2018
ศรัทธาที่จะผลักดันไปข้างหน้า
กรกฎาคม 2018


ศรัทธา ที่จะผลักดันไปข้างหน้า

จากข่าวสารการประชุมพิเศษตอนเช้าตรู่ของวันผู้บุกเบิกที่แทเบอร์นาเคิลในซอลท์เลคซิตี้ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 2007

สมาชิกของกลุ่มรถลากวิลลีเข็นรถไปข้างหน้าฝ่าความยากลำบากและความหิวโหยโดยมีประจักษ์พยานในพระเจ้าพระเยซูคริสต์เป็นแรงผลักดัน

ภาพ
Gloucester countryside

ซ้าย: กลอสเตอร์ยุคปัจจุบัน ประเทศอังกฤษ ชนบท

ภาพถ่ายโดย เอ็ดดี้คลาวด์/stock.adobe.com

เรื่องราวที่ข้าพเจ้าประสงค์จะแบ่งปันเริ่มต้นในแถบชนบทเขียวชะอุ่มบนเนินเขาของอังกฤษ ที่ซึ่งจอห์น เบ็นเนตต์ ฮ็อว์คินส์เกิดในเมืองกลอสเตอร์เมื่อปี 1825 เขารับบัพติศมาเป็นสมาชิกของศาสนจักรในปี 1849 และเดินทางไปอเมริกาปีนั้นพร้อมวิสุทธิชนยุคสุดท้ายกลุ่มหนึ่งบนเรือ เฮนรีย์ แวร์ เขามาถึงยูทาห์ในเดือนสิงหาคม ปี 1852 และเป็นช่างตีเหล็กยุคบุกเบิกคนหนึ่งในช่วงแรกๆ ของถิ่นฐานยูทาห์

ซาราห์ เอลิซาเบธ มูลตันเจ้าสาวในอนาคตของเขามาจากแถบชนบทของอังกฤษเช่นกัน ไอร์เชสเตอร์เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ใกล้แม่น้ำเนเน อยู่ทางเหนือของลอนดอนราว 65 ไมล์ (105 กิโลเมตร) และอยู่ทางตะวันออกของเบอร์มิงแฮมในระยะทางเท่ากัน ซาราห์ เอลิซาเบธเกิดที่นั่นเมื่อปี 1837 เป็นธิดาของโธมัส มูลตันกับเอสเธอร์ มาร์ช มารดาของซาราห์ เอลิซาเบธสิ้นชีวิตเมื่อเธออายุเพียงสองขวบ และในปี 1840 บิดาของเธอแต่งงานกับซาราห์ เดนตัน

ในเดือนมิถุนายน ปี 1837 เอ็ลเดอร์ฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์ (1801–1868) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองและผู้นำศาสนจักรท่านอื่นๆ อยู่ทำงานเผยแผ่ศาสนาในอังกฤษ ในบรรดาผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสจำนวนมากที่ผู้สอนศาสนาเหล่านี้สอนคือครอบครัวหนึ่งซึ่งได้รับหนังสือเล่มเล็กชื่อว่า เสียงแห่งการเตือน จากเอ็ลเดอร์พาร์ลีย์ พี. แพรทท์ (1807–1857) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนั้น โธมัสกับซาราห์เปลี่ยนใจเลื่อมใสและรับบัพติศมาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 1841 เวลานั้นครอบครัวมีบุตรเพียงสองคน—คือซาราห์ เอลิซาเบธ อายุสี่ขวบ กับแมรีย์ แอน อายุเจ็ดเดือน

ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสในยุโรปตั้งใจแน่วแน่ที่จะไปรวมกับวิสุทธิชนคนอื่นๆ ความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ของพวกเขาคืออพยพไปอเมริกา ซึ่งพวกเขาจะได้อยู่กับวิสุทธิชนส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับคนอื่นๆ อีกหลายคน ครอบครัวมูลตันมีเงินไม่มากพอจะทำฝันนี้ให้เป็นจริง แต่พวกเขาตั้งใจแน่วแน่และเริ่มออมเงินไว้ในโหลผลไม้

