2023
ธำรงไว้ซึ่งเสียงของผู้คนแห่งพันธสัญญาในอนุชนรุ่นหลัง
พฤศจิกายน 2023


10:13

ธำรงไว้ซึ่งเสียงของผู้คนแห่งพันธสัญญาในอนุชนรุ่นหลัง

ความรับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของเราอย่างหนึ่งคือช่วยให้ลูกหลานของเรารู้อย่างลึกซึ้งเป็นการเฉพาะเจาะจงว่าพระเยซูคือพระคริสต์

หนึ่งในเหตุการณ์อันน่าประทับใจที่สุดในพระคัมภีร์มอรมอนคือการที่พระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์เสด็จเยือนผู้คนที่พระวิหารในแผ่นดินอุดมมั่งคั่ง หลังจากวันที่ทรงสอน รักษา และเสริมสร้างศรัทธา พระเยซูทรงให้ผู้คนมุ่งความสนใจไปที่อนุชนรุ่นหลัง: “พระองค์ทรงบัญชาให้นำเด็กเล็กๆ ของพวกเขามา”1 ทรงสวดอ้อนวอนและอวยพรพวกเขาทีละคน ประสบการณ์นั้นกินใจมากจนพระผู้ช่วยให้รอดทรงกันแสงหลายครั้ง

แล้วพระเยซูตรัสกับฝูงชนว่า:

“จงดูเด็กเล็กๆ ของเจ้า

“และเมื่อพวกเขามองไป … พวกเขาเห็นฟ้าสวรรค์เปิด, และพวกเขาเห็นเทพพากันลงมาจากสวรรค์” ปฏิบัติต่อลูกๆ ของพวกเขา2

ข้าพเจ้ามักจะนึกถึงประสบการณ์นี้ นั่นคงทำให้ใจทุกคนหลอมละลาย! พวกเขาเห็นพระผู้ช่วยให้รอด สัมผัสพระองค์ รู้จักพระองค์ พระองค์ทรงสอนพวกเขา ทรงอวยพร และทรงรักพวกเขา ไม่น่าแปลกใจที่หลังจากเหตุการณ์ศักดิ์สิทธิ์นี้ เด็กๆ เหล่านี้เติบโตขึ้นช่วยสร้างสังคมแห่งสันติภาพ ความรุ่งโรจน์ และความรักแบบพระคริสต์ที่คงอยู่หลายชั่วอายุคน3

คงจะดีไม่น้อยหากลูกหลานของเรามีประสบการณ์เช่นนั้นกับพระเยซูคริสต์—ประสบการณ์ที่จะผูกมัดใจพวกเขาไว้กับพระองค์! พระองค์ทรงเชื้อเชิญเราเช่นเดียวกับที่ทรงเชื้อเชิญบิดามารดาเหล่านั้นในพระคัมภีร์มอรมอนให้นำลูกเล็กๆ ของเรามาหาพระองค์ เราสามารถช่วยให้พวกเขารู้จักพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่เหมือนเด็กเหล่านั้น เราสามารถแสดงให้พวกเขาเห็นวิธีค้นหาพระผู้ช่วยให้รอดในพระคัมภีร์และสร้างรากฐานบนพระองค์4

ไม่นานมานี้ เพื่อนที่ดีคนหนึ่งสอนข้าพเจ้าในสิ่งที่ไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อนเกี่ยวกับอุปมาเรื่องคนฉลาดที่สร้างบ้านไว้บนศิลา ตามบันทึกในลูกา เมื่อคนฉลาดวางรากฐานบ้าน เขา “ขุดลึกลงไป”5 นั้นไม่ใช่การทำแบบขอไปทีหรือง่ายๆ—ต้องใช้ความพยายาม!

เราต้องขุดลึกลงไปเพื่อสร้างชีวิตเราบนศิลาของพระผู้ไถ่ของเรา พระเยซูคริสต์ เราขจัดสิ่งที่ไม่มั่นคงหรือไม่จำเป็นในชีวิตออกไป เราขุดต่อไปจนกว่าจะพบพระองค์ และเราสอนลูกหลานของเราให้ผูกมัดตนเองกับพระองค์ผ่านศาสนพิธีและพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์เพื่อที่ว่าเมื่อปฏิปักษ์ส่งพายุและน้ำท่วมมา ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน สิ่งเหล่านั้นจะส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อพวกเขา “เพราะศิลาซึ่งบนนั้น [พวกเขา] ได้รับการสร้างขึ้น”6

