เป็น หรือ เคยเป็น: นั่นคือคำถาม
เราถูกคาดหวังให้ตัดสิน เราต้องตัดสิน แต่เราต้อง ไม่ เหมารวมหรือตั้งฉายาให้ใคร
หลายปีก่อนข้าพเจ้ากับภรรยาไปเยือนปราสาทครอนบอร์กในเมืองเฮลซิงเงอร์ เดนมาร์ก บทละครเรื่อง Hamlet ของวิลเลียม เชคสเปียร์ทำให้ปราสาทแห่งนี้มีชื่อเสียง ขณะเดินตามทางเดินในปราสาท ความคิดเราเต็มไปด้วยภาพเหตุการณ์และบทสนทนาจากละคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามโด่งดังของแฮมเล็ตที่ว่า “เป็นหรือตาย: นั่นคือคำถาม”
แต่จากนั้นข้าพเจ้าก็คิดถามตัวเราด้วยคำถามที่ตรงประเด็นกว่านั้นว่า “เป็นหรือ เคยเป็น: นั่นคือคำถาม”
ยอมปรับปรุง
น่าเสียดายที่บ่อยครั้งเราใช้คำตราหน้าเมื่อพูดถึงผู้อื่น ตัวอย่างเช่น เราอาจพูดว่า
-
“เอ็ลเดอร์บราวน์เป็นผู้สอนศาสนาที่เกียจคร้าน” แทนที่จะพูดอย่างนั้นเราควรพูดว่า “หมู่นี้เอ็ลเดอร์บราวน์ไม่ได้ทำงานหนักเท่าไหร่ แต่ผมเชื่อว่าเขาปรับปรุงได้”
-
“แมรีย์เป็นคนไม่เคร่งศาสนา” เราน่าจะพูดว่า “แมรีย์ไม่สนใจศาสนา แต่เธออาจจะรู้สึกถึงพระวิญญาณถ้าฉันแสดงประจักษ์พยานให้เธอฟัง”
เมื่อเราพูดว่าคนบางคน เป็น อย่างนั้นอย่างนี้ เราสามารถลงเอยด้วยการตั้งฉายาหรือเหมารวม ตัดสินโดยไม่เห็นว่าคนนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงได้ แต่เมื่อเราพูดว่า เคยเป็น เราบอกเป็นนัยว่าเราเชื่อว่าคนนั้นเติบโตและก้าวหน้าได้
ผิดไหมที่จะตัดสิน
งานแปลพระคัมภีร์ไบเบิลส่วนใหญ่ให้คำสอนต่อไปนี้จากพระผู้ช่วยให้รอด “อย่าพิพากษา เพื่อพระเจ้าจะไม่ทรงพิพากษาท่านทั้งหลาย” (มัทธิว 7:1) แต่งานแปลของโจเซฟ สมิธให้ความกระจ่างว่า “อย่าตัดสิน อย่างไม่ชอบธรรม … แต่จงตัดสินด้วยการตัดสินที่ชอบธรรม” (ใน มัทธิว 7:1 เชิงอรรถ a; [ฉบับภาษาอังกฤษ] เน้นตัวเอน)
แท้จริงแล้วเป็นเรื่องยอมรับได้—และแม้ถึงกับคาดหวัง—ให้เราใช้การตัดสินขณะที่เราประเมินค่า ประเมินผล แยกแยะสถานการณ์ และทำการตัดสินใจ สำคัญอย่างยิ่งที่เราจะใช้การตัดสินที่ชอบธรรมขณะปฏิสัมพันธ์กับผู้คน
ตัวอย่างเช่น เราควรประเมินอย่างรอบคอบว่าจะแต่งงานกับใคร ใช้ดุลพินิจเข้าใจเจตนาของคนบางคน หรือประเมินความสามารถในการทำงานมอบหมายด้านอาชีพให้ลุล่วง
เราควรประเมินการกระทำหรือคุณสมบัติของผู้คนโดยใช้มาตรฐานของพระเจ้าเสมอตามที่อยู่ในพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ เหนือสิ่งอื่นใด เราควรแน่ใจว่าการตัดสินของเราไม่พยายามกำหนดนิยามให้อย่างไร้เมตตา เหมารวมอย่างรวดเร็ว หรือตั้งฉายาให้ผู้อื่นอย่างไม่สมควร
สามารถเปลี่ยนได้