กองทุนต่อเนื่องเพื่อการอพยพ

คริสต์ศักราช 1849 ประธานบริคัม ยังก์ (1801–1877) จัดตั้งกองทุนต่อเนื่องเพื่อการอพยพเพื่อช่วยให้สมาชิกศาสนจักรเดินทางโดยปลอดภัยไปถึงอเมริกา กลุ่มแรกที่เดินทางด้วยความช่วยเหลือของกองทุนนี้เดินทางโดยขบวนเกวียน แต่วิธีนี้ล่าช้าและใช้เงินมาก แม้จะได้ความช่วยเหลือจากกองทุนต่อเนื่องเพื่อการอพยพ แต่มีไม่กี่คนที่มีทุนทรัพย์พอจะเดินทางได้ ผู้นำศาสนจักรเข้ามาดูเรื่องการใช้รถลากและทราบว่ารถลากจะทำให้การเดินทางเร็วขึ้นและเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง

ตอนนั้นครอบครัวมูลตันมีบุตรเจ็ดคน แต่ด้วยเงินออมในโหลผลไม้ ความช่วยเหลือจากกองทุนต่อเนื่องเพื่อการอพยพ และวิธีเดินทางที่ถูกลง ความฝันเรื่องการอพยพของพวกเขาจึงเป็นไปได้ สำหรับครอบครัวที่มีเก้าคน ต้องวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อเตรียมเดินทาง เพื่อออมเงินมากขึ้นสำหรับซื้อสิ่งที่จำเป็น พวกเขาจึงกินแป้งจากข้าวบาร์เลย์เป็นอาหารหลักเกือบหนึ่งปี

เมื่อถึงเวลาออกเดินทาง โธมัสลังเลเพราะภรรยาของเขากำลังใกล้คลอด แต่ซาราห์ เดนตัน มูลตันเป็นสตรีที่มีศรัทธาและไม่อาจยับยั้งเธอได้ ก่อนพวกเขาออกจากอังกฤษ ผู้สอนศาสนาคนหนึ่งให้พรซาราห์ซึ่งเขาสัญญาว่าถ้าเธอจะไปยูทาห์ เธอจะเดินทางปลอดภัยโดยไม่สูญเสียสมาชิกในครอบครัวแม้แต่คนเดียว—นั่นเป็นพรที่สัญญาไว้กับครอบครัวที่อีกไม่นานจะมี 10 คน!

ครอบครัวผู้โดยสารเรือ ธอร์นตัน จากเมืองลิเวอร์พูล อังกฤษในปี 1856 ต้อนรับบุตรชายแรกคลอดหลังจากเดินทางได้เพียงสามวัน เรือ ธอร์นตัน เช่ามาเพื่อขนส่งวิสุทธิชนชาวเดนมาร์ก สวีเดน และอังกฤษ 764 คน พวกเขาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้สอนศาสนาคนหนึ่งชื่อเจมส์ เกรย์ วิลลี

หกสัปดาห์ต่อมา ธอร์นตัน แล่นเข้าสู่ท่าเรือนิวยอร์ก จากนั้นครอบครัวมูลตันขึ้นรถไฟเดินทางไกลไปตะวันตก พวกเขามาถึงไอโอวาซิตี รัฐไอโอวาในเดือนมิถุนายน ปี 1856 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับคณะรถลาก เพียงสามวันก่อนพวกเขามาถึง คณะรถลากของกัปตันเอ็ดเวิร์ด บังเคอร์ออกจากไอโอวาซิตีโดยใช้รถลากเป็นจำนวนมาก

