บทที่ 1
งานอัศจรรย์และการอันน่าพิศวง
คำนำ
ตลอดประวัติศาสตร์ พระบิดาบนสวรรค์ทรงยุติช่วงเวลาของการละทิ้งความเชื่อโดยทรงเรียกศาสดาพยากรณ์ผู้ได้รับสิทธิอำนาจจากเบื้องบนให้ฟื้นฟูความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณและสถาปนาศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ โจเซฟ สมิธคือศาสดาพยากรณ์ท่านนี้ในสมัยการประทานของเรา การเข้าใจว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงนำผู้คนของพระองค์และทรงสถาปนาศาสนจักรของพระองค์ผ่านศาสดาพยากรณ์อย่างไรจะช่วยให้นักเรียนเกิดความซาบซึ้งยิ่งขึ้นต่อความจำเป็นของการฟื้นฟูและสามารถสอนผู้อื่นได้มากขึ้นเกี่ยวกับการฟื้นฟู
ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน
-
เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “ปาฏิหาริย์ของพระคัมภีร์ไบเบิลศักดิ์สิทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 100-104
-
กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “จุดสูงสุดแห่งยุค,” เลียโฮนา, ม.ค. 2000, 89-92
-
นีล เอ. แม็กซ์เวลล์, “From the Beginning,”Ensign, Nov. 1993, 18–20
-
สั่งสอนกิตติคุณของเรา: แนวทางการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา (2004), 31-36
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
อาโมส 8:11–12; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:5–10
การละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่และความจำเป็นของการฟื้นฟู
เริ่มบทเรียนโดยเขียนคำต่อไปนี้บน กระดาน
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง อาโมส 8:11-12 ขอให้นักเรียนคนอื่นๆ ดูตามและระบุว่า ข้อนี้ใช้คำ กันดาร เป็นสัญลักษณ์อย่างไร
-
อาโมสพยากรณ์ว่าจะเกิดความกันดารแบบใด (เขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดานใกล้กับคำว่า “กันดาร =”)
-
อาโมสพยากรณ์ว่าผู้คนจะทำอะไรเพราะความกันดารนี้
-
ท่านเคยเห็นหลักฐานอะไรในโลกที่ยืนยันว่ามีความกันดารในเรื่องของการได้ยิน “พระวจนะของพระยาห์เวห์” (อาโมส 8:11)
อธิบายว่าถึงแม้คำพยากรณ์ที่พบใน อาโมส 8:11-12 จะเกิดสัมฤทธิผลหลายครั้งตลอดประวัติศาสตร์ แต่สัมฤทธิผลสำคัญครั้งหนึ่งเรียกว่าการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียน การละทิ้งความเชื่อ รวมถึงการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่ ไว้ตรงช่องว่างริมหน้าพระคัมภีร์ใกล้กับ อาโมส 8:11-12
ให้ดูข้อความต่อไปนี้ และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ขอให้นักเรียนมองหาปัจจัยบางอย่างที่ส่งผลให้เกิดการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่
“หลังจากพระเยซูคริสต์สิ้นพระชนม์ คนชั่วข่มเหงอัครสาวกกับสมาชิกศาสนจักร และสังหารพวกเขาจนมีผู้เสียชีวิตมากมาย กุญแจฐานะปุโรหิตและอำนาจของฐานะปุโรหิตควบคุมถูกนำไปจากแผ่นดินโลกพร้อมกับการเสียชีวิตของอัครสาวก เดิมทีอัครสาวกเป็นผู้รักษาหลักคำสอนของพระกิตติคุณให้บริสุทธิ์ ธำรงระเบียบและมาตรฐานความมีค่าควรสำหรับสมาชิกศาสนจักร เมื่อไม่มีอัครสาวก หลักคำสอนจึงเสื่อมไปตามกาลเวลาและมีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ได้รับความเห็นชอบในองค์การศาสนจักรและศาสนพิธีฐานะปุโรหิต เช่น บัพติศมาและการประสาทของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์
