บทที่ 10
แสวงหาความจริง
คำนำ
พระผู้เป็นเจ้าทรงกระตุ้นบุตรธิดาของพระองค์ให้ “แสวงหาการเรียนรู้, … โดยการศึกษาและโดยศรัทธาด้วย” (คพ. 88:118) การทำตามรูปแบบนี้ช่วยให้แต่ละคนมีคุณสมบัติพร้อมรับความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ในกระบวนการเรียนรู้ ปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตและแหล่งอื่นๆ ให้ข้อมูลมากมาย—จริงบ้าง เท็จบ้าง และชักนำให้หลงผิดบ้าง—เกี่ยวกับหลักคำสอนของศาสนจักร ประวัติศาสตร์ และจุดยืนเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม ทำให้เราต้องพึ่งพาพระวิญญาณบริสุทธิ์มากเป็นพิเศษเพื่อช่วยเราแยกแยะความจริงจากความเท็จ การฝึกระบุและใช้แหล่งข้อมูลที่เหมาะสมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการดังกล่าว
ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน
-
ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “ความจริงคืออะไร” (การให้ข้อคิดทางวิญญาณระบบการศึกษาของศาสนจักร, 13 ม.ค., 2013), lds.org/broadcasts.
-
“Gospel Learning,” Gospel Topics, lds.org/topics.
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:118, 121-126
รูปแบบของการเรียนรู้
อ่านออกเสียงคำอธิบายต่อไปนี้เกี่ยวกับโรงเรียนของศาสดาพยากรณ์ในเมืองเคิร์ทแลนด์ รัฐโอไฮโอ
“คริสต์ศักราช 1833 ท่านศาสดาพยากรณ์และวิสุทธิชนเคิร์ทแลนด์กลุ่มหนึ่งมีโอกาสพิเศษที่จะศึกษาพระกิตติคุณ ในเดือนมกราคมของปีนั้น ตามพระบัญชาของพระเจ้า (ดู คพ. 88:127-141) ท่านศาสดาพยากรณ์ได้จัดตั้งโรงเรียนของศาสดาพยากรณ์เพื่ออบรมผู้ดำรงฐานะปุโรหิตให้รู้งานของพวกเขาในการปฏิบัติศาสนกิจและเตรียมพวกเขาให้พร้อมสั่งสอนพระกิตติคุณ โรงเรียนดังกล่าวจัดในห้องชั้นสองของร้านนิวเวล เค. วิทนีย์ที่ท่านศาสดาพยากรณ์อาศัยอยู่ พี่น้องชายประมาณ 25 คนเข้าร่วม บางคนเดินทางหลายร้อยกิโลเมตรเพื่อมาศึกษาในห้องที่กว้างประมาณ 11 คูณ 14 ฟุต หลายคนได้เป็นอัครสาวก สาวกเจ็ดสิบ และผู้นำศาสนจักรในเวลาต่อมา แม้ท่านศาสดาพยากรณ์และพี่น้องชายคนอื่นๆ จะเรียนภาษาเป็นครั้งคราว แต่พวกท่านมุ่งเน้นการเรียนหลักคำสอนของพระกิตติคุณเป็นสำคัญ โดยตั้งใจศึกษาตั้งแต่เช้าตรู่จนบ่ายคล้อย โรงเรียนแห่งนี้เปิดอยู่นานสี่เดือน และได้จัดโรงเรียนคล้ายกันนี้ในเคิร์ทแลนด์และในมิสซูรีด้วย ซึ่งมีหลายร้อยคนเข้าร่วม” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 283)
อธิบายว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 88 ประกอบด้วยคำแนะนำจากพระเจ้าให้แก่คนที่จะเข้าศึกษาในโรงเรียนของศาสดาพยากรณ์ เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:118 ในใจโดยมองหารูปแบบของการเรียนรู้ที่พระเจ้าทรงกำหนด จากนั้นให้สนทนาคำถามต่อไปนี้
-
ท่านคิดว่า “แสวงหาการเรียนรู้ … โดยการศึกษาและโดยศรัทธาด้วย” หมายความว่าอย่างไร
-
การทำตามรูปแบบนี้ทำให้เราสามารถเรียนรู้เพิ่มขึ้นในลักษณะใดบ้าง (นักเรียนอาจให้คำตอบหลากหลาย แต่พวกเขาพึงเข้าใจชัดเจนว่า เมื่อเรารวมศรัทธาไว้ในกระบวนการเรียนรู้ เราย่อมมีคุณสมบัติพร้อมรับความช่วยเหลือจากพระเจ้า)
เชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:121–126ซึ่งบันทึกคำแนะนำเพิ่มเติมจากพระเจ้าสำหรับโรงเรียนของศาสดาพยากรณ์ ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตาม โดยมองหาหลักธรรมที่ช่วยให้เราเข้าใจวิธีเรียนรู้โดยศรัทธา ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายสิ่งที่พวกเขาพบ ท่านอาจเขียนหลักธรรมเหล่านี้บนกระดานขณะนักเรียนแบ่งปัน ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนว่า “หลักธรรมที่สอนวิธีเรียนรู้โดยศรัทธา” ไว้ตรงช่องว่างริมหน้าพระคัมภีร์ของพวกเขาใกล้กับข้อเหล่านี้ (หมายเหตุ: การทำหมายเหตุตรงช่องว่างริมหน้าพระคัมภีร์จะช่วยให้นักเรียนพบและจำหลักธรรมสำคัญได้ง่ายขึ้น ถ้ามีเวลา ท่านอาจขอให้นักเรียนค้นคว้า แอลมา 32:28, 41-43 และ ยอห์น 7:17 เพื่อหาหลักธรรมเพิ่มเติม
