คลังค้นคว้า
บทที่ 15: ความเข้มแข็งท่ามกลางการต่อต้าน


บทที่ 15

ความเข้มแข็งท่ามกลางการต่อต้าน

คำนำ

ในช่วง ปี 1837 ถึง 1838 วิญญาณของการจับผิด ความขัดแย้ง และการละทิ้งความเชื่อแพร่ไปในหมู่ผู้นำและสมาชิกบางคนของศาสนจักรในเมืองเคิร์ทแลนด์ รัฐโอไฮโอและทางภาคเหนือของรัฐมิสซูรี ปัญหารุนแรงขึ้นเมื่อมีบางคนออกมาต่อต้านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอย่างเปิดเผย จากประสบการณ์ของวิสุทธิชนสมัยเริ่มแรก เราเรียนรู้ได้ว่าขณะเผชิญการต่อต้าน เราได้รับความเข้มแข็งทางวิญญาณเมื่อเราดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมและสนับสนุนผู้รับใช้ของพระเจ้า

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 112:10–15

การละทิ้งความเชื่อในเมืองเคิร์ทแลนด์ รัฐโอไฮโอ

เขียนคำต่อไปนี้บนกระดาน: โกรธ ขุ่นเคือง อิจฉา เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาอาจเคยประสบความรู้สึกเหล่านี้

ให้ดูเรื่องราวต่อไปนี้และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ขอให้นักเรียนระบุสถานการณ์ที่ทำให้โธมัส บี. มาร์ชประสบความรู้สึกตามที่เขียนไว้บนกระดาน

ไม่นานหลังจากโธมัส บี. มาร์ชได้รับเรียกให้เป็นอัครสาวกในปี 1835 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นประธานโควรัมอัครสาวกสิบสอง ในฤดูใบไม้ผลิ ปี 1837 ประธานมาร์ชทราบว่าเอ็ลเดอร์พาร์ลีย์ พี. แพรทท์ อัครสาวกสิบสองคนหนึ่งกำลังวางแผนจะไปทำงานเผยแผ่ที่ประเทศอังกฤษโดยไม่ได้รับคำสั่งจากประธานมาร์ช ประธานมาร์ชอยู่ในรัฐมิสซูรี เขาเขียนจดหมายถึงเอ็ลเดอร์แพรทท์กับสมาชิกอัครสาวกสิบสองคนอื่นๆ และเชิญพวกเขามาพบในเมืองเคิร์ทแลนด์ รัฐโอไฮโอ วันที่ 24 กรกฎาคม ปี 1837 เพื่อให้พวกเขาเป็นหนึ่งเดียวกันในแผนงานเผยแผ่ของพวกเขา อย่างไรก็ดี หนึ่งเดือนก่อนการประชุมนั้น สมาชิกอัครสาวกสิบสองอีกสองคนคือเอ็ลเดอร์ฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์ และเอ็ลเดอร์ออร์สัน ไฮด์เดินทางไปประเทศอังกฤษแล้วหลังจากได้รับหมายเรียกเป็นผู้สอนศาสนาจากศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ ประธานมาร์ชไม่พอใจอย่างเห็นได้ชัดที่สมาชิกอัครสาวกสิบสองดำเนินการสั่งสอนพระกิตติคุณในประเทศอังกฤษโดยที่ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

  • ในสถานการณ์นี้ ประธานมาร์ชจะทำอะไรได้บ้างเพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกตามที่เขียนไว้บนกระดาน

  • อะไรคืออันตรายของการยอมให้ความรู้สึกเช่นนั้นครอบงำความนึกคิดและการกระทำของเรา (ชี้ให้นักเรียนเห็นว่าความรู้สึกเช่นนั้นทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงขุ่นเคืองและมักจะชักนำให้ทำบาปร้ายแรงขึ้น)

ขอให้นักเรียนอ่านข้อความต่อไปนี้

ประธานมาร์ชบอกข้อกังวลของตนกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและขอคำแนะนำ พระเจ้าทรงตอบโดยประทานการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 112

ในเดือนกรกฎาคม ปี 1837 เมื่อพระเจ้าประทานการเปิดเผยนี้ ศาสนจักรกำลังประสบความแตกแยก ความขัดแย้ง และการละทิ้งความเชื่อ ความจองหองและความละโมบชักนำสมาชิกบางคนของศาสนจักรให้วิพากษ์วิจารณ์ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอย่างเปิดเผยและสงสัยสิทธิอำนาจของท่าน สมาชิกศาสนจักรบางคน รวมทั้งบางคนในโควรัมอัครสาวกสิบสอง ถึงกับพยายามถอดถอนโจเซฟ สมิธจากการเป็นประธานศาสนจักร