“เมื่อไม่มีการเปิดเผยและสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต ผู้คนจึงอาศัยสติปัญญามนุษย์ตีความพระคัมภีร์ หลักธรรม และศาสนพิธีแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ สอนความคิดผิดๆ ให้เป็นความจริง ความรู้ส่วนใหญ่เกี่ยวกับพระอุปนิสัยและพระลักษณะที่แท้จริงของพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา พระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ และพระวิญญาณบริสุทธิ์สูญหายไป หลักคำสอนเรื่องศรัทธาในพระเยซูคริสต์ การกลับใจ บัพติศมา และของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ถูกบิดเบือนหรือไม่ก็ลืมเลือน สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตที่มอบให้อัครสาวกของพระคริสต์ไม่อยู่บนแผ่นดินโลกอีกต่อไป” (สั่งสอนกิตติคุณของเรา: แนวทางการรับใช้งานเผยแผ่ศาสนา [2004], 35)
-
ตามที่กล่าวไว้ในข้อความนี้ ปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลให้เกิดการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่
-
เหตุใดเราจึงจำเป็นต้องเข้าใจว่าการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่เกิดขึ้นจริง (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาพึงระบุหลักธรรมต่อไปนี้: การรู้ว่ามีการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่จะช่วยให้เรายอมรับความจำเป็นของการฟื้นฟูพระกิตติคุณ
อธิบายว่าระหว่างการละทิ้งความเชื่อช่วงนี้ พระบิดาบนสวรรค์ยังคงใช้อิทธิพลของพระองค์ในโลกผ่านแสงสว่างของพระคริสต์ ซึ่ง “ประทานให้มนุษย์ทุกคน” (โมโรไน 7:16) และผ่านอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นพยานว่าพระกิตติคุณเป็นความจริง (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “พระวิญญาณบริสุทธิ์,” scriptures.lds.org พระองค์ทรงดลใจชายหญิงในหลายวัฒนธรรมผู้แสวงหาความช่วยเหลือของพระองค์ในช่วงเวลานั้น นักปฏิรูปศาสนาคริสต์ อาทิ มาร์ติน ลูเธอร์ และวิลเลียม ทีนเดลพยายามช่วยชาวคริสต์ให้ดำเนินชีวิตใกล้เคียงอุดมคติที่พวกเขาพบในพระคัมภีร์ไบเบิล ความพยายามของนักปฏิรูป นักปรัชญา และแม้แต่รัฐบุรุษในยุโรปและอเมริกาเหนือทำให้ต้องเน้นย้ำเรื่องศักดิ์ศรีของมนุษย์และเสรีภาพทางศาสนามากขึ้นในหลายภูมิภาคของโลก แม้จะมีพัฒนาการสำคัญๆ เหล่านี้ แต่พระผู้เป็นเจ้ายังไม่ได้ฟื้นฟูศาสนจักรของพระองค์อย่างสมบูรณ์ (ดู สั่งสอนกิตติคุณของเรา, 45-46)
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910-2008) และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“สวรรค์ปิดอยู่นานหลายศตวรรษ ชายหญิงที่ดีจำนวนไม่น้อย—คนพิเศษและยิ่งใหญ่จริงๆ—พยายามแก้ไข เสริมสร้าง และปรับปรุงระบบการนมัสการตลอดจนหลักคำสอนของพวกเขา ข้าพเจ้าขอแสดงความเคารพยกย่องคนเหล่านี้ โลกนี้ดีขึ้นมากเพราะการกระทำที่องอาจของพวกเขา ถึงแม้ข้าพเจ้าเชื่อว่างานของพวกเขาเกิดจากการดลใจ แต่งานนั้นไม่ได้มาพร้อมการเปิดสวรรค์ ไม่ได้มาพร้อมการปรากฏของพระผู้เป็นเจ้า” (ดู “รากฐานอันอัศจรรย์แห่งศรัทธาของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2002, 99)
เตือนนักเรียนว่าในปี 1820 เด็กหนุ่มโจเซฟ สมิธกำลังค้นหาศาสนจักรที่แท้จริงแต่หาไม่พบ เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:5–10 ในใจโดยมองหาวลีที่พูดถึงสิ่งท้าทายอันมีสาเหตุจากการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่
-
โจเซฟ สมิธใช้วลีใดกล่าวถึงความท้าทายทางวิญญาณในสมัยของท่าน
-
โจเซฟอธิบายความรู้สึกที่เกิดขึ้นเนื่องจากความวุ่นวายทางศาสนารอบตัวท่านว่าอย่างไร