เรื่องปวดศีรษะเกี่ยวกับรถลาก

ราวสองสัปดาห์ให้หลัง วิสุทธิชนอีกกลุ่มหนึ่งภายใต้การกำกับดูแลของเอ็ดเวิร์ด มาร์ตินมาสมทบกับคณะวิลลี ตัวแทนศาสนจักรที่ไอโอวาซิตีผู้ทำงานไม่หยุดเพื่อจัดหาและส่งคณะรถลากสามคณะแรกออกไป บัดนี้ต้องทำงานจนหัวปั่นเพื่อจัดหารถลากให้คนกลุ่มใหญ่อย่างคาดไม่ถึงที่จะมาภายหลัง พวกเขาต้องต่อรถลากให้เสร็จ 250 คัน วิสุทธิชนเหล่านี้จึงจะเดินทางต่อได้

ชายกำยำทุกคนต้องช่วยต่อรถลาก ส่วนผู้หญิงทำเต็นท์หลายสิบหลังสำหรับการเดินทาง ช่างต่อรถลากสมัครเล่นหลายคนไม่ทำตามคุณสมบัติที่กำหนดแต่ทำออกมาหลายขนาดและแข็งแรงไม่เท่ากัน ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาภายหลัง เพราะเหตุจำเป็นพวกเขาจึงต้องต่อรถลากจำนวนหนึ่งจากไม้สดที่ยังไม่แห้ง และในบางกรณีต้องใช้หนังดิบและดีบุกทำล้อ รถลากแต่ละคันบรรทุกอาหารและข้าวของทั้งหมดของวิสุทธิชนจำนวนมาก

บ่อยครั้งรถลากแต่ละคันต้องบรรทุกแป้ง เครื่องนอน เครื่องครัว และเครื่องนุ่งห่ม 400 ถึง 500 ปอนด์ (180 ถึง 230 กิโลกรัม) แต่ละคนได้รับอนุญาตให้วางกระเป๋าเดินทางไว้บนรถลากได้เพียง 17 ปอนด์ (8 กิโลกรัม) เท่านั้น

โธมัส มูลตันกับครอบครัว 10 คนของเขาได้รับมอบหมายให้ไปกับคณะรถลากกลุ่มที่สี่ภายใต้การกำกับดูแลของกัปตันวิลลีอีกครั้ง คณะนี้ประกอบด้วยวิสุทธิชน 400 คน มีจำนวนผู้สูงวัยมากกว่าปกติ รายงานในเดือนกันยายนของปีนั้นระบุว่า “คน 404 คน เกวียน 6 เล่ม รถลาก 87 คัน วัวเทียมแอก 6 คู่ แม่วัว 32 ตัว และล่อ 5 ตัว”1

ครอบครัวมูลตันได้รับอนุญาตให้ใช้รถลากเปิดประทุนหนึ่งคันกับรถลากมีหลังคาหนึ่งคัน โธมัสกับภรรยาลากรถที่มีหลังคา ทารกแรกเกิดชาร์ลส์กับลิซซีพี่สาว (โซเฟีย เอลิซาเบธ) อยู่ในรถลากคันนี้ ลอตตี (ชาร์ลอตต์) จะขึ้นรถลากได้ก็ต่อเมื่อรถลากกำลังลงเขา เจมส์ ฮีเบอร์วัยแปดขวบเดินอยู่ข้างหลังโดยมีเชือกผูกรอบเอวเพื่อกันไม่ให้เขาพลัดหลง รถลากหนักๆ อีกคันลากโดยลูกสาวคนโตสองคน—ซาราห์ เอลิซาเบธ (19 ปี) และแมรีย์ แอน (15 ปี)—กับน้องชายสองคนคือวิลเลียม (12 ขวบ) และโจเซฟ (10 ขวบ)

ในเดือนกรกฎาคม ปี 1856 ครอบครัวมูลตันอำลาไอโอวาซิตีและเริ่มเดินทาง 1,300 ไมล์ (2,090 กิโลเมตร) ไปตะวันตก หลังจากเดินทางได้ 26 วัน พวกเขามาถึงวินเทอร์ควอร์เตอร์ส (ฟลอเรนซ์) รัฐเนแบรสกา พวกเขาใช้เวลาหลายวันที่นั่นซ่อมรถลากและเพิ่มเสบียงเนื่องจากไม่มีเมืองใหญ่ระหว่างวินเทอร์ควอร์เตอร์สกับซอลท์เลคซิตี้