  • ความรู้สึกอะไรชักนำให้สมาชิกบางคนของศาสนจักรไม่สนใจใยดีประจักษ์พยานของตนเกี่ยวกับความจริงและต่อต้านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอย่างเปิดเผยง

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 112:10–12, 15 โดยมองหาคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่ประธานมาร์ชและสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองคนอื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้สมาชิกศาสนจักรหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำของพวกเขา

ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ จากนั้นให้ถามว่า

  • คำแนะนำในข้อเหล่านี้จะช่วยให้สมาชิกศาสนจักรหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำศาสนจักรได้อย่างไร (ขณะนักเรียนแบ่งปันคำตอบ จงช่วยให้พวกเขาเข้าใจหลักธรรมต่อไปนี้: ถ้าเราอ่อนน้อมถ่อมตน พระเจ้าจะทรงนำเราและประทานคำตอบการสวดอ้อนวอนของเรา พระเจ้าทรงเรียกร้องให้เราสนับสนุนผู้นำเหล่านั้นที่ถือกุญแจเพื่อเป็นประธานควบคุมศาสนจักร ท่านอาจเสนอแนะให้นักเรียนทำข้ออ้างโยง ข้อ 15 กับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:35–38 ท่านอาจชี้ให้เห็นเช่นกันว่าคำแนะนำที่ให้เตือนสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองนั้นประทานให้ประธานโควรัมอัคสาวกสิบสองและไม่ประยุกต์ใช้กับสมาชิกศาสนจักร)

เอกสารแจก ยังคงเข้มแข็ง

handout iconจัดเตรียมสำเนา เอกสารแจก ที่อยู่ท้ายบทนี้ให้นักเรียนแต่ละคน ท่านอาจแบ่งชั้นเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ และเชื้อเชิญแต่ละกลุ่มให้อ่านด้วยกันในหัวข้อเรื่อง “การละทิ้งความเชื่อในเคิร์ทแลนด์: ความจำเป็นของการทำตามผู้นำศาสนจักรอย่างซื่อสัตย์” ขอให้นักเรียนสนทนาคำถามท้ายหัวข้อภายในกลุ่มของตน

ท่านอาจสรุปบทเรียนส่วนนี้โดยให้นักเรียนดูและสนทนาคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์ (1801–1868) แห่งฝ่ายประธานสูงสุด

ประธานฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์

“ข้าพเจ้าจะให้กุญแจท่านดอกหนึ่งซึ่งบราเดอร์โจเซฟ สมิธเคยให้ในนอวู ท่านกล่าวว่าก้าวหนึ่งของการละทิ้งความเชื่อเริ่มจากความไม่ไว้วางใจผู้นำของศาสนจักรและอาณาจักรนี้ และเมื่อใดก็ตามที่ท่านสังเกตเห็นวิญญาณนั้นขอให้ท่านรู้ว่าวิญญาณดังกล่าวจะนำผู้ครอบครองไปบนถนนสู่การละทิ้งความเชื่อ” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 343)

เพื่อเน้นความสำคัญของการทำตามศาสดาพยากรณ์และผู้นำศาสนจักรท่านอื่นอย่างซื่อสัตย์ ให้อ่านประสบการณ์ต่อไปนี้จากชีวิตของบริคัม ยังก์ (1801–1877) ผู้เป็นสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองเวลานั้น

ประธานบริคัม ยังก์

“ขณะอยู่ในเคิร์ทแลนด์ ประธานบริคัม ยังก์พบกลุ่มละทิ้งความเชื่อกลุ่มหนึ่งกำลังวางแผนทำร้ายศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธภายในกำแพงพระวิหารนั่นเอง ท่านประกาศว่า ‘ข้าพเจ้ายืนขึ้นและพูดในท่าทีที่สงบแต่ทรงพลังว่าโจเซฟคือศาสดาพยากรณ์ ข้าพเจ้ารู้เช่นนั้น และข้าพเจ้าบอกว่าพวกเขาอาจตำหนิและใส่ร้ายป้ายสีท่านเท่าที่พวกเขาพอใจ แต่พวกเขาจะล้มเลิกข้อเท็จจริงที่ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงแต่งตั้งโจเซฟเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ไม่ได้ พวกเขาทำได้แต่เพียงทำลายอำนาจของตัวเอง ตัดพันธนาการที่ผูกมัดพวกเขากับศาสดาพยากรณ์และพระผู้เป็นเจ้าออก และทำให้ตัวเองจมดิ่งในนรก’” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: บริคัม ยัง [1997], 91)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:1–10, 16–17; 122:1–9