-
การดำเนินชีวิตตามหลักธรรมที่สอนในข้อเหล่านี้จะช่วยให้เราเรียนรู้โดยการศึกษาและโดยศรัทธาได้อย่างไร (ขณะที่นักเรียนตอบ ท่านอาจต้องการเน้นว่าการทำตามหลักธรรมเหล่านี้จะช่วยให้เรามีคุณสมบัติพร้อมรับความช่วยเหลือจากพระวิญญาณ)
-
เมื่อเรามีคุณสมบัติพร้อมให้พระวิญญาณของพระเจ้าสถิตกับเรา พระวิญญาณองค์นี้ส่งผลต่อการค้นหาความจริงของเราอย่างไร
หลักคำสอนและพันธสัญญา 91:1-6
แยกแยะความจริงจากความเท็จ
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ แห่งฝ่ายประธานสูงสุด และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“เวลานี้เราเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์ของโลก --- บ้างก็จริง บ้างก็เท็จ และส่วนใหญ่แล้วจริงเพียงบางส่วน
“ด้วยเหตุนี้ การรู้วิธีแยกแยะระหว่างความจริงกับความเท็จอย่างถูกต้องจึงสำคัญกว่าที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์ของโลก” (“ความจริงคืออะไร” [การให้ข้อคิดทางวิญญาณระบบการศึกษาของศาสนจักร, 13 ม.ค. 2013), 3, lds.org/broadcasts)
-
อาจเกิดผลลัพธ์อะไรบ้างถ้าเราไม่ฝึกแยกแยะระหว่างความจริงกับความเท็จ
เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บน กระดาน
อธิบายว่าการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 91 สอนโจเซฟ สมิธให้รู้วิธีแยกแยะว่าสิ่งที่ท่านกำลังอ่านในอะพอครีฟาจริงหรือไม่ ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หัวบทภาค 91 ขณะที่นักเรียนคนอื่นดูตาม จากนั้นให้นักเรียนพิจารณาคำถามบนกระดานขณะพวกเขาศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 91 ในชั้นเรียน
อธิบายว่าอะพอครีฟาคือชุดหนังสือศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนชาวยิวรวบรวมไว้ หนังสือเหล่านี้เดิมทีไม่รวมอยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิลภาษาฮีบรู (พันธสัญญาเดิม) แต่รวมอยู่ในงานแปลพระคัมภีรไบเบิลภาษากรีกก่อนสมัยของพระคริสต์ไม่นาน เมื่อชาวคริสต์สมัยแรกรวบรวมหนังสือพระคัมภีร์ไบเบิลในอีกหลายศตวรรษต่อมา พวกเขารวมหนังสืออะพอครีฟาไว้เป็นภาคผนวก ศาสนาคริสต์บางนิกายพิจารณาว่าหนังสืออะพอครีฟาเป็นพระคัมภีร์ แต่ศาสนาอื่นไม่เชื่อว่าเป็นงานเขียนที่ได้รับการดลใจ พระคัมภีร์ไบเบิลฉบับที่โจเซฟ สมิธใช้สร้างงานแปลที่ได้รับการดลใจมีอะพอครีฟารวมอยู่ด้วย โจเซฟทูลถามพระเจ้าว่าการแปลพระคัมภีรไบเบิลของท่านควรรวมหนังสือเหล่านี้ไว้ด้วยหรือไม่
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 91:1-3
-
โจเซฟเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับอะพอครีฟา (ท่านอาจต้องการอธิบายว่า คำสอดแทรก คือเนื้อหาที่แทรกเข้ามาในต้นฉบับ บางครั้งเกิดจากความผิดพลาดในการใช้คำศัพท์ผิดของต้นฉบับเดิม)
เชิญนักเรียนอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 91:4-6
-
คำแนะนำใน ข้อ 4-6 จะช่วยเราแยกแยะความจริงจากความเท็จ และประเมินความน่าเชื่อถือของสิ่งที่เราอ่านได้อย่างไร (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาพึงระบุความจริงต่อไปนี้ พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสามารถช่วยให้เรารู้ได้ว่าสิ่งที่เราอ่านจริงหรือไม่)
