2018
จรรโลงศรัทธาในความโดดเดี่ยว
กรกฎาคม 2018


จรรโลง ศรัทธา ใน ความโดดเดี่ยว

เมื่อสงคราม โรคภัยไข้เจ็บ หรือสภาวการณ์อื่นปล่อยสมาชิกศาสนจักรเหล่านี้ไว้ตามลำพังในประเทศของพวกเขา ต่อไปนี้เป็นวิธีที่พวกเขาจรรโลงศรัทธา

วิสุทธิชนส่วนใหญ่ในปัจจุบันนมัสการในวอร์ดและสาขาต่างๆ ที่พวกเขาสามารถ “ประชุมกันบ่อย, เพื่ออดอาหารและเพื่อสวดอ้อนวอน, และพูดกันเกี่ยวกับความผาสุกของจิตวิญญาณพวกเขา” (โมโรไน 6:5) แต่โมโรไน ศาสดาพยากรณ์ผู้เขียนถ้อยคำเหล่านั้น ทำงานยั่งยืนที่สุดบางอย่างเมื่อเหลือเขาเป็นสานุศิษย์คนเดียวหลังจากความพินาศของผู้คนของเขา

ตลอดประวัติศาสนจักร วิสุทธิชนยุคสุดท้ายจำนวนมากจรรโลงศรัทธาตามลำพังเมื่อสภาวการณ์ทิ้งให้พวกเขาโดดเดี่ยว บางคนใช้วันเวลาของพวกเขาเหมือนโมโรไนในการเป็นพยานและแบบอย่างสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป อีกหลายคนมีชีวิตอยู่จนถึงวันที่พวกเขาสามารถแบ่งปันศรัทธาของพวกเขาได้อีกครั้ง

การสวดอ้อนวอนหลายปีเพื่อขอให้มีวันนี้

ภาพ
Františka Brodilová

ภาพประกอบโดย เคน สเป็นเซอร์

ฟรานทิสกา โบรดิโลวาเข้าร่วมศาสนจักรในเวียนนาปี 1913—หนึ่งปีก่อนเริ่มสงครามโลกครั้งที่ 1—และไม่ได้ติดต่อกับสมาชิกศาสนจักรคนอื่นๆ จนถึงปี 1929

ภาพเหมือนของฟรานทิสกา เวเซลา โบรดิโลวา เอื้อเฟื้อโดย Visual Resources Library

ฟรานทิสกา โบรดิโลวาแทบมองไม่เห็นบทบาทที่เธอจะมีในประวัติศาสนจักรเมื่อผู้สอนศาสนาเคาะประตูบ้านของเธอในเวียนนาปี 1913 ปีหลังจากเธอเปลี่ยนใจเลื่อมใส สงครามโลกครั้งที่ 1 กระทบทั่วจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ผู้สอนศาสนากลับบ้าน และสมาชิกชายหลายคนถูกเรียกไปเป็นทหาร ปล่อยให้ฟรานทิสกากับสตรีอีกไม่กี่คนต้องเผชิญชีวิตตามลำพัง

หลายปีนั้นฟรานทิสกาติดต่อกับสมาชิกศาสนจักรมากที่สุด หลังสงคราม ฟรานทิสเชกสามีของฟรานทิสกาได้รับสัญญาว่าจะดำรงตำแหน่งในรัฐบาลใหม่ของเชโกสโลวะเกีย หลังจากพวกเขาย้ายไปปราก ฟรานทิสกาจึงเป็นสมาชิกศาสนจักรเพียงคนเดียวในประเทศ ฟรานทิสเชกสิ้นชีวิตในอีกไม่กี่เดือนต่อมา และฟรานทิสกาถูกทิ้งให้ดูแลลูกสาวยังเล็กสองคน—คือฟรานเซสและเจน

