“การสนทนาในครอบครัวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย,” เลียโฮนา, ก.ค. 2024.
การสนทนา ในครอบครัวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย
ในฐานะบิดามารดา เราต้องเตรียมลูกๆ ของเราให้พร้อมรับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นซึ่งพวกเขาอาจเผชิญ แม้ว่าการพูดถึงเรื่องอันตรายอาจดูน่าอึดอัด แต่การฆ่าตัวตายเป็นหนึ่งในอันตรายเหล่านั้น
ชีวิตครอบครัวก็เหมือนการล่องแก่ง เช่นเดียวกับที่ครอบครัวเปรียบเสมือนเสื้อชูชีพและหมวกกันน็อค บิดามารดาเปรียบเสมือนไกด์แม่น้ำที่เคยผ่านเส้นทางนี้มาก่อน ลูกๆ ต้องการให้เราเตือนพวกเขาเกี่ยวกับกระแสน้ำที่รุนแรงหรือก้อนหินที่อยู่ข้างหน้า หากไกลออกไปตามแม่น้ำมีน้ำตกที่เป็นอันตรายถึงชีวิต เราจะเตือนลูกๆ หรือไม่? เราจะสอนวิธีพายเรือและเส้นทางที่ควรเปลี่ยน หรือจะรอจนกว่าพวกเขาจะร่วงลงไปในน้ำตกเราจึงจะเตือน?
ในฐานะบิดามารดา เราอาจรู้สึกไม่สบายใจที่จะพูดคุยเกี่ยวกับหัวข้อที่ไม่พึงประสงค์อย่างการฆ่าตัวตาย แต่เราสามารถช่วยปกป้องและเตรียมลูกๆ ให้พร้อม ก่อน ที่พวกเขาจะมีความคิดที่เป็นอันตราย
บิดามารดาสามารถช่วยให้ลูกๆ เรียนรู้ที่จะมีความยืดหยุ่นทางอารมณ์ และรู้ว่าจะหันไปพึ่งที่ใดเมื่อต้องการความช่วยเหลือด้านอารมณ์ เรย์นา ไอ. อะบูร์โต อดีตที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญสอนว่า “นี่อาจรวมถึงการรับรู้ความเจ็บป่วยทางอารมณ์ การหาแหล่งช่วยเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น และในที่สุด นำตัวเราและผู้อื่นมาหาพระคริสต์ ผู้ทรงเป็นพระอาจารย์ผู้ทรงเยียวยา”
ประเด็นสำคัญที่ต้องพูดถึง
การฆ่าตัวตายบางกรณีเกิดขึ้นโดยไม่มีสัญญาณเตือนที่ชัดเจน สำหรับบางคนมีเพียงสัญญาณเล็กๆ น้อยๆ หรือบางครั้งสัญญาณชัดเจนจนคิดเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เราไม่สามารถรู้แน่ชัดว่าลูกๆ กำลังคิดอะไรอยู่ ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมพวกเขาให้พร้อม เผื่อในกรณีที่ความคิดเรื่องการฆ่าตัวตายเข้ามาครอบงำจิตใจของพวกเขา
ซิสเตอร์อะบูร์โตยืนยันว่า “สำคัญที่ต้องพูดเรื่องเหล่านี้กับบุตรธิดา ครอบครัว และมิตรสหายในบ้าน วอร์ด และชุมชนของเรา”
เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “เราทุกคนมีสมาชิกครอบครัว เพื่อนรัก หรือคนรู้จักที่เคยประสบความคิดฆ่าตัวตาย พยายามฆ่าตัวตาย หรือปลิดชีวิตตนเอง … วอร์ดและสเตคหลายแห่ง [และครอบครัว] พิจารณาที่จะสนทนาเรื่องการป้องกันการฆ่าตัวตายหลังจากมีคนปลิดชีวิตตนเอง คำถามของข้าพเจ้าคือ—ทำไมต้องรอ? ท่านสามารถทำได้ตั้งแต่ตอนนี้ เพราะบางคนในวอร์ดหรือสเตคกำลังคิดที่จะฆ่าตัวตาย”
ฉันนั่งคุยกับลูกๆ เมื่อหลายปีก่อนหลังจากเกิดโศกนาฏกรรมในท้องที่ ฉันรู้สึกว่าจำเป็นต้องแบ่งปันกับพวกเขาว่าโดยผ่านพระเยซูคริสต์ เรามีหนทางข้างหน้า เสมอ ไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรได้หรือไม่ได้ การฆ่าตัวตายไม่ควรเป็นคำตอบ เมื่ออายุยังน้อย ฉันไม่มีเหตุผลที่จะคิดว่าพวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยง แต่ฉันรู้ว่ายังมีอะไรอีกมากมายที่สามารถทำได้เพื่อเตรียมลูกๆ ให้พร้อมรับมือกับความคิดที่เป็นอันตรายที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย
การพูดคุยเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายจะช่วยป้องกันการฆ่าตัวตาย
คู่มือแหล่งช่วยของศาสนจักรสำหรับการป้องกันการฆ่าตัวตายอธิบายว่า: “การพูดถึงเรื่องการฆ่าตัวตายไม่ได้ทำให้คนมีแนวโน้มที่จะพยายามฆ่าตัวตายมากขึ้น อันที่จริง การพูดคุยอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายด้วยซ้ำ”
ดร.จอห์น แอคเคอร์แมน ผู้จัดการฝ่ายคลินิกป้องกันการฆ่าตัวตายของ Nationwide Children’s Hospital กล่าวว่า “การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายสามารถช่วยชีวิตบุตรหลานได้” อันที่จริง เขาเสริมว่า “ถ้าบุตรหลานกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับความคิดฆ่าตัวตาย การรู้ว่าผู้ใหญ่ที่ห่วงใยเต็มใจจะพูดคุยอย่างเปิดเผยมักจะช่วยบรรเทาให้เรื่องเบาลงได้”
“การพูดเรื่องการฆ่าตัวตายในวิธีที่เหมาะสมจะช่วยป้องกันมากกว่ากระตุ้นให้เกิดขึ้น” ซิสเตอร์อะบูร์โตสอน คุณพ่อของท่านเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ท่านหลีกเลี่ยงการพูดถึงการเสียชีวิตของคุณพ่อกับครอบครัวของเธอมาเป็นเวลาหลายปี อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่นั้นมาท่านได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของการพูดคุยถึงเรื่องนี้อย่างเปิดใจและตรงไปตรงมา “ดิฉันได้สนทนาอย่างตรงไปตรงมากับลูกๆ เกี่ยวกับการตายของคุณพ่อดิฉันและเป็นพยานถึงการเยียวยาที่พระผู้ช่วยให้รอดสามารถประทานให้ทั้งสองด้านของม่าน”
การสนทนาอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายสามารถช่วยให้ลูกๆ เข้าไปหาบิดามารดาและผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ แทนที่จะพยายามคิดหาทางฆ่าตัวตายด้วยตนเอง หากความคิดนั้นเกิดขึ้น
มีรายงานว่าเด็กอายุหกหรือเจ็ดขวบมีความคิดฆ่าตัวตาย “แต่ก่อนนี้ … นักบำบัด นักวิจัย และผู้ปกครองไม่เชื่อว่าเด็กอายุต่ำกว่า 10 หรือ 11 ขวบจะมีความคิดฆ่าตัวตายด้วยซ้ำ” ดร. แอคเคอร์แมนกล่าว “เรารู้ว่านั่นไม่เป็นความจริง” เขาชี้ให้เห็นว่าแม้แต่เด็กเล็กก็สามารถเชื่อมโยงความคิดที่จะฆ่าตัวตายกับความรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นภาระ มีความเจ็บปวดทางอารมณ์ หรือพบเจอกับความสิ้นหวัง
ซิสเตอร์อะบูร์โตรับรองว่า “การรู้วิธีตระหนักถึงสัญญาณและอาการในตัวเราเองและผู้อื่นอาจมีประโยชน์ เราสามารถฝึกตรวจจับรูปแบบความคิดที่ไม่ดีหรือไม่ถูกต้องและวิธีแทนที่ความคิดเหล่านั้นด้วยความคิดที่ดีกว่าและถูกต้องกว่าได้เช่นกัน”
การฆ่าตัวตายเกิดขึ้นบ่อยกว่าที่เราคิด
มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 1 รายในเกือบทุกๆ 40 วินาทีทั่วโลก และนั่นเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสองของโลกสำหรับคนอายุ 15–24 ปี ในการศึกษาล่าสุดที่สำรวจวัยรุ่นหลายพันคนในยูทาห์ สหรัฐอเมริกา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริคัมยังก์ค้นพบว่าประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ของเยาวชนที่เป็นวิสุทธิชนยุคสุดท้ายคิดฆ่าตัวตายอย่างจริงจัง และ 4 เปอร์เซ็นต์เคยลงมือฆ่าตัวตายแล้ว