กว่าคณะวิลลีจะพร้อมออกจากวินเทอร์ควอร์เตอร์สก็เข้าปลายฤดูแล้วจึงต้องจัดสภาเพื่อตัดสินใจว่าควรไปหรืออยู่จนกว่าจะถึงฤดูใบไม้ผลิ บางคนที่เคยเดินทางเส้นนั้นเตือนให้พวกเขาระวังอันตรายของการเดินทางปลายฤดู แต่กัปตันวิลลีและสมาชิกอีกหลายคนในคณะรู้สึกว่าพวกเขาควรเดินทางต่อเพราะไม่มีที่ให้พักช่วงฤดูหนาวในฟลอเรนซ์

เสบียงร่อยหรอ

เนื่องจากเสบียงไม่พอ สมาชิกของคณะวิลลีจึงเริ่มเดินทางอีกครั้งวันที่ 18 สิงหาคมโดยคิดว่าพวกเขาจะเพิ่มเสบียงได้ที่ฟอร์ตลารามี (ทางเหนือของลารามีปัจจุบัน รัฐไวโอมิง) เพราะคำเตือนที่พวกเขาได้รับ พวกเขาจึงวางถุงแป้งอีก 100 ปอนด์ (45 กิโลกรัม) ไว้ในรถลากแต่ละคันและวางใจว่าพวกเขาจะพบเกวียนเสบียงที่ถูกส่งมาจากซอทล์เลคซิตี้ แต่คนขับเกวียนเสบียงคิดว่าไม่มีผู้อพยพมาอีกแล้วพวกเขาจึงกลับไปซอลท์เลคซิตี้ปลายเดือนกันยายนก่อนคณะวิลลีจะมาถึงพวกเขา

ในเมืองฟลอเรนซ์ ครอบครัวมูลตันพบว่าน่าจะทิ้งเสบียงกล่องหนึ่งไว้เพราะสัมภาระที่พวกเขาต้องลากให้ครอบครัว 10 คนมีน้ำหนักมากเกิน ตอนนั้นพวกเขาทิ้งกระเป๋าเดินทางไว้ที่ท่าเรือในลิเวอร์พูล ทิ้งเสื้อผ้ากล่องหนึ่งไว้บนเรือ ทิ้งเสื้อผ้าหีบหนึ่งไว้ที่นิวยอร์กซิตี และทิ้งข้าวของส่วนตัวหีบหนึ่งไว้ที่ไอโอวาซิตี พวกเขามองหาวิธีผ่อนภาระของพวกเขาระหว่างทางด้วย

ภาพ
Scotts Bluff National Monument

อนุสาวรีย์แห่งชาติสก็อตส์บลัฟฟ์ทางตะวันตกของรัฐเนแบรสกา สหรัฐอเมริกา

ภาพถ่ายจาก Getty Images

คนที่ชอบความสบายทุกอย่างของชีวิตสมัยใหม่นึกภาพความทุกข์แต่ละวันของครอบครัวมูลตัน และชายหญิงคนอื่นๆ ของคณะรถลากเหล่านั้นไม่ออกแน่นอน เรานึกภาพมือเท้าระบม กล้ามเนื้ออักเสบ ฝุ่นและกรวด ผิวเกรียมแดด แมลงและยุง ฝูงวัวแตกตื่น และการเผชิญหน้ากับชาวอินเดียนแดงออกหรือไม่ เรานึกภาพการข้ามแม่น้ำ ความยากของทรายและหินลื่นขณะพยายามเข็นรถข้ามแม่น้ำลึกหรือไหลเชี่ยวออกหรือไม่ เราเข้าใจความอ่อนล้าที่เกิดจากภาวะทุพโภชนาการหรือไม่