ความเข้มแข็งเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเอง ไม่สามารถส่งต่อไปยังรุ่นต่อไปได้เหมือนกับมรดกทางวิญญาณ แต่ละคนต้องขุดลึกลงไปเพื่อค้นหาศิลานั้น

เราเรียนรู้บทเรียนนี้จากอีกเรื่องราวหนึ่งในพระคัมภีร์มอรมอน เมื่อกษัตริย์เบ็นจามินกล่าวปราศรัยครั้งสุดท้ายกับผู้คนของท่าน พวกเขารวมตัวกันเป็นครอบครัวเพื่อฟังถ้อยคำของท่าน7 กษัตริย์เบ็นจามินกล่าวคำพยานอันทรงพลังถึงพระเยซูคริสต์ และผู้คนประทับใจอย่างสุดซึ้งกับประจักษ์พยานของท่าน พวกเขาป่าวร้องว่า:

“พระวิญญาณ … ทรงกระทำการเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำในเรา, หรือในใจเรา …

“และเราเต็มใจที่จะเข้าสู่พันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าของเราเพื่อจะทำตามพระประสงค์ของพระองค์ … ตลอดวันเวลาที่เหลืออยู่ของเรา”8

บางคนอาจคาดหวังว่าเด็กเล็กๆ ที่มีบิดามารดาซึ่งเปลี่ยนใจเลื่อมใสอย่างลึกซึ้งจะเปลี่ยนใจเลื่อมใสด้วย และทำพันธสัญญาด้วยตนเองในท้ายที่สุด แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างที่ไม่ได้กล่าวไว้ในบันทึก ลูกหลานบางคนไม่ได้สนใจพันธสัญญาที่บิดามารดาทำ หลายปีต่อมา “มีอนุชนรุ่นหลังมากมายที่หาได้เข้าใจคำของกษัตริย์เบ็นจามินไม่, โดยที่เป็นเด็กเล็กๆ ในเวลาที่ท่านพูดกับผู้คนของท่าน; และพวกเขาไม่เชื่อประเพณีบรรพบุรุษของตน

“พวกเขาไม่เชื่อเรื่องที่มีกล่าวไว้เกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิตของคนตาย, ทั้งพวกเขาไม่เชื่อเกี่ยวกับการเสด็จมาของพระคริสต์ …

“และพวกเขาไม่ยอมรับบัพติศมา; ทั้งพวกเขาไม่ยอมเข้าร่วมกับศาสนจักร และพวกเขาเป็นคนที่แยกตัวออกตามศรัทธาของพวกเขา”9

ช่างเป็นความคิดที่น่าวิตก! สำหรับอนุชนรุ่นหลัง ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ไม่เพียงพอที่จะเป็น “ประเพณีบรรพบุรุษของตน” พวกเขาต้องมีศรัทธาในพระคริสต์ด้วยตนเอง ในฐานะผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้า เราจะปลูกฝังความปรารถนาที่จะทำและรักษาพันธสัญญากับพระองค์ในใจลูกหลานของเราได้อย่างไร?

เราสามารถเริ่มโดยทำตามแบบอย่างของนีไฟ: “เราพูดถึงพระคริสต์, เราชื่นชมยินดีในพระคริสต์, เราสั่งสอนเรื่องพระคริสต์, เราพยากรณ์ถึงพระคริสต์, และเราเขียนตามคำพยากรณ์ของเรา, เพื่อลูกหลานของเราจะรู้ว่าพวกเขาจะมองหาแหล่งใดเพื่อการปลดบาปของพวกเขา”10 ถ้อยคำของนีไฟกล่าวโดยนัยถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องในการสอนลูกหลานของเราเกี่ยวกับพระคริสต์ เรารับรองได้ว่าเสียงของผู้คนแห่งพันธสัญญาจะไม่เงียบในหูของอนุชนรุ่นหลังและพระเยซูไม่ใช่หัวข้อเฉพาะวันอาทิตย์เท่านั้น11

เสียงของผู้คนแห่งพันธสัญญาพบได้ในถ้อยคำประจักษ์พยานของเราเอง ในถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ และเก็บรักษาไว้อย่างทรงพลังในพระคัมภีร์ ที่นั่นลูกหลานของเราจะรู้จักพระเยซูและพบคำตอบสำหรับคำถามของตน ที่นั่นพวกเขาจะเรียนรู้หลักคำสอนของพระคริสต์ด้วยตนเอง ที่นั่นพวกเขาจะพบความหวัง สิ่งนี้จะเตรียมพวกเขาตลอดชีวิตในการแสวงหาความจริงและดำเนินชีวิตบนเส้นทางพันธสัญญา

ข้าพเจ้าชื่นชอบคำแนะนำนี้จากประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน:

“เราจะไปฟังพระองค์ ได้ จากที่ใด?

