2019
การคุ้มครองเด็ก
ตุลาคม 2019


การคุ้มครอง เด็ก

เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อคุ้มครองและทำให้เด็กในชีวิตเราเป็นตัวของตัวเองได้ดีขึ้น

ภาพ
mother with baby and crying child

ถ่ายภาพประกอบโดย ลินดา ลี

เรารู้จากคนทุกกลุ่มที่พระเยซูทรงสอนว่าพระองค์ทรงรักเด็กเป็นพิเศษ ทรงเอาพระทัยใส่เด็กๆ แม้ในเวลาที่ไม่สะดวก ทรงเชื้อเชิญให้เด็กรับพรเป็นรายตัวจากพระองค์ ทรงเอาโทษคนที่ทำร้ายเด็ก และทรงสอนว่าเราต้องเป็นเหมือนเด็กมากขึ้นเพื่อเข้าอาณาจักรสวรรค์1

“จงดูเด็กเล็กๆ ของเจ้า” พระองค์รับสั่งกับคนในทวีปอเมริกาหลังจากฟื้นคืนพระชนม์ ท้องฟ้าเปิด เหล่าเทพที่รักและคอยอารักขาลงมาห้อมล้อมเด็กๆ ล้อมรอบพวกเขาด้วยไฟ (ดู 3 นีไฟ 17:23–24)

เพราะมีอันตรายรอบด้านในโลกทุกวันนี้ เราจึงปรารถนาให้ไฟจากสวรรค์ล้อมรอบเด็กของเราอยู่เนืองนิตย์ คาดกันว่าประชากรหนึ่งในสี่ของโลกถูกกระทำทารุณกรรมเมื่อเป็นเด็ก และตัวเลขเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อท่านมองดูกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส เช่นคนพิการ2 ข่าวดีคือมีมากมายที่เราสามารถปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อคุ้มครองเด็ก

“ลองนึกภาพเด็กที่ท่านรักในใจ” ซิสเตอร์จอย ดี. โจนส์ ประธานปฐมวัยสามัญกล่าว “เมื่อท่านบอกเด็กคนนี้ว่า ‘ฉันรักหนู’ นั่นหมายความว่าอย่างไร … เราให้ความคุ้มครองเพื่อเราจะช่วยให้คนที่เรารักเป็นตัวของตัวเองได้ดีที่สุดและเผชิญความท้าทายของชีวิตได้”3

บางทีการมองดูแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างใกล้ชิดมากขึ้นอาจกระตุ้นให้คิดว่าเราจะคุ้มครองเด็กในชีวิตเราให้ดีขึ้นได้อย่างไร

พระเยซูทรงจัดสรรเวลาให้พวกเขา

ภาพ
Jesus with children

จงดูเด็กเล็กๆ ของเจ้า โดย เดวิด ลินด์สเลย์ © 1983

พระเยซูทรงจัดเวลาไว้เอาพระทัยใส่คนอายุน้อยและคนด้อยโอกาส (ดู มัทธิว 19:14) เราสามารถจัดเวลาไว้ฟังเด็กๆ และพยายามเข้าใจความท้าทายของพวกเขาได้เช่นกัน

“ยิ่งเด็กรู้สึกถึงความรักมากเท่าใด เขาจะยิ่งเปิดใจมากเท่านั้น” ซิสเตอร์โจนส์กล่าว “… เรา ต้องเป็นฝ่ายเริ่มการสนทนาและไม่รอให้เด็กมาหาเรา”4

คุณแม่คนหนึ่งพบว่าช่วยได้ถ้าถามลูกๆ ของเธอทุกคืนว่า “วันนี้ลูกได้ยินคำพูดอะไรบ้างที่ลูกไม่เข้าใจ”

