บทที่ 7
ประกาศพระกิตติคุณอันเป็นนิจ
คำนำ
พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาประกอบด้วยการเปิดเผยจากพระเจ้าต่อสมาชิกศาสนจักรบางคน ผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ โดยบัญชาสมาชิกให้ประกาศการกลับใจและรวบรวมผู้ที่พระองค์ทรงเลือกไว้ ศาสนจักรเติบโตอย่างรวดเร็วเมื่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเรียกผู้สอนศาสนาและพวกเขากลายเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระเจ้า สมาชิกศาสนจักรปัจจุบันได้รับพรจากงานเผยแผ่ศาสนาเมื่อพวกเขายอมรับและทำหน้าที่รับผิดชอบของตนให้เกิดสัมฤทธิผลในการช่วยแบ่งปันพระกิตติคุณ
ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน
-
นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “นี่คือปาฏิหาริย์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 77-80
-
แอล. ทอม เพอร์รีย์, “นำจิตวิญญาณมาหาเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 133–136
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา 29:4–7; 33:2–7
พระเจ้าทรงเรียกผู้รับใช้ให้ช่วยรวบรวมบุตรธิดาของพระองค์
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910-2008) และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“งานเผยแผ่ศาสนาเป็นโลหิตหล่อเลี้ยงชีวิตของศาสนจักร ศาสนจักรเติบโตด้วยวิธีสำคัญดังกล่าว เพราะงานนี้ศาสนจักรจึงมีจำนวนสมาชิกเท่าปัจจุบัน” (ดู “การรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา,” การประชุมอบรมผู้นำทั่วโลกครั้งที่หนึ่ง, 11 ม.ค. 2003, 21)
-
ในความคิดเห็นของท่าน งานเผยแผ่ศาสนาจะเป็น “โลหิตหล่อเลี้ยงชีวิตของศาสนจักร” ในด้านใดได้บ้าง
อธิบายว่าช่วงแรกในการฟื้นฟูมักมีคนขอให้ท่านศาสดาพยากรณ์แสวงหาการเปิดเผยแทนพวกเขาเพื่อช่วยให้พวกเขารู้ว่าจะมีส่วนช่วยงานของพระเจ้าได้อย่างไร บางครั้งท่านได้รับการเปิดเผยเหล่านี้สำหรับคนเดียวและบางครั้งสำหรับหลายคน อธิบายว่า พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา 33 เป็นตัวอย่างของการเปิดเผยที่ได้รับแทนสองคนคือ เอซรา เธเยอร์ (หรือ ธายร์) และนอร์ธรอพ สวีท
เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจากพระคัมภีร์ หลักคำสอนและพันธสัญญา 33:2-7 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตาม โดยมองหาคำ วลี หรือสัญลักษณ์ที่พระเจ้าทรงใช้ซึ่งประยุกต์ใช้ได้กับบทบาทของเราในงานเผยแผ่ศาสนาและเน้นความสำคัญของการประกาศพระกิตติคุณในยุคสุดท้าย
-
พระเจ้าทรงใช้สัญลักษณ์อะไร (ขณะที่นักเรียนตอบ ท่านอาจต้องการเขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดาน)
-
สัญลักษณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นบทบาทของเราในงานเผยแผ่ศาสนาและเน้นความสำคัญของการประกาศพระกิตติคุณอย่างไร
