2017
ถามคำถามเชิงสนทนา
มกราคม 2017


การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด

ถาม คำถามเชิงสนทนา

คำถามสำคัญที่สุดอาจเป็นคำถามที่ครูถามตนเองก่อนไปสอนชั้นเรียน

ภาพ
Teacher at blackboard

ภาพประกอบโดย ออกัสโต แซมโบนาโต

ลองนึกว่าท่านกำลังนั่งรับประทานอาหารกลางวันกับเพื่อนบางคนโดยสนทนาถึงภาพยนตร์ที่ท่านไปดูมาด้วยกัน ต่อจากนั้นเพื่อนคนหนึ่งถามว่า “ใครบอกได้บ้างว่าฉากไหนสำคัญที่สุดในเรื่อง”

คำถามทำให้สับสนเล็กน้อย ท่านคิดครู่หนึ่งและบอกว่าฉากสุดท้ายน่าจะเป็นฉากสำคัญที่สุด “นั่นเป็นความเห็นที่ดี” เพื่อนของท่านบอก “แต่ไม่ตรงกับที่ฉันคิด คนอื่นล่ะ ลองฟังจากคนที่ไม่ยังไม่ได้แบ่งปันดูบ้าง”

เราไม่สนทนาแบบนี้ในหมู่เพื่อน แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างการสนทนาเช่นนี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในชั้นเรียนวันอาทิตย์ แทนที่จะสนทนาความจริงของพระกิตติคุณอย่างธรรมชาติและด้วยความสบายใจ ในฐานะครูบางครั้งเราพูดบางอย่างที่แปลกถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมอื่นและอาจถึงกับทำให้การสนทนาอึดอัด เราหวังว่าสมาชิกชั้นเรียนจะรู้สึกว่าพวกเขาอยู่ในหมู่เพื่อน แบ่งปันความคิดเกี่ยวกับหลักธรรมที่กำลังเรียนรู้ด้วยความสบายใจ การแบ่งปันเช่นนั้นจะอัญเชิญพระวิญญาณและยกระดับประสบการณ์ของทุกคน

เราแน่ใจได้อย่างไรว่าคำถามของเรานำไปสู่การสนทนาที่เป็นธรรมชาติและมีความหมาย มีข้อควรทำและไม่ควรทำที่ครูหลายคนพบว่าเป็นประโยชน์ อาทิ อย่าถามคำถามที่มีคำตอบชัดเจน ถามคำถามที่มีมากกว่าหนึ่งคำตอบ อย่าถามคำถามที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป

อาจมีประโยชน์มากเช่นกันถ้าเราถามตัวเราก่อนเริ่มวางแผนคำถามที่จะถามในชั้นเรียนว่า เหตุผลเบื้องต้นที่ฉันถามคำถามคืออะไร

ท่านถามทำไม

แรงจูงใจเบื้องหลังคำถามของเรามีผลอย่างมาก ตัวอย่างเช่น บางครั้งเราถามคำถามเพราะเรามีบางอย่างจะพูดแต่เราอยากให้สมาชิกชั้นเรียนพูดแทนหรือไม่ ด้วยความเป็นธรรมแล้วเราไม่ต้องการพูดเองทั้งหมด แต่เราต้องการเน้นจุดๆ หนึ่ง บางครั้งเราจึงถามคำถามที่เรารู้ว่าจะดึงคำตอบที่เราอยากได้ยินออกมา รูปแบบความคิดเช่นนี้นำไปสู่คำถามที่เป็นข้อความแฝงเจตนาเหล่านั้น เช่น “การหลีกเลี่ยงสื่อลามกจะช่วยคุณรักษาความนึกคิดให้สะอาดได้อย่างไร” หรือ “การสวดอ้อนวอนทุกวันสำคัญหรือไม่”

มีหลายสถานการณ์ซึ่งเหมาะจะถามคำถามที่มุ่งหมายจะดึงคำตอบเฉพาะเจาะจงออกมา ครูสามารถใช้คำถามเหล่านั้นเน้นประเด็นหรือช่วยให้บทเรียนคืบหน้า แต่คำถามทำนองนี้อาจไม่ส่งเสริมการสนทนาที่มีความหมาย

