2017
ไม่ว่าเจ้าจะได้อะไรก็ตาม จงเอาความรอบรู้ไว้
มกราคม 2017


ไม่ว่าเจ้าจะได้อะไรก็ตาม จงเอา ความรอบรู้ไว้

จากคำปราศรัยให้ข้อคิดทางวิญญาณเรื่อง “อย่าพึ่งพาความรอบรู้ของตน” ที่มหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์ เมื่อวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 2015 ดูบทความเต็มเป็นภาษาอังกฤษที่ speeches.byu.edu

ความรอบรู้ที่แท้จริงจะมาถึงท่านเมื่อท่านเข้าใจความเชื่อมโยงกันของการศึกษาและการสวดอ้อนวอน เมื่อท่านยังคงให้คำมั่นว่าจะรับใช้ขณะเรียนรู้และประกอบอาชีพ เมื่อท่านวางใจและพึ่งพาพระเจ้าพระเยซูคริสต์

Woman reading

ภาพประกอบโดย โรเบิร์ต ฮันท์

ชีวิตส่วนใหญ่ของข้าพเจ้าสมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมักวนเวียนอยู่แถวห้องสมุด ทุกครั้งที่เข้าไป ข้าพเจ้าจะเจอป้ายที่เขียนว่า “ไม่ว่าเจ้าจะได้อะไรก็ตาม จงเอาความรอบรู้ไว้” (สุภาษิต 4:7)

เราทุกคนรู้ว่าเราจำได้หลังจากทบทวนหลายๆ ครั้ง ด้วยเหตุนี้พระคัมภีร์ข้อนี้จากหนังสือสุภาษิตจึงฝังลึกในใจข้าพเจ้าจนลบไม่ออกเพราะได้อ่านทุกครั้งที่เข้าห้องสมุดตลอดช่วงสี่ปีของการเป็นนักศึกษาปริญญาตรี

ข้าพเจ้าขอมอบคำแนะนำเดียวกันนี้ให้แต่ละท่าน “ไม่ว่าเจ้าจะได้อะไรก็ตาม จงเอาความรอบรู้ไว้” ข้าพเจ้าเชื้อเชิญให้ท่านตรึกตรองความหมายของพระคัมภีร์ข้อนี้เช่นกันและดูว่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านอย่างไร ข้าพเจ้าทำเช่นนั้นมาแล้ว ข้าพเจ้าทบทวนข้อนี้หลายต่อหลายครั้ง และแปลความหมายของข้อนี้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ บางทีท่านอาจจะได้ประโยชน์จากข้อสังเกตของข้าพเจ้า

ใจที่เข้าใจ

สมัยเป็นผู้สอนศาสนาวัยหนุ่มในญี่ปุ่นที่กำลังฝึกเรียนคำยาก ข้าพเจ้าได้ยินคำศัพท์บางคำมาบ้างแล้วและบ่อยครั้ง อย่างเช่นคำทักทายสองคำนี้ โอะฮาโย โกไซอิมัส (สวัสดีตอนเช้า) หรือ คนนิจิวะ (สวัสดีตอนบ่าย) อีกคำหนึ่งคือ วาคะริมาเซ็ง ซึ่งหมายถึง “ฉันไม่เข้าใจ” คำนี้ พร้อมกับยกมือโบกไปมาโดยให้ฝ่ามือหันออกด้านนอก ดูเหมือนจะเป็นการตอบสนองที่คนญี่ปุ่นนิยมทำกับผู้สอนศาสนาวัยหนุ่มขณะพวกเขาพยายามเริ่มการสนทนา

ตอนแรก ขณะใคร่ครวญความหมายของ “ไม่ว่าเจ้าจะได้อะไรก็ตาม จงเอาความรอบรู้ไว้” ข้าพเจ้านึกถึง ความรอบรู้ ในแง่ของความเข้าใจแบบนี้มากกว่า คือ สิ่งที่ข้าพเจ้าได้ยินกับหูและเข้าใจในความคิด ข้าพเจ้านึกถึงคำพูดภาษาญี่ปุ่น วาคะริมาเซ็ง ข้าพเจ้าเข้าใจหรือไม่เข้าใจ