ในส่วนการอธิบายถึงบริบท ในกลุ่มวัยรุ่น 25 คน เมื่อดูตามสถิติ 3 คนในจำนวนนั้นคิดฆ่าตัวตายอย่างจริงจัง และมีหนึ่งคนพยายามฆ่าตัวตายแล้ว
ถ้าเราสามารถช่วยลูกๆ หาความช่วยเหลือที่ต้องการก่อนที่พวกเขาจะถึงจุดวิกฤต—เมื่อความคิดกลายเป็นการวางแผน—เราอาจสามารถช่วยพวกเขาเปลี่ยนความคิดก่อนที่จะสายเกินไป
จะเริ่มจากตรงไหน
ลูกๆ สามารถเริ่มเข้าใจความรู้สึกในตอนที่อายุยังน้อย แต่เราสามารถสอนภาษาให้พวกเขาอธิบายความรู้สึกได้อย่างถูกต้อง ขั้นแรกอาจสอนให้เด็กเล็กรู้จักคำศัพท์เกี่ยวกับอารมณ์ของตนเอง เราสามารถสอนลูกๆ ให้เข้าใจความแตกต่างระหว่างความโกรธ ความเศร้า ความหงุดหงิด และอื่นๆ หากลูกๆ สามารถอธิบายความรู้สึกของตนเอง เราก็สามารถเริ่มพูดคุยร่วมกันได้ตั้งแต่ตอนนั้น เราสามารถพูดคุยถึงความรู้สึกที่รุนแรงกับเด็กอายุตั้งแต่หกขวบโดยใช้วิธีที่เหมาะสมกับวัย และช่วยให้พวกเขาระบุและจัดการกับความรู้สึกเหล่านี้
การสนทนาตั้งแต่เนิ่นๆ เหล่านี้จะช่วยให้บิดามารดาคุ้นเคยกับช่วงอารมณ์โดยทั่วไปของลูกๆ เด็กส่วนใหญ่ต้องพบเจอกับความเป็นอยู่ทางอารมณ์ที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ การสนทนากับเด็กเล็กแต่เนิ่นๆ และบ่อยครั้งสามารถเป็นเครื่องวัดอารมณ์สำหรับบิดามารดาเพื่อแยกแยะความแตกต่างระหว่างอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ในวัยเด็กกับความคิดที่เป็นอันตราย
การสนทนาเชิงป้องกันเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายก็เหมือนกับการที่บิดามารดาได้รับการฝึกอบรมเชิงป้องกันอื่นๆ เราสามารถเตรียมเด็กและเยาวชนให้พร้อมรับมือกับความคิดฆ่าตัวตายเช่นเดียวกับการเตรียมพร้อมให้พวกเขาขับรถและวิธีปฏิบัติเมื่อเกิดอุบัติเหตุ “เราต้องเตรียมบุตรหลานให้เข้าใจถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ทางอารมณ์ และสิ่งที่พวกเขาอาจเห็นในตัวเพื่อนๆ” ดร. แอคเคอร์แมนกล่าว
สนทนาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อลูกๆ โตขึ้น บทสนทนาที่เรามีกับพวกเขาจะเติบโตขึ้นเช่นกัน เราสามารถถามคำถามปลายเปิดแล้วให้ลูกๆ ตอบอย่างตรงไปตรงมา ส่งเสริมให้ลูกๆ ซื่อสัตย์กับความรู้สึกที่ยากลำบากของตนเอง การค้นคว้าแสดงให้เห็นว่าการจัดการกับอารมณ์ที่ยากลำบากอาจลดความรุนแรงและระยะเวลาของอารมณ์
การสื่อสารอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย หรือความรู้สึกท้อแท้จะทำให้ลูกๆ เรียนรู้ว่าพวกเขาสามารถแบ่งปันความคิดที่จริงใจของตนเอง และพวกเขาจะปลอดภัยทางอารมณ์เมื่ออยู่กับเรา “นอกจากนี้พวกเขาจะได้รับข้อความที่ชัดเจนอีกด้วยว่าท่านใส่ใจพวกเขาอย่างลึกซึ้ง ความสุขและความเป็นอยู่ของพวกเขามีความสำคัญต่อท่าน” ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตท่านหนึ่งกล่าว
ความรักและการสนับสนุนที่เรามีต่อลูกๆ สามารถเป็นแบบอย่างความรักที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมีต่อเราแต่ละคน “พระบิดาบนสวรรค์ทรงรักท่าน—ทุกๆ ท่าน” ประธานโธมัส เอส. มอนสัน (1927–2018) สอน “ความรักนั้นไม่มีวันเปลี่ยน … มีให้ท่านยามท่านทุกข์หรือสุข สิ้นหวังหรือมีหวัง ความรักของพระผู้เป็นเจ้ามีให้ท่านไม่ว่าท่านจะรู้สึกว่าสมควรได้รับหรือไม่ก็ตาม ความรักนั้นมีให้ท่านเสมอ”