สัญชาตญาณแรกของลูกๆ อาจจะเป็นการหาคำตอบทางออนไลน์เพราะอินเทอร์เน็ตให้ความช่วยเหลือทันท่วงทีและไม่ตัดสิน แต่เราต้องทำให้พวกเขาเชื่อว่า เรา เป็นแหล่งข้อมูลที่ไว้ใจได้มากกว่า นั่นรวมถึงการไม่มีปฏิกิริยารุนแรงเกินไปเมื่อลูกบอกเรื่องไม่สบายใจบางอย่างกับเรา ตัวอย่างเช่น ถ้าเราระเบิดอารมณ์เมื่อลูกสารภาพว่าพวกเขาดูสื่อลามก พวกเขาอาจไม่มาขอให้เราช่วยเหลืออีก แต่ถ้าเราตอบสนองด้วยความรัก เรามีโอกาสส่งข่าวสารที่ชัดเจน—ว่าเราต้องการให้พวกเขาพูดคุยกับเรา ทุกเรื่อง

ซิสเตอร์โจนส์ตั้งข้อสังเกตว่า “ปัญหาเล็กๆ ที่พูดคุยกันด้วยความรักจะสร้างรากฐานของการตอบสนองด้วยดีเผื่อว่าเมื่อเกิดปัญหาใหญ่ การสื่อสารจะยังเปิดเผยตรงไปตรงมา”5

การสนทนาที่คุ้มครองและสำคัญที่สุดที่บิดามารดาสามารถมีกับบุตรธิดาได้คือการสนทนาเกี่ยวกับร่างกายของพวกเขา การสนทนาเหล่านี้ควรรวมถึงคำเรียกอวัยวะต่างๆ อย่างถูกต้อง ข้อมูลเกี่ยวกับสุขอนามัย และสิ่งที่คาดว่าจะเปลี่ยนแปลงในปีต่อๆ ไป เราควรพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ คุยกันว่าความใกล้ชิดทางกายและทางอารมณ์เป็นส่วนที่ดีเยี่ยมในแผนของพระบิดาบนสวรรค์สำหรับเราอย่างไร เราอาจพูดคุยเกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ ได้เช่นกัน อาทิ การกระทำทารุณกรรมและสื่อลามก การสนทนาเหล่านี้ต้องเหมาะกับวัยและให้คำถามที่เด็กมีเป็นตัวชี้นำ ตามหลักแล้วเราจะสนทนากันหลายครั้ง โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะบุตรธิดาของเราเติบโตขึ้นและความเข้าใจของพวกเขาเพิ่มขึ้น (ดูแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ท้ายบทความนี้)

พระเยซูทรงเป็นแบบอย่างสำหรับพวกเขา

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์พร้อมสำหรับเราทุกคน (ดู ยอห์น 8:12) ผู้ใหญ่อย่างเรามีโอกาสและความรับผิดชอบที่ต้องเป็นแบบอย่างเช่นกัน วิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งซึ่งเราสามารถช่วยให้บุตรธิดาปลอดภัยคือตัวเราต้องเป็นต้นแบบของการเลือกที่ปลอดภัย บุตรธิดาสังเกตวิธีที่บิดามารดาปฏิบัติต่อผู้อื่นและยอมให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อพวกเขา ถ้าท่านเกี่ยวข้องหรือกำลังต่อสู้กับการเสพติดที่ทำให้ท่านหรือครอบครัวอยู่ในอันตราย โปรดขอความช่วยเหลือ ติดต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองและผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพ รวมทั้งอธิการหรือประธานสมาคมสงเคราะห์ของท่านผู้สามารถช่วยท่านติดต่อกับแหล่งช่วยที่เหมาะสมของศาสนจักรและชุมชน ท่านสมควรได้รับความปลอดภัยและความเคารพ

เราควรเป็นแบบอย่างของการดูแลความเข้มแข็งทางวิญญาณของเราเช่นกัน บุตรธิดาของเราเห็นเราสวดอ้อนวอนหรือไม่ พวกเขารู้หรือไม่ว่าเราอ่านพระคัมภีร์ พวกเขาเคยได้ยินประจักษ์พยานของเราหรือไม่ ครอบครัวเราสวม “ยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระผู้เป็นเจ้า” ตอนเช้าก่อนออกไปในโลกหรือไม่ (ดู เอเฟซัส 6:11–18; หลักคำสอนและพันธสัญญา 27:15–18)