“เราสามารถไปที่พระคัมภีร์ได้ พระคัมภีร์สอนเราเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณ ความยิ่งใหญ่ของการชดใช้ของพระองค์ ตลอดจนแผนอันสำคัญยิ่งแห่งความสุขและการไถ่ของพระบิดา การจดจ่ออยู่กับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าทุกวันสำคัญยิ่งต่อความอยู่รอดทางวิญญาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงกลียุคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ เมื่อเราดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์ทุกวัน พระวจนะของพระคริสต์จะบอกวิธีรับมือกับความยุ่งยากทั้งหลายที่เราไม่คิดว่าจะพบเจอมาก่อน”12

การดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์และฟังพระองค์เป็นอย่างไร? คำตอบคืออะไรก็ตามที่ได้ผลกับท่าน! อาจเป็นการรวมตัวกันเป็นครอบครัวเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสอนท่านในการศึกษาพระคัมภีร์โดยใช้ จงตามเรามา อาจรวมตัวกันกับลูกหลานของท่านในแต่ละวันเพื่ออ่านข้อพระคัมภีร์สองสามข้อแล้วมองหาโอกาสสนทนาสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้ขณะใช้เวลาร่วมกัน เพียงค้นหาสิ่งที่ได้ผลกับท่านและครอบครัวแล้วพยายามทำให้ดีขึ้นในแต่ละวัน

ลองพิจารณาข้อคิดนี้จาก การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด: “การสอนเป็นรายคน ยามค่ำที่บ้านหนึ่งครั้ง ช่วงเวลาศึกษาพระคัมภีร์ หรือการสนทนาพระกิตติคุณอาจดูเหมือนไม่บรรลุผลมากนัก แต่การสะสมความพยายามที่เล็กน้อย เรียบง่าย การทำซ้ำอย่างเสมอต้นเสมอปลายครั้งแล้วครั้งเล่า สามารถมีพลังและเสริมสร้างความเข้มแข็งได้มากกว่าบทเรียนที่น่าจดจำหรือน่าประทับใจที่เกิดขึ้นนานๆ ครั้ง … ดังนั้นอย่ายอมแพ้ และอย่ากังวลเรื่องการบรรลุผลที่ยิ่งใหญ่ทุกครั้ง ขอเพียงให้ท่านพยายามอย่างเสมอต้นเสมอปลาย”13

ความรับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดอย่างหนึ่งของเราคือการช่วยให้ลูกหลานของเรารู้อย่างลึกซึ้งเป็นการเฉพาะเจาะจงว่าพระเยซูคือพระคริสต์ พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์ พระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของพวกเขา ผู้ทรงเป็นประมุขของศาสนจักรของพระองค์! เราไม่สามารถปล่อยให้เสียงแห่งพันธสัญญาของเรานิ่งเงียบเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระองค์

ท่านอาจรู้สึกไม่คู่ควรในบทบาทนี้ แต่ท่านไม่ควรรู้สึกโดดเดี่ยว ตัวอย่างเช่น สภาวอร์ดได้รับอนุญาตให้จัดการประชุมสภาครูให้บิดามารดา ในการประชุมไตรมาส บิดามารดาจะรวมตัวกันเพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์ของกันและกัน สนทนาว่าพวกเขาเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวอย่างไร และเรียนรู้หลักธรรมสำคัญของการสอนเหมือนพระคริสต์ การประชุมนี้ควรจัดขึ้นในช่วงชั่วโมงที่สองของโบสถ์14 โดยสมาชิกวอร์ดที่อธิการเลือกจะเป็นผู้นำการประชุมและทำตามรูปแบบการประชุมสภาครูทั่วไปโดยใช้ การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด เป็นแหล่งช่วยหลัก15 อธิการทุกท่าน หากปัจจุบันวอร์ดของท่านไม่ได้จัดการประชุมสภาครูสำหรับบิดามารดา จงทำงานร่วมกับประธานโรงเรียนวันอาทิตย์และสภาวอร์ดเพื่อวางระเบียบตนเอง16

