2019
เราจะสร้างวัฒนธรรมของการไม่กีดกันใครที่โบสถ์ได้อย่างไร
กรกฎาคม 2019


หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ

เราจะสร้างวัฒนธรรมของ การไม่กีดกันใครที่โบสถ์ ได้อย่างไร

colorful geometrical people

ภาพประกอบจาก Getty Images

เมื่อเรามองดูรอบๆ วอร์ดและสาขา เราเห็นคนที่เหมือนจะเข้ากับคนอื่นได้ง่าย สิ่งที่เราไม่ตระหนักคือแม้ในหมู่คนที่ดูจะเข้ากับคนอื่นได้ ก็มีหลายคนที่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ตัวอย่างเช่น งานวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้พบว่าผู้ใหญ่ราวกึ่งหนึ่งในสหรัฐรู้สึกโดดเดี่ยว ถูกทอดทิ้ง หรือแปลกแยกจากคนอื่น1

สำคัญที่ต้องรู้สึกว่าไม่ถูกกีดกัน นั่นเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ และเมื่อเรารู้สึกถูกกีดกัน เราเจ็บปวด การถูกเมินเฉยสามารถทำให้เกิดความรู้สึกเศร้าเสียใจหรือโกรธ2 เมื่อเราไม่รู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกัน เรามักจะมองหาที่ซึ่งเราอยู่แล้วสบายใจขึ้น เราจำเป็นต้องช่วยให้ทุกคนรู้สึกว่าพวกเขาเป็นพวกเดียวกันกับเราที่โบสถ์

ไม่กีดกันเฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอด

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมของการให้ความสำคัญและไม่กีดกันผู้อื่น เมื่อทรงเลือกอัครสาวก พระองค์ไม่สนพระทัยสถานะ ความร่ำรวย หรืออาชีพอันสูงส่ง พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับหญิงชาวสะมาเรียที่บ่อน้ำ โดยทรงเป็นพยานต่อเธอถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์ทั้งที่ชาวยิวดูถูกชาวสะมาเรีย (ดู ยอห์น 4) พระองค์ทอดพระเนตรจิตใจและไม่ทรงเลือกที่รักมักที่ชัง (ดู 1 ซามูเอล 16:7; หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:16, 26)

พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า

“เราให้บัญญัติใหม่ไว้กับพวกท่าน คือให้รักซึ่งกันและกัน เรารักพวกท่านมาแล้วอย่างไร ท่านก็จงรักกันและกันด้วยอย่างนั้น

“ถ้าเจ้าทั้งหลายรักกันและกัน ดังนี้แหละคนทั้งปวงก็จะรู้ได้ว่าเจ้าทั้งหลายเป็นสาวกของเรา” (ยอห์น 13:34–35)

เราจะทำอะไรได้บ้าง

บางครั้งยากจะบอกได้ว่าใครรู้สึกเหมือนตนเป็นคนนอก คนส่วนใหญ่ไม่พูด—อย่างน้อยก็ไม่แสดงให้เห็นชัดเจน แต่ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยความรัก การนำทางของพระวิญญาณบริสุทธิ์ และความพยายามใส่ใจ เราจะมองออกเมื่อมีคนรู้สึกถูกกีดกันที่การประชุมและกิจกรรมของศาสนจักร

สัญญาณบ่งบอกว่าบางคนรู้สึกถูกกีดกัน:

  • ภาษากายแบบปิด เช่น กอดอกแน่นหรือตาเศร้า

  • นั่งหลังห้องหรือนั่งคนเดียว

  • ไม่มาโบสถ์หรือมาไม่ประจำ

  • ออกจากการประชุมหรือกิจกรรมก่อนเวลา

  • ไม่มีส่วนร่วมในการสนทนาหรือบทเรียน

เหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของอารมณ์อื่นด้วย เช่น อาย วิตกกังวล หรืออึดอัดไม่สบายใจ สมาชิกสามารถรู้สึก “แตกต่าง” เมื่อพวกเขาเป็นสมาชิกใหม่ของศาสนจักร มาจากประเทศอื่นหรือวัฒนธรรมอื่น หรือประสบกับการเปลี่ยนแปลงชีวิตเมื่อไม่นานมานี้ที่ทำให้บอบช้ำทางจิตใจ เช่น การหย่าร้าง การเสียชีวิตของสมาชิกครอบครัว หรือกลับจากการเป็นผู้สอนศาสนาก่อนกำหนด

ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด เราไม่ควรลังเลที่จะหยิบยื่นความรักให้ สิ่งที่เราพูดและสิ่งที่เราทำสามารถสร้างความรู้สึกที่ว่าเราต้อนรับทุกคนและต้องการทุกคน

geometrial people holding hands

บางวิธีที่จะต้อนรับและไม่กีดกันใคร

  • อย่านั่งกับคนเดิมที่โบสถ์ทุกครั้ง

  • มองข้ามรูปลักษณ์ภายนอกเพื่อเห็นตัวตนแท้จริงของบุคคลนั้น (ดูหัวข้อนี้เพิ่มเติมที่ “การปฏิบัติศาสนกิจคือการมองเห็นผู้อื่นเฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอดทรงมองเห็น” เลียโฮนา, มิ.ย. 2019, 8–11)

  • ให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในการสนทนา

  • เชื้อเชิญให้ผู้อื่นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตท่าน ท่านสามารถรวมพวกเขาไว้ในกิจกรรมที่ท่านวางแผนอยู่แล้ว

  • หาและต่อยอดความสนใจร่วมกัน

  • อย่ายับยั้งมิตรภาพเพียงเพราะบางคนไม่ทำตามความคาดหวังของท่าน

  • เมื่อท่านเห็นสิ่งพิเศษสุดบางอย่างเกี่ยวกับบุคคลหนึ่ง จงสนใจสิ่งนั้นแทนที่จะมองข้ามหรือหลีกเลี่ยง

  • แสดงความรักและชมเชยด้วยความจริงใจ

  • ใช้เวลาตรึกตรองว่าจริงๆ แล้วหมายถึงอะไรเมื่อเราพูดว่าศาสนจักรมีไว้เพื่อทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะแตกต่างจากเราเพียงใด เราจะทำให้สิ่งนี้เป็นจริงได้อย่างไร

ไม่ง่ายเสมอไปที่จะรู้สึกสบายใจเมื่ออยู่กับคนที่ต่างจากเรา แต่เราสามารถฝึกหาคุณค่าในความแตกต่างได้ดีขึ้นและเห็นค่าคุณความดีที่แต่ละคนนำมาได้ ดังที่เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอน ความแตกต่างของเราสามารถช่วยให้เราเป็นคนดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้น “มาเถิด มาช่วยเราสร้างและเสริมวัฒนธรรมแห่งการเยียวยา ความมีน้ำใจ และความเมตตาต่อบุตรธิดาทั้งปวงของพระผู้เป็นเจ้า”3

ได้รับพรจากการไม่กีดกันใคร

คริสตี เฟชเตอร์ย้ายไปอยู่อีกประเทศหนึ่งหลังจากสงครามทำให้บ้านเกิดเมืองนอนของเธอล่มสลาย เธอพูดภาษาไม่เก่งและไม่รู้จักใครในละแวกที่อยู่ใหม่ ด้วยเหตุนี้ตอนแรกจึงรู้สึกแปลกแยกและโดดเดี่ยว

ในฐานะสมาชิกของศาสนจักร เธอรวบรวมความกล้าและเริ่มเข้าร่วมการประชุมในวอร์ดใหม่ของเธอ เธอกังวลว่าสำเนียงแปร่งๆ ของเธอจะทำให้ไม่มีใครอยากคุยด้วยหรือเธอจะถูกตัดสินเพราะเป็นหญิงโสด

แต่เธอพบหลายคนที่มองข้ามความแตกต่างและต้อนรับเธอเข้าสู่กลุ่มเพื่อนของพวกเขา พวกเขาหยิบยื่นความรักและไม่นานเธอก็พบตนเองยุ่งอยู่กับการช่วยสอนชั้นเรียนปฐมวัย เด็กเป็นแบบอย่างที่ยอดเยี่ยมของการยอมรับ และความรู้สึกว่าพวกเขารักและต้องการเธอเสริมสร้างศรัทธาของเธอและช่วยทำให้ความภักดีต่อพระเจ้าชั่วชีวิตลุกโชนอีกครั้ง

อ้างอิง

  1. ดู Alexa Lardieri, “Study: Many Americans Report Feeling Lonely, Younger Generations More So,” U.S. News, May 1, 2018, usnews.com.

  2. ดู Carly K. Peterson, Laura C. Gravens, and Eddie Harmon-Jones, “Asymmetric Frontal Cortical Activity and Negative Affective Responses to Ostracism,” Social Cognitive and Affective Neuroscience, vol. 6, no. 3 (June 2011), 277–85.

  3. ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “เชื่อ รัก ทำ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 48.