ระหว่างการเดินทาง ลูกๆ ของครอบครัวมูลตันเข้าเก็บรวงข้าวสาลีป่าที่หล่นในทุ่งกับคุณแม่ของพวกเขาเพื่อเพิ่มอาหารให้กับเสบียงที่ร่อยหรออย่างรวดเร็ว ช่วงหนึ่งครอบครัวมีเพียงขนมปังบาร์เลย์กับแอปเปิ้ลให้สมาชิกครอบครัวกินสามคนต่อหนึ่งผลเท่านั้น

ก่อนค่ำของวันที่ 12 กันยายน ผู้สอนศาสนากลุ่มหนึ่งกลับจากคณะเผยแผ่บริติชมาถึงค่าย หัวหน้ากลุ่มคือเอ็ลเดอร์แฟรงคลิน ดี. ริชาร์ดส์ (1821–1899) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองซึ่งเป็นคุณพ่อของคุณตาทวดของภรรยาข้าพเจ้า เมื่อเอ็ลเดอร์ริชาร์ดส์กับคนอื่นๆ เห็นความยากลำบากของคณะรถลาก พวกเขาสัญญาจะรีบไปให้ถึงหุบเขาซอลท์เลคและส่งคนมาช่วยเร็วที่สุด

วันที่ 30 กันยายน คณะวิลลีมาถึงฟอร์ตลารามี รัฐไวโอมิง อยู่ทางตะวันออกของซอลท์เลคซิตี้ 400 ไมล์ (645 กิโลเมตร)

ต้นเดือนตุลาคม ย่างเข้าฤดูหนาว และความยากลำบากทวีคูณขณะที่คณะรถลากพยายามเดินต่อไป เสบียงเหลือน้อยมากจนกัปตันวิลลีต้องลดอัตราส่วนของแป้งให้เหลือ 15 ออนซ์ (425 กรัม) สำหรับผู้ชาย 13 ออนซ์สำหรับผู้หญิง 9 ออนซ์สำหรับเด็ก และ 5 ออนซ์สำหรับทารก ไม่นานพวกเขาก็เผชิญกับลมอื้ออึงและหิมะโปรยปราย เช้าวันที่ 20 ตุลาคม หิมะหนา 4 นิ้ว (10 เซนติเมตร) เต็นท์และหลังคาเกวียนล่มเพราะน้ำหนักหิมะ สมาชิกห้าคนในคณะและสัตว์ลากรถบางตัวเสียชีวิตเพราะความหนาวเย็นและความอดอยากในคืนก่อนเกิดพายุ และสมาชิกอีกห้าคนเสียชีวิตตลอดสามวันติดต่อกัน ชายที่ยังแข็งแรงหลายคนต้องสละอาหารให้สตรี เด็ก และคนป่วยกิน

กลุ่มบรรเทาทุกข์ออกเดินทาง

ภาพ
Sweetwater River

แม่น้ำสวีทวอเทอร์ใกล้มาร์ตินส์โคฟ รัฐไวโอมิง สหรัฐอเมริกา

สองไมล์ (3 กิโลเมตร) ทางตอนใต้ของเทือกเขาร็อกกีบนแม่น้ำสวีทวอเทอร์ คณะตั้งค่ายรอท่ามกลางความอดอยาก ความหนาวเย็น และความทุกข์ยากเพื่อให้พายุผ่านไป

เมื่อกลุ่มของแฟรงคลิน ดี. ริชาร์ดส์มาถึงซอลท์เลคซิตี้ พวกเขารายงานประธานยังก์ทันทีเรื่องสภาพที่ไม่ปลอดภัยของผู้อพยพ วิสุทธิชนในหุบเขาไม่คิดว่าจะมีผู้อพยพอีกจนกระทั่งปีต่อมา และข่าวสถานการณ์เลวร้ายของพวกเขาแพร่ไปเหมือนไฟป่า

สองวันต่อมา วันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1856 การประชุมใหญ่สามัญจัดในแทเบอร์นาเคิลหลังเก่า จากแท่นพูดประธานยังก์ขอกำลังคน อาหาร และเสบียงใส่เกวียนที่ลากด้วยม้าหรือล่อเพื่อออกเดินทางไปให้ความช่วยเหลือในวันถัดไป2