มิตรสหายที่รักทั้งหลายในพระคริสต์ ท่านทำได้ดีกว่าที่คิดไว้มาก ขอให้พยายามต่อไป ลูกหลานของท่านกำลังดู ฟัง และเรียนรู้ เมื่อท่านสอนพวกเขา ท่านจะรู้ธรรมชาติวิสัยที่แท้จริงของพวกเขาในฐานะบุตรธิดาที่รักของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาอาจลืมพระผู้ช่วยให้รอดชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ข้าพเจ้าสัญญาว่าพระองค์จะทรงไม่มีวันลืมพวกเขา! ช่วงเวลาที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัสกับพวกเขาจะคงอยู่ในใจและความคิดพวกเขา และวันหนึ่งลูกหลานของท่านจะสะท้อนประจักษ์พยานของอีนัส: ข้าพเจ้ารู้ว่าบิดามารดาเป็นคนเที่ยงธรรม, “เพราะ [พวก] ท่านสอนข้าพเจ้า … ตามการเลี้ยงดูและการตักเตือนของพระเจ้าด้วย—และขอพระนามพระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าทรงเจริญด้วยพระสิริเพราะการนี้เถิด”17

ขอให้เราตอบรับพระดำรัสเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดและพาลูกๆ ของเรามาหาพระองค์ เมื่อทำเช่นนั้น พวกเขาจะเห็นพระองค์ สัมผัสถึงพระองค์ รู้จักพระองค์ พระองค์จะทรงสอนพวกเขา อวยพรพวกเขา และโอ้ พระองค์จะทรงรักพวกเขา และโอ้ ข้าพเจ้ารักพระองค์มาก ในพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. 3 นีไฟ 17:11

  2. 3 นีไฟ 17:23-24; ดู 3 นีไฟ 17:11-22 ด้วย

  3. ดู 4 นีไฟ 1:1–22

  4. ดู ลูกา 6:47–49; ฮีลามัน 5:12

  5. ลูกา 6:48

  6. ฮีลามัน 5:12

  7. ดู โมไซยาห์ 2:5

  8. โมไซยาห์ 5:2, 5 สังเกตว่า “ไม่มีสักคน, เว้นแต่เด็กเล็กๆ, ที่ไม่ได้เข้ามาสู่พันธสัญญาและรับเอาพระนามของพระคริสต์ไว้กับตน” (โมไซยาห์ 6:2)

  9. โมไซยาห์ 26:1–2, 4

  10. 2 นีไฟ 25:26

  11. “มีมากมายหลายสิ่งที่จะสอนเกี่ยวกับพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์—หลักธรรม พระบัญญัติ การพยากรณ์ และเรื่องราวในพระคัมภีร์ แต่ทั้งหมดนี้คือกิ่งก้านของต้นไม้ต้นเดียวกัน เพราะทั้งหมดนั้นมีจุดประสงค์เพียงข้อเดียว: ช่วยคนทั้งปวงให้มาหาพระคริสต์และดีพร้อมในพระองค์ (ดู เจรอม 1:11; โมโรไน 10:32) ไม่ว่าท่านกำลังสอนเรื่องใด จงจำไว้ว่าที่จริงแล้วท่านกำลังสอนเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และวิธีที่จะเป็นเหมือนพระองค์” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด: สำหรับทุกคนที่สอนในบ้านและในศาสนจักร [2022], 6)

  12. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ฟังพระองค์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020.

  13. การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 31.

  14. สามารถอำนวยความสะดวกเป็นพิเศษแก่บิดามารดาที่สอนในปฐมวัย เช่น การประชุมในช่วงเวลาร้องเพลงปฐมวัย 20 นาที หรือจัดการประชุมแยกต่างหากในเวลาอื่น (ดู คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย, 17.4, คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ)

  15. สมาชิกและผู้นำสามารถสั่ง การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด ผ่านศูนย์จำหน่าย มีแบบดิจิทัลในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณด้วย

  16. ดู คู่มือทั่วไป, 13.5.

  17. อีนัส 1:1 พึงจำไว้ว่าในบรรดาอนุชนรุ่นหลังซึ่งเคยเป็นผู้ที่ไม่เชื่อในพระคัมภีร์มอรมอนคือแอลมาผู้บุตรและบรรดาบุตรของโมไซยาห์ ในที่สุดเมื่อแอลมาผู้บุตรรับรู้ถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา เขานึกถึงสิ่งที่บิดาเคยสอนเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์—คำสอนที่เห็นชัดว่าแอลมาเพิกเฉยในอดีต แต่ความทรงจำยังคงอยู่ และความทรงจำนั้นช่วยแอลมาทางวิญญาณ (ดู แอลมา 36:17–20)