เซมินารี
บทเรียนที่ 177—การรับผิดชอบเรื่องเทคโนโลยี: การจงใจในการเลือกของเราเกี่ยวกับเทคโนโลยี


“บทเรียนที่ 177—การรับผิดชอบเรื่องเทคโนโลยี: การจงใจในการเลือกของเราเกี่ยวกับเทคโนโลยี” หลักคําสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี (2025)

“การรับผิดชอบเรื่องเทคโนโลยี” หลักคําสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี

บทเรียนที่ 177: เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน: การเลือก

การรับผิดชอบเรื่องเทคโนโลยี

การจงใจในการเลือกของเราเกี่ยวกับเทคโนโลยี

เยาวชนหญิงคนหนึ่งใช้แล็ปท็อปของเธอ

เราได้รับพรให้อยู่ในยุคที่มีเทคโนโลยีมากมาย การใช้เทคโนโลยีของเราสามารถช่วยให้เราเข้าใกล้พระเยซูคริสต์มากขึ้นและช่วยให้งานของพระองค์ก้าวหน้า แต่สามารถนําเราออกห่างจากพระองค์ได้เช่นกัน บทเรียนนี้จะช่วยให้นักเรียนประยุกต์ใช้มาตรการป้องกันเพื่อควบคุมการใช้เทคโนโลยีของพวกเขา

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทําได้

การใช้เทคโนโลยี

ท่านอาจให้ดูภาพแผ่นจารึกทองคํา อธิบายว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงมอบแผ่นจารึกทองคําให้ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

แผ่นจารึกทองคํา

อ่าน โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:46 โดยมองหาคําเตือนที่โมโรไนให้โจเซฟ สมิธเกี่ยวกับแผ่นจารึกทองคํา

ท่านอาจเขียนหัวข้อ ใช้เพื่อประโยชน์ ไว้ด้านหนึ่งของกระดานและเขียนหัวข้อ ใช้ในทางที่ผิด อีกด้านหนึ่ง จากนั้นท่านอาจเขียนคําตอบของนักเรียนสําหรับคําถามต่อไปนี้ไว้ใต้แต่ละหัวข้อ

  • ซาตานพยายามให้โจเซฟ สมิธใช้แผ่นจารึกทองคําในทางที่ผิดอย่างไร?

  • โจเซฟ สมิธใช้แผ่นจารึกทองคําเพื่อประโยชน์อย่างไร?

ชูโทรศัพท์มือถือหรือให้ดูภาพโทรศัพท์มือถือ และบอกนักเรียนว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงมอบเทคโนโลยีให้พวกเขา

  • เราจะใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร?

  • วัยรุ่นอาจถูกล่อลวงให้ใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิดในทางใดบ้าง?

เชื้อเชิญให้นักเรียนใคร่ครวญคําถามต่อไปนี้ในใจ

  • ท่านกําลังใช้เทคโนโลยีในวิธีที่พระเจ้าทรงต้องการให้ท่านใช้อย่างไร?

กระตุ้นให้นักเรียนเปิดรับความประทับใจว่าพวกเขาจะควบคุมการใช้เทคโนโลยีของพวกเขาได้อย่างไร ท่านอาจแบ่งปันว่าเฉกเช่นพระเจ้าทรงชี้นําโจเซฟ สมิธให้ใช้แผ่นจารึกทองคําให้เป็นประโยชน์ พระองค์ทรงสามารถช่วยให้เราทําเช่นเดียวกันกับการใช้เทคโนโลยี

การชี้นําที่ได้รับการดลใจ

กิจกรรมต่อไปนี้จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้จากการชี้นําที่ได้รับการดลใจของพระเจ้าเกี่ยวกับการรับผิดชอบเรื่องเทคโนโลยี

วิธีหนึ่งที่ท่านสามารถศึกษาหมวดต่อไปนี้คือแบ่งชั้นเรียนออกเป็นสองกลุ่ม มอบหมายหนึ่งหมวดให้แต่ละกลุ่ม เชื้อเชิญให้นักเรียนศึกษาหมวดของพวกเขาด้วยตนเอง เขียนคําตอบของคําถามลงในสมุดบันทึกการศึกษา และพร้อมสอนสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้

หรือท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนศึกษาหมวดที่พวกเขาสนใจมากกว่า

การรับผิดชอบเรื่องเทคโนโลยี

หมวดที่ 1 การใช้เวลากับเทคโนโลยีอย่างฉลาด

ในหลักคําสอนและพันธสัญญา พระเจ้าทรงใช้คําว่า “ทํางานอย่างทุ่มเท” และ “ปล่อยให้เวลาเสียไปโดยเปล่าประโยชน์”

  • ท่านคิดว่าคําเหล่านี้หมายถึงอะไร?

