เลียโฮนา
6 แนวคิดในการพูดคุยเกี่ยวกับความยืดหยุ่นทางอารมณ์กับเด็ก
กรกฎาคม 2024


ดิจิทัลเท่านั้น

6 แนวคิดในการพูดคุยเกี่ยวกับความยืดหยุ่นทางอารมณ์กับเด็ก

ทําให้การฝึกความยืดหยุ่นทางอารมณ์เป็นกิจกรรมปกติในบ้านของท่าน

ภาพ
ครอบครัวที่มีลูกเล็กสองคนเล่นด้วยกัน

ความยืดหยุ่นทางอารมณ์ หมายถึง “ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับความท้าทายทางอารมณ์ด้วยความกล้าหาญและศรัทธาที่มีศูนย์กลางในพระเยซูคริสต์”

ความยืดหยุ่นทางอารมณ์เกิดจากความเข้มแข็งภายในที่พระองค์ประทานให้ ซึ่งเติบโตตามประสบการณ์และในความสัมพันธ์กับพระเจ้า เมื่อพูดถึงความยืดหยุ่นทางอารมณ์ ฝ่ายประธานสูงสุดเชิญให้เรา “ศึกษาอย่างขยันหมั่นเพียรและประยุกต์ใช้หลักธรรมเหล่านี้และสอนให้กับสมาชิกครอบครัวของท่าน” และสัญญาว่า “การยอมรับและดําเนินชีวิตตาม [หลักธรรมแห่งความยืดหยุ่นทางอารมณ์] จะทําให้ท่านได้รับพลังที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ได้ดีขึ้น”

วิธีเริ่มการสนทนา

ขณะที่เราพยายามทําตามคําเชื้อเชิญให้สอนเรื่องความยืดหยุ่นทางอารมณ์แก่สมาชิกในครอบครัวของเรา อาจเป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหน ต่อไปนี้คือวิธีที่ท่านสามารถทําให้การสนทนาเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ:

1. นำด้วยแบบอย่าง

เราได้รับการสอนให้ “เรียกหาพระผู้เป็นเจ้าเพื่อการดำรงชีวิตทุกอย่าง [ของเรา]” (แอลมา 37:36) เราสามารถเป็นต้นแบบแก่ลูกๆ ในการทูลต่อพระบิดาบนสวรรค์ถึงข้อกังวลของเรา และแสดงให้เห็นวิธีพบความยืดหยุ่น และความเข้มแข็งผ่านความรักและการนําทางของพระองค์ เราสามารถสวดอ้อนวอนขอความเข้มแข็งและสันติสุขอันเกิดจากเดชานุภาพที่เสริมสร้างความสามารถของพระเยซูคริสต์อันเนื่องด้วยการชดใช้ของพระองค์ เมื่อเด็กๆ ได้ยินเราสื่อสารกับพระบิดาบนสวรรค์ด้วยทัศนคติที่ดีและมีความยืดหยุ่นทางจิตใจ พวกเขาจะรู้สึกมั่นใจและปลอดภัยที่จะหันไปหาพระองค์เช่นกัน

ในทำนองเดียวกันกับที่เราหันไปหาพระบิดาบนสวรรค์เพื่อแบ่งปันความคิดและความรู้สึกของเราพร้อมกับการแสวงหาความช่วยเหลือและการนําทางจากพระองค์ เรายังสามารถมุ่งมั่นที่จะแผ่ขยายความรักของพระองค์และเป็นที่พึ่งพิงที่ปลอดภัยซึ่งลูกๆ ของเราสามารถหันไปหาและวางใจที่จะควบคุมอารมณ์ของตนได้ แสดงให้พวกเขาเห็นว่าพวกเขาสามารถจัดการกับความรู้สึกเหล่านี้ได้ ภายในความสัมพันธ์ที่เปี่ยมด้วยความรักกับท่าน และตามความเหมาะสม ให้สวดอ้อนวอนกับลูกๆ ของท่านเพื่อขอการนําทางและความเข้มแข็งจากพระบิดาบนสวรรค์ เมื่อมีสิ่งจำเป็นด้านอารมณ์

2. ปรับใจเข้าหาและรับฟังลูกๆ ขณะพวกเขาพูด

“เวลาที่ควรฟัง คือเวลาที่ใครสักคนต้องการให้รับฟัง” ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าว ท่านกล่าวต่อไปว่า:

“โดยธรรมชาติแล้วเด็กๆ จะกระตือรือร้นที่จะแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา ซึ่งมีตั้งแต่ความสำเร็จที่เต็มไปด้วยความสุขจนถึงบททดสอบแห่งความทุกข์ เราเต็มใจที่จะฟังหรือไม่? เมื่อพวกเขาพยายามเล่าความทุกข์ใจ เราสามารถเปิดใจฟังเรื่องราวที่เล่าถึงประสบการณ์เลวร้าย โดยที่ตัวเราไม่ตระหนกตกใจตามไปด้วยได้หรือไม่ เราจะฟังโดยไม่ขัดจังหวะและไม่ด่วนตัดสินซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการกระแทกประตูปิดการสนทนาได้หรือไม่ ประตูจะยังเปิดอยู่เมื่อเราทำให้พวกเขาเชื่อมั่นในใจว่าเราเชื่อใจพวกเขาและเข้าใจความรู้สึกของพวกเขา ผู้ใหญ่ไม่ควรแสร้งทำเป็นว่าประสบการณ์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะพวกเขาประสงค์ให้เป็นอย่างอื่น …

“บิดามารดาที่มีเยาวชนวัยรุ่นอาจพบว่าการหาเวลารับฟังบุตรหลานมักจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่กลับเป็นเรื่องที่สำคัญมากยิ่งขึ้นในเวลาที่ลูกรู้สึกเหงาหรือมีปัญหา ในยามที่พวกเขาดูเหมือนควรได้รับความช่วยเหลือน้อยที่สุด พวกเขาอาจต้องการมันมากที่สุด”

ซิสเตอร์จอย ดี. โจนส์ อดีตประธานปฐมวัยสามัญแนะนําเราเช่นกันให้ป้องกันไม่ให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้ามาแทรกระหว่างเรากับลูกๆ “อย่ายอมให้ความสะดวกของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กีดกันเราไม่ให้สอน รับฟัง และมองตาลูกๆ ของเรา”

3. แสดงความเชื่อมั่นในตัวลูกๆ

“ลูกหลานของเราสามารถเติบโตอย่างงดงามได้ แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายของโลกยุคนี้” เอ็ลเดอร์ลินน์ จี.รอบบินส์สอนในขณะที่ท่านเป็นสมาชิกสาวกเจ็ดสิบ

เราสามารถแสดงให้ลูกๆ เห็นว่าเราเชื่อในตัวพวกเขาโดยพูดว่า “มันยากนะ เก่งมากเลย! ฝึกอีกหน่อย เก่งขึ้นไปอีกแน่นอน”

4. จัดสภาครอบครัวเพื่อรับฟังความคิดเห็นของบุตรหลานลูกๆ

เมื่อสอนเกี่ยวกับสภาครอบครัว ประธานเอ็ม. รัสเซลล์บัลลาร์ด (1928–2023) กล่าวว่า “ลูกๆ ต้องการพ่อแม่ที่เต็มใจรับฟังพวกเขาอย่างยิ่ง” ท่านยังสอนอีกว่า: “เมื่อพ่อแม่เตรียมตัวมาดี ลูกๆ ตั้งใจฟัง และเข้าร่วมการพูดคุย สภาครอบครัวจึงจะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง!”

ลองขอคําแนะนําจากเด็กเกี่ยวกับวิธีรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลําบาก การทำเช่นนั้นอาจนำไปสู่ความปลาบปลื้มใจที่รู้ว่าความคิดเห็นของพวกเขามีค่า

5. เป็นพยานถึงความรักและความเข้มแข็งที่ท่านได้รับจากพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์

ประธานดัลลิน เอช.โอ๊คส์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่า “ลูกๆ ของเราควรได้ยินเราแสดงประจักษ์พยานบ่อยๆ” ซึ่งจะ “เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ลูกๆ ของเราโดยกระตุ้นพวกเขาให้นิยามตนเองโดยประจักษ์พยานที่กําลังเติบโต”