พระเยซูตรัสแทนพวกเขา

พระผู้ช่วยให้รอดทรงตำหนิคนที่ทำร้ายเด็ก (ดู มัทธิว 18:6) เราสามารถพูดแก้ต่างให้เด็กในชีวิตเราได้เช่นกัน

“เด็กจำเป็นต้องมีคนพูดแทนพวกเขา” ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดสอน “และพวกเขาต้องมีผู้ตัดสินใจที่เห็นแก่ความผาสุกของพวกเขาก่อนประโยชน์ส่วนตนของผู้ใหญ่”6

แม้เราไม่จำเป็นต้องกลัวเกินเหตุหรือหวาดระแวงผู้อื่น แต่เราควรรับรู้ถึงภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นและตัดสินใจอย่างฉลาดเพื่อความปลอดภัย ผู้นำปฐมวัยควรปฏิบัติตามแนวทางของศาสนจักรเพื่อป้องกันการกระทำทารุณกรรม7— มีความคุ้มครองในการให้ครูสองคนอยู่ในห้องเรียนแต่ละห้องและมีคนจากฝ่ายประธานคอยตรวจดูความเรียบร้อยของชั้นเรียน

บิดามารดาและผู้นำควรหารือกันและตัดสินใจว่ามีมาตรการป้องกันเพิ่มเติมที่พวกเขาสามารถใช้ลดภัยคุกคามบางอย่างได้หรือไม่ ตัวอย่างเช่น อาคารศาสนจักรหลายแห่งมีหน้าต่างกระจกในประตูห้องเรียน ถ้าอาคารของท่านไม่มี ท่านอาจจะให้แง้มประตูไว้ระหว่างชั้นเรียนและพูดคุยกับตัวแทนบริหารสิ่งอำนวยความสะดวกในท้องที่เพื่อดูว่าจะเจาะช่องหน้าต่างได้หรือไม่ ไม่ว่ามีการเรียกใด ผู้ใหญ่ทุกคนสามารถเอาใจใส่ในโบสถ์และช่วยเหลือเมื่อต้องการ เช่น ต้อนรับผู้มาเยือนที่เดินเตร่ตามห้องโถง หรือกระตุ้นให้เด็กที่เดินไปมากลับเข้าชั้นเรียน

น่าเศร้าที่บางครั้งเด็กถูกเด็กอื่นทำร้าย ถ้าเราสังเกตเห็นการกลั่นแกล้งหรือการสัมผัสทางกายอย่างไม่เหมาะสมที่โบสถ์หรือที่ใดก็ตาม เราต้องขัดขวางทันที ถ้าเราเป็นผู้นำ เราต้องสมัครใจพูดคุยกับครอบครัวที่เกี่ยวข้อง—แม้การสนทนาเหล่านั้นจะทำให้อึดอัดใจก็ตาม—เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กทุกคนปลอดภัย จงพูดด้วยความเห็นใจและความชัดเจนเพื่อช่วยสร้างวัฒนธรรมของความเมตตากรุณา

ถ้าเราเชื่อว่าเด็กคนหนึ่งถูกกระทำทารุณกรรม เราควรรายงานข้อกังวลเหล่านั้นกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทันที ในหลายประเทศ มีสายด่วนให้การบำบัดทางจิตขั้นวิกฤต ให้ข้อมูล และความช่วยเหลือ เราควรบอกอธิการเช่นกันหากสงสัยว่ามีการกระทำทารุณกรรม โดยเฉพาะพัวพันกับคนที่อาจเข้าถึงเด็กผ่านศาสนจักร นอกจากใช้มาตรการป้องกันไม่ให้ผู้กระทำผิดเข้าถึงเด็กในวันหน้าแล้ว อธิการยังสามารถให้การปลอบโยนและการสนับสนุนผู้ถูกกระทำทารุณกรรมและช่วยพวกเขาติดต่อกับแหล่งช่วยเพิ่มเติมจาก Family Services ได้ด้วย