เชื้อเชิญนักเรียนให้ศึกษา ข้อ 6 อย่างละเอียดและระบุว่าเกิดความสำเร็จอะไรเมื่อเราประกาศพระกิตติคุณต่อผู้อื่น จากนั้นขอให้พวกเขากล่าวถึงสิ่งที่พบด้วยคำพูดของพวกเขาเอง (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้ เมื่อเราประกาศพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ต่อผู้อื่น เราช่วยรวบรวมผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกไว้) ท่านอาจต้องการเล่าว่าหลังจากการเปิดเผยนี้ เอซรา เธเยอร์ “ทำให้โรงนาของเขาเต็ม” ไปด้วยคนที่มาฟังโจเซฟ สมิธและคนอื่นๆ สั่งสอนพระกิตติคุณ [Documents, Volume 1: July 1828–June 1831, vol. 1 of the Documents series of The Joseph Smith Papers (2013), 206])
แบ่งปันนิยามต่อไปนี้ของการรวบรวมอิสราเอลโดยเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี (1915-1985) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกับนักเรียน
“การรวบรวมอิสราเอลประกอบด้วยการเชื่อ ยอมรับ และดำเนินชีวิตสอดคล้องกับทั้งหมดที่พระเจ้าทรงมอบให้คนที่พระองค์ทรงเลือกไว้ในสมัยโบราณ … ประกอบด้วยการเชื่อพระกิตติคุณ เข้าร่วมศาสนจักร และเข้ามาในอาณาจักร” (A New Witness for the Articles of Faith [1985], 515)
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเรื่องราวต่อไปนี้เกี่ยวกับผู้สอนศาสนารุ่นแรกบางคนที่ได้รับเรียกหลังจากการจัดตั้งศาสนจักร ขอให้ชั้นเรียนฟังว่าผู้สอนศาสนารุ่นแรกเหล่านี้ประสบความสำเร็จอย่างไรในการรวบรวมบางคนที่พระเจ้าทรงเลือกไว้
[ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1830] พระเจ้าทรงเปิดเผยต่อโจเซฟ สมิธว่าออลิเวอร์ คาวเดอรี, ปีเตอร์วิตเมอร์ จูเนียร์, พาร์ลีย์ พี. แพรทท์, และไซบา ปีเตอร์สันต้อง ‘ไปยังชาวเลมันและสั่งสอนกิตติคุณของเราแก่พวกเขา’ (คพ. 28:8; 30:5–6; 32:1–3) ผู้สอนศาสนาเหล่านี้เดินทางประมาณ 2,400 กิโลเมตรไปสั่งสอนชาวอินเดียนแดงเผ่าต่างๆ ช่วงสั้นๆ … อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จสูงสุดของผู้สอนศาสนากลุ่มนี้เกิดขึ้นเมื่อพวกเขาแวะเขตเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอ ที่นั่นพวกเขาให้บัพติศมาผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสประมาณ 130 คน ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มปฏิรูปแบปทิสต์ของซิดนีย์ ริกดัน ด้วยเหตุนี้จึงเปิดสถานที่ชุมนุมให้สมาชิกศาสนจักรหลายร้อยคนในปีต่อมา ผู้สอนศาสนาพบผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสบางคนในหมู่ผู้ตั้งถิ่นฐานในแจ็คสันเคาน์ตี้ รัฐมิสซูรีด้วย ซึ่งจะสถาปนาเป็นเมืองไซอันในเวลาต่อมา” (คำสอนอของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007],161; ดู ริชาร์ด ดิลเวิร์ธ รัสต์, “A Mission to the Lamanites: D&C 28, 30, 32,” Revelations in Context series, Feb. 22, 2013, history.lds.org)