6. ส่งเสริมให้ลูกๆ รู้สึกสงบและสบายใจในการจัดการกับอารมณ์ของตนเอง

เราสามารถแสดงให้ลูกๆ เห็นว่าการมีอารมณ์ความรู้สึกเป็นเรื่องปกติ บางครั้งท่านอาจพูดว่า “ฉันรู้สึก X เพราะ Y” เวลาที่ลูกๆ มีอารมณ์รุนแรงหรือเผชิญกับความรู้สึกแย่ๆ ที่หนักหน่วง พ่อแม่อาจจะรู้สึกว่าอารมณ์ตัวเองขึ้นด้วย และอาจจะรู้สึกควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ยากขึ้นเช่นกัน แทนที่จะตอบสนองต่ออารมณ์ที่ท่านรู้สึก ให้ใจเย็นและแสดงให้เห็นว่าความรู้สึกนั้นเป็นเรื่องปกติและสามารถแสดงออกในทางที่ดีกว่าได้

บางครั้งจงยอมรับความอ่อนแอของท่านเอง ในฐานะบิดาหรือมารดา ท่านอาจพูดว่า “พ่อแม่เองก็เคยอายุ 10 ขวบ มีปัญหาที่โรงเรียนเพราะความโกรธ เช่นเดียวกับลูก นี่คือสิ่งที่พ่อหรือแม่ทําเพื่อจัดการกับความโกรธ” เราสามารถช่วยให้ลูกๆ ของเรารู้ว่าเราเข้าใจประสบการณ์ของพวกเขา การตอบสนองด้วยความรักและความใจเย็นจะทําให้พวกเขารู้สึกได้ว่าตนนั้นไม่โดดเดี่ยว

อาจเป็นสิ่งสําคัญที่จะช่วยให้ลูกๆ ของเราตระหนักถึงความสําคัญของการระงับอารมณ์ที่รุนแรงและเข้าใจว่าอารมณ์บางอย่างส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางวิญญาณของเราอย่างไร เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายไว้ดังนี้ “พระวิญญาณทรงมีบทบาทสําคัญในการสื่อสารความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อเรา [ดู กาลาเทีย 5:22] ทว่าอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถถูกบดบัง “ด้วยอารมณ์รุนแรง เช่น โกรธ เกลียด … [หรือ] กลัว … เหมือนกับการพยายามลิ้มรสชาติอันหวานหอมขององุ่นขณะกินพริกฆาลาเปญโญ … [รสเดียว] กลบรสอื่นโดยสิ้นเชิง”

ขณะที่เราจัดการกับอารมณ์ของตัวเองและลูกๆ สิ่งที่สำคัญคือ การจำไว้ว่า อารมณ์มักเป็นการประเมินว่า สิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์หรือเป็นภัย เราสามารถประเมินความแม่นยำของอารมณ์อย่างใจเย็น และฝึกตอบสนองต่ออารมณ์ด้วยระดับความรุนแรงที่สอดคล้องยิ่งขึ้น

ในตัวอย่างนี้ ผู้ใหญ่คนหนึ่งดึงเด็กที่โกรธออกมาและพูดว่า “ไม่เป็นไรนะ พ่อและแม่ไม่ได้โกรธ พ่อและแม่เป็นห่วงมากกว่าลูกจะไปทำร้ายผู้อื่นหรือผลักไสผู้อื่นออกไป “ลูกรู้สึกอย่างไร ความรู้สึกของลูกถูกต้อง เราจะรับมือกับมันได้อย่างไร?” เมื่อลูกอารมณ์เสีย ท่านอาจจะถามว่า “ลูกเป็นอะไรหรือเปล่า? เกิดอะไรขึ้น?”

เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์ (1932–2017) แนะนําให้เรา “ฟังด้วยความรักและอย่าขัดจังหวะ” ช่วยให้เด็กรู้สึกปลอดภัยเมื่อพูดถึงอารมณ์ของตน และอย่าลืมยินดีในประสบการณ์และอารมณ์เชิงบวกของพวกเขาด้วย ตัวอย่างเช่น เมื่อลูกได้เกรดที่ดีในโรงเรียน บิดาหรือมารดาสามารถบอกว่า “เยี่ยมมาก! พ่อและแม่ดีใจที่ลูกรู้สึกดีเมื่อเรียนเก่ง ทำไมลูกคิดว่าการเรียนเก่งทำให้รู้สึกดี? อะไรช่วยให้ลูกทําได้ดีขนาดนี้?”

