2018
คำแนะนำ 7 ข้อสำหรับการเป็นผู้พูด
กรกฎาคม 2018


คำแนะนำ 7 ข้อสำหรับการเป็นผู้พูด

ผู้เขียนอาศัยอยู่ในรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา

จะพูดในการประชุมศีลระลึกเร็วๆ นี้หรือ? ลองคำแนะนำต่อไปนี้

ภาพ
young man giving talk

ฉันไม่รู้จักคุณ แต่เมื่อฉันได้รับมอบหมายให้เป็นผู้พูดในการประชุมศีลระลึก ฉันรู้สึกกังวลมาก—ไม่ได้กังวลเรื่องเขียนคำพูดแต่กังวลเรื่องการ นำเสนอ สิ่งที่จะพูด ฉันวิตกกังวลทุกครั้งว่า “จะเป็นอย่างไรถ้าฉันพูดน่าเบื่อมาก จะเป็นอย่างไรถ้าฉันลืมพูดบางอย่าง จะเป็นอย่างไรถ้าฉันพูดไม่รู้เรื่อง”

คุณเคยรู้สึกแบบนี้หรือไม่ (หวังว่าไม่ใช่ฉันคนเดียวที่เคย) นี่ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย! ลองตรวจสอบคำแนะนำทั้งเจ็ดข้อต่อไปนี้เพื่อปรับปรุงทักษะการพูดของคุณและทำให้คุณพูดได้น่าสนใจ

การเตรียมพูด

  1. ใช้พระคัมภีร์และคำสอนของศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบัน (ดู คพ. 52:9) นี่เป็นหัวใจของสิ่งที่คุณพูด เพราะเหตุผลหลักประการหนึ่งที่เราอยู่ที่โบสถ์—คือเพื่อสอนและเรียนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ คุณสามารถศึกษาหัวข้อของคุณด้วยความช่วยเหลือจากคู่มือพระคัมภีร์ (ที่ scriptures.lds.org) และคำพูดการประชุมใหญ่สามัญ (ค้นหาตามหัวข้อที่ gc.lds.org) คุณต้องเข้าใจพระคัมภีร์และคำพูดอ้างอิงที่คุณวางแผนจะใช้ในเรื่องที่คุณพูด ถ้าคุณต้องการความช่วยเหลือ จงขอให้พ่อแม่หรือผู้นำศาสนจักรช่วย

  2. อัญเชิญพระวิญญาณ การสวดอ้อนวอนและเตรียมล่วงหน้าเพื่อให้มีพระวิญญาณอยู่กับคุณขณะพูดเป็นความคิดที่ดีเสมอ พระวิญญาณไม่เพียงทำให้คุณคลายกังวลเท่านั้นแต่ทรงเป็นพยานถึงความจริงด้วย (ดู คพ. 42:14) จงอัญเชิญพระวิญญาณเข้ามาในการประชุมศีลระลึกของคุณโดยแสดงประจักษ์พยานถึงสิ่งที่คุณเชื่อว่าจริง

  3. นึกถึงเรื่องส่วนตัว วิธีดีที่สุดวิธีหนึ่งในการเชื่อมสัมพันธ์กับผู้อื่นคือเล่าเรื่อง เราชอบฟังประสบการณ์ของผู้อื่นและชีวิตของพวกเขา ฉะนั้นลองนึกถึงประสบการณ์สนุกๆ พิเศษ หรือท้าทายของคุณซึ่งเกี่ยวข้องกับหลักธรรมพระกิตติคุณที่คุณได้รับมอบหมายให้พูด คุณเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์นั้น ประสบการณ์ดังกล่าวช่วยคุณอย่างไร นี่เป็นวิธีที่ใช้เกริ่นนำคำพูดได้ดีมากถ้าคุณไม่ทราบจะเริ่มต้นอย่างไร

  4. ฝึกพูด ฝึกพูด ฝึกพูด! หลังจากคุณเขียนคำพูดแล้ว คุณอาจจะต้องฝึกพูดออกเสียง จากนั้นจึงฝึกพูดต่อหน้าสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนๆ คุณจะได้ทราบว่าคำพูดของคุณอยู่ภายในเวลาที่กำหนดให้หรือไม่และมีบางช่วงบางตอนที่ต้องอธิบายความหรือไม่ ถ้าอธิการเห็นด้วย คุณสามารถไปโบสถ์ก่อนเวลาเพื่อลองพูดที่แท่นพูด!

