หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ
ท่านกำลังพลาด ส่วนสำคัญยิ่งนี้ ของการปฏิบัติศาสนกิจหรือไม่
การปฏิบัติศาสนกิจคือการ “ชื่นชมยินดีกับผู้ที่มีความชื่นชมยินดี” มากเท่าๆ กับการ “ร้องไห้กับผู้ที่ร้องไห้” (โรม 12:15)
เมื่อเรานึกถึงการปฏิบัติศาสนกิจ เรามักจะนึกถึงการช่วยเหลือคนขัดสน เราพูดถึงการทำสวนให้หญิงม่าย นำอาหารเย็นไปให้ผู้ป่วย หรือให้คนที่กำลังลำบาก เราจดจำคำแนะนำของเปาโลให้ “ร้องไห้กับผู้ที่ร้องไห้” แต่เรามุ่งเน้นส่วน แรก ของข้อนั้น—“ชื่นชมยินดีกับผู้ที่มีความชื่นชมยินดี” มากพอหรือไม่ (โรม 12:15) การชื่นชมยินดีกับคนที่เราปฏิบัติศาสนกิจ—ไม่ว่าจะหมายถึงการเฉลิมฉลองความสำเร็จหรือช่วยให้พวกเขาพบปีติในยามยาก—เป็นส่วนสำคัญของการปฏิบัติศาสนกิจดังที่พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงทำ
แนวคิดสามประการต่อไปนี้ช่วยได้ (และประการหนึ่งพึงหลีกเลี่ยง) ขณะเราให้ความสนใจกับความดีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงวางไว้ในชีวิตเรา
1. รับรู้
บอนนี่ เอช. คอร์ดอน ประธานเยาวชนหญิงสามัญช่วยให้เราเข้าใจว่าเราต้อง เห็น คนที่เราปฏิบัติศาสนกิจ—ไม่เพียงเห็นภาระและความลำบากของพวกเขาเท่านั้นแต่เห็นข้อดี พรสวรรค์ และความสำเร็จของพวกเขาด้วย เธอกล่าวว่าเราต้องเป็น “ผู้สนับสนุนและเพื่อนคู่ใจ—คนที่รู้สภาวการณ์และสนับสนุนความหวังและความปรารถนาของพวกเขา”1
ในอุปมาเรื่องแกะกับแพะ พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าคนที่จะอยู่ทางพระหัตถ์ขวาของพระองค์จะถามว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า ที่พวกข้าพระองค์เห็นพระองค์ทรงหิวและจัดให้เสวย หรือทรงกระหายน้ำ และจัดมาถวายนั้นตั้งแต่เมื่อไร?
“ที่พวกข้าพระองค์เห็นพระองค์ทรงเป็นแขกแปลกหน้า และได้ต้อนรับไว้ … ตั้งแต่เมื่อไร?” (มัทธิว 25:37–38)
“พี่น้องทั้งหลาย คำสำคัญคือ เห็น” ซิสเตอร์คอร์ดอนกล่าว “คนชอบธรรมเห็นคนเดือดร้อนเพราะพวกเขาคอยดูและสังเกต เราเองสามารถเป็นตาคอยดู คอยช่วยเหลือและปลอบโยน ร่วมยินดีและแม้แต่ร่วมฝัน”2
2. หาเหตุผลให้เฉลิมฉลอง
จงเฉลิมฉลองความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเล็กน้อย อาจจะฉลองเพราะผ่านมะเร็งหรือผ่านการเลิกคบมาได้ การได้งานใหม่หรือเจอรองเท้าที่หาย การอยู่รอดหนึ่งเดือนหลังจากสูญเสียคนรักหรืออยู่รอดหนึ่งสัปดาห์โดยไม่กินน้ำตาล
โทรไปแสดงความยินดี ส่งการ์ด หรือออกไปรับประทานอาหารกลางวันด้วยกัน เรา “มีการชื่นชมยินดีในปีติของพี่น้องเรา” (แอลมา 30:34) โดยมีส่วนในพรของเราด้วยกัน ดำเนินชีวิตด้วยความกตัญญู เฉลิมฉลองพรและความสำเร็จของผู้อื่น
3. เห็นพระหัตถ์ของพระเจ้า
บางครั้งการชื่นชมยินดีกับผู้อื่นหมายถึงการช่วยให้พวกเขาเห็นเหตุผลให้ชื่นชมยินดี—ไม่ว่าจะมีความยุ่งยากหรือความยินดีอะไรเข้ามาในชีวิตเราก็ตาม ความจริงอันเรียบง่ายที่ว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงรู้จักเราและทรงพร้อมหนุนใจเราสามารถเป็นที่มาของปีติอันเหลือเชื่อ
ท่านสามารถช่วยให้ผู้อื่นเห็นพระหัตถ์ของพระเจ้าในชีวิตพวกเขาโดยแบ่งปันว่าท่านเห็นพระหัตถ์ของพระองค์ในชีวิตท่านเองอย่างไร จงเปิดใจมากพอจะแบ่งปันว่าพระบิดาบนสวรรค์เคยช่วยท่านผ่านความท้าทายมาได้อย่างไร ประจักษ์พยานนี้สามารถช่วยให้ผู้อื่นรับรู้และยอมรับว่าพระองค์ทรงช่วยพวกเขามาแล้วอย่างไร (ดู โมไซยาห์ 24:14)
4. อย่าจำกัดความสามารถของท่านในการชื่นชมยินดี
น่าเสียดายที่บางครั้งเราจำกัดความสามารถของเราเองในการชื่นชมยินดีกับผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรารู้สึกไม่มั่นใจว่าเราจะให้อะไรได้บ้างหรือเราอยู่จุดใดในชีวิต แทนที่จะพบปีติในความสุขของผู้อื่น เรากลับติดกับดักของการเปรียบเทียบ ดังที่เอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุกแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าว “การเปรียบเทียบพรขับปีติออกไปเกือบจะแน่นอน เราไม่สามารถสำนึกคุณและอิจฉาในคราวเดียวกันได้”3
“เราจะเอาชนะความโน้มเอียงเช่นนี้ที่อยู่ในเราเกือบจะทุกคนได้อย่างไร” เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองถาม “… เราสามารถนับพรมากมายของเราและชื่นชมความสำเร็จของผู้อื่น เหนือสิ่งอื่นใด เรารับใช้ผู้อื่นได้ เพราะนี่เป็นการฝึกใจที่ดีที่สุด”4 แทนที่จะเปรียบเทียบ เราสามารถชมเชยคนที่เราปฏิบัติศาสนกิจ บอกไปเลยว่าท่านชื่นชมอะไรเกี่ยวกับพวกเขาหรือสมาชิกครอบครัวของพวกเขา
ดังที่เปาโลเตือน เราทุกคนเป็นอวัยวะในพระกายของพระคริสต์ และเมื่อ “อวัยวะหนึ่งได้รับเกียรติ อวัยวะทั้งหมดก็ร่วมชื่นชมยินดีด้วย” (1 โครินธ์ 12:26) ด้วยความช่วยเหลือจากพระบิดาบนสวรรค์ เราสามารถรับรู้ประสบการณ์ของผู้อื่น เฉลิมฉลองความสำเร็จใหญ่น้อย ช่วยให้พวกเขารับรู้พระหัตถ์ของพระเจ้า และเอาชนะความอิจฉาเพื่อเราจะชื่นชมยินดีด้วยกันอย่างแท้จริง ในพร พรสวรรค์ และความสุขของผู้อื่น