ฟรานทิสกาสอนพระกิตติคุณให้ลูกสาวด้วยตนเอง “ดิฉันเติบใหญ่ในศาสนจักร” ฟรานเซสจำได้ “ศาสนจักรเป็นบ้านของเรา!”1 ฟรานทิสกาเขียนถึงผู้นำศาสนจักรในออสเตรียเพื่อขอให้ส่งผู้สอนศาสนามาเชโกสโลวะเกีย ผู้นำศาสนจักรลังเลเพราะผู้สอนศาสนาคนสุดท้ายในปราก ประมาณ 40 ปีก่อนถูกจำคุกเพราะสั่งสอน จากนั้นจึงถูกเนรเทศออกจากเมือง แม้จะมีรัฐบาลใหม่ แต่ผู้นำศาสนจักรเกรงว่าไม่มีอะไรเปลี่ยน

ฟรานทิสกาไม่ย่อท้อ เธอยังคงเขียนจดหมายและสวดอ้อนวอนขอให้มีการจัดตั้งคณะเผยแผ่ ในปี 1928 หลังจากฟรานทิสกาทำส่วนของเธอมาสิบปี โธมัส บีซิงเกอร์วัย 83 ปี—ผู้สอนศาสนาคนเดียวกับที่สั่งสอนในปรากเมื่อหลายปีก่อน—กลับมา ดูเหมือนความโดดเดี่ยวของครอบครัวเธอสิ้นสุดลงแล้ว แต่ต่อมาไม่นาน สุขภาพที่ทรุดโทรมของเอ็ลเดอร์บีซิงเกอร์ทำให้เขาต้องจากประเทศนี้ไป

ฟรานทิสกาท้อแท้แต่ตัดสินใจเขียนจดหมายถึงสมาชิกและผู้นำศาสนจักรที่อยู่ต่างแดนต่อไปเรื่อยๆ ความไม่ย่อท้อของเธอเกิดผล วันที่ 24 กรกฎาคม ปี 1929 เอ็ลเดอร์จอห์น เอ. วิดท์โซ (1872–1952) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองมาถึงปรากพร้อมผู้สอนศาสนากลุ่มหนึ่ง เย็นวันนั้น ฟรานทิสกากับกลุ่มดังกล่าวเดินขึ้นเนินเขาใกล้ปราสาทคาร์ลสเตน ที่ซึ่งเอ็ลเดอร์วิดท์โซอุทิศเชโกสโลวะเกียเพื่อการสั่งสอนพระกิตติคุณและจัดตั้งคณะเผยแผ่อย่างเป็นทางการ “มีไม่กี่คนรู้ซึ้งถึงปีติที่เรารู้สึก” ฟรานทิสกาเขียนในเวลาต่อมา “เราสวดอ้อนวอนมานานหลายปีเพื่อให้มีวันนี้”2

ภาพ
members in Czechoslovakia with Elder Widtsoe

ฟรานทิสกาอยู่ในเหตุการณ์ขณะเอ็ลเดอร์จอห์น เอ. วิดท์โซ (ทั้งสองคนอยู่แถวกลาง) อุทิศเชโกสโลวะเกียเพื่อการสั่งสอนพระกิตติคุณในปี 1929

สาขาประชุมกันในบ้านของฟรานทิสกาเกือบหกเดือน ฟรานทิสกาช่วยลูกสาวของเธอแปลพระคัมภีร์มอรมอนเป็นภาษาเช็กและวางรากฐานสำหรับศาสนจักรในที่ซึ่งเวลานี้คือสาธารณรัฐเช็ก

วิสุทธิชนยุคสุดท้ายจำนวนมากอดทนต่อความโดดเดี่ยวเช่นเดียวกับฟรานทิสกา ชายหญิงต่อไปนี้อยู่ในคนกลุ่มแรกที่แบ่งปันพระกิตติคุณและวางรากฐานของศาสนจักรในแผ่นดินเกิดของตน ซึ่งต่อมาเอื้ออำนวยให้คนอื่นๆ ได้มีส่วนในความเป็นมิตรของวิสุทธิชน

ของประทานอันยั่งยืนแห่งศรัทธาที่แท้จริง

ภาพ
Japanese Saints

ในฐานะเอ็ลเดอร์ควบคุม ฟูจิยะ นาระ (ในชุดสูทสีเข้ม) รับผิดชอบเรื่องการติดต่อกับสมาชิกหลังจากปิดคณะเผยแผ่ญี่ปุ่นในปี 1924