เมื่อข้าพเจ้าศึกษาและสังเกตการใช้คำว่า ความรอบรู้ ในพระคัมภีร์และจากถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต ข้าพเจ้าเข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้น ลองพิจารณาคำพูดเหล่านี้จากเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสมัยท่านเป็นอธิการควบคุมของศาสนจักร

“หนึ่ง เราเริ่มด้วยความรู้แจ้งที่มากับเราเมื่อเราเกิด เราเพิ่มความรู้เข้ากับความรู้แจ้งของเราขณะที่ค้นหาคำตอบ ศึกษา และให้ความรู้แก่ตนเอง เราเพิ่มประสบการณ์เข้ากับความรู้ของเราซึ่งควรทำให้เราเกิดปัญญาระดับหนึ่ง นอกจากปัญญาแล้ว เราเพิ่มความช่วยเหลือของพระวิญญาณบริสุทธิ์ผ่านการสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธา โดยทูลขอการนำทางและพลังทางวิญญาณ เวลานั้น และเวลานั้นเท่านั้น เราเกิด ความรอบรู้ ในใจเรา—ซึ่งผลักดันให้เรา ‘ทำแต่ความดี ให้ผลลัพธ์มีมาถึงเรา’ (เพลงสวด, 1985, บทเพลงที่ 117) ความรู้สึกของใจที่ รอบรู้ ให้วิญญาณอันหอมหวานของความเชื่อมั่นที่ไม่เพียงช่วยให้เรารู้เท่านั้นแต่ทำสิ่งถูกต้องด้วยไม่ว่าสภาวการณ์เป็นเช่นไร ความรอบรู้ ในใจเราเกิดจากความเชื่อมโยงกันเหนียวแน่นของการศึกษาและการสวดอ้อนวอน”1

stairs

ลองพิจารณาอีกครั้ง “ไม่ว่าเจ้าจะได้อะไรก็ตาม จงเอาความรอบรู้ไว้” ความรอบรู้ในบริบทนี้ตามหลังความรู้แจ้ง ความรู้ ประสบการณ์ ปัญญา และการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์—ทั้งหมดนี้นำเราให้รู้และทำสิ่งถูกต้อง

พวกท่านส่วนใหญ่กำลังเข้าใกล้หรือมาถึงทางแยกสำคัญหรือทางแพร่งในชีวิตท่าน ท่านเป็นอิสระมากขึ้นกับแต่ละปีที่ผ่านไป และท่านเข้าไปในช่วง “ไม่ว่าเจ้าจะได้อะไรก็ตาม” ของชีวิตท่านมากขึ้น อะไรคือสิ่งที่ท่านจะได้ ท่านอาจจะได้สามีหรือภรรยา ครอบครัวของท่านเอง งานอาชีพ และอื่นๆ

เพื่อบริหารจัดการสิ่งสำคัญมากเหล่านี้ที่เรา “ได้” เราต้องมี “ความรอบรู้” ตามที่พระคัมภีร์สอน ความรอบรู้ดังกล่าวมาจากความเชื่อมโยงกันของการศึกษาและการสวดอ้อนวอน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราต้องวางใจและพึ่งพาพระเจ้าพระเยซูคริสต์ แอลมาพูดถึงสิ่งนี้เมื่อท่านเปรียบพระวจนะกับเมล็ดพืช ตามที่ท่านกล่าว “มันเริ่มให้ความสว่างแก่ ความเข้าใจ ของข้าพเจ้า, แท้จริงแล้ว, มันเริ่มมีรสเลิศสำหรับข้าพเจ้า” (แอลมา 32:28; เน้นตัวเอน)