การเป็นผู้พูด

  1. หลีกเลี่ยงคำขึ้นต้นว่า “ฉันไม่อยากขึ้นมาพูด” คำขึ้นต้นเช่นนี้พูดได้หลายแบบ แต่ผู้ฟังส่วนใหญ่รับรู้ทันที โดยปกติจะเป็นคำพูดทำนองว่า “เมื่ออธิการเรียกฉันไปถามว่าฉันจะเป็นผู้พูดได้ไหม ฉันพยายามคิดหาข้ออ้างบางอย่างเพื่อจะไม่ต้องพูด” สมาชิกศาสนจักรส่วนมากเข้าใจดีว่าคุณอึดอัดใจเพียงใดเมื่อต้องเป็นผู้พูด แต่เมื่อคุณพูดว่า “ฉันไม่อยากอยู่ที่นี่” คนอาจจะได้ยินว่า “ได้โปรดอย่าฟังฉัน” ทางที่ดีให้หลีกเลี่ยงคำขึ้นต้นทำนองนี้—จงกระตือรือร้นกับหัวข้อของคุณ!

  2. พูดชัดถ้อยชัดคำ ไม่แปลกที่บางคนจะพูดเร็วมากหรือเบามากเพราะประหม่า ฉันเข้าใจได้! แต่สำคัญที่ต้องพูดชัดถ้อยชัดคำเพื่อผู้เข้าร่วมการประชุมจะเข้าใจได้ พยายามตั้งสติและพูดช้าลง ออกเสียงชัดเจน และดังพอที่ทุกคนจะได้ยิน (แม้จะใช้ไมโครโฟนแต่ก็อาจจะเบาเกินไปได้) ผู้ฟังต้องการได้ยินสิ่งที่คุณจะพูด!

  3. เงยหน้าไว้ การสบตาเป็นส่วนสำคัญมากของการสื่อสารที่ดี นั่นแสดงให้เห็นว่าคุณจดจ่อและสนใจการสนทนาด้วยความจริงใจ คุณไม่จำเป็นต้องสบตากับทุกคนในห้องประชุมขณะที่คุณพูด แต่ถ้าคุณเงยหน้ามองหลังห้องหรือหน้าห้องบ่อยๆ คุณจะเป็นผู้พูดที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น อย่ามองแต่คำพูดที่คุณจดไว้! ผู้ฟังต้องการเห็นรอยยิ้มของคุณ ไม่ใช่กระหม่อมของคุณ

แม้จะมีคำแนะนำทั้งเจ็ดข้อนี้ แต่คุณอาจจะทำผิดพลาดหรือสังเกตเห็นคนนั่งสัปหงกในแถวที่สาม แต่นั่นหมายความว่าคุณเป็นผู้พูดที่แย่มากอย่างนั้นหรือ ไม่ใช่แน่นอน!

เมื่อเราออกจากโซนสบายของเราเล็กน้อย เป็นธรรมดาที่เราจะรู้สึกประหม่าหรือทำผิดพลาดบ้าง แต่ตราบใดที่คุณพยายามสุดความสามารถและอัญเชิญพระวิญญาณ ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรถ้าคุณพูดตะกุกตะกักหรือลืมพูดบางอย่าง คุณกำลังทำงานของพระผู้เป็นเจ้าและช่วยให้บุตรธิดาของพระองค์เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระกิตติคุณ

ถ้าคุณสอนและเป็นพยานถึงสิ่งที่คุณเชื่อ ทุกอย่างจะออกมาดี

พิมพ์