การพึ่งพาตนเอง
เรียนรู้—ใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที


เรียนรู้—ใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที

การสนทนาวันนี้:

4 ออมเงินและลงทุนสำหรับอนาคต

อ่าน:ในบทก่อน เราเรียนรู้ว่าการลงทุนคือการใช้เวลา ความพยายาม หรือเงินไปกับบางสิ่งบางอย่างและคาดหวังผลตอบแทนบางอย่าง เหตุผลหนึ่งที่เราใช้เงินลงทุนคือเพื่อให้มีพอใช้เมื่อเกษียณ

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันสอนว่า “ขณะท่านดำเนินชีวิตไปจนเกษียณและอีกหลายสิบปีที่ตามมา เราเชื้อเชิญ [ทุกท่าน] … ให้วางแผนใช้จ่ายอย่างประหยัดในช่วงปีหลังจากการทำงานอาชีพเต็มเวลา” (คำสอนของประธานศาสนจักร: เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน [2014], 207) อาจมีรัฐบาลหรือโปรแกรมทางสังคมช่วยท่านช่วงเกษียณ แต่ท่านจะต้องเพิ่มเงินที่ได้จากโปรแกรมเหล่านี้ด้วยเงินออมหรือเงินลงทุนของท่านเอง ถ้าท่านไม่วางแผนตอนนี้ ท่านอาจมีรายได้หรือเงินออมไม่พอให้พึ่งพาตนเองหลังเกษียณ

สนทนา:อะไรจะเกิดขึ้นถ้าท่านมีเงินไม่พอให้อยู่ได้อย่างสบายในช่วงเกษียณ

1. ตั้งเป้าหมายวัยเกษียณ

อ่าน:ก่อนท่านเริ่มออมเงินสำหรับวัยเกษียณ จะช่วยได้ถ้าประเมินว่าท่านจะต้องใช้เท่าใด สูตรง่ายๆ นี้จะช่วยท่านเริ่ม:

ภาพ
สูตรวัยเกษียณ

ท่านไม่สามารถทำนายได้แม่นยำว่าท่านจะมีชีวิตอยู่นานเท่าใด แต่ท่านสามารถทำนายได้ว่าท่านจะเกษียณเมื่อใด และท่านสามารถคาดคะเนได้ว่าท่านจะมีชีวิตอยู่เลยเวลานั้นนานเท่าใด คนส่วนใหญ่ทั่วโลกเกษียณระหว่างอายุ 60 ถึง 70 ปี ท่านอาจจะมีชีวิตอีก 20 ถึง 30 ปีหลังเกษียณ

หมายเหตุ: ท่านไม่จำเป็นต้องใช้จำนวนนี้เมื่อท่านเกษียณ ขณะที่เงินลงทุนของท่านยังคงงอกเงยตลอดวัยเกษียณ แต่ให้ถือว่าจำนวนนี้เหมาะจะเป็นค่าตั้งต้น

2: เข้าใจดอกเบี้ยทบต้น

อ่าน:ดอกเบี้ยทบต้นสามารถเป็นกุญแจอีกดอกหนึ่งที่ทำให้ท่านมีเงินมากพอสำหรับวัยเกษียณ ดอกเบี้ยทบต้น คือการได้ดอกเบี้ยเพิ่มจากดอกเบี้ย และปกติจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์หรืออัตราผลตอบแทน เมื่อท่านได้ดอกเบี้ยงวดแรก ดอกเบี้ยส่วนนี้จะรวมกับเงินต้น จากนั้นเงินต้นก็จะก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

ภาพ
ดอกเบี้ยทบต้น

อ่าน:การลงทุนในลักษณะที่ให้ผลตอบแทนดีมักจะช่วยให้ท่านมีเงินเก็บมากพอสำหรับวัยเกษียณ คนส่วนใหญ่พบว่าการใช้เงินลงทุนน้อยแต่สม่ำเสมอจะง่ายกว่าลงทุนก้อนโตทีเดียว เช่น ลงทุนจำนวนหนึ่งทุกเดือนหรือจากเงินเดือนแต่ละเดือน ตัวอย่างด้านล่างแสดงให้เห็นมูลค่ารวมของเงินลงทุนเดือนละ 100 เป็นเวลา 30 ปี กับอัตราผลตอบแทนที่ต่างกัน นี่คือพลังของดอกเบี้ยทบต้น

