บทที่ 17
การสอนพระกิตติคุณในนอวู
คำนำ
หลายปีแรกที่วิสุทธิชนอยู่ในเมืองนอวู รัฐอิลลินอยส์เต็มไปด้วยความสงบสุขและความรุ่งเรือง ในช่วงเวลานี้โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผย จากนั้นท่านสอนและอรรถาธิบายหลักคำสอนบางประการที่มีเฉพาะศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเท่านั้น หลักคำสอนเหล่านี้ได้แก่จุดประสงค์ของพระวิหาร ศักยภาพอันสูงส่งที่เราจะเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์ และหลักคำสอนบางประการที่สอนในหลักแห่งความเชื่อ บทนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจความยิ่งใหญ่ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและศักยภาพอันสูงส่งของตัวเราเอง
ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน
-
“พระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์,” บทที่ 2 ใน คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 37–44
-
“พัฒนาการของหลักคำสอนในนอวู,” บทที่ 20 ใน ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 (คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003), 254–264
-
“Becoming Like God,” Gospel Topics, lds.org/topics
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
หลักแห่งความเชื่อ
ถ้อยแถลงสำคัญของหลักคำสอนพระกิตติคุณ
อธิบายว่าในเมืองนอวู รัฐอิลลินอยส์ โจเซฟ สมิธเขียนจดหมายถึงจอห์น เวนท์เวิร์ธบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Chicago Democrat ผู้ขอข้อมูลเกี่ยวกับชาวมอรมอน ในจดหมาย ท่านศาสดาพยากรณ์ให้เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติของวิสุทธิชนยุคสุดท้ายพร้อมด้วยความเชื่อพอสังเขปหลายข้อเกี่ยวข้องกับหลักคำสอนซึ่งต่อมากลายเป็นที่รู้จักกันว่าหลักแห่งความเชื่อ (จดหมายทั้งฉบับคัดลอกไว้ใน คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 469–479)
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์แอล. ทอม เพอร์รีย์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“[หลักแห่งความเชื่อ] เป็นถ้อยแถลงสำคัญที่สุดและแน่นอนว่ากระชับที่สุดของหลักคำสอนในศาสนจักร ถ้าท่านจะใช้เป็นแนวทางชี้นำการศึกษาพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ท่านจะพบว่าตัวท่านพร้อมประกาศพยานของท่านต่อโลกถึงความจริงที่ได้รับการฟื้นฟู ท่านจะสามารถประกาศความเชื่อหลักๆ ที่ท่านรักในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในวิธีที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา และลึกซึ้ง” (ดู “หลักคำสอนและหลักธรรมที่มีอยู่ในหลักแห่งความเชื่อ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 48)
-
ท่านจะสรุปสิ่งที่เอ็ลเดอร์เพอร์รีย์สอนว่าอย่างไร (ขณะที่นักเรียนแบ่งปันข้อสรุปของพวกเขา จงช่วยให้พวกเขาเข้าใจความจริงนี้: เมื่อเราเรียนหลักคำสอนที่สอนในหลักแห่งความเชื่อ เราจะพร้อมประกาศความเชื่อของเราต่อผู้อื่นมากขึ้น)
-
ท่านเคยใช้หลักแห่งความเชื่อช่วยให้คนอื่นๆ เข้าใจพระกิตติคุณเมื่อใด
เชื้อเชิญให้นักเรียนเปิดหลักแห่งความเชื่อและอ่านในใจ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้สนทนาคำถามต่อไปนี้
-
ท่านชื่นชอบหลักแห่งความเชื่อข้อใดเป็นพิเศษและเพราะเหตุใด
-
หลักคำสอนในหลักแห่งความเชื่อช่วยนำทางท่านและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประจักษ์พยานของท่านว่าโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร
หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:25–28; 37–42
การฟื้นฟูศาสนพิธีพระวิหาร
อธิบายว่าหลังจากวิสุทธิชนตั้งรกรากในเมืองนอวู รัฐอิลลินอยส์ ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับพระบัญชาให้สร้างพระวิหาร เนื่องด้วยพระวิหารก่อสร้างในเมืองเคิร์ทแลนด์ รัฐโอไฮโอ ภารกิจนี้จึงเรียกร้องการเสียสละอย่างมากจากวิสุทธิชนยุคสุดท้าย
เชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:25–28, 37–42 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตามโดยมองหาคำสอนของพระเจ้าว่าเหตุใดวิสุทธิชนจึงต้องมีพระวิหาร ก่อนวิเคราะห์ข้อเหล่านี้ ให้อธิบายว่าข้อเหล่านี้กล่าวถึงพลับพลาที่โมเสสและคนของเขาสร้าง คนของโมเสสไม่ได้ประกอบบัพติศมาแทนคนตาย ไม่มีการทำงานแทนคนตายจนกระทั่งพระผู้ช่วยให้รอดทรงเริ่มงานนั้นในโลกวิญญาณหลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ จากนั้นให้ถามนักเรียนว่า
-
ตามคำสอนของพระเจ้าในข้อเหล่านี้ เหตุใดวิสุทธิชนในนอวูจึงต้องมีพระวิหาร (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เน้นหลักคำสอนนี้: ศาสนพิธีแห่งความรอดบางอย่างเป็นที่ยอมรับต่อพระเจ้าก็ต่อเมื่อประกอบในพระวิหาร)
อธิบายให้นักเรียนฟังว่าพระวิหารเคิร์ทแลนด์ “ เดิมที สร้างเพื่อฟื้นฟูกุญแจแห่งสิทธิอำนาจ” (Joseph Fielding Smith, Doctrines of Salvation, comp. Bruce R. McConkie, 3 vols. [1954–56], 2:242) ในพระวิหารนอวู กุญแจฐานะปุโรหิตเหล่านี้ใช้เพื่อประกอบศาสนพิธีแห่งความรอดสำหรับผู้มีชีวิตและบัพติศมาแทนผู้วายชนม์ ในสองปีสุดท้ายของชีวิต โจเซฟ สมิธแนะนำสมาชิกที่ซื่อสัตย์กลุ่มเล็กให้รู้จักเอ็นดาวเม้นท์พระวิหาร ท่านแนะนำศาสนพิธีแห่งการผนึกสามีภรรยาไว้ด้วยกันเพื่อนิรันดรด้วย
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:39 กล่าวถึงศาสนพิธีใดของพระวิหาร
ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความต่อไปนี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนที่เหลือฟังว่าเหตุใดศาสนพิธีพระวิหารจึงสำคัญในแผนของพระบิดาบนสวรรค์
“เพื่อตอบรับพระบัญชาของพระเจ้า [ให้สร้างพระวิหารในนอวู] ท่านศาสดาพยากรณ์และวิสุทธิชนเดินหน้าอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อเริ่มสร้างพระนิเวศน์ของพระเจ้า แต่ท่านศาสดาพยากรณ์ตระหนักว่าการก่อสร้างจะใช้เวลาหลายปี และท่านรู้ว่าวิสุทธิชนต้องการพรที่สมบูรณ์ของพระวิหาร ด้วยเหตุนี้ในวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1842 แม้ว่าพระวิหารจะยังไม่สมบูรณ์ แต่โจเซฟ สมิธก็ได้ปฏิบัติเอ็นดาวเม้นท์ให้พี่น้องชายที่ซื่อสัตย์กลุ่มเล็กกลุ่มหนึ่ง
“พี่น้องชายกลุ่มนี้ประชุมกันในห้องชั้นบนขนาดใหญ่ที่ร้านอิฐแดงของท่านศาสดาพยากรณ์ …
“ประวัติของท่านศาสดาพยากรณ์บันทึกว่า ‘ข้าพเจ้าอยู่ที่ชั้นบนของร้านทั้งวัน … ประชุมกับท่านนายพลเจมส์ แอดัมจากสปริงฟิลด์ ผู้ประสาทพรไฮรัม สมิธ อธิการนิวเวล เค. วิทนีย์ อธิการจอร์จ มิลเลอร์ ประธานบริคัม ยังก์ เอ็ลเดอร์ฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์ และเอ็ลเดอร์วิลลาร์ด ริชาร์ดส์ สอนพวกเขาเรื่องหลักธรรมและระเบียบของฐานะปุโรหิต เข้าร่วมพิธีล้างและเจิม เอ็นดาวเม้นท์ และการส่งต่อกุญแจเกี่ยวเนื่องกับฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน และอื่นๆ จนถึงระเบียบสูงสุดของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค อธิบายระเบียบเกี่ยวกับเมธีโบราณ แผนและหลักธรรมทั้งปวงเหล่านั้นที่ทำให้ทุกคนสามารถได้รับพรอันสมบูรณ์ซึ่งเตรียมไว้สำหรับศาสนจักรของพระบุตรหัวปี เพื่อมาอยู่ในสถานที่ประทับของเอโลฮิมในโลกนิรันดร์’” (คำสอน: โจเซฟ สมิธ, 445–446)