เตือนความจำของนักเรียนว่าการค้นหาความจริงของโจเซฟ สมิธส่งผลให้เกิดนิมิตแรกและการเรียกท่านเป็นศาสดาพยากรณ์ (จะพูดถึงเรื่องเหล่านี้ในบทต่อไป) ชี้ให้เห็นว่าการเรียกศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและการฟื้นฟูพระกิตติคุณเป็นไปตามรูปแบบที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดไว้ซึ่งเกิดซ้ำหลายครั้งตลอดประวัติศาสตร์ ตัวอย่างเช่น การเรียกเอโนค (ดู โมเสส 6:26-32) และการเรียกโนอาห์ (ดู โมเสส 8:17-20) เป็นไปตามรูปแบบนี้ ให้ดูคำอธิบายต่อไปนี้เกี่ยวกับรูปแบบดังกล่าว และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“ประวัติศาสตร์สมัยพระคัมภีร์ไบเบิลบันทึกตัวอย่างมากมายที่พระผู้เป็นเจ้าตรัสกับศาสดาพยากรณ์ อีกทั้งมีตัวอย่างมากมายของการละทิ้งความเชื่อด้วย เพื่อยุติการละทิ้งความเชื่อทั่วไปในแต่ละช่วง พระผู้เป็นเจ้าทรงแสดงความรักต่อบุตรธิดาของพระองค์โดยทรงเรียกศาสดาพยากรณ์อีกคนหนึ่งและมอบสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตให้เขาฟื้นฟูและสอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์อีกครั้ง โดยนัยสำคัญ ศาสดาพยากรณ์ทำหน้าที่เหมือนพ่อบ้านดูแลคนในครอบครัวของพระผู้เป็นเจ้าที่นี่บนแผ่นดินโลก ช่วงที่มีศาสดาพยากรณ์เป็นผู้นำนั้นเราเรียกว่าสมัยการประทาน” (สั่งสอนกิตติคุณของเรา, 33; ดู Bible Dictionary, “Dispensations”ด้วย)
-
การฟื้นฟูพระกิตติคุณผ่านโจเซฟ สมิธเป็นไปตามรูปแบบที่เห็นในสมัยการประทานก่อนๆ อย่างไร (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาพึงระบุหลักคำสอนต่อไปนี้ หลังจากช่วงเวลาของการละทิ้งความเชื่อทั่วไป พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกศาสดาพยากรณ์และประทานสิทธิอำนาจให้พวกท่านฟื้นฟูและสอนพระกิตติคุณอีกครั้ง นักเรียนควรเข้าใจหลักคำสอนนี้เช่นกัน โจเซฟ สมิธได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้าให้ฟื้นฟูพระกิตติคุณสำหรับสมัยการประทานของเรา)
-
การเข้าใจรูปแบบนี้จะช่วยท่านอธิบายการฟื้นฟูพระกิตติคุณกับคนที่นับถือศาสนาอื่นได้อย่างไร
เน้นว่าในนิมิตแรก โจเซฟ สมิธเรียนรู้ว่าไม่มีศาสนจักรที่แท้จริงอยู่บนแผ่นดินโลกและจำเป็นต้องฟื้นฟูความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณของพระคริสต์ ถึงแม้พระคัมภีร์ไบเบิลประกอบด้วยคำพยากรณ์เกี่ยวกับการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่ แต่หลักฐานสำคัญที่สุดที่ยืนยันว่าการละทิ้งความเชื่อครั้งนี้เกิดขึ้นคือข้อเท็จจริงที่ว่าโจเซฟ สมิธได้รับเรียกให้เป็นศาสดาพยากรณ์และความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณได้รับการฟื้นฟู
2 นีไฟ 27:25-26; หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:12-30
การฟื้นฟูพระกิตติคุณคือ “งานอัศจรรย์และการอันน่าพิศวง”
อธิบายว่าพระคัมภีร์บอกเหตุผลบางประการที่พระเจ้าทรงฟื้นฟูพระกิตติคุณบนแผ่นดินโลกในยุคสุดท้าย
เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่านคำพยากรณ์ของอิสยาห์ในใจเกี่ยวกับการฟื้นฟูที่พบใน 2 นีไฟ 27:25-26โดยมองหาคำอธิบายของพระเจ้าเกี่ยวกับสภาพทางวิญญาณของโลก ณ เวลาของการฟื้นฟู ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำและวลีที่พูดถึงสภาพทางวิญญาณเหล่านี้ (หมายเหตุ: วิธีหนึ่งที่จะช่วยนักเรียนได้มากที่สุดให้สนใจและจดจำสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากพระคัมภีร์คือทำเครื่องหมายคำและวลีสำคัญๆ) หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบ
-
ท่านคิดว่าเหตุใดจึงเรียกการฟื้นฟูพระกิตติคุณว่า “งานอัศจรรย์และการอันน่าพิศวง”
-
ท่านพบว่าอะไร “อัศจรรย์” และ “น่าพิศวง” เกี่ยวกับการฟื้นฟู (ขณะที่นักเรียนตอบ ชี้ให้เห็นว่าการฟื้นฟูพระกิตติคุณเสมือนหนึ่ง “งานอัศจรรย์และการอันน่าพิศวง” เป็นตัวอย่างของสาระสำคัญที่หยิบยกมากล่าวหลายครั้งในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา “สาระสำคัญคือเนื้อหาหรือแนวคิดหลักๆ ที่สอดคล้องกันและหยิบยกมากล่าวหลายครั้ง” [David A. Bednar, “A Reservoir of Living Water” (Brigham Young University fireside, Feb. 4, 2007), 6, speeches.byu.edu].)