ภาพ
แผนภูมิดอกเบี้ยทบต้น

สนทนา:เวลาและอัตราผลตอบแทนจะมีผลต่อมูลค่ารวมของเงินลงทุนได้อย่างไร

3. เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงกับผลตอบแทน

อ่าน:เราเห็นแล้วว่าอัตราผลตอบแทนมีผลอย่างมาก พูดกันตามตรงคือทั้งหมดที่เราต้องทำคือใช้เงินของเราลงทุนบางอย่างที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงสุด แต่ไม่ง่ายอย่างนั้น ตามภาพกราฟิกที่เห็น การลงทุนทั้งหมดมีความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงกับผลตอบแทน ตามปกติยิ่งอัตราผลตอบแทนต่ำ ความเสี่ยงที่ท่านจะเสียเงินในการลงทุนนั้นจะยิ่งน้อย ตรงกันข้าม ยิ่งผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินยิ่งสูง

ภาพ
ความเสี่ยงกับผลตอบแทน

4. พิจารณาการลงทุนที่เป็นไปได้

อ่าน:เมื่อพิจารณาการลงทุนที่เป็นไปได้ การรู้หลักพื้นฐานบางอย่างจะเป็นประโยชน์ การลงทุนแทบทั้งหมดแบ่งออกเป็นสองประเภท ประเภทอัตราผลตอบแทนคงที่กับอัตราผลตอบแทนผันแปร

อัตราคงที่ หมายถึงผลตอบแทนของท่านจะไม่ขึ้นหรือลงแต่จะอยู่เท่าเดิมหรือคงที่ ตัวอย่างของเงินออมหรือการลงทุนที่อัตราผลตอบแทนคงที่ได้แก่บัญชีออมทรัพย์ เงินฝากประจำ และตราสารหนี้ การลงทุนที่อัตราผลตอบแทนคงที่มักจะมีผลตอบแทนต่ำและถือว่าเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนที่อัตราผลตอบแทนผันแปร

อัตราผันแปร หมายความว่าผลตอบแทนของท่านอาจจะขึ้นหรือลง หมายความว่าท่านอาจจะได้เงินหรือเสียเงิน ตัวอย่างของการลงทุนที่อัตราผลตอบแทนผันแปรได้แก่ หุ้น กองทุนรวม ธุรกิจ และอสังหาริมทรัพย์ ตามปกติ การลงทุนที่อัตราผลตอบแทนผันแปรถือว่าเสี่ยงกว่าการลงทุนที่อัตราผลตอบแทนคงที่ แต่มีแนวโน้มว่าจะได้ผลตอบแทนสูงกว่า

การกระจายความเสี่ยง หมายถึงกระจายเงินของท่านไปลงทุนหลายแบบ การลงทุนหลายแบบจะช่วยลดความเสี่ยง

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนแบบต่างๆ ให้ท่านอ่านด้วยตนเองสัปดาห์นี้ในหมวด “แหล่งข้อมูล” ที่อยู่ท้ายบทนี้

สนทนา:ทบทวนแนวคิดต่อไปนี้ในกลุ่มจนทุกคนรู้สึกอุ่นใจที่พวกเขาเข้าใจ

  • ดอกเบี้ยทบต้น

  • ความเสี่ยงกับผลตอบแทน

  • อัตราผลตอบแทนคงที่

  • อัตราผลตอบแทนผันแปร

  • การกระจายความเสี่ยง

5. ค้นคว้าเรื่องบัญชีวัยเกษียณที่เป็นไปได้

อ่าน:ตามปกติท่านจะต้องจ่ายภาษีการลงทุนบางประเภท ภาษีสามารถเป็นรายจ่ายก้อนใหญ่ที่สุดที่ต้องพิจารณาเมื่อลงทุน โชคดีที่รัฐบาลหลายประเทศยอมรับบัญชีเกษียณที่มีผลประโยชน์พิเศษด้านภาษีที่ท่านจะต้องเข้าใจ บัญชีลงทุนเหล่านี้อาจเป็นแบบนายจ้างออกเงินให้หรือท่านออกเงินเอง และภายในบัญชีเหล่านี้ท่านสามารถลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวม และอื่นๆ บัญชีมีชื่อต่างกันขึ้นอยู่กับเขตที่ท่านอยู่ แต่ข้อได้เปรียบพื้นฐานด้านภาษีคล้ายกันและโดยปกติจะมีสองประเภทคือรอชำระภาษีและปลอดภาษี

