บทที่ 11
สุรเสียงของพระเจ้าในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา
คำนำ
พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาเป็นพยานหลักฐานยืนยันว่าพระผู้เป็นเจ้าตรัสกับศาสดาพยากรณ์ในยุคสุดท้ายและพระองค์ทรงกำลังเตรียมโลกให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ เมื่อเราอ่านการเปิดเผยที่พบในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา เราจะได้ยินสุรเสียงของพระเยซูคริสต์ เมื่อเราเข้าใจความสำคัญของพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา เราจะเห็นค่าคำสอนในนั้นเหนือกว่าความมั่งคั่งทั้งหมดของแผ่นดินโลก
ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน
-
เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน, “พระคัมภีร์มอรมอน พระคัมภีร์คำสอนและพันธสัญญา,” เลียโฮนา, ม.ค. 2005, 8-12
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
คำนำของพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา
สุรเสียงของพระเจ้าในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (1899-1994) ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงขณะนักเรียนที่เหลือดูตาม
“พระคัมภีร์มอรมอนนำมนุษย์มาสู่พระคริสต์ พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญานำมนุษย์มาสู่อาณาจักรของพระคริสต์ แม้ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ‘ศาสนจักรที่แท้จริงและดำรงอยู่แห่งเดียวตลอดทั้งพื้นพิภพ’ [คพ. 1:30] ข้าพเจ้าทราบเช่นนั้น
“พระคัมภีร์มอรมอนเป็น ‘ศิลาหลัก’ แห่งศาสนาของเรา พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาเป็นศิลายอดที่มีการเปิดเผยอย่างต่อเนื่องของยุคสุดท้าย พระเจ้าทรงประทับตราเห็นชอบทั้งศิลาหลักและศิลายอด” (“พระคัมภีร์มอรมอน พระคัมภีร์คำสอนและพันธสัญญา,” เลียโฮนา, ม.ค. 2005, 10)
-
ท่านพบอะไรในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาที่แสดงให้เห็นความสำคัญของหนังสือดังกล่าวต่อศาสนจักรและต่อสมาชิกแต่ละคน
ขอให้นักเรียนเปิดพระคัมภีร์หน้า คำนำของพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาตอนต้นเล่มพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา เชิญนักเรียนสองคนผลัดกันอ่านออกเสียงย่อหน้าหนึ่งและสามขณะนักเรียนที่เหลือดูตาม ขอให้นักเรียนมองหาด้านต่างๆ ที่พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาต่างจากพระคัมภีร์เล่มอื่น และสังเกตว่าคำนำเน้นเรื่องการฟังสุรเสียงของพระเจ้า จากนั้นให้ถามว่า
-
พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาต่างจากงานมาตรฐานเล่มอื่นอย่างไร
-
คำนำกล่าวอะไรเกี่ยวกับ “สุรเสียงของพระเจ้าพระเยซูคริสต์” (ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่า เมื่อเราศึกษาพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา เราจะได้ฝึกรู้จักสุรเสียงของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ อธิบายว่าวลี “สุรเสียงของพระเจ้า” หรือต่างจากนี้ เกิดขึ้นมากกว่า 40 ครั้งในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา [ตัวอย่างเช่น ดู คพ. 1:2; 18:35-36; 76:30]; วลี “พระเจ้าตรัสดังนี้” เกิดขึ้นมากกว่า 60 ครั้งในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา [ตัวอย่างเช่น ดู คพ. 36:1; 56:14]) การฟังสุรเสียงของพระเจ้าเป็นหัวข้อสำคัญในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ (1926–2004) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงขณะนักเรียนที่เหลือดูตาม