จะเริ่มการสนทนาเมื่อใด

แม้ว่าการสอนทักษะการจัดการอารมณ์จะเป็นเรื่องสำคัญในยามที่ลูกๆ มีปัญหา แต่การพูดคุยกันเรื่องนี้ก็ไม่ควรเกิดขึ้นเฉพาะช่วงเวลานั้นเท่านั้น เราสามารถสอนทักษะเสริมสร้างความแข็งแกร่งความยืดหยุ่นทางอารมณ์ให้ลูกๆ ในช่วงเวลาปกติของชีวิต—บทสนทนาและทักษะที่พูดคุยกันเหล่านี้ จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้พวกเขา ในยามที่ชีวิตมีความยากลำบากมากขึ้น

เวลาที่แนะนําสําหรับการสนทนาเรื่องความยืดหยุ่นทางอารมณ์ได้แก่:

  • การสังสรรค์ในครอบครัวประจำสัปดาห์

  • ช่วงสัมภาษณ์เด็กเป็นรายบุคคลในแต่ละเดือน

  • ช่วงอาหารค่ำของครอบครัว แบ่งปันเรื่องราวของญาติๆ ที่เอาชนะความทุกข์ยากได้ สนทนาว่าจุดแข็งใดบ้างที่ช่วยให้พวกเขาผ่านพ้นการทดลองไปได้ หรือให้สมาชิกในครอบครัวแต่ละคนเล่าถึงชัยชนะและความท้าทายในช่วงเวลานั้นและสิ่งที่เขาทํา เพื่อกระตุ้นการทํางานเป็นทีมและการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ให้ระดมความคิดเป็นครอบครัวเพื่อหาวิธีที่เป็นประโยชน์อื่นๆ ในการรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลําบาก

  • การศึกษาพระคัมภีร์เป็นครอบครัวหรือการสนทนาใน จงตามเรามา มองหาวิธีที่พระคัมภีร์และเรื่องราวสอนแนวคิดเรื่องความยืดหยุ่นทางอารมณ์

  • ช่วงเวลาอ่านหนังสือ หนังสือเป็นวิธีที่ดีในการพูดคุยเกี่ยวกับอารมณ์ สําหรับเด็กเล็ก ท่านสามารถเลือกอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และพูดคุยเกี่ยวกับวิธีที่ตัวละครแสดงถึงความยืดหยุ่น สําหรับเด็กโต ท่านอาจเลือกที่จะมีชมรมหนังสือสําหรับครอบครัวที่ทุกคนอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน จากนั้นท่านมีการประชุมประจําสัปดาห์เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวคิดความยืดหยุ่นที่ท่านกําลังเรียนรู้จากหนังสือ

  • การประชุมครอบครัว resilience จัดการประชุมหลายสัปดาห์และเรียนหลักสูตร Finding Strength in the Lord: Emotional Resilience ด้วยกัน ปรับสื่อการเรียนการสอนให้เหมาะกับอายุเด็ก ท่านอาจลองพิจารณาการเรียนหลักสูตรนั้นด้วยตนเองก่อน

เริ่มต้นแบบค่อยเป็นค่อยไป

ทําให้การฝึกความยืดหยุ่นทางอารมณ์เป็นกิจกรรมปกติในบ้านของท่าน เริ่มด้วยการสนทนาเล็กๆ น้อยๆ และหาวิธีกระตุ้นให้ลูกๆ เรียนรู้ว่าทักษะใดช่วยให้พวกเขารู้สึกสงบและควบคุมพฤติกรรมของตนได้ นี่เป็นการปฏิบัติที่เราควรทําอย่างสม่ำเสมอตลอดชีวิต

ดังที่ซิสเตอร์โจนส์กล่าวเกี่ยวกับการสอนความยืดหยุ่นทางวิญญาณแก่เด็กๆ ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้กับความยืดหยุ่นทางอารมณ์ได้ด้วย “ไม่จําเป็นต้องซับซ้อนหรือใช้เวลามาก … บทสนทนาด้วยความห่วงใย ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติและสม่ำเสมอ สามารถนำไปสู่ความเข้าใจและคำตอบที่ดีขึ้น”

พระเจ้าจะทรงอวยพรความพยายามของเราเมื่อเราพยายามสร้างความยืดหยุ่นทางอารมณ์ในครอบครัวของเรา

พิมพ์