ถามนักเรียนว่า
-
เหตุใดการฟื้นฟูศาสนพิธีพระวิหารจึงจำเป็น
ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เพิ่มความเข้าใจของพวกเขาโดยแบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“จุดประสงค์เบื้องต้นของพระวิหารคือจัดทำศาสนพิธีที่จำเป็นต่อความสูงส่งของเราในอาณาจักรซีเลสเชียล ศาสนพิธีพระวิหารนำทางเราไปหาพระผู้ช่วยให้รอดและประทานพรที่มาถึงเราผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์” (“พรของพระวิหาร,” เลียโฮนา, ต.ค. 2009, 14)
-
ชีวิตท่านได้รับพรอย่างไรจากการฟื้นฟูศาสนพิธีพระวิหาร
เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองในช่วงสัปดาห์ที่จะมาถึงว่าพวกเขาจะทำให้การนมัสการในพระนิเวศน์ของพระเจ้ามีความสำคัญมากขึ้นในชีวิตพวกเขาได้อย่างไร
สดุดี 82:6; มัทธิว 5:48; ยอห์น 10:32–34; โรม 8:16–17; 2 เปโตร 1:3–4; 1 ยอห์น 3:2–3; หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:11–20; 132:20
ศักยภาพอันสูงส่งของเรา
อธิบายว่าพระคัมภีร์ไบเบิลบันทึกถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณผู้เขียนเกี่ยวกับศักยภาพอันสูงส่งของเรา เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน และเชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านหลายๆ ข้อและดูว่าข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับศักยภาพนิรันดร์ของเรา: สดุดี 82:6; มัทธิว 5:48; ยอห์น 10:32–34; โรม 8:16–17; 2 เปโตร 1:3–4; 1 ยอห์น 3:2–3 ท่านอาจกระตุ้นให้นักเรียนทำข้ออ้างโยงหรือเชื่อมโยงพระคัมภีร์อ้างอิงเหล่านี้ขณะพวกเขาศึกษาพระคัมภีร์
หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้ถามว่า
-
เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้เกี่ยวกับศักยภาพของเรา (ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรเข้าใจหลักคำสอนนี้: ในฐานะบุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์ เรามีศักยภาพที่จะเป็นเหมือนพระองค์)
-
วลีใดในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้พูดถึงศักยภาพอันสูงส่งของเรา
อธิบายว่าศักยภาพอันสูงส่งของเราสอนไว้ในพระคัมภีร์ยุคปัจจุบันด้วย เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:11–13, 19–20 และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:20 ช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักคำสอนนี้ เฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอด เราสามารถเติบโตจากพระคุณสู่พระคุณจนเราได้รับความสมบูรณ์ของพระบิดา
อธิบายว่าโอวาทครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธให้ไว้ในช่วงการประชุมใหญ่สามัญของศาสนจักรในเดือนเมษายน ปี 1844 ระหว่างโอวาทครั้งนี้ ท่านศาสดาพยากรณ์กล่าวสรรเสริญบราเดอร์คิง ฟอลเลตต์ผู้สิ้นชีวิตได้ไม่นาน คำพูดครั้งนี้รู้จักกันในชื่อว่าปาฐกถาคิงฟอลเลตต์ จัดเตรียมสำเนา เอกสารแจก “ข้อความที่คัดมาจากปาฐกถาคิงฟอลเลตต์” ให้นักเรียนแต่ละคน เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่านข้อความนั้น ขีดเส้นใต้คำและวลีที่อธิบายว่าเหตุใดเราจึงควรพยายามเข้าใจพระอุปนิสัยของพระผู้เป็นเจ้า
