คลังค้นคว้า
บทที่ 18: สมาคมสงเคราะห์และศาสนจักร


บทที่ 18

สมาคมสงเคราะห์และศาสนจักร

คำนำ

“สมาคมสงเคราะห์เตรียมสตรีให้พร้อมรับพรแห่งชีวิตนิรันดร์โดยช่วยพวกเธอเพิ่มพูนศรัทธาและความชอบธรรมส่วนตัว เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวและบ้าน และช่วยคนตกทุกข์ได้ยาก” (The Purpose of Relief Society,lds.org/callings/relief-society/purposes) บทเรียนนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจการสถาปนาสมาคมสงเคราะห์และจุดประสงค์ของสมาคมดีขึ้น นักเรียนจะเห็นเช่นกันว่าสตรีมีโอกาสและความรับผิดชอบสำคัญมากมายในการสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าที่มีให้เฉพาะพวกเธอเท่านั้น

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “กุญแจและสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิต,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 49–52

  • เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “ชายและหญิงกับอำนาจฐานะปุโรหิต,” เลียโฮนา, ก.ย. 2014, 32–37

  • จูลี บี. เบค, “วิสัยทัศน์ของศาสดาพยากรณ์เกี่ยวกับสมาคมสงเคราะห์: ศรัทธา ครอบครัว การบรรเทาทุกข์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 83–85

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 25

พระเจ้าทรงแนะนำสั่งสอนเอ็มมา สมิธ

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ (1895-1985) และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

“การเติบโตที่เกิดขึ้นกับศาสนจักรในยุคสุดท้ายนี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพราะสตรีที่ดีจำนวนมากของโลก … ได้รับการชักนำเข้ามาสู่ศาสนจักรมากขึ้น เรื่องเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสตรีของศาสนจักรสะท้อนความชอบธรรมและความชัดเจนในชีวิตจนถึงระดับที่บรรดาสตรีของโลกมองสตรีของศาสนจักรว่าผิดแผกและแตกต่างอย่างมีความสุข” (ดู คำสอนของประธานศาสนาจักร: สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ [2006], 239)

  • ท่านมีความคิดอะไรบ้างขณะพิจารณาข้อความดังกล่าว

  • ท่านรู้จักสตรีที่เป็นแบบอย่างของความสุขในการดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมหรือไม่ พวกเธอสร้างคุณค่าในชีวิตคนที่รู้จักพวกเธออย่างไร

อธิบายว่าบทนี้จะเน้นด้านต่างๆ ที่สมาคมสงเคราะห์เป็นพรแก่บุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์ในศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์

ขอให้นักเรียนเปิดไปที่ หลักคำสอนและพันธสัญญา 25 และดูที่ หัวบทของภาค เพื่อหาบุคคลที่พระเจ้าตรัสในการเปิดเผยนี้ จากนั้นให้อ่านออกเสียง ข้อ 3 อธิบายให้นักเรียนฟังว่าในสายพระเนตรของพระเจ้า เอ็มมา สมิธเป็น “สตรีที่ทรงเลือกไว้” ที่การประชุมครั้งแรกของสมาคมสตรีสงเคราะห์แห่งนอวู โจเซฟ สมิธอธิบายว่า “ทรงเลือกไว้หมายถึงได้รับเลือกให้ทำงานบางอย่าง” ท่านกล่าวเช่นกันว่าการเปิดเผยที่ประทานแก่เอ็มมา สมิธ “เกิดสัมฤทธิผลโดยการเลือกซิสเตอร์เอ็มมาเป็นประธานสมาคม [สงเคราะห์]” (ใน History of the Church, 4:552–553) แบ่งนักเรียนครึ่งชั้นและขอให้ครึ่งชั้นอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:4–9 และอีกครึ่งชั้นอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:10–15 เชื้อเชิญให้นักเรียนหางานมอบหมายหรือการเรียกที่พระเจ้าประทานแก่เอ็มมา สมิธ พวกเขาอาจเขียนความรับผิดชอบเหล่านี้ออกมาเป็นข้อๆ หรือทำเครื่องหมายในพระคัมภีร์ของตน หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบ

  • การทำความรับผิดชอบเหล่านี้ให้เกิดสัมฤทธิผลจะเอื้อต่อการเติบโตของศาสนจักรอย่างไร

  • พระเจ้าทรงสัญญาพรใดกับเอ็มมา สมิธถ้าเธอเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:16