เราใช้การตัดสินที่ไม่ชอบธรรมเมื่อเราพูดถึงนิสัยใจคอของผู้อื่นอย่างไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราบอกเป็นนัยโดยการทำเช่นนั้นว่าพวกเขาไม่สามารถเปลี่ยนได้ ในปฏิสัมพันธ์ทั้งหมดของเรากับผู้อื่น เราควรจำไว้ว่าเพราะการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเจ้า เราแต่ละคนจึงสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ลองพิจารณาตัวอย่างเหล่านี้จากพระผู้ช่วยให้รอด
-
พระองค์ตรัสกับหญิงที่ถูกจับฐานล่วงประเวณีว่า “ไปเถิด และจากนี้ไปอย่าทำบาปอีก” (ยอห์น 8:11)
-
พระองค์รับสั่งกับชายคนหนึ่งที่ถูกตรึงกางเขนข้างพระองค์ว่า “วันนี้ท่านจะอยู่กับเราในเมืองบรมสุขเกษม” (ลูกา 23:43)
-
เมื่อฟื้นคืนพระชนม์แล้ว พระองค์ยังคงเห็นศักยภาพของเปโตรและทรงสอนเขาทั้งที่เปโตรเคยปฏิเสธพระองค์สามครั้ง (ดู มัทธิว 26:34 และ ยอห์น 21:15–17)
-
พระองค์รับสั่งกับเซาโลผู้ข่มเหงวิสุทธิชนให้กลับใจ เซาโลผู้กลายเป็นเปาโลเชื่อฟังและกลายเป็นคนชอบธรรม (ดู กิจการ 9:3–6)
พระเจ้าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นเลิศในการให้โอกาสครั้งที่สอง—ครั้งที่สามและครั้งที่สี่ด้วย พระองค์ทรงสอนเราว่าต้องให้อภัย “เจ็ดสิบครั้งคูณเจ็ด” (มัทธิว 18:22) พระองค์ทรงเป็นองค์เดียวที่ดำเนินพระชนม์ชีพดีพร้อมบนแผ่นดินโลกแต่เพราะพระชนม์ชีพ คำสอน การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ การฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ และโดยผ่านศาสนพิธีของพระกิตติคุณ เราจึงสามารถเป็นคนดีพร้อมได้ในวันหน้า การพูดถึงพี่น้องของเราในทำนองที่แสดงให้เห็นความไม่เชื่อว่าพวกเขาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ย่อมแสดงให้เห็นความไม่เชื่อในเดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์เช่นกัน
ภายนอกและภายใน
ข้อเท็จจริงของชีวิตคือเรามักตัดสิน (และถูกตัดสิน) ตามที่เห็นครั้งแรก อย่างไรก็ดี เราอยู่ในอันตรายของการตัดสินอย่างไม่ชอบธรรมเมื่อเราตัดสินตามที่เห็นครั้งแรกเท่านั้นและไม่ประเมินอุปนิสัยแท้จริงของบุคคล
“พระยาเวห์ไม่ได้ทอดพระเนตรเหมือนที่มนุษย์ดู เพราะมนุษย์ดูที่รูปร่างภายนอก แต่พระยาห์เวห์ทอดพระเนตรจิตใจ” (1 ซามูเอล 16:7) พระเยซูทรงเรียกคนหน้าซื่อใจคดในสมัยของพระองค์ว่าเป็นเหมือน “อุโมงค์ฝังศพที่ฉาบด้วยปูนขาว ข้างนอกดูงดงาม แต่ข้างในเต็มไปด้วย … ทุกอย่างที่โสโครก” (มัทธิว 23:27)
พระผู้ช่วยให้รอดมิได้ทรงสอนว่ารูปลักษณ์ภายนอกที่สุภาพดูดีไม่ใช่เรื่องดีแต่อุปนิสัยภายในของชายหรือหญิง (สภาพทางวิญญาณและศีลธรรม) สำคัญกว่ามาก ลองนึกถึงพระวิหารที่งดงามของเรา บริเวณโดยรอบสวยงาม แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือศาสนพิธีที่ประกอบในนั้น