เมื่อปิดคณะเผยแผ่ญี่ปุ่นในปี 1924 สมาชิกจำนวนมากรู้สึกสิ้นหวังและถูกทอดทิ้ง การเป็นผู้นำของสมาชิกประมาณ 160 คนในญี่ปุ่นตกอยู่กับฟูจิยะ นาระ เอ็ลเดอร์ควบคุมในประเทศ งานที่เขาทำกับบริษัททางรถไฟเอื้ออำนวยให้เขาไปเยี่ยมสมาชิกที่อยู่กระจัดกระจายได้ เมื่อไม่สามารถไปเยี่ยมได้ ฟูจิยะติดต่อโดยจัดพิมพ์นิตยสารชื่อ Shuro (ใบปาล์ม) ซึ่งเขาใช้แบ่งปันข่าวสารพระกิตติคุณและให้กำลังใจวิสุทธิชนที่เหลือตลอดหลายปีที่สับสนวุ่นวายหลังจากนั้น

หลังจากงานอาชีพย้ายฟูจิยะไปแมนจูเรียและการทำหน้าที่เอ็ลเดอร์ควบคุมของเขาสิ้นสุดลงในปี 1937 การติดต่อกับสมาชิกในญี่ปุ่นจึงขาดหายไป “ถึงแม้เราไม่ได้ติดต่อกันทางจดหมายกับซอลท์เลคซิตี้” ฟูจิยะกล่าว “… แต่เรามีความเชื่อมั่นว่าศาสนจักรจะเปิดอีกครั้ง [ที่นี่]”3

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟูจิยะกลับมาโตเกียว ที่นั่นเขาสั่งสอนเพื่อนบ้านและจัดการประชุมโรงเรียนวันอาทิตย์สัปดาห์ละครั้ง หลังสงคราม ฟูจิยะพบประกาศจากเอ็ดเวิร์ด แอล. คริสโซลด์—วิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่เป็นทหารอเมริกัน—เชิญชวนสมาชิกศาสนจักรในประเทศให้ติดต่อเขา ฟูจิยะไปเยี่ยมเอ็ดเวิร์ดในห้องพักที่โรงแรมทันที เมื่อเอ็ดเวิร์ดเข้าร่วมการประชุมของวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในโตเกียว เขาประหลาดใจที่พบผู้เข้าร่วมการประชุมราว 100 คน

“ในบรรดาทั้งหมดนั้น” ฟูจิยะกล่าวในเวลาต่อมา “ของประทานยิ่งใหญ่ที่สุด และของประทานอันมั่นคงถาวร คือการรู้และน้อมรับศรัทธาที่แท้จริง—นั่นหมายถึงการรู้จักพระบิดาบนสวรรค์ พระเยซูคริสต์ และพระวิญญาณบริสุทธิ์”4

การสร้างศาสนจักรในฮาวาย

ภาพ
Jonathan Napela

วิลเฮล์ม ฟริดริชส์ (คนที่สองจากซ้าย) และเอมิล โฮปเป (กลาง แถวหลัง) เข้าร่วมพิธีบัพติศมาครั้งแรกในอาร์เจนตินา

ภาพเหมือนของโจนาธาน นาเปลา เอื้อเฟื้อโดยหอจดหมายเหตุและหอสมุดประวัติศาสนจักร

โจนาธาน เอช. นาเปลาเป็นผู้พิพากษาที่คนเคารพนับถือบนเกาะเมาอีก่อนเขากับคิติภรรยารับบัพติศมาในปี 1851 หลังจากโจนาธานจำต้องลาออกจากการเป็นผู้พิพากษาเพื่อเข้าร่วมศาสนจักร เขาทุ่มเทพลังงานเพื่อสร้างศาสนจักรในบรรดาคนที่พูดภาษาฮาวาย โจนาธานสอนภาษาให้ผู้สอนศาสนาชื่อจอร์จ คิว. แคนนอน ช่วยแปลพระคัมภีร์มอรมอน และพัฒนาโปรแกรมแรกสำหรับอบรมภาษาต่างประเทศให้ผู้สอนศาสนา