พระเยซูทรงอวยพรพวกเขาทีละคน

ภาพ
Primary teacher hugging child with Down syndrome

ถ่ายภาพประกอบโดย ชานี จานีส อาซีบัล

พระเยซูทรงรู้จักและทรงอวยพรเด็กทีละคน (ดู 3 นีไฟ 17:21) ในทำนองเดียวกัน เราควรทำความรู้จักเด็กแต่ละคนและพยายามช่วยเหลือเขาอย่างเฉพาะเจาะจง

เราจะทำให้ศาสนจักรปลอดภัยมากขึ้นสำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัวได้อย่างไร เรามีแผนช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่พิการหรือไม่ บทเรียนปฐมวัยที่เราสอนมีความละเอียดอ่อนต่อสถานการณ์ครอบครัวที่ต่างกันหรือไม่ เราจะทำอะไรให้ครอบคลุมมากขึ้นได้อีกบ้าง

ความเห็นเรื่องการเหยียดผิว คำพูดเหยียดวัฒนธรรมอื่น และเจตคติที่ประณามผู้นับถือศาสนาอื่นไม่ควรมีอยู่ในข่าวสารที่เราแบ่งปัน ในชั้นเรียนปฐมวัยชั้นหนึ่ง เด็กชายคนหนึ่งพูดภาษาเดียวกับเด็กคนอื่นได้ไม่ดีนัก เพื่อช่วยให้เขารู้สึกถึงการต้อนรับ ครูจึงพิมพ์เอกสารแจกเป็นสองภาษา การกระทำอันเรียบง่ายของความอาทรแสดงให้เด็กเห็นว่าเรารู้จักและห่วงใยพวกเขาแต่ละคน การกระทำเหล่านี้สามารถเป็นแบบอย่างให้พวกเขาทำตาม

เราอาจค้นพบว่าเด็กบางคนต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ตัวอย่างเช่น แม้อารมณ์จะแปรปรวนไปบ้างอันเป็นเรื่องปกติขณะเติบใหญ่ แต่ถ้าเด็กโกรธ เก็บตัว หรือเศร้านานหลายสัปดาห์ อาจมีปัญหาร้ายแรงมากขึ้นที่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากมืออาชีพ แม้นิสัยที่ชอบธรรมอย่างเช่นการสวดอ้อนวอนและการศึกษาพระคัมภีร์จะสำคัญ แต่ต้องสนับสนุนช่วยเหลือคนที่กำลังเริ่มป่วยทางจิตหรือเผชิญกับความบอบช้ำทางใจบ่อยขึ้น การเมินเฉยต่อสถานการณ์จะไม่ทำให้สภาพบางอย่างดีขึ้น ในหลายๆ ด้าน อธิการสามารถให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่บุคคลและครอบครัวเพื่อขอคำปรึกษาผ่าน Family Services หรือผู้ช่วยเหลือรายอื่น

พระเยซูทรงให้พวกเขาเป็นตัวของตัวเอง

ภาพ
father helping son ride bicycle

ถ่ายภาพประกอบโดย แองจาลี แจ็คสัน

ขณะคุ้มครองเด็ก พระเยซูทรงให้พวกเขาเป็นตัวของตัวเองเช่นกัน พระองค์ทรงชี้ให้ดูเด็กเป็นตัวอย่าง (ดู มัทธิว 18:3) หลังจากพระองค์เสด็จเยือนพื้นที่ของทวีปอเมริกา เด็กเล็กสามารถสอน “เรื่องอัศจรรย์” ให้ผู้ใหญ่ (3 นีไฟ 26:16)

เราสามารถให้เด็กที่เรารู้จักเป็นตัวของตัวเองโดยสอนให้พวกเขารับรู้ว่าพระวิญญาณตรัสกับพวกเขาอย่างไรและจากนั้นให้ทำตามพระวิญญาณเมื่อตัดสินใจ—ช่วยพวกเขาพัฒนาตัวกรองภายในเพื่อชี้นำการกระทำของพวกเขา ดังที่ซิสเตอร์โจนส์สอน “เราจำเป็นต้องช่วยบุตรธิดาสร้างการใช้เหตุผลในตนเองถ้าต้องการ [ตัดสินใจให้ปลอดภัย]”8 แนวคิดบางประการต่อไปนี้ทำให้ครอบครัวอื่นเป็นตัวของตัวเอง:

  • คุณแม่คนหนึ่งสอนให้ลูกเอาใจใส่ “ความรู้สึกเอะใจ” และระวังเวลาอยู่กับคนท่าทาง “เจ้าเล่ห์” คำสอนนี้ได้ผลเมื่อมีคนพยายามชักชวนลูกชายเธอให้เดินตามพวกเขาเข้าไปในห้องน้ำ เขาเอาใจใส่ความรู้สึกเตือนและปฏิเสธ

  • บางครอบครัวสร้างแผนหลบหนีล่วงหน้าไว้ใช้ยามเผชิญหน้ากับสิ่งที่เป็นอันตราย ตัวอย่างเช่น แผนหลบหนีของครอบครัวหนึ่งเรียกว่า “ชนแล้วบอก” ประกอบด้วยการปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์และบอกพ่อแม่ทันทีถ้าภาพไม่ดีปรากฏ ลูกๆ ของพวกเขาไม่เคยสงสัยว่าจะรับมือกับสื่อไม่ดีด้วยวิธีใด—พวกเขารู้ว่าต้องทำอะไร!

  • อีกครอบครัวหนึ่งสร้างรหัสคำที่ลูกๆ สามารถส่งข้อความบอกพ่อแม่หรือพูดทางโทรศัพท์ถ้าพวกเขาต้องการให้ไปรับทันที

  • ท่านจะช่วยลูกฝึกพูดว่า “ไม่!” เมื่อมีคนพยายามชักชวนพวกเขาให้ทำสิ่งที่พวกเขาอึดอัดไม่สบายใจ เด็กทุกคนควรรู้ว่าพวกเขาสามารถขอความช่วยเหลือได้ และพวกเขาควรขอต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะปลอดภัย

บทบาทของผู้ใหญ่อย่างเรา

ขอให้เรานึกถึงเหตุการณ์ใน 3 นีไฟ 17 อีกครั้งเมื่อพระเยซู “ทรงพาเด็กเล็กๆ ของพวกเขามา, ทีละคน, และประทานพรให้พวกเขา, และทรงสวดอ้อนวอนถึงพระบิดาเพื่อพวกเขา … และไฟล้อมรอบพวกเขา; และเทพปฏิบัติต่อพวกเขา” (ข้อ 21, 24) บางทีประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ไม่เพียงสอนให้เรารู้ว่าเด็กสำคัญเพียงใดเท่านั้นแต่แสดงให้เห็นว่าผู้ใหญ่อย่าง เรา ควรมีบทบาทอะไร เราเป็นผู้ดูแลคนรุ่นต่อไป เรา ควรเป็นเทพที่ล้อมรอบและดูแลเด็กๆ ขอให้เรามองพระเยซูเป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์พร้อมต่อไปแล้วทำสุดความสามารถเพื่อให้เด็กเล็กๆ แวดล้อมไปด้วยความรักและความคุ้มครอง

อ้างอิง

  1. ดูพระคัมภีร์อ้างอิงใต้แต่ละหัวข้อในบทความนี้เพื่อหาเรื่องราวเหล่านี้ในพระคัมภีร์

  2. ดู “Child Maltreatment (Child Abuse),” World Health Organization, who.int/violence_injury_prevention/violence/child/en.

  3. จอย ดี. โจนส์, “การรับมือกับสื่อลามก: ป้องกัน ตอบสนอง และเยียวยา,” เลียโฮนา, ต.ค. 2019, 38.

  4. จอย ดี. โจนส์, “การรับมือกับสื่อลามก,” 39, 40.

  5. จอย ดี. โจนส์, “การรับมือกับสื่อลามก,” 39.

  6. ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “จงปกป้องเด็กๆ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 43.

  7. ดู “Preventing and Responding to Abuse,” newsroom.ChurchofJesusChrist.org.

  8. จอย ดี. โจนส์, “การรับมือกับสื่อลามก,” 40.

พิมพ์