บทที่ 25
สงครามยูทาห์และการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์
คำนำ
ในช่วงทศวรรษ 1850 ความตึงเครียดและการสื่อสารผิดระหว่างวิสุทธิชนยุคสุดท้ายกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐชักนำให้เกิดสงครามยูทาห์ ปี 1857–1858 ในเดือนกันยายน ปี 1857 วิสุทธิชนยุคสุดท้ายบางคนจากเขตปกครองพิเศษทางตอนใต้ของยูทาห์และสมาชิกขบวนเกวียนที่ย้ายถิ่นฐานไปแคลิฟอร์เนียเกิดปะทะกัน แรงจูงใจอันเนื่องจากความโกรธและความกลัว วิสุทธิชนยุคสุดท้ายจึงได้วางแผนสังหารหมู่ผู้ย้ายถิ่นราว 120 คน การกระทำอันโหดร้ายครั้งนี้ปัจจุบันเรียกกันว่าการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์
ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน
-
ริชาร์ด อี. เทอร์เลีย์ จูเนียร์, “The Mountain Meadows Massacre,” Ensign, Sept. 2007, 17–21
-
“Peace and Violence among 19th-Century Latter-day Saints,” Gospel Topics, lds.org/topics.
-
เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “150th Anniversary of Mountain Meadows Massacre,” Sept. 11, 2007, mormonnewsroom.org/article/150th-anniversary-of-mountain-meadows-massacre
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
ความตึงเครียดเกิดขึ้นระหว่างวิสุทธิชนยุคสุดท้ายสมัยเริ่มแรกกับรัฐบาลสหรัฐ
แจกสำเนา เอกสารแจก ที่อยู่ท้ายบทให้นักเรียนแต่ละคน ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเอกสารแจกหัวข้อเรื่อง “ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นชักนำให้เกิดสงครามยูทาห์”
-
ถ้าท่านเป็นวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในปี 1857 และได้ยินว่าทหารกองใหญ่กำลังประชิดเมืองของท่าน ท่านจะกังวลเรื่องใด (นักเรียนอาจกล่าวว่าวิสุทธิชนถูกไล่ออกจากโอไฮโอ มิสซูรี และอิลลินอยส์อย่างรุนแรง หลายคนสูญเสียทรัพย์สินมีค่าและที่ดิน บางคนถูกฆ่าหรือไม่ก็เสียชีวิตระหว่างการข่มเหงเหล่านี้ ข่าวแจ้งว่ากองทหารกำลังมาทำให้วิสุทธิชนบางคนกังวลว่าเหตุการณ์เช่นนั้นอาจเกิดในยูทาห์เช่นกัน
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเอกสารแจกหัวข้อเรื่อง “เตรียมป้องกันเขตปกครองพิเศษ”
ความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างวิสุทธิชนยุคสุดท้ายบางคนกับสมาชิกในขบวนเกวียนของผู้ย้ายถิ่น
ให้ดู แผนที่ คล้ายกับแผนที่ด้านล่าง หรือวาดแผนที่บนกระดาน
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเอกสารแจกหัวข้อเรื่อง “ความขัดแย้งกับขบวนเกวียนของผู้ย้ายถิ่น”
เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาประสบความขัดแย้งกับอีกคนหนึ่งหรือคนกลุ่มหนึ่ง เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 12:25 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตามโดยมองหาหลักธรรมที่พระเยซูคริสต์ทรงสอนซึ่งสามารถนำทางเราได้เมื่อเราประสบความตึงเครียดกับผู้อื่น
-
ท่านคิดว่าการ “ปรองดองกับปฏิปักษ์ของเจ้าโดยเร็ว” หมายความว่าอย่างไร
เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจวลีนี้ ท่านอาจต้องการขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เดวิด อี. โซเรนเซ็นแห่งสาวกเจ็ดสิบ
“พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า ‘จงปรองดองกับปฏิปักษ์ของเจ้าโดยเร็ว … ’ พระองค์ทรงบัญชาให้เราแก้ไขปัญหาแต่เนิ่นๆ เกลือกอารมณ์ชั่ววูบจะทวีขึ้นจนกลายเป็นความโหดร้ายทางร่างกายหรือทางอารมณ์ และเราจะตกเป็นทาสความโกรธ” (ดู “การให้อภัยจะเปลี่ยนความขมขื่นเป็นความรัก,” เลียโฮนา, พ.ค. 2003, 13)
-
ท่านจะสรุปคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดใน 3 นีไฟ 12:25ว่าอย่างไร (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียนหลักธรรมคล้ายกันนี้บนกระดาน ถ้าเราแก้ไขความขัดแย้งกับผู้อื่นในวิธีของพระเจ้า เราสามารถหลีกเลี่ยงผลเสียของความขัดแย้งได้)
-
คนที่วางแผนทำร้ายคนในขบวนเกวียนจะประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้ได้อย่างไร
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเอกสารแจกหัวข้อเรื่อง “การปะทะบานปลาย”
-
ผู้นำศาสนจักรในเมืองซีดาร์ควรทำอะไรเมื่อวิลเลียม เดมแนะนำไม่ให้พวกเขาใช้ทหารอาสา การไม่ยอมรับคำแนะนำชักนำพวกเขาให้ทำอะไร (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน ถ้าเราไม่สนใจคำแนะนำให้ทำสิ่งถูกต้อง เราจะทำการเลือกที่ไม่ดีแม้ถึงกับเป็นบาปได้ง่ายขึ้น) ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นเช่นกันว่ามีปัญญาอย่างยิ่งในระบบสภาซึ่งใช้ปกครองศาสนจักร)
เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงเอกสารแจกหัวข้อเรื่อง “การโจมตีผู้ย้ายถิ่น” และเชื้อเชิญให้นักเรียนหาดูว่าผู้นำเมืองซีดาร์ยังคงเลือกสิ่งที่เป็นบาปต่อไปอย่างไรหลังจากไม่สนใจคำแนะนำที่ได้รับ
-
การที่ผู้นำเมืองซีดาร์ตัดสินใจไม่เชื่อฟังคำแนะนำของวิลเลียม เดมผู้บัญชาการทหารส่งผลอะไรบ้าง
-
ณ จุดนี้ คนที่รับผิดชอบการโจมตีเลือกทำอะไร (พวกเขาสามารถสารภาพว่าได้ทำอะไรลงไปและรับผลของการกระทำนั้น หรือพวกเขาจะพยายามปกปิดความผิดและบาปของตน)
เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้
-
ท่านทำอะไรเมื่อท่านทำผิดบางอย่าง ท่านสารภาพสิ่งที่ท่านทำและรับผลของการกระทำนั้น หรือท่านพยายามปกปิดบาปผ่านการหลอกลวง
วิสุทธิชนยุคสุดท้ายบางคนวางแผนและทำการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์
อธิบายว่าสมาชิกศาสนจักรที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีผู้ย้ายถิ่นได้เลือกปกปิดบาปของตน เชื้อเชิญให้นักเรียนฟังสิ่งที่เกิดขึ้นเนื่องจากการตัดสินใจนี้ขณะที่นักเรียนผลัดกันอ่านออกเสียงเอกสารแจกหัวข้อเรื่อง “การสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์” และ “ผลอันน่าสลดใจ”
อธิบายว่าการเลือกของผู้นำวิสุทธิชนยุคสุดท้ายบางคนและผู้ตั้งถิ่นฐานในเขตปกครองพิเศษทางตอนใต้ของยูทาห์ชักนำให้เกิดการสังหารหมู่อันน่าสลดใจที่เมาน์เทนเมโดวส์ ในทางตรงกันข้าม ผู้นำศาสนจักรและผู้นำเขตปกครองพิเศษซอลท์เลคซิตี้ยุติความขัดแย้งกับรัฐบาลสหรัฐผ่านการเจรจาสงบศึกในปี 1858 ระหว่างความขัดแย้งครั้งนี้—ต่อมาเรียกว่าสงครามยูทาห์—กองทัพสหรัฐกับทหารอาสายูทาห์เกี่ยวข้องกับการรุกรานแต่ไม่เคยร่วมรบ
-
ท่านจะสรุปการเลือกที่ชักนำให้เกิดการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์ว่าอย่างไร
-
เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรได้บ้างจากเรื่องสลดใจดังกล่าว (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมต่างๆ รวมทั้ง การเลือกปกปิดบาปสามารถชักนำเราให้ทำบาปมากขึ้น การเลือกปกปิดบาปสามารถทำให้เกิดความเสียใจและความทุกข์