ในทางกลับกัน ถ้าเราถามคำถามเพราะเราต้องการรู้จริงๆ ว่าอะไรอยู่ในความคิด ในใจ และในชีวิตของสมาชิกชั้นเรียน มันก็จะปรากฏให้เห็นในคำถามที่เราถาม

คำถามที่เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนสนทนาด้วยความจริงใจเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิญญาณได้แก่คำถามอย่างเช่น “ขณะอ่านข้อนี้ อะไรสำคัญที่สุดสำหรับท่าน” หรือ “ประสบการณ์อะไรสอนท่านให้วางใจคำสัญญาของพระเจ้า” หรือคำถามแทบทุกข้อที่เริ่มด้วยคำว่า “ท่านคิดว่าอะไร… ?”

ลองพิจารณาตัวอย่างเหล่านี้

  • พระวิญญาณตรัสถามนีไฟว่า “เจ้าปรารถนาสิ่งใดหรือ?” (1 นีไฟ 11:10)

  • พระผู้ช่วยให้รอดตรัสถามสานุศิษย์ของพระองค์ว่า “แล้วพวกท่านเล่าว่าเราเป็นใคร?” (มัทธิว 16:15)

  • และพระองค์ตรัสกับมารธา “เราเป็นชีวิต และการเป็นขึ้นจากตาย …เธอเชื่ออย่างนี้ไหม?” (ยอห์น 11:25, 26)

คำถามแต่ละข้อเหล่านี้เชื้อเชิญให้บางคนแบ่งปันสิ่งที่อยู่ในใจเขา ในแต่ละกรณี สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นเป็นประสบการณ์อันเปี่ยมด้วยพลังทางวิญญาณ

คำถามเป็นการแสดงความรัก

เชื่อหรือไม่ว่าการถามคำถามที่ส่งเสริมการสนทนาเกิดขึ้นตามธรรมชาติกับแทบทุกคน—แม้กับคนที่ไม่คิดว่าตนเองเป็นครูที่ดี เราถามคำถามทุกครั้งที่เรามีการสนทนาที่น่าสนใจกับเพื่อนหรือครอบครัว—หรือแค่คุยกันเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องโปรดตอนกินข้าวกลางวัน แต่เมื่อเรายืนต่อหน้านักเรียนหลายๆ คน จู่ๆ เราก็ลืมสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจนหมด

ด้วยเหตุนี้เคล็ดลับอย่างหนึ่งของการถามคำถามเชิงสนทนาที่ดีคือคิดในใจว่า “ฉันจะถามคำถามนี้อย่างไรถ้าเราไม่อยู่ในห้องเรียน—ถ้าเรานั่งคุยเรื่องพระกิตติคุณกับเพื่อนๆ อยู่ที่บ้าน ฉันจะเชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันความคิดและความรู้สึกอย่างไร” การสอนไม่เหมือนการพูดคุยไปเรื่อยๆ ในหมู่เพื่อนฝูง เลย แต่มีอย่างหนึ่งเหมือนกัน นั่นคือ ทั้งสองเกิดจากความสนใจอย่างจริงจังและความรักที่จริงใจ

ฉะนั้นไม่ต้องห่วงถ้าท่านยังไม่เชี่ยวชาญการตั้งคำถามที่สละสลวย ถึงแม้ทั้งหมดที่ท่านทำได้คือรักคนที่ท่านสอน แต่พระวิญญาณจะทรงนำทางท่าน และท่านจะรู้ดีขึ้นเรื่อยๆ ว่าจะพูดอะไร “ความรักไม่มีวันเสื่อมสูญ” เปาโลประกาศ (1 โครินธ์ 13:8) และนั่นเป็นความจริงแม้กับเรื่องง่ายๆ อย่างเช่นการถามคำถามของครูในชั้นเรียน

พิมพ์