ประธานโธมัส เอส.มอนสันอ้างพระคัมภีร์จากสุภาษิตบ่อยครั้งที่เพิ่มอีกมิติหนึ่งให้แก่ความรอบรู้นี้ “จงวางใจในพระยาห์เวห์ด้วยสุดใจของเจ้าและอย่าพึ่งพาความรอบรู้ของตนเอง” (สุภาษิต 3:5)2

เมื่อเราวางใจและพึ่งพาพระเจ้า ความรอบรู้ที่มาจากพระองค์จะเข้ามาในใจเรามากขึ้น

“พระหัตถ์ของพระเจ้าทรงอยู่เหนือเรา”

ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างของสตรีที่เปี่ยมด้วยพลังผู้มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟู ผู้วางใจพระเจ้า และไม่พึ่งพาความรอบรู้ของตนเอง

ไม่นานหลังจากจัดตั้งศาสนจักรในเมืองพอลไมรา รัฐนิวยอร์ก ลูซี แม็ค สมิธมารดาของโจเซฟ สมิธยังอยู่ในเมืองวอเตอร์ลู รัฐนิวยอร์กกับวิสุทธิชนกลุ่มใหญ่ ส่วนโจเซฟ ซีเนียร์สามีเธอและบุตรชายบางคนของพวกเขา รวมทั้งโจเซฟ จูเนียร์ไปเมืองเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอก่อนเธอ ความรับผิดชอบของเธอคือพาคนกลุ่มนี้ไปโอไฮโอเมื่อเธอได้รับคำสั่งจากบุตรชายผู้เป็นศาสดาพยากรณ์

คำสั่งมาถึงในต้นฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1831 ลูซีเริ่มย้ายกลุ่มไปเมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์กด้วยความช่วยเหลือของพี่น้องชายบางคน โดยตั้งใจจะโดยสารเรือที่ทะเลสาบอิรีไปโอไฮโอ เธอกล่าวว่า “เมื่อพี่น้องชายเห็นว่าฤดูใบไม้ผลิมีน้ำมากพอจะเดินทางด้วยเรือได้ เราทั้งหมดจึงเริ่มเตรียมย้ายไปเคิร์ทแลนด์ เราว่าจ้างเรือลำหนึ่ง … ; และ … เรานับคนได้แปดสิบคน”

ต่อจากนั้น ขณะพวกเขานำเรือเข้าคลองอิรีและบ่ายหน้าไปบัฟฟาโล เธอกล่าวว่า “ดิฉันเรียกพี่น้องชายและพี่น้องหญิงมารวมกัน ดิฉันเตือนพวกเขาว่าเรากำลังเดินทางตามพระบัญชาของพระเจ้า เช่นเดียวกับท่านบิดาลีไฮคราวออกจากเยรูซาเล็ม และถ้าเราซื่อสัตย์ เรามีเหตุผลเดียวกันให้คาดหวังพรของพระผู้เป็นเจ้า ต่อจากนั้นติฉันปรารถนาให้พวกเขาเอาจริงเอาจัง และยกใจพวกเขาขึ้นไปหาพระผู้เป็นเจ้าตลอดเวลาในคำสวดอ้อนวอน เพื่อเราจะเจริญรุ่งเรือง”

ราวครึ่งทางจากวอเตอร์ลูไปบัฟฟาโล เราเดินทางไปตามคลองไม่ได้ สภาพความเป็นอยู่ของวิสุทธิชน 80 คนไม่สะดวกสบาย และพวกเขาเริ่มบ่นเกือบจะทันที ลูซีต้องพึ่งพาพระเจ้าเพื่อทำให้ศรัทธาของพวกเขารวมเป็นหนึ่งเดียว เธอบอกพวกเขาว่า “ไม่ ไม่ … พวกคุณจะไม่อดอยาก พี่น้อง จะไม่มีเรื่องแบบนั้น ขอเพียงอดทนและเลิกบ่น ดิฉันไม่สงสัยเลยว่าพระหัตถ์ของพระเจ้าอยู่เหนือเรา”