จอห์น เบ็นเนตต์ ฮอว์คินส์อยู่ในแทเบอร์นาเคิลหลังเก่าวันนั้นและตอบรับคำขอให้ช่วย เขาเป็นหนึ่งในหลายร้อยคนในกลุ่มบรรเทาทุกข์ที่ออกเดินทางจากซอลท์เลคซิตี้ ช่วงเย็นวันที่ 21 ตุลาคม ขบวนเกวียนช่วยชีวิตมาถึงคณะวิลลี ผู้รอดชีวิตที่หิวโซและหนาวจัดต้อนรับพวกเขาด้วยความยินดีและความสำนึกคุณ นี่เป็นการพบกันครั้งแรกของจอห์น เบ็นเนตต์ ฮอว์คินส์กับซาราห์ เอลิซาเบธ มูลตันผู้กลายเป็นคุณตาคุณยายทวดของข้าพเจ้า

วันที่ 22 ตุลาคม ผู้ช่วยชีวิตบางคนรีบไปช่วยคณะรถลากคณะอื่น ส่วนวิลเลียม เอช. คิมบัลล์กับเกวียนที่เหลือเริ่มพาคณะวิลลีกลับไปซอลท์เลคซิตี้

คนที่อ่อนแรงเกินกว่าจะลากรถต่างวางทรัพย์สมบัติของพวกเขาไว้ในเกวียนและเดินอยู่ข้างเกวียน คนที่เดินไม่ไหวจะนั่งในเกวียน เมื่อพวกเขามาถึงสันเขาร็อกกี พายุหิมะน่ากลัวอีกลูกหนึ่งพัดกระหน่ำพวกเขา ขณะพวกเขาพยายามปีนขึ้นไปด้านข้างสันเขา พวกเขาต้องห่อตัวด้วยผ้าห่มเพื่อไม่ให้หนาวตาย คนในคณะรถลากเสียชีวิตไปแล้วราว 40 คน3

อากาศหนาวมากจนวิสุทธิชนจำนวนมากถูกหิมะกัดมือ เท้า และใบหน้าขณะข้ามสันเขา สตรีคนหนึ่งตาบอดเพราะความหนาวจัด

เรานึกภาพครอบครัวมูลตันออก ครอบครัวที่มีลูกแปดคนทั้งลากและเข็นรถลากสองคันของพวกเขาขณะพยายามฝ่าหิมะหนาเตอะ โธมัสกับภรรยาลากรถคันหนึ่งที่มีของล้ำค่าอยู่ในนั้น—คือลอตตี ลิซซี และลูกอ่อนชื่อชาร์ลส์—กับเด็กน้อยเจมส์ ฮีเบอร์ที่เดินล้มลุกคลุกคลานและถูกลากไปตามเชือกที่มัดไว้รอบเอว ซาราห์ เอลิซาเบธกับลูกอีกสามคนลากและเข็นรถอีกคัน สตรีสูงวัยใจดีคนหนึ่งเมื่อเห็นเด็กน้อยเจมส์ ฮีเบอร์ในสภาพนั้น จึงคว้ามือเขาไว้ขณะที่เขาล้มลุกคลุกคลานอยู่หลังรถลาก ความมีน้ำใจครั้งนี้ช่วยไม่ให้มือขวาของเขาแข็งตายภายใต้สภาพอากาศต่ำกว่าศูนย์องศา แต่ช่วยมือซ้ายไว้ไม่ได้ เมื่อพวกเขามาถึงซอลท์เลคซิตี้ เขาถูกตัดนิ้วที่มือข้างนั้นหลายนิ้ว

ช่วงบ่ายของวันที่ 9 พฤศจิกายน เกวียนของผู้ประสบภัยหยุดอยู่หน้าตึกสำนักงานส่วนสิบ ปัจจุบันคืออาคารโจเซฟ สมิธเมโมเรียลซึ่งตั้งอยู่ในซอลท์เลคซิตี้ หลายคนมาถึงพร้อมกับแขนขาที่ไร้ความรู้สึก หกสิบเก้าคนเสียชีวิตระหว่างทาง แต่คำสัญญากับครอบครัวมูลตันในพรนั้นในอังกฤษเป็นจริง โธมัสกับซาราห์ เดนตัน มูลตันไม่เสียลูกแม้แต่คนเดียว