การต่อต้านทางภาคเหนือของมิสซูรี

ท่านอาจให้นักเรียนยังอยู่เป็นกลุ่มเล็กและเชิญแต่ละกลุ่มอ่านหัวข้อที่สองของเอกสารแจกเรื่อง “ความขัดแย้งทางภาคเหนือของมิสซูรี: ฝึกอดทนด้วยดีต่อการต่อต้าน อธิบายว่าหัวข้อนี้พูดถึงการกระทำบางอย่างที่ทำให้วิสุทธิชนถูกขับไล่จากทางภาคเหนือของมิสซูรีและท่านศาสดาพยากรณ์ถูกขังในคุกลิเบอร์ตี้ ขอให้นักเรียนสนทนาคำถามท้ายหัวข้อนี้ภายในกลุ่มของตน

หลังจากนักเรียนทำทั้งหมดแล้ว ให้อธิบายว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 121–123 มีชุดข้อมูลจากจดหมายที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเขียนถึงวิสุทธิชนเมื่อใกล้สิ้นสุดการคุมขังในคุกลิเบอร์ตี้

ขอให้นักเรียนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:1–6 ขอให้นักเรียนมองหาคำถามที่ศาสดาพยากรณ์ทูลถามพระเจ้า

  • ท่านพบคำถามอะไรบ้าง

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:7–10, 16–17; 122:7–9 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตามและคิดว่าพระดำรัสตอบคำวิงวอนของโจเซฟ สมิธอาจทำให้โจเซฟมีพลังเผชิญการต่อต้านอย่างต่อเนื่องจากศัตรูอย่างไร

ขอให้นักเรียนบอกหลักคำสอนและหลักธรรมที่พวกเขาเรียนรู้จากข้อที่อ่าน (คำตอบอาจได้แก่ ถ้าเราอดทนด้วยดีต่อการต่อต้านในความเป็นมรรตัย พระผู้เป็นเจ้าจะทรงอวยพรเราเวลานี้และในนิรันดร คนที่กล่าวหาผู้รับใช้ของพระเจ้าคนนั้นเป็นผู้รับใช้ของบาป เราจะเข้มแข็งขึ้นได้ในการทดลองเมื่อเราพึ่งพาการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดและจดจำแบบอย่างความอดทนอย่างซื่อสัตย์ของพระองค์)

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น

“โดยนิยามแล้ว การทดลองจะยากลำบาก อาจจะมีความรวดร้าว ความสับสน ค่ำคืนที่หลับไม่ลง และหมอนเปียกชุ่มด้วยน้ำตา แต่การทดลองของเราไม่จำเป็นต้องถึงตายทางวิญญาณ ไม่จำเป็นต้องนำเราออกจากพันธสัญญาของเราหรือจากครอบครัวของพระผู้เป็นเจ้า …

“เช่นเดียวกับไฟร้อนแรงที่เปลี่ยนเหล็กเป็นเหล็กกล้า เมื่อเรายังคงซื่อสัตย์ระหว่างการทดลองศรัทธาอันแสนสาหัส ของเรา เราจะได้รับความเข้มแข็งและการขัดเกลาทางวิญญาณ” (“การทดลองศรัทธาของท่าน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 41–42)

เชื้อเชิญให้นักเรียนตรึกตรองว่าพวกเขาได้ทำอะไรหรือจะทำอะไรเพื่อจดจำว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถทำให้พวกเขาเข้มแข็งได้เมื่อพวกเขาประสบกับการทดลองหรือการต่อต้านศรัทธาของพวกเขา ให้เวลานักเรียนแบ่งปันประสบการณ์หรือความคิดเกี่ยวกับการพึ่งพาพระผู้เป็นเจ้าในยามยากลำบาก

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน

ยังคงเข้มแข็งในช่วงเวลาของการต่อต้าน

รากฐานของการฟื้นฟู—บทที่ 15

การละทิ้งความเชื่อในเคิร์ทแลนด์: ความจำเป็นของการทำตามผู้นำศาสนจักรอย่างซื่อสัตย์