เมื่อพวกเขามาถึงบัฟฟาโลวันที่ห้าหลังออกจากวอเตอร์ลู ท่าเรือไปทะเลสาบอิรีกลายเป็นน้ำแข็ง พวกเขาโดยสารเรือไปกับกัปตันเบลคคนที่รู้จักกับลูซี สมิธและครอบครัวของเธอ

สองวันหลังจากนั้น แม้สภาพบนเรือไม่เอื้ออำนวยให้ทุกคนอยู่บนเรือขณะรอประกาศแจ้งให้ออกเดินทาง แต่ลูซีรายงานว่า “กัปตันเบลคขอให้ผู้โดยสารอยู่บนเรือเนื่องจากเขาต้องการให้พร้อมออกเดินทางทันทีที่แจ้งเตือนมา ขณะเดียวกันเขาก็ส่งคนไปวัดระดับความลึกของน้ำแข็ง ผู้ซึ่งกลับมารายงานว่าน้ำแข็งสูงถึงยี่สิบฟุต [6 เมตร] และเขามีความเห็นว่าเราน่าจะอยู่ที่ท่าเรืออย่างน้อยอีกสองอาทิตย์”

นี่เป็นข่าวร้ายสำหรับคนทั้งกลุ่ม เสบียงร่อยหรอและสภาพความเป็นอยู่แร้นแค้น ลูซี แม็ค สมิธบันทึกการว่ากล่าวตักเตือนวิสุทธิชนว่า “พวกคุณปฏิญาณตนว่าจะวางใจพระผู้เป็นเจ้า แล้วพวกคุณพร่ำบ่นอย่างที่ทำอยู่ได้อย่างไร! พวกคุณไร้เหตุผลยิ่งกว่าลูกหลานอิสราเอลเสียอีก เพราะพวกผู้หญิงที่อยากนั่งเก้าอี้โยก และพวกผู้ชายที่ดิฉันคาดหวังความหนักแน่นและความกระตือรือร้นกลุ่มนี้เองที่ประกาศว่าพวกเขาเชื่ออย่างไม่สงสัยว่าพวกเขาจะอดตายก่อนเดินทางไปถึงจุดหมายของพวกเขา ทำไมเป็นแบบนั้น พวกคุณมีไม่พอกินหรือ … ศรัทธาของพวกคุณอยู่ที่ไหน ความเชื่อมั่นในพระผู้เป็นเจ้าของพวกคุณอยู่ที่ไหน พวกคุณไม่รู้หรือว่าพระองค์ทรงสร้างสิ่งทั้งปวง และพระองค์ทรงปกครองงานจากพระหัตถ์ของพระองค์ และสมมติว่าวิสุทธิชนทุกคนที่นี่จะยกใจพวกเขาขึ้นไปหาพระผู้เป็นเจ้าในการสวดอ้อนวอน หนทางจะเปิดตรงหน้าเรา ง่ายมากที่จะทำให้พระองค์ทรงทำให้น้ำแข็งแยกจากกัน ทั้งนี้เพื่ออีกอึดใจหนึ่งเราจะเดินทางต่อได้!”

Saints on boat

ตอนนี้ขอให้สังเกตศรัทธาอันแรงกล้าของคุณแม่สมิธ—เธอเลือกวางใจพระเจ้าอย่างไร และเธอขอร้องวิสุทธิชนที่อยู่กับเธออย่างไรไม่ให้พึ่งพาความเข้าใจของตน