  • ถึงแม้จะเป็นการเปิดเผยที่ประทานแก่เอ็มมา สมิธ แต่พระดำรัสของพระเจ้าต่อเอ็มมาเปรียบกับเราในด้านใดได้บ้าง (คำสอนเรื่องการเชื่อฟังและหลักธรรมพระกิตติคุณข้ออื่นที่สอนไว้ในการเปิดเผยนี้ประยุกต์ใช้ได้กับทุกคน) [หมายเหตุ: อธิบายว่าการเปรียบพระคัมภีร์กับประสบการณ์ของเราเองเป็นทักษะการศึกษาพระคัมภีร์ที่สำคัญซึ่งช่วยให้เราเห็นความคล้ายคลึงระหว่างประสบการณ์ของเรากับบุคคลในพระคัมภีร์])

ขณะที่นักเรียนแบ่งปันคำตอบของคำถามนี้ จงช่วยให้พวกเขาเข้าใจความจริงต่อไปนี้ เมื่อเรารักษาพระบัญญัติอย่างซื่อสัตย์และทำงานมอบหมายจากพระเจ้าให้เกิดสัมฤทธิผล เราจะได้รับมงกุฎแห่งความชอบธรรม ท่านอาจต้องการเป็นพยานถึงความจริงนี้

สมาคมสงเคราะห์เป็นส่วนสำคัญของศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์

บอกนักเรียนว่าพระเจ้าทรงเปิดเผยการวางระเบียบศาสนจักรเป็นบรรทัดมาเติมบรรทัด ส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้คือพระองค์ประทานการเรียกที่สำคัญมากแก่เอ็มมา สมิธ เชิญนักเรียนอ่านออกเสียงบทสรุปต่อไปนี้เกี่ยวกับการจัดตั้งสมาคมสงเคราะห์ ขอให้นักเรียนฟังว่าวิสัยทัศน์ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเกี่ยวกับสมาคมสงเคราะห์ขยายวิสัยทัศน์เบื้องต้นของสตรีอย่างไร

ในเมืองนอวู สตรีวิสุทธิชนยุคสุดท้ายได้รับพรให้มีองค์การของพวกเธอเองในศาสนจักร องค์การดังกล่าวเริ่มต้นเมื่อสตรีหลายคน นำโดยซาราห์ แกรนเจอร์ คิมบัลล์ จัดตั้งกลุ่มตัดเสื้อให้ผู้ชายที่ทำงานพระวิหาร สตรีตัดสินใจจัดตั้งองค์การอย่างเป็นกิจลักษณะ และพวกเธอขอให้อิไลซา อาร์. สโนว์เขียนข้อบังคับสำหรับกลุ่มของพวกเธอ เมื่อหารือกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ ท่านบอกพวกเธอว่าข้อบังคับของพวกเธอดีเยี่ยมแต่จะจัดตั้งองค์การสตรีในวิธีที่ดีกว่านั้น วันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 1842 ท่านศาสดาพยากรณ์ พร้อมด้วยเอ็ลเดอร์จอห์น เทย์เลอร์ และเอ็ลเดอร์วิลลาร์ด ริชาร์ดส์ ประชุมกับสตรี 20 คนในห้องชั้นบนของร้านอิฐสีแดงซึ่งท่านศาสดาพยากรณ์จัดตั้งสมาคมสตรีสงเคราะห์แห่งนอวู เอ็มมา สมิธได้รับเลือกเป็นประธานองค์การ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การเปิดเผยเกิดสัมฤทธิผลที่ว่าเธอเป็น “สตรีที่ทรงเลือกไว้” (คพ. 25:3) ต่อมาท่านศาสดาพยากรณ์กล่าวว่าวัตถุประสงค์ขององค์การคือ “บรรเทาทุกข์คนยากจน” และ “ช่วยจิตวิญญาณให้รอด” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 483)

วันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1842 ท่านศาสดาพยากรณ์ประชุมกับพี่น้องสตรีอีกครั้ง ท่านบอกพวกเธอว่าพวกเธอจะได้รับคำแนะนำสั่งสอนผ่านระเบียบของฐานะปุโรหิตและประกาศต่อจากนั้นว่า “บัดนี้ข้าพเจ้าไขกุญแจให้ท่านในพระนามของพระผู้เป็นเจ้า และสมาคมนี้จะปลื้มปีติ ความรู้และสติปัญญาจะหลั่งไหลมานับจากนี้” (คำสอน: โจเซฟ สมิธ,485)