จากการช่วยชีวิตเป็นรักหวานชื่น

พลเมืองซอลท์เลคหลายร้อยคนที่รอคณะรถลากอย่างใจจดจ่อพากันออกมาต้อนรับและพร้อมช่วยดูแลพวกเขา ในไม่ช้าความซาบซึ้งใจและความสำนึกคุณต่อวีรบุรุษวัยหนุ่มคนหนึ่งผู้เคยช่วยครอบครัวมูลตันจากเงื้อมมือมัจจุราชก็กลายเป็นความรักหวานชื่นสำหรับซาราห์ เอลิซาเบธ

วันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1856 ท่ามกลางคำอวยพรของคนที่รักเธอ ซาราห์ เอลิซาเบธแต่งงานกับจอห์น เบ็นเนตต์ ฮอว์คินส์ผู้ช่วยชีวิตเธอ พวกเขาได้รับการผนึกเพื่อกาลเวลาและนิรันดรในเดือนกรกฎาคมต่อมาที่บ้านเอ็นดาวเม้นท์ พวกเขาสร้างครอบครัวในซอลท์เลคซิตี้และได้รับพรให้มีบุตรชายสามคนกับบุตรสาวเจ็ดคน บุตรสาวหนึ่งในนั้นคือเอสเธอร์ เอมิลี เธอแต่งงานกับชาร์ลส์ ราสแบนด์คุณปู่ของข้าพเจ้าในปี 1891

วันที่ 24 กรกฎาคม เราเฉลิมฉลองวันผู้บุกเบิก และเราแสดงความสำนึกคุณต่อผู้บุกเบิกจำนวนมากที่สละทุกสิ่งเพื่อสร้างหุบเขาซอลท์เลคและอีกหลายชุมชนทางตะวันตกของสหรัฐ เราแสดงความสำนึกคุณต่อผู้บุกเบิกวิสุทธิชนยุคสุดท้ายทั่วโลกเช่นกัน ผู้เบิกทาง—และกำลังเบิก—เส้นทางพระกิตติคุณให้ผู้อื่นเดินตาม

อะไรทำให้พวกเขาเดินหน้าต่อไป อะไรผลักดันพวกเขาไปข้างหน้า คำตอบคือประจักษ์พยานในพระเจ้าพระเยซูคริสต์ ในฐานะเหลนของผู้บุกเบิก ข้าพเจ้าเสริมคำพยานและประจักษ์พยานของข้าพเจ้าว่าความบากบั่นของท่านเหล่านั้นไม่สูญเปล่า สิ่งที่พวกท่านรู้สึก ข้าพเจ้ารู้สึก สิ่งที่พวกท่านรู้ ข้าพเจ้ารู้และเป็นพยาน

อ้างอิง

  1. Report by F.D. Richards and Daniel Spencer, “Smith, Marilyn Austin, Faithful Stewards—the Life of James Gray Willie and Elizabeth Ann Pettit, 95–120,” history.lds.org.

  2. ดู Brigham Young, “Remarks,” Deseret News, Oct. 15, 1856, 252; see also LeRoy R. Hafen and Ann W. Hafen, Handcarts to Zion (1981), 120–121.

  3. ในจำนวนนี้ 19 คนเสียชีวิตก่อนคณะรถลากมาถึงฟอร์ตลารามี อีก 7 คนเสียชีวิตระหว่างเดินทางกลางมหาสมุทรและ 4 คนเสียชีวิตที่ไอโอวาซิตี อีก 19 คนเสียชีวิตระหว่างฟอร์ตลารามีและต้นฤดูหนาว ส่วนใหญ่เสียชีวิตก่อนวันที่ผู้ช่วยชีวิตมาถึง

พิมพ์