ด้วยเหตุนี้ ชาวฮาวายโดยกำเนิดกว่า 3,000 คนจึงเข้าร่วมศาสนจักรภายในสามปี “ทำให้เราเห็นชัดเจนว่านี่คือศาสนจักรของพระผู้เป็นเจ้า” โจนาธานเขียน “มีคนจำนวนมากบนเกาะเหล่านี้ผู้มีศรัทธาแรงกล้าเพราะพระคุณของพระผู้เป็นเจ้า ผ่านพระเยซูคริสต์พระเจ้าว่าเราจะได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์”5

ในปี 1872 คิติ นาเปลาติดโรคเรื้อนและต้องย้ายไปอยู่นิคมโรคเรื้อนบนเกาะโมโลไก แทนที่จะอยู่ท่ามกลางวิสุทธิชน โจนาธานกลับขอให้นิคมรับเขาไว้ด้วย “ช่วงเวลาสั้นๆ ที่เหลือ” เขาเขียนถึงคณะกรรมการสุขภาพ “ผมอยากอยู่กับภรรยาผม”6 คำขอได้รับอนุมัติ และโจนาธานกลายเป็นประธานสาขาในโมโลไก โจนาธานทำงานใกล้ชิดกับบาทหลวงคาทอลิกในท้องที่ชื่อคุณพ่อดาเมียนเพื่อดูแลช่วยเหลือทุกคนที่เป็นโรคนี้ โจนาธานสิ้นชีวิตในบั้นปลายจากโรคเรื้อนที่เขาติดในนิคมแห่งนี้

“ผมยินดีเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า”

ภาพ
Friedrichs and Hoppe families

วิลเฮล์ม ฟริดริชส์ (คนที่สองจากซ้าย) และเอมิล โฮปเป (กลาง แถวหลัง) เข้าร่วมพิธีบัพติศมาครั้งแรกในอาร์เจนตินา

ครอบครัวของเฟรดริชส์กับโฮปเปเป็นวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเพียงสองครอบครัวในอาร์เจนตินาเมื่อพวกเขาย้ายจากเยอรมนีไปอยู่ที่นั่นเมื่อต้นทศวรรษ 1920 วิลเฮล์ม เฟรดริชส์กับเอมิล โฮปเปพยายามแบ่งปันพระกิตติคุณในประเทศใหม่ของพวกเขา โดยแจกจุลสารและชวนคนอื่นๆ มาร่วมการประชุม “ผมมีความไว้วางใจเต็มที่ในพระบิดาบนสวรรค์ว่าพระองค์จะทรงส่งเพื่อนที่จริงใจผู้จะยอมรับพระกิตติคุณมาให้ผม” วิลเฮล์มเขียน “เพราะผมยินดีเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า”7

แต่มีความท้าทายอย่างมาก สองครอบครัวอาศัยอยู่ไกลกันและต้องเดินทางสองชั่วโมงมาประชุมร่วมกัน เพราะเอมิลเป็นมัคนายกและวิลเฮล์มเป็นผู้สอนในฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน พวกเขาจึงไม่สามารถปฏิบัติศาสนพิธีเช่นศีลระลึกหรือให้พรฐานะปุโรหิตได้

ในปี 1924 ฮิลเดอการ์เด โฮปเปให้กำเนิดลูกสาวที่สิ้นชีวิตในอีกสองเดือนต่อมา ขณะที่ฮิลเดอการ์เดโศกเศร้า เธอถามว่าเราจะรวมชื่อลูกสาวไว้ในบันทึกของศาสนจักรอย่างไร ด้วยเหตุนี้ วิลเฮล์มจึงเริ่มเขียนจดหมายสอบถามผู้นำศาสนจักรในซอลท์เลคซิตี้

หนึ่งปีครึ่งต่อมา ศาสนจักรส่งเอ็ลเดอร์เมลวิน เจ. บัลลาร์ด (1873–1939) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองมาพร้อมผู้สอนศาสนาคนอื่นๆ เพื่อพบกับกลุ่มผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสที่เพิ่มขึ้นในบัวโนสไอเรส เมื่อพวกเขามาถึงในเดือนธันวาคม ปี 1925 เอ็ลเดอร์บัลลาร์ดให้บัพติศมาผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสหลายคนและจัดตั้งสาขา ในวันคริสต์มาส เอ็ลเดอร์บัลลาร์ดอุทิศอเมริกาใต้เพื่องานเผยแผ่ศาสนาและจัดตั้งคณะเผยแผ่แห่งแรกบนทวีปนี้