ช่วยนักเรียนวิเคราะห์คำสอนเหล่านี้โดยถามว่า
-
เหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องเรียนรู้เกี่ยวกับพระอุปนิสัยและพระลักษณะของพระผู้เป็นเจ้า ตลอดจนความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์ในฐานะพระบิดาบนสวรรค์ของเรา
-
อะไรคือกระบวนการเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์ของเรา
เพื่อให้นักเรียนเข้าใจศักยภาพอันสูงส่งของพวกเขาลึกซึ้งขึ้น ให้ดูข้อความต่อไปนี้ของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910-2008) ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“แบบแผนทั้งหมดของพระกิตติคุณคือนำเราไปข้างหน้าและขึ้นสู่ความสำเร็จมากยิ่งขึ้น แม้จนถึงการเป็นพระผู้เป็นเจ้า ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธประกาศความเป็นไปได้อันสำคัญยิ่งนี้ไว้อย่างชัดเจนในโอวาทคิงฟอลเลตต์ [ดู History of the Church, 6:302–17] และประธานลอเรนโซ สโนว์เน้นเรื่องนี้ แนวคิดอันสำคัญยิ่งและไม่มีสิ่งใดเทียบได้คือ ดังพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นอยู่เวลานี้ มนุษย์อาจเป็นได้! [ดู The Teachings of Lorenzo Snow, ed. Clyde J. Williams (1984), 1]
“ศัตรูของเราวิพากษ์วิจารณ์เราเพราะเราเชื่อเรื่องนี้ คำตอบของเราคือแนวคิดอันสูงส่งดังกล่าวไม่มีทางทำให้พระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์สำคัญน้อยลง พระองค์ทรงเป็นพระผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ พระองค์ทรงเป็นพระผู้สร้างและพระผู้ทรงปกครองจักรวาล พระองค์ทรงยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาทั้งหมดและจะทรงเป็นเช่นนั้นตลอดไป แต่เช่นเดียวกับบิดาทางโลกประสงค์จะให้บุตรธิดาของเขาประสบความสำเร็จในชีวิตทุกด้าน ข้าพเจ้าจึงเชื่อเช่นกันว่าพระบิดาในสวรรค์ของเราทรงประสงค์ให้ลูกๆ ของพระองค์ยิ่งใหญ่เฉกเช่นพระองค์และยืนเคียงข้างพระองค์ โชติช่วงในความเข้มแข็งและปัญญาแบบพระผู้เป็นเจ้า” (ดู “อย่าทำลูกบอลตก,” เลียโฮนา, ก.พ. 1995, 41)
เพื่อสรุป ให้ถามนักเรียนดังนี้
-
การรู้ความจริงสำคัญๆ เหล่านี้เกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และศักยภาพอันสูงส่งของเราสร้างความแตกต่างอะไรบ้างในชีวิตเรา
-
ขณะท่านใคร่ครวญสิ่งที่เราสนทนาวันนี้ (หลักแห่งความเชื่อ ศาสนพิธีพระวิหาร และศักยภาพอันสูงส่งของเรา) การเข้าใจความจริงเหล่านี้จะทำให้ท่านสำนึกคุณต่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้อย่างไร การเข้าใจความจริงเหล่านี้จะช่วยให้ท่านเข้าใจพระอุปนิสัยของพระผู้เป็นเจ้าและความสัมพันธ์ของท่านกับพระองค์ในฐานะพระบิดาในสวรรค์ของท่านได้อย่างไร (ให้เวลานักเรียนเขียนความประทับใจของพวกเขา)
เชื้อเชิญให้นักเรียนเป็นพยานหรือแบ่งปันความประทับใจเล็กๆ น้อยๆ ที่พวกเขาเขียนหากไม่เป็นส่วนตัวมากเกินไป สรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับหลักคำสอนที่สอนในบทนี้และเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธในฐานะผู้เปิดเผยที่ยิ่งใหญ่
สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน
-
สดุดี 82:6; มัทธิว 5:48; ยอห์น 10:32–34; โรม 8:16–17; 2 เปโตร 1:3–4; 1 ยอห์น 3:2–3; หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:11–22; 124:25–28, 37–42; 132:20–24
-
“พระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์,” บทที่ 2 ใน คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 37–44