อธิบายว่าการเปลี่ยนใจเลื่อมใสเหล่านี้ทางภาคเหนือของรัฐโอไฮโอทำให้สมาชิกภาพศาสนจักรเวลานั้นเพิ่มขึ้นสองเท่า
ขอให้นักเรียนอ่านพระคัมภีร์ หลักคำสอนและพันธสัญญา 29:4-7 ในใจโดยมองหาคำอธิบายของ “ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกไว้”
-
พระผู้ช่วยให้รอดตรัสถึงผู้ที่พระองค์ทรงเลือกไว้ว่าอย่างไร
อธิบายให้นักเรียนฟังว่างานของผู้สอนศาสนารุ่นแรกที่รับใช้นอกอเมริกาเหนือรวมถึงตัวอย่างอันน่าทึ่งของการที่พระเจ้าทรงใช้ผู้รับใช้ของพระองค์ไปรวบรวมผู้ที่พระองค์ทรงเลือกไว้ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงบทสรุปต่อไปนี้ ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตามและฟังคำแนะนำที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธให้แก่เอ็ลเดอร์ฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์ (1801-1868)
“ฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์ สมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองคนหนึ่งจำได้ว่า “ประมาณวันแรกของเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1837 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟมาหาข้าพเจ้าขณะข้าพเจ้านั่งอยู่ใน … พระวิหาร ในเคิร์ทแลนด์ และกระซิบบอกข้าพเจ้าว่า “บราเดอร์ฮีเบอร์ พระวิญญาณของพระเจ้าทรงกระซิบบอกผมว่า ‘ให้ฮีเบอร์ผู้รับใช้ของเราไปอังกฤษและประกาศพระกิตติคุณ เปิดประตูแห่งความรอดให้ประชาชาตินั้น’” เอ็ลเดอร์คิมบัลล์หนักใจเมื่อนึกถึงภาระหน้าที่นั้น ‘ข้าพเจ้ารู้สึกว่าตนเองเป็นคนอ่อนแอที่สุดคนหนึ่งในบรรดาผู้รับใช้ของพระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าถามโจเซฟว่าข้าพเจ้าควรพูดอะไรเมื่อกลับไปที่นั่น ท่านบอกให้ข้าพเจ้าทูลถามพระเจ้าและพระองค์จะทรงนำทาง และพูดผ่านข้าพเจ้าโดยพระวิญญาณองค์เดียวกับที่ [ทรงชี้นำ] ท่าน’
“ท่านศาสดาพยากรรณ์ให้การเรียกแก่ออร์สัน ไฮด์, วิลลาร์ด ริชาร์ดส์, และโจเซฟ ฟิลดิงก์ในเคิร์ทแลนด์เช่นกัน และให้ไอแซค รัสเซลล์, จอห์น สไนเดอร์, และจอห์น กูดสันในโทรอนโต แคนาดาด้วย พี่น้องชายเหล่านี้ต้องไปทำงานเผยแผ่กับเอ็ลเดอร์คิมบัลล์ที่อังกฤษ พวกท่านรวมตัวกันในนิวยอร์กซิตี ลงเรือ การ์ริค ไปสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1837 งานเผยแผ่ครั้งแรกนอกอเมริกาเหนือครั้งนี้นำผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสราว 2,000 คนเข้ามาในศาสนจักรระหว่างปีแรกของผู้สอนศาสนาในอังกฤษ เอ็ลเดอร์คิมบัลล์เขียนถึงศาสดาพยากรณ์ด้วยความปีติยินดีดังนี้ ‘พระสิริจงมีแด่พระผู้เป็นเจ้า โจเซฟ พระเจ้าทรงอยู่กับเราท่ามกลางประชาชาติทั้งหลาย!’