อ่านพระคัมภีร์ต่อไปนี้และไตร่ตรองสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับการทํางานอย่างทุ่มเทและเกียจคร้าน: หลักคําสอนและพันธสัญญา 58:27–28; 60:13; 68:31; 75:3

  • ท่านจะสรุปสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนอย่างไร?

(ในบรรดาความจริงหลายประการ ท่านอาจระบุบางสิ่งทํานองนี้: พระเจ้าทรงปรารถนาให้เราทํางานอย่างทุ่มเทในการทําดีและไม่ปล่อยให้เวลาเสียไปโดยเปล่าประโยชน์)

  • เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากําลังปล่อยให้เวลาเสียไปโดยเปล่าประโยชน์กับเทคโนโลยี?

ศึกษาคํากล่าวต่อไปนี้ โดยมองหาข้อคิดเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีอย่างฉลาด

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า:

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

[บุคคล] ที่ขาดวุฒิภาวะหรือหลงผิดอาจทุ่มเวลามากเกินไปกับการเล่นวิดีโอเกม สนทนาออนไลน์ หรือในวิธีอื่นโดยยอมให้ดิจิทัลมีอํานาจเหนือสิ่งต่างๆ ดังที่เป็นจริง ตอนแรกการใช้เวลาเช่นนั้นอาจดูเหมือนไม่มีพิษภัย โดยให้เหตุผลว่าต้องมีเวลาผ่อนคลายบ้างจากข้อเรียกร้องของตารางประจําวันอันยุ่งเหยิง แต่พวกเขาพลาดโอกาสสําคัญๆ สําหรับการพัฒนาและปรับปรุงทักษะระหว่างบุคคล … สิ่งบันเทิงที่ดูเหมือนไร้พิษภัยค่อยๆ กลายเป็นรูปแบบหนึ่งของการตกเป็นทาสที่อาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้ (เดวิด เอ. เบดนาร์, “เรื่องดังที่เป็นจริง,” เลียโฮนา, มิ.ย. 2010, 27)

  • ผู้คนใช้เหตุผลอะไรเพื่อทําให้เสียเวลาไปกับเทคโนโลยี?

  • อะไรช่วยให้ท่านหลีกเลี่ยงการปล่อยให้เวลาเสียไปโดยเปล่าประโยชน์กับเทคโนโลยี?

  • ท่านจะให้พระเจ้ามีส่วนในความพยายามของท่านในการใช้เทคโนโลยีอย่างฉลาดได้อย่างไร?

หมวดที่ 2 เลือกสื่อที่ดี

  • ท่านเลือกสื่ออะไรบ้างเป็นประจํา?

  • ประสบการณ์ของท่านสอนอะไรที่จะช่วยให้ท่านเข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ต่อไปขณะที่ท่านเลือกสื่อ?

อ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 50:23–24; หลักแห่งความเชื่อ 1:13; และ โมโรไน 7:12–17 โดยมองหาความจริงที่จะช่วยเราตัดสินว่าอะไรดีและอะไรชั่ว

  • ท่านพบความจริงอะไรบ้างในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้?

(ในบรรดาความจริงหลายประการ ท่านอาจระบุบางสิ่งทํานองนี้: สิ่งที่จรรโลงใจและชักชวนให้ทําดีมาจากพระผู้เป็นเจ้า)

  • ท่านจะได้ประโยชน์อย่างไรจากการประยุกต์ใช้ความจริงนี้เมื่อท่านเลือกใช้สื่อ?

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์เชื้อเชิญให้เราถามคําถามต่อไปนี้เกี่ยวกับสื่อที่เราใช้:

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

การใช้เทคโนโลยีและสื่อต่างๆ เชื้อเชิญหรือกีดกั้นความเป็นเพื่อนอันยั่งยืนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตท่านหริอไม่ (เดวิด เอ. เบดนาร์, “เรื่องดังที่เป็นจริง,” เลียโฮนา, มิ.ย. 2010, 29)

  • ท่านจะอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้อย่างไรเมื่อท่านเลือกสื่อ?

  • อะไรช่วยให้ท่านหลีกเลี่ยงสื่อประเภทที่จะนําท่านออกห่างจากพระผู้ช่วยให้รอด?

เมื่อนักเรียนทําเสร็จแล้ว ให้เชื้อเชิญพวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ อาจทําเป็นชั้นเรียนหรือให้นักเรียนจับคู่กับคนที่ศึกษาอีกหมวดหนึ่ง หลังจากนักเรียนสอนกันแล้ว ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาฝึกทักษะต่อไปนี้หนึ่งอย่างหรือทั้งสองอย่างเพื่อช่วยพวกเขาใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัย สําหรับความช่วยเหลือเพิ่มเติม ท่านอาจต้องการนํานักเรียนไปยังแหล่งข้อมูล “การรับผิดชอบเรื่องเทคโนโลยี” ที่ ChurchofJesusChrist.org