ท่านอาจชี้ให้นักเรียนเห็นว่าพวกเขาสามารถอ่านบันทึกการประชุมสมาคมสงเคราะห์ช่วงแรกๆ ได้ที่ josephsmithpapers.org/paperSummary/Nauvoo-relief-society-minute-book

  • วิสัยทัศน์ของท่านศาสดาพยากรณ์เกี่ยวกับศักยภาพของสมาคมสงเคราะห์ขยายข้อเสนอแต่แรกของซาราห์ คิมบัลล์อย่างไร

  • ท่านคิดว่าคำกล่าวต่อไปนี้ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ หมายถึงอะไร “บัดนี้ข้าพเจ้าไขกุญแจให้ท่านในพระนามของพระผู้เป็นเจ้า” (สมาคมสงเคราะห์จัดตั้งภายใต้การกำกับดูแลของฐานะปุโรหิตโดยผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต)

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของอดีตประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญ ซิสเตอร์ไซนา ดี. เอช. ยังก์ (1821-–1901) และซิสเตอร์จูลี บี. เบค เกี่ยวกับจุดประสงค์ของสมาคมสงเคราะห์ และเชิญนักเรียนสามคนอ่าน ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตามและพิจารณาว่าคำกล่าวเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับจุดประสงค์ของสมาคมสงเคราะห์

ไซนา ดี. เอช. ยังก์

“สมาคมสงเคราะห์ … จัดตั้งครั้งแรกราวครึ่งศตวรรษก่อน โดยศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ ตามแบบฉบับของฐานะปุโรหิตศักดิ์สิทธิ์ และภายใต้การกำกับดูแลของฐานะปุโรหิต เพื่อแจกจ่ายพรทางโลกให้คนยากไร้และคนขัดสน ให้กำลังใจคนอ่อนแอ ยับยั้งคนทำผิดพลาด และเพื่อพัฒนาการที่ดีขึ้น ใช้ความเห็นอกเห็นใจของสตรี และจิตกุศลเพื่อเธอจะมีโอกาสได้รับความเข้มแข็งทางวิญญาณ และพลังความสามารถในการทำดีมากยิ่งขึ้นในงานแห่งการไถ่ครอบครัวมนุษย์” (Zina D. H. Young,First General Conference of the Relief Society,Woman’s Exponent, Apr. 15, 1889, 172)

จูลี บี. เบค

Busath.com

“ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอธิบายจุดประสงค์ของสมาคมสงเคราะห์และสอนพี่น้องสตรีให้รู้จุดประสงค์เหล่านั้น … องค์กรของเรายังคงนำโดยศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผย” (จูลี บี. เบค, “สมาคมสงเคราะห์: งานศักดิ์สิทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 136)

“เฉกเช่นศาสดาพยากรณ์ของพระเจ้าสอนเหล่าเอ็ลเดอร์และมหาปุโรหิตอยู่เนืองๆ ให้รู้จุดประสงค์และหน้าที่ของพวกเขา ศาสดาพยากรณ์บอกวิสัยทัศน์ที่มีต่อพี่น้องสตรีสมาคมสงเคราะห์เช่นกัน จากคำแนะนำของศาสดาพยากรณ์ เห็นชัดว่าจุดประสงค์ของสมาคมสงเคราะห์คือ เพิ่มพูนศรัทธาและความชอบธรรมส่วนตัว เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวและบ้าน ค้นหาและช่วยคนขัดสน ศรัทธา ครอบครัว และ การบรรเทาทุกข์—คำเรียบง่ายสามคำนี้แสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ที่ศาสดาพยากรณ์มีต่อพี่น้องสตรีในศาสนจักร” (จูลี บี. เบค, วิสัยทัศน์ของศาสดาพยากรณ์เกี่ยวกับสมาคมสงเคราะห์: ศรัทธา ครอบครัว การบรรเทาทุกข์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 83)

  • จุดประสงค์ของสมาคมสงเคราะห์เป็นพรแก่ทั้งศาสนจักรอย่างไร (นักเรียนควรระบุความจริงต่อไปนี้ สมาคมสงเคราะห์หมายมั่นเพิ่มพูนศรัทธาและความชอบธรรมส่วนตัว เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวและบ้าน ให้การบรรเทาทุกข์โดยเสาะหาและช่วยคนตกทุกข์ได้ยาก ทั้งศาสนจักรได้รับพรเมื่อสตรีบรรลุจุดประสงค์เหล่านี้)