“งานเผยแผ่ครั้งที่สองของอัครสาวกในสหราชอาณาจักรที่สมาชิกอัครสาวกสิบสองส่วนใหญ่เข้าร่วมด้วยภายใต้การนำของบริคัม ยังก์ กำกับดูแลโดยท่านศาสดาพยากรณ์จากนอวู อัครสาวกสิบสองออกเดินทางในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1839 และมาถึงอังกฤษ ค.ศ. 1840 พวกท่านเริ่มทำงานที่นั่นและราว ค.ศ. 1841 ได้นำผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสกว่า 6,000 คนเข้ามาในศาสนจักร” (คำสอน: โจเซฟ สมิธ,353, 355)
-
ฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์ได้รับคำแนะนำอะไรจากศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ
-
พูดถึงเวลาที่ท่านประสบความช่วยเหลือจากพระเจ้าขณะพยายามแบ่งปันพระกิตติคุณ
หลักคำสอนและพันธสัญญา 4:1–7; 18:10–16; 31:1–12; 34:5–6; 39:20–23; 88:81
คนที่ได้รับการเตือนต้องเตือนเพื่อนบ้านของตน
อธิบายว่าพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาเตือนสมาชิกศาสนจักรหลายครั้งให้นึกถึงความรับผิดชอบและพรของการมีส่วนร่วมในงานเผยแผ่ศาสนา ความรับผิดชอบของเราในการแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่นเป็นรูปแบบและสาระสำคัญที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในการเปิดเผยที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา การรู้จักรูปแบบและสาระสำคัญเหล่านี้ทำให้ผู้อ่านสามารถดื่มด่ำพระวจนะของพระเคริสต์ได้มากขึ้น (ดู เดวิด เอ. เบดนาร์, “A Reservoir of Living Water” [Brigham Young University fireside, Feb. 4, 2007], speeches.byu.edu)
เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:81 ในใจแล้วสรุปด้วยคำพูดของพวกเขาเองว่าจะประยุกต์ใช้กับสมาชิกศาสนจักรปัจจุบันอย่างไร (คำตอบหนึ่งที่นักเรียนอาจให้คือ ทุกคนที่ยอมรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์มีหน้าที่ต้องแบ่งปันกับผู้อื่น)
ให้ดูแผนภูมิต่อไปนี้หรือลอกลงบน กระดาน แบ่งชั้นเรียนออกเป็นสามกลุ่ม และมอบหมายข้อพระคัมภีร์ให้กลุ่มละหนึ่งข้อ ขอให้นักเรียนอ่านข้อที่มอบหมายและมองหาความรับผิดชอบและพรที่สัญญาไว้กับการแบ่งปันพระกิตติคุณ
ความรับผิดชอบ |
พร | |
---|---|---|
หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบกับชั้นเรียน
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ขอให้นักเรียนที่เหลือฟังคำอธิบายของเอ็ลเดอร์เบดนาร์เกี่ยวกับความรับผิดชอบของเราแต่ละคนในการแบ่งปันพระกิตติคุณ
“สานุศิษย์ที่อุทิศตนของพระเยซูคริสต์เป็นผู้สอนศาสนาที่กล้าหาญตลอดมาและจะเป็นตลอดไป ผู้สอนศาสนาเป็นผู้ติดตามพระคริสต์ที่เป็นพยานถึงพระองค์ว่าทรงเป็นพระผู้ไถ่และประกาศความจริงแห่งพระกิตติคุณของพระองค์
“ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์เป็นศาสนจักรแห่งผู้สอนศาสนาตลอดมาและจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป “สมาชิกแต่ละคนของศาสนจักรของพระผู้ช่วยให้รอดยอมรับหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ในการช่วยทำให้พันธกิจจากสวรรค์ที่พระเจ้าประทานแก่อัครสาวกของพระองค์เกิดสัมฤทธิผล ดังที่บันทึกไว้ในพันธสัญญาใหม่
“เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายจงออกไปและนำชนทุกชาติมาเป็นสาวกของเรา จงบัพติศมาพวกเขาในพระนามของพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์
“‘และสอนพวกเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดที่เราสั่งพวกท่านไว้ และนี่แน่ะ เราจะอยู่กับท่านทั้งหลายเสมอไป จนกว่าจะสิ้นยุค ‘ (มัทธิว 28:19-20)
“วิสุทธิชนยุคสุดท้ายทำหน้าที่รับผิดชอบนี้อย่างจริงจังในการสอนผู้คนทั้งปวงในทุกประชาชาติเกี่ยวกับพระเจ้าพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระองค์ …