“‘บัดนี้ พี่น้องชายหญิงทั้งหลาย ถ้าพวกคุณทุกคนจะยกความปรารถนาของพวกคุณขึ้นถึงสวรรค์ น้ำแข็งจะแยกจากกัน และเราจะเป็นอิสระ พระเจ้าทรงพระชนม์อยู่แน่ฉันใด มันจะเป็นฉันนั้น’ ทันใดนั้นพวกเขาก็ได้ยินเสียงเหมือนฟ้าผ่า กัปตันร้องบอกว่า ‘ทุกคนเข้าประจำที่’ น้ำแข็งแยกออก เปิดทางให้เรือผ่านไปได้อย่างหวุดหวิด และทางแคบถึงขนาดว่าขณะเรือผ่านไปนั้น ระหัดวิดน้ำชนน้ำแข็งจนฉีกขาด ซึ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายอย่างยิ่งเมื่อผนวกกับคำสั่งจากกัปตัน เสียงตอบรับอันแหบห้าวของลูกเรือ เสียงน้ำแข็ง เสียงร้องตะโกนและความสับสนของผู้สังเกตการณ์ เราผ่านไปได้อย่างหวุดหวิดตอนที่น้ำแข็งจับตัวกันอีกครั้ง และพี่น้องชาวโคลสวิลล์ถูกทิ้งไว้ในเมืองบัฟฟาโล ไม่สามารถตามพวกเรามาได้

“ขณะที่เราออกจากท่าเรือ ผู้เห็นเหตุการณ์คนหนึ่งร้องออกมาว่า ‘นั่นไงพวก “มอรมอน”! เรือลำนั้นจมอยู่ในน้ำเก้านิ้ว ลึกกว่าที่เคยมีมา และคอยดูสิ เรือจะจมแน่นอน—ไม่มีอะไรแน่กว่านั้น’ ความจริงคือ พวกเขามั่นใจถึงขนาดตรงดิ่งไปที่สำนัก [ข่าวกรอง] และให้ลงข่าวว่าเราจมน้ำ ด้วยเหตุนี้เมื่อเรามาถึงแฟร์พอร์ต เราอ่านพบข่าวในหนังสือพิมพ์ว่าพวกเราตายแล้ว”3

“อย่าพึ่งพาความรอบรู้ของตน

“ไม่ว่าเจ้าจะได้อะไรก็ตาม จงเอาความรอบรู้ไว้” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “จงวางใจในพระยาห์เวห์ด้วยสุดใจของเจ้าและอย่าพึ่งพาความรอบรู้ของตนเอง” (สุภาษิต 3:5)

ข้าพเจ้าสังเกตเห็นความเสียใจอย่างมากและความเสียหายอย่างรุนแรงเกิดกับคนที่จดจ่อกับการ “ได้” ทางโลก ไม่ใช่ “ความรอบรู้” ของพระเจ้า ดูเหมือนว่าคนที่พึ่งพาความรอบรู้ของตนหรือวางใจในแขนแห่งเนื้อหนังมักจะจดจ่อเกินควรหรือหมกมุ่นกับผลประโยชน์ทางโลก เกียรติยศชื่อเสียง อำนาจ และฐานะ แต่การ “ได้” ตาม “ความรอบรู้” ในพระคัมภีร์ข้อนี้จะควบคุมความอยากทางโลกของเรา อีกทั้งให้สถานการณ์แวดล้อมที่เหมาะจะทำกิจกรรมต่างๆ ของท่านในฐานะสมาชิกที่มีประสิทธิภาพของสังคมและอาณาจักรของพระเจ้า

สมัยเป็นนักศึกษาวัยหนุ่มที่เต็มไปด้วยความมุ่งมาดปรารถนา ข้าพเจ้าจำได้ขณะฟังครูที่น่าเคารพและประสบความสำเร็จแนะนำให้เราจัดการกับความทะเยอทะยานอย่างถูกต้องโดยทำตามขั้นตอนของการ “เรียนรู้ ประกอบอาชีพ รับใช้” ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) สอนรูปแบบที่นำไปสู่การวางใจพระเจ้าและการพึ่งพาพระองค์ไม่ใช่ตัวเราเอง ท่านกล่าวว่า “เราแต่ละคนมีความรับผิดชอบสี่ด้าน หนึ่ง เรามีความรับผิดชอบต่อครอบครัวของเรา สอง เรามีความรับผิดชอบต่อนายจ้างของเรา สาม เรามีความรับผิดชอบต่องานของพระเจ้า สี่ เรามีความรับผิดชอบต่อตัวเราเอง”