ผู้สอนศาสนาต้องรักษามาตรฐานเครื่องแต่งกายและการดูแลบุคลิกภาพภายนอกด้วย โดยการเป็นคนสะอาด แต่งกายสุภาพ และใช้ภาษาที่เหมาะสม พวกเขาเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่คนที่ได้มารู้จักพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ผ่านสิ่งที่เห็นและได้ยินจากผู้สอนศาสนา
ใช้การเล็งเห็น
เมื่อเราพยายามตัดสินอย่างชอบธรรม สำคัญที่ต้องใช้การเล็งเห็น คู่มือพระคัมภีร์กล่าวว่าการเล็งเห็นคือ “เข้าใจหรือทราบบางสิ่งบางอย่างผ่านอำนาจของพระวิญญาณ … ของประทานนี้รวมถึงการสำเหนียกอุปนิสัยที่แท้จริงของผู้คนตลอดจนที่มาและความหมายของการแสดงให้ประจักษ์ทางวิญญาณ” (“เล็งเห็น, (การ), ของประทานแห่ง)
บางครั้งคนที่ชั่วร้ายข้างในใช้ภาพลักษณ์ทางโลกเพื่อพยายามหลอกเราให้คิดว่าพวกเขาคู่ควรแก่การเลียนแบบ พวกเขา “ฉลาดในสายตาของตัวเองและเฉียบแหลมในสายตาของตน” (อิสยาห์ 5:21; 2 นีไฟ 15:21) พระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถมองเห็นการเสแสร้งนี้ และทรงสามารถเล็งเห็นพลังแห่งอุปนิสัยและเจตนาบริสุทธิ์ของใจในบรรดาคนต่ำต้อยที่สุดและผู้ที่ถูกกดขี่
แอลมาใช้การเล็งเห็นเช่นนั้นเมื่อเขาพูดกับคนที่ “คนทั้งปวงดูถูกพวกเขาเพราะความยากจนของพวกเขา” ทว่าได้รับพรเพราะพวกเขาถ่อมตนและ “ใจนอบน้อม” (ดู แอลมา 32:5–8)
เราควรจดจำว่า “สิ่งเหล่านี้ซึ่งเป็นของพระวิญญาณแห่งพระเจ้า … ต้องวินิจฉัยโดยพึ่งพระวิญญาณ” (1 โครินธ์ 2:14) เมื่อเรามองผู้อื่นดังที่พระบิดาในสวรรค์ทรงมองพวกเขา การเล็งเห็นจะช่วยให้เราใช้การตัดสินที่ชอบธรรม
การตัดสินที่ชอบธรรม
ทุกวันของชีวิตเราตัดสินโดยการประเมินค่า ประเมินผล และแยกแยะ แต่พระเจ้าทรงคาดหวังให้เราตัดสินอย่างชอบธรรม ในฐานะสานุศิษย์ของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ คำพูดและการกระทำของเราควรแสดงให้เห็นว่าเรามีเมตตา รัก และยินดีช่วยเหลือ
ในฐานะผู้ตัดสินที่ชอบธรรม เราต้องทำให้แน่ใจว่าเราเอาใจใส่อุปนิสัยของบุคคลมากกว่ารูปลักษณ์ภายนอกของพวกเขา ขณะเดียวกันเราควรจำไว้ว่าทุกวันเราสร้างความประทับใจแรกจากลักษณะท่าทางของเราและคำพูดที่เราใช้ คนส่วนใหญ่จะอยากรู้อุปนิสัยของเราและข่าวสารของพระกิตติคุณมากขึ้นถ้ารูปลักษณ์ภายนอกของเราสะท้อนคุณค่าอันสูงส่งของข่าวสารนั้น
พระเจ้าและพระอาจารย์ของเรา พระเยซูคริสต์ ทรงแสดงต้นแบบที่สมบูรณ์ให้เราดำเนินตามขณะเราพยายามตัดสินอย่างชอบธรรม เราควรทำ—ดังที่พระองค์ทรงทำ—ให้สิ่งที่เราเห็นเพียงผิวเผินกับสิ่งที่อยู่ในใจแต่ละบุคคลสมดุลกัน