  • ท่านเคยเห็นสมาคมสงเคราะห์บรรลุจุดประสงค์เหล่านี้อย่างไร

ให้ดูข้อความต่อไปนี้ และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

“ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธประกาศว่า ‘ศาสนจักรไม่มีวันจัดตั้งได้อย่างสมบูรณ์จนกว่าจะจัดตั้งองค์การให้สตรี’ [คำสอน: โจเซฟ สมิธ, 485] …

“นอกจากโจเซฟ สมิธแล้ว ศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายท่านอื่นได้เป็นพยานเช่นกันว่าองค์การสมาคมสงเคราะห์เป็นส่วนที่ได้รับการดลใจของการฟื้นฟู ด้วยเหตุนี้จึงเรียกสตรีในศาสนจักรให้อยู่ในตำแหน่งผู้นำทางศาสนาเพื่อรับใชักันและเป็นพรแก่ทั้งศาสนจักร ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ … กล่าวว่า ‘องค์การนี้ได้รับการก่อตั้ง ได้รับมอบอำนาจ ได้รับการสถาปนา และได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้าให้ปฏิบัติเพื่อความรอดของจิตวิญญาณของหญิงและชาย’ [คำสอนของประธานศาสนจักร: โจเซฟ เอฟ. สมิธ (1998), 204 ]” (Daughters in My Kingdom: The History and Work of Relief Society [2011], 7)

  • ข้อความนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับบทบาทของสมาคมสงเคราะห์ในการฟื้นฟูพระกิตติคุณ (ขณะที่นักเรียนตอบ พวกเขาพึงเข้าใจความจริงนี้ แม้จะใช้คำพูดต่างกัน สมาคมสงเคราะห์เป็นส่วนที่ได้รับการดลใจจากเบื้องบนของการฟื้นฟูศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

  • การรู้ว่าองค์การสมาคมสงเคราะห์เป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูสร้างคุณค่าในชีวิตท่านอย่างไร

  • การที่สตรีมีส่วนในการเรียกของศาสนจักรช่วยให้ศาสนจักร “ได้รับการจัดตั้งอย่างสมบูรณ์” อย่างไร

สตรีและฐานะปุโรหิต

อธิบายให้นักเรียนฟังว่ามีบางคนสงสัยว่าเหตุใดสตรีจึงไม่ได้รับการวางมือแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิต เน้นว่าถึงแม้เราไม่ทราบว่าเหตุใดสตรีจึงไม่ได้รับการวางมือแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิต แต่เราทราบว่าสตรีมีส่วนร่วมในฐานะปุโรหิตในการเรียกของพวกเธอในศาสนจักรและในบ้านของพวกเธอ

handout iconแจกสำเนา คำกล่าว ต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้นักเรียนแต่ละคน และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง เชื้อเชิญให้นักเรียนระบุด้านต่างๆ ที่สตรีสามารถใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต

เอกสารแจก สตรีและฐานะปุโรหิต

สตรีและฐานะปุโรหิต

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“ในคำปราศรัยต่อสมาคมสงเคราะห์ ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ ขณะนั้นเป็นประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า ‘ถึงแม้พี่น้องสตรีจะไม่ได้รับฐานะปุโรหิต พวกเธอไม่ได้รับการประสาทฐานะปุโรหิต แต่ไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าไม่ได้ประทานสิทธิอำนาจแก่พวกเธอ … บุคคลหนึ่งหรือพี่น้องสตรีคนหนึ่งอาจได้รับสิทธิอำนาจให้ทำบางสิ่งบางอย่างในศาสนจักรซึ่งเกี่ยวพันและจำเป็นที่สุดสำหรับความรอดของเรา เช่นงานที่พี่น้องสตรีของเราทำในพระนิเวศน์ของพระเจ้า พวกเธอได้รับสิทธิอำนาจให้ทำหลายสิ่งหลายอย่างที่วิเศษและสำคัญยิ่ง ศักดิ์สิทธิ์ต่อพระเจ้า และเกี่ยวพันกันอย่างสมบูรณ์เช่นเดียวกับพรซึ่งให้โดยชายผู้ดำรงฐานะปุโรหิต’ [‘Relief Society—An Aid to the Priesthood,Relief Society Magazine, Jan. 1959, 4]