เราต้องมีสมดุล ประธานฮิงค์ลีย์แนะนำให้เราทำความรับผิดชอบสี่ด้านนี้ให้เกิดสัมฤทธิผลผ่านการสวดอ้อนวอนกับครอบครัว การสังสรรค์ในครอบครัว การศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัว ความซื่อสัตย์และความภักดีต่อนายจ้าง การทำความรับผิดชอบในศาสนจักรให้เกิดสัมฤทธิผล การศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว การพักผ่อน นันทนาการ และการออกกำลังกาย4

ราล์ฟ วัลโด อีเมอร์สันนักปรัชญาและกวีชาวอเมริกันกล่าวว่า “เวลานี้เป็นเวลาที่ดีมากเหมือนเวลาทั้งหมด ถ้าเรารู้ว่าจะทำอะไรกับเวลานี้”5

โชคดีที่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายไม่ต้องมองไกลมากจึงจะรู้ว่าต้องทำอะไร เนื่องด้วยความรู้ที่ท่านมีเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และแผนอันสำคัญยิ่งแห่งความสุข ท่านจึงมีหางเสือลึกในน้ำ ตอนนี้ขอให้ท่านจ้วงพายให้ลึกและจ้วงแรงๆ

ในคำพูดการประชุมใหญ่สามัญ ประธานมอนสันอ้างจากสุภาษิตเหมือนที่เคยอ้างมาแล้ว “จงวางใจในพระยาเวห์ด้วยสุดใจของเจ้า และอย่าพึ่งพาความรอบรู้ของตนเอง จงยอมรับรู้พระองค์ในทุกทางของเจ้า แล้วพระองค์เองจะทรงทำให้วิถีของเจ้าราบรื่น” ท่านกล่าวต่อจากนั้นว่า “นั่นเป็นเรื่องราวของชีวิตข้าพเจ้า”6 นับเป็นชีวิตที่น่าเลียนแบบอย่างยิ่ง

ข้าพเจ้าคาดหวังจากแต่ละท่านมาก พระบิดาและพระบุตรก็เช่นกัน ข้าพเจ้าจบตรงที่เริ่มไว้—ด้วยคำแนะนำที่พบในสุภาษิต “ไม่ว่าเจ้าจะได้อะไรก็ตาม จงเอาความรอบรู้ไว้”

จงได้ความรอบรู้ที่แท้จริง ซึ่งจะมาถึงท่านเมื่อท่านเข้าใจความเชื่อมโยงกันของการศึกษาและการสวดอ้อนวอน เมื่อท่านยังคงให้คำมั่นว่าจะรับใช้ขณะเรียนรู้และประกอบอาชีพ และเมื่อท่านไม่พึ่งพาตนเองแต่วางใจและพึ่งพาพระเจ้า

อ้างอิง

  1. โรเบิร์ต ดี. เฮลส์, “Making Righteous Choices at the Crossroads of Life,” Ensign, Nov. 1988, 10; เน้นตัวเอน.

  2. ดู ตัวอย่างเช่น โธมัส เอส. มอนสัน, “คำปราศรัยปิดการประชุม,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 141.

  3. ลูซี แม็ค สมิธ, History of Joseph Smith by His Mother, Lucy Mack Smith (1979), ดู 195–99, 202–205; เน้นตัวเอน.

  4. ดู กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “Rejoicing in the Privilege to Serve,” Worldwide Leadership Training Meeting, June 21, 2003, 23.

  5. ราล์ฟ วัลโด อีเมอร์สัน, ใน “The American Scholar,” an address delivered on Aug. 31, 1837, at the University of Cambridge

  6. โธมัส เอส.มอนสัน “คำปราศรัยปิดการประชุม,” 40; อ้างอิง สุภาษิต 3:5–6.