“โดยแท้แล้ว เรารู้สึกถึงความรับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะนำข่าวสารนี้ไปยังทุกประชาชาติ เผ่าพันธุ์ ภาษา และผู้คน” (“มาดูเถิด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 107)
-
เหตุใดสมาชิกศาสนจักรของพระผู้ช่วยให้รอดจึงมองว่างานเผยแผ่ศาสนาเป็นพันธะรับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์แอล. ทอม. เพอร์รีย์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตามและไตร่ตรองว่าเหตุใดพวกเขาจึงต้องขยันหมั่นเพียรมากขึ้นในการแบ่งปันพระกิตติคุณ
“พระกิตติคุณมีศูนย์กลางอยู่ที่การชดใช้ของพระเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดของเรา การชดใช้ให้พลังอำนาจในการล้างบาป เยียวยา และมอบชีวิตนิรันดร์ พรอันล้ำค่าทั้งหมดของการชดใช้จะมอบให้เฉพาะผู้ดำเนินชีวิตตามหลักธรรมและได้รับศาสนพิธีของพระกิตติคุณ—ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ กลับใจ บัพติศมา รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธ์ และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ข่าวสารอันประเสริฐของผู้สอนศาสนาต่อชาวโลกคือขอเชิญมวลมนุษย์มารับการช่วยชีวิตและเข้ามาในคอกของพระเมษบาลผู้ประเสริฐ แม้พระเยซูคริสต์
“ข่าวสารของผู้สอนศาสนาของเรามีพลังเพราะความรู้เรื่องการฟื้นฟู เรารู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าตรัสกับศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ในปัจจุบัน เฉกเช่นพระองค์ตรัสในสมัยโบราณ เรารู้ด้วยว่าพระกิตติคุณของพระองค์ปฏิบัติด้วยพลังอำนาจและสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตที่ได้รับการฟื้นฟู ไม่มีข่าวสารใดมีความสำคัญนิรันดร์ต่อทุกคนที่มีชีวิตบนแผ่นดินโลกเช่นปัจจุบัน” (ดู “นำจิตวิญญาณมาหาเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 135)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดเราแต่ละคนจึงควรขยันหมั่นเพียรมากขึ้นในการแบ่งปันพระกิตติคุณ (คำตอบควรรวมถึง เมื่อเราแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น เราให้โอกาสพวกเขาเข้าถึงพรแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์)
เชื้อเชิญให้นักเรียนศึกษาพระคัมภีร์ หลักคำสอนและพันธสัญญา 34:5–6; 39:20–23โดยมองหาเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งว่าเหตุใดพระเจ้าทรงบัญชาเราให้แบ่งปันข่าวสารของพระกิตติคุณกับผู้อื่น (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้ เมื่อเราแบ่งปันข่าวสารพระกิตติคุณกับผู้อื่น เราช่วยพวกเขาเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์)
-
การเข้าใจความสำคัญนิรันดร์ของพระกิตติคุณช่วยผลักดันท่านให้แบ่งปันพระกิตติคุณกับคนที่นับถือศาสนาอื่นอย่างไร
-
พูดถึงประสบการณ์ที่ท่านเคยมีกับการแบ่งปันข่าวสารของพระกิตติคุณกับผู้อื่น
ให้เวลานักเรียนสองสามนาทีไตร่ตรองและจดสิ่งที่พวกเขาทำได้เพื่อมีส่วนร่วมในการแบ่งปันพระกิตติคุณ ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจจะเขียนชื่อคนรู้จักที่ปัจจุบันไม่ได้เป็นสมาชิกของศาสนจักรและรับปากจะแบ่งปันพระกิตติคุณกับคนนั้น เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาวางแผนจะทำ กระตุ้นให้นักเรียนทำตามความรู้สึกที่พวกเขาได้รับและสวดอ้อนวอนทุกวันขอให้มีโอกาสแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น
สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน
-
พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา 4:1–7; 18:10–16; 29:4–7; 31:1–12; 33:2–7; 34:5–6; 39:20–23; 88:81.
-
นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “นี่คือปาฏิหาริย์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 77-80