คริสต์ศักราช 1837 วิสุทธิชนในเมืองเคิร์ทแลนด์ รัฐโอไฮโอประสบปัญหาการเงินบางอย่าง เพื่อช่วยให้วิสุทธิชนพึ่งพาตนเองมากขึ้นในเรื่องเงิน โจเซฟ สมิธและผู้นำศาสนจักรท่านอื่นจึงตั้งบริษัทคล้ายกับธนาคารและเรียกว่า Kirtland Safety Society เพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแพร่ไปทั่วในช่วงเวลานี้ ธนาคารหลายแห่งทั่วสหรัฐจึงล้มละลาย Kirtland Safety Society ล้มละลายในฤดูใบไม้ร่วงปี 1837 เช่นกัน นักลงทุนสองร้อยคนในธนาคารสูญเสียเกือบหมดตัวและโจเซฟ สมิธสูญเสียมากที่สุด ถึงแม้ Kirtland Safety Society ไม่ได้ใช้เงินทุนของศาสนจักรแต่วิสุทธิชนบางคนถือว่าเป็นธนาคารของศาสนจักรหรือของท่านศาสดาพยากรณ์และตำหนิโจเซฟ สมิธเพราะปัญหาการเงินของพวกเขา บางคนถึงกับเริ่มเรียกท่านว่าเป็นศาสดาพยากรณ์ที่ล้มเหลว ถึงแม้ธนาคารล้มละลาย แต่อีกหลายคนที่สูญเงินยังคงมีศรัทธาและเชื่อถือท่านศาสดาพยากรณ์

วิญญาณของการละทิ้งความเชื่อและการจับผิดเริ่มแพร่ไปในหมู่วิสุทธิชนจำนวนมาก ราวเดือนมิถุนายน ปี 1838 ผู้ละทิ้งความเชื่อประมาณ 200 ถึง 300 คนออกจากศาสนจักร รวมทั้งอัครสาวกสี่คน พยานสามคนของพระคัมภีร์มอรมอน และสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุด อย่างไรก็ตาม วิสุทธิชนส่วนใหญ่ตอบสนองการทดสอบช่วงนี้ด้วยศรัทธามากเช่นเดียวกับบริคัม ยังก์ พระเจ้าทรงทำให้พวกเขาเข้มแข็ง และพวกเขายังคงแน่วแน่ต่อประจักษ์พยานของตน หลายคนที่ออกจากศาสนจักรในช่วงการละทิ้งความเชื่อครั้งนี้ได้กลับมาและขอเป็นหนึ่งเดียวกับศาสนจักรของพระเจ้าอีกครั้ง ออลิเวอร์ คาวเดอรี, มาร์ติน แฮร์ริส, ลูค จอห์นสัน และเฟรเดอริค จี. วิลเลียมส์อยู่ในกลุ่มนั้นด้วย

ระหว่างการดิ้นรนเหล่านี้ในเมืองเคิร์ทแลนด์ ผู้ละทิ้งความเชื่อบางคนพยายามสังหารโจเซฟ สมิธ พระวิญญาณทรงเตือนท่านกับซิดนีย์ ริกดันให้ไปจากที่นั่นช่วงกลางคืนของวันที่ 12 มกราคม ปี 1838 ศัตรูของพวกท่านตามจับพวกท่านหลายวัน แต่พระเจ้าทรงคุ้มครองพวกท่าน พวกท่านมาถึงเมืองฟาร์เวสต์ รัฐมิสซูรีพร้อมครอบครัววันที่ 14 มีนาคม ปี 1838

สนทนาคำถามต่อไปนี้เป็นกลุ่ม

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรได้บ้างจากเหตุการณ์เหล่านี้เกี่ยวกับวิธีตอบสนองการต่อต้านในชีวิตเรา เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเหตุการณ์เหล่านี้เกี่ยวกับวิธีตอบสนองการต่อต้านศาสนจักร

  • เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อจะยังซื่อสัตย์ต่อผู้นำศาสนจักรถึงแม้จะได้ยินคนอื่นๆ วิพากษ์วิจารณ์พวกท่านก็ตาม