“ถ้าถามว่าพระคัมภีร์เล่มใดให้โอกาส ‘ฟัง’ พระเจ้าตรัสบ่อยที่สุด คนส่วนใหญ่จะนึกถึงพันธสัญญาใหม่ก่อน พันธสัญญาใหม่ เป็น การรวบรวมพระราชกรณียกิจและหลักคำสอนมากมายของพระเมสสิยาห์ แต่ในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาเราได้รับสุรเสียงเช่นเดียวกับพระวจนะของพระเจ้า เราแทบจะ ‘ได้ยิน’ พระองค์ตรัส” (“The Doctrine and Covenants: The Voice of the Lord,”Ensign, Dec. 1978, 4)
-
การฝึกฟังและรู้จักสุรเสียงของพระเจ้าผ่านการศึกษาพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาส่งผลอย่างไรในชีวิตท่าน
ให้เวลานักเรียนสองสามนาทีศึกษาคำนำย่อหน้าแปดของพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา ขอให้พวกเขาระบุหลักคำสอนที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้ถามว่า
-
อะไรทำให้พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา “สูงค่าเกินกว่าความมั่งคั่งของทั้งแผ่นดินโลก”
ท่านอาจแบ่งปันสิ่งที่เอ็ลเดอร์สตีเวน อี. สโนว์แห่งสาวกเจ็ดสิบกล่าวเกี่ยวกับการเปิดเผยที่พบในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา
“พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาสอนและย้ำหลักคำสอนสำคัญผ่านการเปิดเผยที่จรรโลงใจและสร้างแรงบันดาลใจเหล่านี้ … เอ็ลเดอร์จอห์น เอ. วิดท์โซ (1872-1952) เขียนว่า ‘หลักคำสอนทุกประการที่ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายสอน ไม่ว่าสรุปหรือพยากรณ์ไว้ ล้วนพบในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา เท่าที่ข้าพเจ้าทราบ ไม่มีหลักคำสอนใดที่ศาสนจักรสอนแล้วไม่พบในหนังสือเล่มนี้ในบางวิธีหรือบางรูปแบบ’ ท่านเสริมว่า พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาจำเป็นเพราะ ‘ไม่มีหนังสือศักดิ์สิทธิ์เล่มอื่นใดของเราอ้างได้ว่ามีหลักคำสอนทั่วทุกด้านของศาสนจักรเหมือนหนังสือเล่มนี้’ [The Message of the Doctrine and Covenants (1969), 117]” (“Treasuring the Doctrine and Covenants,”Ensign, Jan. 2009, 52).
เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันว่าการศึกษาพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาเป็นพรแก่ชีวิตพวกเขาอย่างไร
หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:1–17; 5:10
ภูมิหลังของพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา
อธิบายให้นักเรียนฟังว่าการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 1 เดิมทีพระเจ้าประทานให้เป็นคำปรารภของหนังสือพระบัญญัติ ซึ่งเป็นการรวบรวมการเปิดเผยของโจเซฟ สมิธชุดแรก ชุดการเปิดเผยดังกล่าว ตามด้วยการเปิดเผยของท่านศาสดาพยากรณ์อีกมากมายและ Lectures on Faith ต่อมาจัดพิมพ์เป็นพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา ภาค 1 พูดถึงความจำเป็นของพระคัมภีร์เล่มนี้ในสมัยของเรา ขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำนำของ พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา 1 ช่วยนักเรียนวิเคราะห์หัวบทของภาคนี้โดยถามคำถามต่อไปนี้
-
ที่การประชุมใหญ่พิเศษของเหล่าเอ็ลเดอร์พวกเขาเห็นพ้องในการตัดสินใจเรื่องใด (เรื่องจัดพิมพ์การเปิดเผยที่โจเซฟ สมิธได้รับจนถึงเวลานี้เป็นเล่ม) เตือนนักเรียนว่าถึงแม้หนังสือเล่มนี้เดิมทีเรียกว่าหนังสือพระบัญญัติ แต่ต่อมาเรียกว่าพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา)
เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:1-5 จากนั้นให้ถามนักเรียนว่า
-
พระเยซูคริสต์กำลังตรัสกับใครในข้อเหล่านี้
-
ท่านจะสรุปข่าวสารหลักที่บันทึกไว้ในข้อเหล่านี้ว่าอย่างไร
-
พระเจ้าตรัสว่าพระองค์จะทรงตักเตือนคนทั้งปวงอย่างไร (นักเรียนควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้ พระเจ้าตรัสเตือนคนทั้งปวงผ่านสานุศิษย์ที่พระองค์ทรงเลือกไว้)
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:12 จากนั้นให้ถามว่า
-
ตามเชิงอรรถ 12ข พระเจ้าทรงต้องการให้โลกเตรียมรับเหตุการณ์อะไร (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ท่านอาจกระตุ้นพวกเขาให้ดูเชิงอรรถเป็นประจำเพื่อให้ความกระจ่างและทำให้พวกเขาเข้าใจเนื้อหาพระคัมภีร์ลึกซึ้งยิ่งขึ้น)
ขอให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:14-16 ในใจ โดยมองหาคำอธิบายของพระเจ้าเกี่ยวกับโลกที่เราอาศัยอยู่ หลังจากนักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พบแล้ว ขอให้พวกเขาอ่าน ข้อ 17 และอธิบายว่าพระเจ้าทรงทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาที่กล่าวไว้ใน ข้อ 14-16
ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 5:10 ขณะที่นักเรียนคนอื่นดูตาม จากนั้นให้สนทนาคำถามต่อไปนี้
-
ท่านเรียนรู้อะไรจากข้อความนี้เกี่ยวกับการเรียกที่กำหนดไว้เป็นพิเศษของโจเซฟ สมิธ (นักเรียนควรระบุความจริงต่อไปนี้ พระเจ้าทรงเรียกโจเซฟ สมิธให้แจ้งพระวจนะของพระองค์ต่อโลก)
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“ในสิ่งอื่นทั้งหมดที่โจเซฟ [สมิธ] ทำสำเร็จ … เหนือสิ่งอื่นใดท่านได้ฝากมรดกอันแน่วแน่ของการเปิดเผยจากสวรรค์ไว้ให้เรา—ไม่ใช่การเปิดเผยเดี่ยวๆ ครั้งเดียวที่ไม่มีหลักฐานหรือผลตามมา และไม่ใช่ ‘การดลใจที่ค่อยๆ แทรกซึมเข้ามาในจิตใจคนดีทั้งปวง’ ทุกหนทุกแห่งทีละน้อย แต่เป็นคำแนะนำเฉพาะเจาะจง มีเอกสารยืนยัน และต่อเนื่องจากพระผู้เป็นเจ้า ดังเพื่อนที่ดีและนักวิชาการแอลดีเอสที่ซื่อสัตย์คนหนึ่งกล่าวไว้ชัดเจนว่า ‘ในเวลาที่ต้นกำเนิดของศาสนาคริสต์ถูกพลังโน้มน้าวตามหลักเหตุผลของการเคลื่อนไหวด้านปรัชญาโจมตี โจเซฟ สมิธได้นำศาสนาคริสต์สมัยใหม่กลับคืนสู่ต้นกำเนิดของศาสนาคริสต์ในการเปิดเผย [อย่างชัดเจนด้วยตัวท่านเอง]’ [Richard L. Bushman, “A Joseph Smith for the Twenty-First Century,” ใน Believing History (2004), 274]” (ดู “ศาสดา ผู้พยากรณ์ และผู้รับการเปิดเผย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2004, 9-10)
-
บทนี้ทำให้ท่านเข้าใจจุดประสงค์และความสำคัญของพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาลึกซึ้งขึ้นอย่างไร
-
พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาเสริมสร้างประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับการเรียกโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร
สรุปโดยถามว่านักเรียนคนใดต้องการแบ่งปันประจักษ์พยานเกี่ยวกับหลักคำสอน หลักธรรม และความจริงที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาหรือไม่
สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน
-
คำนำของพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา; หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:1–39; 5:10.
-
เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน, “พระคัมภีร์มอรมอน พระคัมภีร์คำสอนและพันธสัญญา,” เลียโฮนา, ม.ค. 2005, 8-12