การนำพระกิตติคุณกลับมาให้ผู้คนของเขา

ภาพ
Assard and Affoué families

เมื่อฟิลิปเปกับอนาลิส อัสซาร์ด (ซ้าย) พบลูเซียนกับอกาเฟ อัฟโฟเอในโคทดิลวัวร์ ทั้งสองคู่ดีใจที่รู้ว่าพวกเขาไม่โดดเดี่ยวในศาสนจักรที่นั่น

ฟิลลิปเปกับอนาลิส อัสซาร์ดมีชีวิตที่สุขสบายแล้วเมื่อผู้สอนศาสนามาเคาะประตูบ้านของพวกเขาในเมืองเคิล์น เยอรมนี ในปี 1980 พวกเขาน้อมรับพระกิตติคุณอย่างรวดเร็ว และรู้สึกถึง “พรล้นเหลือ” ไม่นานนักฟิลลิปเปรู้สึกถึงความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะกลับไปประเทศบ้านเกิดที่โคทดิวัวร์เพื่อแบ่งปันพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู “ด้วยเหตุนี้ในปี 1986 หลังจากสวดอ้อนวอนและอดอาหารกับภรรยาหลายครั้ง” ฟิลลิปเปจำได้ “ผมตัดสินใจกลับไปที่ไอวอรีโคสต์เพื่อให้สิ่งที่ผมได้รับ เพื่อทำให้หลายคนในครอบครัวผมและคนของผมดีขึ้น”8

ก่อนออกจากเยอรมนี ฟิลลิปเปหารือกับผู้นำศาสนจักร แม้ไม่มีหน่วยศาสนจักรในโคทดิวัวร์แต่มีสมาชิกจำนวนหนึ่งที่นั่นผู้เข้าร่วมศาสนจักรขณะอยู่ในประเทศอื่น ครอบครัวอัสซาร์ดได้รับรายชื่อเหล่านั้นและปีต่อมาพวกเขาหมั่นเขียนถึงกัน ครอบครัวอัสซาร์ดจุดประกายศรัทธาในผู้อื่นทีละเล็กทีละน้อยและได้รับอนุญาตให้เริ่มจัดการประชุมวันอาทิตย์ในบ้านของพวกเขา วอร์ดและสาขาต่างๆ ตามมา และในปี 1997 ศาสนจักรจัดตั้งสเตคแรกในโคทดิวัวร์

อ้างอิง

  1. ฟรานเซส แม็คออมเบอร์ ใน Ruth McOmber Pratt, “Frantiska Vesela Brodilova,” unpublished manuscript (2009), 18.

  2. ฟรานทิสกา โบรดิโลวา ใน Pratt, “Frantiska Vesela Brodilova,” 25.

  3. ฟูจิยะ นาระ ใน Lee Benson, “Japanese Member Survives Adversity,” Church News, Feb. 17, 1979, 7.

  4. ฟูจิยะ นาระ ใน Benson, “Japanese Member Survives Adversity,” 7.

  5. โจนาธาน นาเปลา ใน “Foreign Correspondence: Sandwich Islands—Minutes of Conference, Makawao, April 1st, 1852,” Deseret News, Nov. 27, 1852, 4.

  6. โจนาธาน นาเปลา ใน Fred E. Woods, “A Most Influential Mormon Islander: Jonathan Hawaii Napela,” The Hawaiian Journal of History, vol. 42 (2008), 148.

  7. วิลเฮล์ม เฟรดริชส์, จดหมาย ลงวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1924 จดหมายของคณะเผยแผ่อาร์เจนตินา หอสมุดประวัติศาสนจักร.

  8. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “คนงานในสวนองุ่น,” เลียโฮนา, พ.ค. 1999, 19.

พิมพ์