เชิญนักเรียนครึ่งชั้นศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:12-17โดยมองหาเหตุผลที่พระเจ้าทรงทำให้เกิดการฟื้นฟูพระกิตติคุณ เชิญนักเรียนอีกครึ่งชั้นศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:18-30โดยมองหาด้านต่างๆ ที่การฟื้นฟูพระกิตติคุณจะเป็นพรแก่บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า (หมายเหตุ: เราจะศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:30 ละเอียดขึ้นในบทที่ 6)
หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบ นักเรียนพึงเข้าใจความจริงต่อไปนี้: การฟื้นฟูพระกิตติคุณช่วยให้คนที่เชื่อในพระคริสต์เพิ่มพูนศรัทธาและเอาชนะภัยพิบัติของวันเวลาสุดท้าย
อ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ (1805-1844)
“[บรรดาศาสดาพยากรณ์] ตั้งตาคอยวันที่เราจะมีชีวิตอยู่ด้วยความคาดหวังอันเปี่ยมปีติ พวกท่านร้องเพลง เขียน และพยากรณ์ถึงยุคสมัยของเราโดยได้รับแรงบันดาลใจจากความคาดหวังอันเปี่ยมปีติและล้ำเลิศ” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 199)
-
เหตุใดศาสดาพยากรณ์ในอดีตจึงตั้งตาคอยวันของเรา (แนวคิดหนึ่งที่นักเรียนอาจจะระบุคือ การฟื้นฟูจะกระจายไปทั่วแผ่นดินโลกและเตรียมโลกให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์)
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ และขอให้นักเรียนหลายคนผลัดกันอ่านออกเสียง
“พี่น้องชายหญิงทั้งหลาย ท่านสำนึกในสิ่งที่เรามีหรือไม่ ท่านรู้ถึงฐานะของเราในละครฉากใหญ่ของประวัติศาสตร์มนุษย์หรือไม่ นี่คือจุดรวมแสงของทุกสิ่งที่ผ่านพ้นไปก่อนหน้านี้ …
“… งานยุคสุดท้ายของพระผู้ทรงฤทธานุภาพ งานซึ่งพูดไว้แต่โบราณ งานซึ่งศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกพยากรณ์ไว้มาถึง งานนั้นอยู่ที่นี่ ด้วยเหตุผลบางประการที่เราไม่รู้ แต่ในพระปรีชาญาณของพระผู้เป็นเจ้า เราได้รับสิทธิพิเศษให้มายังแผ่นดินโลกในยุคอันรุ่งโรจน์นี้ …
“เนื่องด้วยสิ่งที่เรามีและสิ่งที่เรารู้ เราจึงควรเป็นคนดีกว่าที่เราเป็น เราควรเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น ให้อภัยมากขึ้น ช่วยเหลือและใส่ใจทุกคนที่อยู่รอบข้างเรามากขึ้น
“เรายืนตรงจุดสูงสุดแห่งยุค สำนึกอันสูงส่งและทรงเกียรติของประวัติศาสตร์ทำให้ประหวั่นพรั่นพรึง นี่เป็นสมัยการประทานสุดท้ายซึ่งทั้งหมดในอดีตได้ชี้ให้เห็น ข้าพเจ้าแสดงประจักษ์พยานและเป็นพยานถึงความเป็นจริงและความจริงของเรื่องเหล่านี้” (“จุดสูงสุดแห่งยุค,” เลียโฮนา, ม.ค. 2000, 91-92)
-
ข้อความที่ว่า “เรายืนตรงจุดสูงสุดแห่งยุค” ปลุกเร้าให้เกิดความคิดและความรู้สึกอะไรบ้างในตัวท่าน
-
ถ้าไม่เป็นส่วนตัวมากเกินไป ให้แบ่งปันประสบการณ์จากชีวิตท่านที่ได้เสริมสร้างประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์
-
เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแสดงความสำนึกคุณต่อการฟื้นฟูพระกิตติคุณ
สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน
-
อิสยาห์ 29:13–14; อาโมส 8:11–12; 2 นีไฟ 27:1–5, 25–26; หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:12–30; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:5–10
-
กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “จุดสูงสุดแห่งยุค,” เลียโฮนา, ม.ค. 2000, 89-92