การวางแผนล่วงหน้าจะช่วยให้เรารับผิดชอบเรื่องเทคโนโลยีได้

เพื่อช่วยนักเรียนประยุกต์ใช้สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ ให้ช่วยพวกเขาฝึกทักษะต่อไปนี้:

นิยาม: การวางแผนว่าเราจะใช้เทคโนโลยีอย่างไรจะช่วยให้เราทํางานอย่างทุ่มเทในการทําดีและไม่ปล่อยให้เวลาเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ แสวงหาความช่วยเหลือจากพระบิดาบนสวรรค์เมื่อวางแผน

ตัวอย่าง: เตรียมตัวอย่างให้นักเรียนโดยเชื้อเชิญให้พวกเขานึกถึงวิธีที่พวกเขาสามารถใช้เทคโนโลยีได้สําเร็จ ท่านอาจทําสิ่งนี้โดยถามว่า:

  • มีวิธีใดบ้างที่ท่านจะวางแผนล่วงหน้าเพื่อควบคุมการใช้เทคโนโลยีของท่าน?

    คําตอบที่เป็นไปได้บางข้อคือ:

    • พิจารณาว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้ท่านใช้เทคโนโลยีอย่างไร

    • มีจุดประสงค์ก่อนที่ท่านใช้เทคโนโลยี (ตัวอย่างเช่น ติดต่อเพื่อนในโทรศัพท์ของท่าน)

    • จํากัดเวลาประจําวันสําหรับการใช้เทคโนโลยี

    • สร้างสถานที่ปลอดจากอุปกรณ์ เช่น ห้องนอนและห้องนํ้า

    • เก็บโทรศัพท์ไว้ในส่วนกลางของครอบครัวในตอนกลางคืนให้ห่างจากเตียง

    • ใช้ตัวกรองที่บล็อกเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ปลอดภัย

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการมีแผนจึงสร้างความแตกต่างได้?

ฝึกปฏิบัติ: เชื้อเชิญให้นักเรียนแสวงหาความช่วยเหลือจากพระบิดาบนสวรรค์เพื่อวางแผนว่าพวกเขาจะควบคุมการใช้เทคโนโลยีของพวกเขาอย่างไร

ท่านอาจถามว่านักเรียนคนใดเต็มใจแบ่งปันแผนของตนกับชั้นเรียนบ้าง

การหยุดจะช่วยให้เรารับผิดชอบเรื่องเทคโนโลยีได้

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าต้องทําอะไรเมื่อพวกเขาพบสื่อที่ไม่เหมาะสม ทักษะต่อไปนี้อาจเป็นประโยชน์:

นิยาม: เมื่อเราพบสื่อที่ไม่เหมาะสม เราสามารถหยุดพักจากการใช้เทคโนโลยี

ตัวอย่าง: เตรียมตัวอย่างให้นักเรียนโดยแบ่งปันสามขั้นตอนต่อไปนี้ที่จะช่วยพวกเขาหยุดพักการใช้เทคโนโลยีเมื่อพวกเขาพบสื่อที่ไม่เหมาะสม ท่านอาจแนะนําให้นักเรียนดูแหล่งข้อมูล “การรับผิดชอบเรื่องเทคโนโลยี” ด้วยเพื่อขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้

  1. พูดออกมา: เมื่อท่านเห็นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมหรือทําให้ท่านรู้สึกไม่ดี โดดเดี่ยว หรืออึดอัด ท่านอาจพูดว่า “นี่ไม่ถูกต้อง” ความรู้สึกเหล่านี้อาจเป็นการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

  2. เลือกได้ดีขึ้น: ท่านสามารถปิดการแจ้งเตือนอุปกรณ์หรือปิดเสียง ท่านสามารถออกไปข้างนอกหรือไปอีกห้องหนึ่งโดยไม่ต้องมีอุปกรณ์ ท่านสามารถนึกถึงพระเยซูคริสต์หรือนึกถึงพระคัมภีร์ข้อโปรดเพื่ออัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้สถิตกับท่าน

  3. เชื่อมต่อกับคนบางคน: ท่านสามารถพูดคุยกับเพื่อนหรือสมาชิกครอบครัวว่าท่านรู้สึกอย่างไร ท่านสวดอ้อนวอนพระบิดาบนสวรรค์ได้

ฝึกปฏิบัติ: เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงวิธีที่พวกเขาจะหยุดพักเมื่อพบสื่อที่ไม่เหมาะสม

หากนักเรียนต้องการ พวกเขาอาจแบ่งปันแนวคิดกับชั้นเรียน

แบ่งปันสิ่งที่ท่านเรียนรู้

  • อะไรคือสิ่งที่ท่านเรียนรู้จากบทเรียนนี้ที่ท่านไม่ต้องการลืม?

สรุปด้วยประจักษ์พยานของท่านว่าพระเจ้าทรงสามารถช่วยให้เราใช้เทคโนโลยีได้อย่างปลอดภัยและฉลาด