“ในคำปราศรัยสำคัญนั้น ประธานสมิธบอกครั้งแล้วครั้งเล่าว่าสตรีได้รับสิทธิอำนาจ ท่านบอกบรรดาสตรีว่า ‘ท่านพูดด้วยสิทธิอำนาจได้ เพราะพระเจ้าประทานสิทธิอำนาจแก่ท่าน’ ท่านยังบอกด้วยว่าสมาคมสงเคราะห์ ‘ได้รับพลังและสิทธิอำนาจให้ทำสิ่งสำคัญมากมาย งานที่พวกเธอทำ ทำโดยสิทธิอำนาจจากเบื้องบน’ และแน่นอนว่า งานศาสนจักรที่สตรีและบุรุษทำ ไม่ว่าจะในพระวิหารหรือในวอร์ดหรือในสาขา กระทำภายใต้การกำกับดูแลของผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต ดังนั้น เมื่อพูดถึงสมาคมสงเคราะห์ ประธานสมิธอธิบายว่า ‘[พระเจ้า] ประทานองค์การที่ยอดเยี่ยมนี้แก่พวกเธอ ซึ่งพวกเธอมีสิทธิอำนาจรับใช้ภายใต้การกำกับดูแลของอธิการวอร์ด … ในการดูแลผู้คนของเราทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายวิญญาณ’ [‘Relief Society—An Aid to the Priesthood,’ 4–5] …

“เราไม่คุ้นเคยกับการพูดว่าสตรีมีสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตในการเรียกของพวกเธอในศาสนจักร แต่จะเป็นสิทธิอำนาจอื่นใดหรือ เมื่อสตรีคนหนึ่ง—ไม่ว่าเยาว์วัยหรือสูงวัย—ได้รับการวางมือมอบหน้าที่ให้สั่งสอนพระกิตติคุณในฐานะผู้สอนศาสนาเต็มเวลา เธอได้รับสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตให้ทำหน้าที่ฐานะปุโรหิต เช่นเดียวกับสตรีคนหนึ่งเมื่อได้รับการวางมือมอบหน้าที่ให้เป็นเจ้าหน้าที่หรือครูในองค์การของศาสนจักรภายใต้การกำกับดูแลของผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต ใครก็ตามที่ทำหน้าที่ในตำแหน่งหรือการเรียกซึ่งได้รับจากผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต เขาใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตในการทำหน้าที่ซึ่งตนได้รับมอบหมาย” (กุญแจและสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิต,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 50–51)

  • ท่านเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างจากเอ็ลเดอร์โอ๊คส์เกี่ยวกับบทบาทและความรับผิดชอบของสตรีในศาสนจักร (ขณะที่นักเรียนแบ่งปันคำตอบ พวกเขาพึงเข้าใจความจริงนี้ เมื่อสตรีได้รับการวางมือมอบหน้าที่ให้รับใช้ในศาสนจักร พวกเธอได้รับสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตให้ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบของพวกเธอ)

เพื่อให้ความเข้าใจและความรู้สึกของนักเรียนลึกซึ้งขึ้นเกี่ยวกับความจริงที่พวกเธอสนทนาไปแล้วในชั้นเรียน ให้แบ่งนักเรียนเป็นคู่ๆ และขอให้พวกเธอสนทนาดังนี้

  • เราจะปรับปรุงสิ่งที่เราพูดเกี่ยวกับสตรีในศาสนจักรได้อย่างไรเพื่อสะท้อนความสำคัญแท้จริงในการเอื้อประโยชน์ของพวกเธอ

เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันความรู้สึกเกี่ยวกับอิทธิพลของสตรีและงานที่พวกเธอทำในฐานะสานุศิษย์ในอาณาจักรของพระเจ้า กระตุ้นให้นักเรียนทำตามสิ่งที่รู้สึกระหว่างบทเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับความสำคัญของสมาคมสงเคราะห์ในชีวิตพวกเขา

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน

  • หลักคำสอนและพันธสัญญา 25

  • จูลี บี. เบค, “วิสัยทัศน์ของศาสดาพยากรณ์เกี่ยวกับสมาคมสงเคราะห์: ศรัทธา ครอบครัว การบรรเทาทุกข์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 83–85