ทันทีที่ฉันคุยเรื่องการฆ่าตัวตายกับลูกๆ ของตัวเอง ลูกชายวัย 9 ขวบของฉันถามว่าเขาขอคุยกับฉันเป็นการส่วนตัวได้หรือไม่ เขาเล่าให้ฉันฟังถึงช่วงเวลาที่เขาจินตนาการถึงการปลิดชีวิตตัวเอง พร้อมลงรายละเอียดว่าจะทำอย่างไร ฉันไม่เคยคิดฝันมาก่อนว่าเขาจะมีความคิดเหล่านี้ ฉันกอดเขา ขอบคุณเขาสำหรับความกล้าหาญที่มาบอกฉัน และบอกเขาว่าไม่ว่าเขาจะเคยทำอะไรหรือคิดอย่างไร เขามีคุณค่าและสำคัญในครอบครัวของเรา และฉันให้คำมั่นสัญญากับตัวเองว่าจะเฝ้าดูเขาเพื่อหาสัญญาณของความคิดฆ่าตัวตายหรือความเจ็บป่วยทางจิตเพิ่มเติม
การฆ่าตัวตายไม่ใช่คำตอบ
เยาวชนบางคนอาจกลัวว่าการฆ่าตัวตายเป็นหนทางเดียวที่จะหลุดพ้นจากความสิ้นหวัง ประธานเจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ รักษาการประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองรับรองว่า: “ไม่ว่าท่านจะรู้สึกว่าทำผิดพลาดไปมากเพียงใด … หรือไม่ว่าท่านจะรู้สึกว่าเดินทางออกมาไกลจากบ้านจากครอบครัวและพระผู้เป็นเจ้ามากเพียงใด ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าท่านยัง ไม่ได้ เดินทางไปไกลเกินเอื้อมพระหัตถ์แห่งความรักของพระเจ้า เป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะจมดิ่งลงไปลึกกว่าความสว่างอันไม่มีขอบเขตจากการชดใช้ของพระคริสต์จะส่องถึง”
นอกเหนือจากการพูดคุยกับเด็กเล็กแล้ว เราสามารถพูดคุยกับเยาวชนโดยทำตามแบบอย่างที่ประธานฮอลแลนด์กล่าว: “ถึงเยาวชนของเราข้างนอกที่กำลังกระเสือกกระสน ไม่ว่าท่านจะมีความกังวลหรือความยุ่งยากอะไรก็ตาม เราประจักษ์ชัดว่าความตายจากการฆ่าตัวตาย ไม่ใช่ คำตอบ มันจะไม่บรรเทาความเจ็บปวดที่ท่านรู้สึกหรือที่ท่านคิดว่าท่านกำลังทำให้เกิดขึ้น ในโลกที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีแสงสว่างทั้งหมดเท่าที่จะหาได้ โปรด อย่า ดูถูกแสงสว่างนิรันดร์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงใส่ไว้ในจิตวิญญาณ ท่าน ก่อนโลกนี้เป็นมา … อย่า ทำลายชีวิตที่พระคริสต์ทรงสละพระชนม์ชีพ ของพระองค์ เพื่อรักษาไว้ ท่านสามารถแบกความยากเข็ญของชีวิตมรรตัยนี้ได้เพราะเราจะช่วยท่านแบกมัน ท่านเข้มแข็งกว่าที่ท่านคิด ความช่วยเหลือ มี ให้จากคนอื่นๆ โดยเฉพาะจากพระผู้เป็นเจ้า ท่านเป็นที่รัก มีค่า และเป็นที่ต้องการ เราต้องการท่าน!”
ท่านและคู่สมรสสามารถพูดคุยกันได้ว่าเมื่อใดเป็นเวลาที่ดีที่จะเริ่มพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้—ตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่วิกฤติใดๆ จะเกิดขึ้น ท่านสามารถแสวงหาพระวิญญาณร่วมกับการสวดอ้อนวอนเพื่อช่วยชี้นำทั้งจังหวะเวลาและการใช้ถ้อยคำในการสนทนากับลูกๆ
เราไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของผู้อื่นที่จะจบชีวิต แต่มีสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อช่วยป้องกันการเลือกนั้น ดังที่ประธานฮอลแลนด์สอน:
“พระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระผู้เป็นเจ้าเสด็จมาประทานชีวิตแก่เราโดยทรงเอาชนะความตาย
“เราต้องทุ่มเทเต็มที่ให้แก่ชีวิตที่พระองค์ประทานให้และรีบไปช่วยคนที่เสี่ยงต่อการทิ้งของประทานอันศักดิ์สิทธิ์นี้”