  • ท่านได้รับพรในด้านใดบ้างเพราะท่านทำตามศาสดาพยากรณ์

ความขัดแย้งทางภาคเหนือของรัฐมิสซูรี: ฝึกอดทนด้วยดีต่อการต่อต้าน

ปี 1837 และ 1838 สมาชิกบางคนที่ถูกปัพพาชนียกรรมและไม่พอใจศาสนจักร คนเหล่านี้พำนักอยู่ในหมู่วิสุทธิชนในฟาร์เวสต์เริ่มฟ้องร้องศาสนจักรกับผู้นำและก่อกวนศาสนจักร ในเดือนมิถุนายน ปี 1838 ซิดนีย์ ริกดันพูดอย่างเผ็ดร้อนในโอวาทซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อว่า “โอวาทเรื่องเกลือ” เขาอ้าง มัทธิว 5:13 และกล่าวว่าถ้าเกลือหมดรสเค็ม ย่อมไม่มีประโยชน์และควรทิ้งเสีย โดยบอกเป็นนัยว่าคนที่ออกจากศาสนจักรควรถูกขับออกจากบรรดาวิสุทธิชน สองสัปดาห์ต่อมา วันที่ 4 กรกฎาคม ซิดนีย์ ริกดันกล่าวสุนทรพจน์ซึ่งเขาสัญญาว่าวิสุทธิชนจะปกป้องตนเองแม้ต้องทำ “สงครามของการขุดรากถอนโคน” ก็ตาม ถึงแม้สุนทรพจน์ทั้งสองดูเหมือนจะขัดกับพระดำรัสแนะนำของพระเจ้าให้ “วิงวอนขอสันติภาพ” (คพ. 105:38) แต่สุนทรพจน์ทั้งสองได้รับการตีพิมพ์และทำให้คนที่ไม่ใช่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายหวาดกลัวมาก

ในช่วงนี้ ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสคนหนึ่งชื่อแซมพ์สัน อวาร์ดให้คนที่จะร่วมตั้งกองโจรปล้นสะดมกับเขาที่เรียกว่าพวกดาไนท์ทำการสาบานลับ อวาร์ดสั่งให้คนเหล่านั้นแย่งชิงและปล้นสะดมชาวมิสซูรี โดยบอกว่าการกระทำนี้จะช่วยเสริมสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า อวาร์ดทำให้ผู้ติดตามเขาเชื่อว่าคำสั่งของเขามาจากฝ่ายประธานสูงสุด ความจริงถูกเปิดเผยในเวลาต่อมา และอวาร์ดถูกปัพพาชนียกรรม การกระทำของอวาร์ดก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อภาพลักษณ์ของศาสนจักรและมีส่วนทำให้ท่านศาสดาพยากรณ์ถูกคุมขังในคุกลิเบอร์ตี้

ในเดือนตุลาคม ปี 1838 การสู้รบระหว่างสมาชิกศาสนจักรบางคนกับทหารอาสาของมิสซูรีทำให้แต่ละฝ่ายมีคนเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง รายงานเกินจริงเกี่ยวกับการสู้รบรู้ไปถึงผู้ว่าการลิลเบิร์น ดับเบิลยู. บ็อกส์ ผู้ว่าการรัฐมิสซูรี ซึ่งออกคำสั่งต่อจากนั้นเรียกว่าคำสั่งขุดรากถอนโคน นั่นคือ “พวกมอรมอนต้องได้รับการปฏิบัติเยี่ยงศัตรูและ ต้องถูกขุดรากถอนโคน หรือถูกขับไล่ออกจากรัฐเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนหากจำเป็น” (อ้างใน History of the Church, 3:175) ไม่นานทหารอาสาซึ่งมีจำนวนมากกว่ากองกำลังวิสุทธิชนห้าเท่าก็ล้อมเมืองฟาร์เวสต์ โจเซฟ สมิธและผู้นำศาสนจักรท่านอื่นถูกจับกุมคุมขังในคุกลิเบอร์ตี้ พวกท่านอยู่ที่นั่นตลอดฤดูหนาว วิสุทธิชนที่เหลือถูกบังคับให้ออกจากรัฐ

สนทนาคำถามต่อไปนี้เป็นกลุ่ม

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรได้บ้างจากเหตุการณ์เหล่านี้เพื่อช่วยให้เราอดทนต่อการต่อต้านได้ดีขึ้น

  • เหตุใดจึงสำคัญที่เราแต่ละคนต้องทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในยามเกิดวิกฤตหรือการต่อต้าน เกิดอะไรขึ้นทางภาคเหนือของมิสซูรีเพราะวิสุทธิชนบางคนไม่อดทน

  • ท่านเคยเห็นคำพูดหรือการกระทำของอีกคนหนึ่งส่งผลให้บางคนมีทัศนะในทางบวกต่อศาสนจักรเมื่อใด