รับรองกับนักเรียนว่าถ้าพวกเขาเริ่มไปตามเส้นทางของความผิดและบาป พวกเขาสามารถป้องกันความปวดร้าวและความเสียใจในอนาคตได้โดยหันมาหาพระเจ้าและกลับใจจากบาปของพวกเขา
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเอกสารแจกหัวข้อเรื่อง “ผู้นำศาสนจักรเรียนรู้จากการสังหารหมู่”
อธิบายว่าเพราะวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในท้องที่จำนวนหนึ่งรับผิดชอบเรื่องวางแผนและทำการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์ เหตุการณ์นี้ทำให้บางคนมีทัศนะด้านลบต่อศาสนจักรโดยรวม
-
เหตุใดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรู้ว่าการกระทำผิดของสมาชิกศาสนจักรบางคนไม่ได้ตัดสินความจริงของพระกิตติคุณ
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดในเอกสารแจกหัวข้อเรื่อง “ครบรอบ 150 ปี การสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์”
-
เราควรตอบสนองอย่างไรเมื่อเราเรียนรู้จากกรณีที่สมาชิกศาสนจักรไม่ดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเยซูคริสต์
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฮีลามัน 5:12 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตาม โดยมองหาว่าเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อพัฒนาและรักษาประจักษ์พยานของเราไว้เผื่อช่วงเวลายากลำบาก เช่น เมื่อเราเรียนรู้จากกรณีที่สมาชิกศาสนจักรไม่ดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเยซูคริสต์ ศรัทธาของเราจะไม่สั่นคลอน
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ฮีลามัน 5:12 เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อพัฒนาและรักษาประจักษ์พยานของเรา (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: เราจะพัฒนาประจักษ์พยานให้เข้มแข็งได้โดยสร้างศรัทธาของเราบนรากฐานของพระเยซูคริสต์)
เพื่ออธิบายหลักธรรมนี้ ให้ดูข้อความต่อไปนี้และเชิญคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“เจมส์ แซนเดอร์สเป็นเหลนชาย … ของเด็กคนหนึ่งที่รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ [และเป็นสมาชิกของศาสนจักรด้วย] … บราเดอร์แซนเดอร์ส … กล่าวว่า การทราบว่าบรรพชนของเขาเสียชีวิตในการสังหารหมู่ ‘ไม่ได้’ มีผลต่อศรัทธาของผม เพราะศรัทธาของผมอยู่บนฐานของพระเยซูคริสต์ ไม่ใช่คนในศาสนจักร’” (ริชาร์ด อี. เทอร์ลีย์ จูเนียร์, “The Mountain Meadows Massacre,” Ensign, Sept. 2007, 21)
-
ศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์จะทำให้เราเข้มแข็งขึ้นได้อย่างไรเมื่อเราเรียนรู้จากกรณีที่สมาชิกศาสนจักรไม่ดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด
-
ท่านทำอะไรที่ช่วยให้ท่านสร้างศรัทธาบนรากฐานของพระเยซูคริสต์
เป็นพยานถึงความสำคัญของการดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด โดยมีพื้นฐานศรัทธาของเราอยู่ที่พระองค์และพระกิตติคุณของพระองค์ เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะสร้างประจักษ์พยานบนรากฐานของพระเยซูคริสต์และตั้งเป้าหมายทำเช่นนั้นให้ดีขึ้นได้อย่างไร
สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน
-
“Peace and Violence among 19th-Century Latter-day Saints,” Gospel Topics, lds.org/topics