อธิบายว่าข้อมูลมากมายทางอินเทอร์เน็ตทำให้เราแต่ละคนจำเป็นต้องมีของประทานฝ่ายวิญญาณแห่งการเล็งเห็น (การแยกแยะ) มากขึ้น (ดู คพ. 46:23) ด้วยเหตุนี้เราจึงรู้วิธีแยกแยะความจริงจากความเท็จอย่างถูกต้อง (ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุที่ของประทานแห่งการเล็งเห็นสำคัญมากในชีวิตเรา ดูได้จากบทความของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์เรื่อง “ช่างสังเกต,” เลียโฮนา, ธ.ค. 2006, 14-20)
แจกสำเนา คำกล่าว ต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์สตีเวน อี. สโนว์แห่งสาวกเจ็ดสิบ เชื้อเชิญนักเรียนให้ค้นคว้าสองย่อหน้าแรกเพื่อหาคำแนะนำที่เอ็ลเดอร์สโนว์ให้ไว้เกี่ยวกับการประเมินข้อมูลที่เราอ่านเกี่ยวกับประวัติและคำสอนของศาสนจักร
-
เนื่องจากเราจำเป็นต้องประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับประวัติและคำสอนของศาสนจักรอย่างถี่ถ้วน ท่านจะใช้คำสอนของเอ็ลเดอร์สโนว์ช่วยประเมินความน่าเชื่อถือของสิ่งที่ท่านอ่านเกี่ยวกับศาสนจักรได้อย่างไร
เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านข้อความของเอ็ลเดอร์สโนว์ย่อหน้าที่สามในใจ จากนั้นให้สนทนาคำถามต่อไปนี้
-
คำแนะนำของเอ็ลเดอร์สโนว์จะช่วยอย่างไรเมื่อท่านพบข้อมูลที่อาจท้าทายความเชื่อของท่าน
ยังคงมีศรัทธาเมื่อเกิดคำถาม
อธิบายว่าสมาชิกศาสนจักรบางครั้งมีคำถามหรือแม้แต่ข้อสงสัยเกี่ยวกับหลักคำสอน ประวัติ หรือจุดยืนของศาสนจักรเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟกับนักเรียนของท่าน
“เป็นเรื่องปรกติที่จะมีคำถาม—เมล็ดเล็กของความอยากรู้อย่างจริงใจมักจะงอกงามเติบโตเป็นต้นโอ๊คสูงใหญ่ของความเข้าใจ มีสมาชิกศาสนจักรเพียงไม่กี่คน ในต่างช่วงต่างวาระกัน ที่ยังไม่เคยต่อสู้กับคำถามหนักหน่วงหรือคำถามละเอียดอ่อน จุดประสงค์หนึ่งของศาสนจักรคือบำรุงเลี้ยงและบ่มเพาะเมล็ดแห่งศรัทธา—บางครั้งแม้กระทั่งในดินทรายแห่งความสงสัยไม่แน่ใจ” (“เชิญมาร่วมกับเรา,” Ensign หรือ เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 23).
จัดเตรียมเอกสาร แยกแยะความจริงจากความเท็จ ให้นักเรียนแต่ละคนซึ่งจะมีคำแนะนำจากผู้นำศาสนจักรสำหรับคนที่มีคำถามหรือข้อสงสัย เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านข้อความจากเอกสารแจกในใจและระบุหลักธรรมที่จะช่วยบางคนรับมือกับคำถามหรือข้อสงสัยด้วยศรัทธา หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้นักเรียนอธิบายว่าสิ่งที่พวกเขาอ่านจากเอกสารแจกจะช่วยคนที่มีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับหลักคำสอน ประวัติ หรือจุดยืนของศาสนจักรที่เป็นประเด็นทางสังคมอย่างไร
ขณะที่ท่านสรุปบทเรียน ให้เน้นว่าถึงแม้จะมีคำถามบางข้อที่เราหาคำตอบไม่ได้ชั่วชีวิตแต่ เราจะพบคำตอบของคำถามสำคัญที่สุดเมื่อเราเชื่อฟังพระบัญญัติ ศึกษาแหล่งข้อมูลที่เหมาะสม—โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต—แสวงหาการนำทางผ่านการสวดอ้อนวอน ใช้ความอดทนและศรัทธา
เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันประสบการณ์ที่พวกเขาเคยมีเมื่อรู้สึกว่าความช่วยเหลือจากพระเจ้านำทางพวกเขาให้พบความจริงและคำตอบของคำถาม
กระตุ้นให้นักเรียนทบทวนข้อความในเอกสารแจก และเชื้อเชิญให้พวกเขาทำตามคำแนะนำจากบทเรียนเพื่อแสวงหาการเรียนรู้โดยการศึกษาและโดยศรัทธา
สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน
-
ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “ความจริงคืออะไร” (การให้ข้อคิดทางวิญญาณระบบการศึกษาของศาสนจักร, 13 ม.ค., 2013), lds.org/broadcasts.