศาสนจักร ท่านก่อตั้งกองทุนต่อเนื่องเพื่อการศึกษาเพื่อช่วยสมาชิกศาสนจักรในประเทศที่ยากไร้เช่นกัน จากกองทุนนี้ พวกเขาจะได้รับเงินกู้ยืมมาจ่ายค่าเรียนที่จำเป็นเพื่อให้มีงานอาชีพที่ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยพวกเขาทำลายโซ่ตรวนของความยากไร้และพึ่งพาตนเอง จนถึงปี 2016 มีผู้สมัคร 80,000 กว่าคนได้รับโอกาสด้านการศึกษาหรือการอบรมโดยการกู้ยืมจากกองทุนดังกล่าว

ภาพ
President Hinckley in Ghana

อีกหลายตัวอย่างของวิสัยทัศน์การเป็นศาสดาพยากรณ์ของประธานฮิงค์ลีย์ อาทิ “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” และการสร้างศูนย์การประชุมใหญ่ มีกล่าวไว้ใน คำสอนของประธานศาสนจักร: กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

ประจักษ์พยานของข้าพเจ้า

ไม่กี่วันก่อนวันคล้ายวันเกิดปีที่ 91 ประธานฮิงค์ลีย์บันทึกดังนี้ “ข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องปลูกอีกแล้ว แต่ข้าพเจ้าจะปลูก นั่นเป็นธรรมชาติวิสัยของข้าพเจ้า”24 ไม่ว่าท่านจะอายุเท่าใด เป็นผู้สอนศาสนาวัยหนุ่มหรือศาสดาพยากรณ์วัย 97 ปี ธรรมชาติวิสัยของท่านคือปลูกเมล็ดและต้นอ่อนของพระกิตติคุณไว้ในใจคนทั่วโลก ท่านรับใช้เป็นสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองนาน 20 ปี ต่อจากนั้นท่านรับใช้เป็นที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสูงสุดนาน 14 ปี เมื่อเป็นประธานศาสนจักรด้วยวัย 84 ปี ท่านนำศาสนจักรให้เติบโตอย่างต่อเนื่องเกือบ 13 ปี

หัวใจของการรับใช้ชั่วชีวิตของประธานฮิงค์ลีย์คือประจักษ์พยานของท่านในพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระองค์ผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ ในคำปราศรัยการประชุมใหญ่สามัญเรื่อง “ประจักษ์พยานของข้าพเจ้า” ท่านกล่าวคำพยานโดยพูดแต่ละส่วนผ่านน้ำตาว่า

“ในบรรดาทุกอย่างที่ข้าพเจ้ารู้สึกสำนึกคุณเช้านี้ มีอย่างหนึ่งที่สำนึกคุณเป็นพิเศษ นั่นคือประจักษ์พยานที่มีชีวิตของข้าพเจ้าในพระเยซูคริสต์ …

“พระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของข้าพเจ้า โดยผ่านการสละพระชนม์ชีพในความเจ็บปวดและความทุกขเวทนาจนสุดพรรณนา พระองค์ทรงเอื้อมพระหัตถ์ลงมายกข้าพเจ้า เราแต่ละคน และบุตรธิดาทั้งหมดของพระผู้เป็นเจ้าขึ้นจากเหวลึกของความมืดนิรันดร์หลังความตาย …

“พระองค์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าและกษัตริย์ของข้าพเจ้า จากความเป็นนิจถึงความเป็นนิจ พระองค์จะทรงปกครองและทรงครองในฐานะพระมหากษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลายและพระเจ้าเหนือพระเจ้าทั้งหลาย อำนาจการปกครองของพระองค์จะไม่มีที่สิ้นสุด รัศมีภาพของพระองค์จะไม่มีวันมืด …

“ข้าพเจ้ากล่าวคำพยานถึงสิ่งเหล่านี้ด้วยความสำนึกคุณและด้วยความรักที่ไม่เสื่อมคลายในพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์”25

อ้างอิง

  1. บันทึกส่วนตัวของกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, 22 มี.ค.1993.

  2. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, Standing for Something: Ten Neglected Virtues That Will Heal Our Hearts and Homes (2000), 101.

  3. คำสอนของประธานศาสนจักร: กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (2016), 70.

  4. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ “ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์: ผู้ยืนหยัดในความเด็ดเดี่ยวและความกล้าหาญ” เลียโฮนา มิ.ย. 1995, 40

  5. คำสอน; กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, 339.

  6. ใน Conference Report, Oct. 1969, 113.

  7. Teachings of Gordon B. Hinckley (1997), 412.

  8. บันทึกส่วนตัว, 4 พ.ย. 1973.

  9. คำสอน: กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, 298–299.

  10. บันทึกส่วนตัว, 22 พ.ค. 1996.

  11. บันทึกส่วนตัว, 30 พ.ค. 1996.

  12. บันทึกส่วนตัว, 1 มิ.ย. 1996.

  13. บันทึกส่วนตัว, 22 ก.พ. 2002.

  14. ใน “The Prophet Spoke to Youth,” In Memoriam: President Gordon B. Hinckley, 1910–2008 (ภาคผนวกของ Ensign, Mar. 2008), 15.

  15. บันทึกส่วนตัว, 23 พ.ย. 1974.

  16. บันทึกส่วนตัว, 14 พ.ค. 1995.

  17. เฮนรีย์ บี. อายริงก์, ใน คำสอน: กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, 202.

  18. ใน คำสอน: กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, 313.

  19. ดอน เอช. สตาเฮลี สำเนาประวัติโดยเล่าปากเปล่า (2012), 85, หอสมุดประวัติครอบครัว.

  20. บันทึกส่วนตัว, 6 มี.ค. 1999. ข้อมูลนี้เป็นบทสรุปคำกล่าวของท่านที่การอุทิศพระวิหารโคโลเนซฮัวเรซ เม็กซิโกภาคแรก ประธานฮิงค์ลีย์พิจารณาเรื่องพระวิหารขนาดเล็กมานานกว่า 20 ปี (ดู คำสอน: กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, 33, 309–310)

  21. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “ความคิดบางประการเกี่ยวกับพระวิหาร, การรักษาผู้เปลี่ยนใจให้คงอยู่, และการรับใช้งานเผยแผ่,” เลียโฮนา, ม.ค. 1998, 62.

  22. คำสอน: กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, 310.

  23. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “ศาสนจักรก้าวไปข้างหน้า,” เลียโฮนา, ก.ค. 1999, 7.

  24. บันทึกส่วนตัว, 18 มิ.ย. 2001.

  25. คำสอน: กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, 321–323.

พิมพ์