รอชำระภาษี: เงินเข้าบัญชีรอชำระภาษีตามปกติลดหย่อนได้ในปีที่เงินเข้า ส่วนเงินถอนช่วงวัยเกษียณถูกหักภาษีตามอัตราภาษีรายได้ของท่าน ณ เวลานั้น ถ้าการลงทุนของท่านไม่โตมาก เนื่องจากอัตราผลตอบแทนต่ำหรือเพราะยังไม่ถึงเวลาโต ท่านอาจประหยัดภาษีได้มากขึ้นโดยยืดเวลาชำระภาษีเงินได้ของเงินนั้นจนกว่าจะเกษียณเมื่ออัตราจ่ายภาษีของเงินนั้นลดลง

ปลอดภาษี: เงินเข้าบัญชีปลอดภาษีไม่มีข้อได้เปรียบด้านภาษีในตอนแรก สำหรับบัญชีเหล่านี้ เงินที่เข้าบัญชีถูกหักภาษีในปีที่ท่านได้มา แต่รายได้และเงินถอนทั้งหมดในอนาคตไม่ต้องเสียภาษี ถ้าการลงทุนของท่านโตมาก เนื่องด้วยอัตราผลตอบแทนสูงขึ้นหรือเพราะมีเวลาให้โตอีกมาก ท่านอาจจะชำระภาษีน้อยลงโดยใช้บัญชีปลอดภาษี

เท่าที่ท่านทราบ ท่านจะชำระภาษีล่วงหน้าหรือชำระเมื่อถอนเงินก็ได้ขึ้นอยู่กับประเภทบัญชีที่ท่านเลือก ประเภทหนึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อท่านมากกว่าอีกประเภทหนึ่ง ขึ้นอยู่กับสภาวการณ์ของท่าน

6. เริ่มออมเงินสำหรับวัยเกษียณให้เร็วที่สุด

อ่าน:ทันทีที่ท่านตั้งกองทุนฉุกเฉินและชำระหนี้ผู้บริโภคหมดแล้ว ท่านควรเริ่มออมเงินสำหรับวัยเกษียณให้เร็วที่สุด ยิ่งท่านเริ่มออมเงินสำหรับวัยเกษียณเร็วเท่าใด เงินของท่านจะยิ่งงอกเงยนานและท่านจะยิ่งมีเงินสำหรับวัยเกษียณมากเท่านั้น

วิธีที่ดีมากวิธีหนึ่งในการเริ่มออมเงินสำหรับวัยเกษียณคือผ่านแผนวัยเกษียณที่นายจ้างออกเงินให้ ถ้านายจ้างเสนอบัญชีเกษียณบางแบบที่เหมาะกับท่าน จงรับข้อเสนอ! เพราะแบบนั้นเปรียบเสมือนโบนัสหรือเงินเพิ่มสำหรับท่าน จะช่วยให้ท่านมีเงินออมมากขึ้น

กิจกรรมต่อไปนี้ช่วยอธิบายพลังของการลงทุนเป็นประจำให้นานขึ้น

สนทนาเรื่องการเตรียมรับวัยเกษียณในสภาครอบครัวของท่าน

อ่าน:ระหว่างสภาครอบครัวของท่านสัปดาห์นี้ ให้สนทนาเรื่องแผนวัยเกษียณของท่าน ประมาณการว่าท่านจะต้องใช้เงินเท่าใด ท่านจะเกษียณเมื่อใด และสถานะการเงินของท่านจะเป็นอย่างไร ณ เวลานั้น จดจำนวนเงินที่ท่านต้องการออม และกำหนดจำนวนเงินที่ท่านจะกันไว้แต่ละเดือนสำหรับวัยเกษียณ พึงจดจำว่า ถึงแม้การเริ่มออมเงินสำหรับวัยเกษียณให้เร็วที่สุดเป็นเรื่องสำคัญ แต่เร่งด่วนกว่านั้นคือการสร้างกองทุนฉุกเฉินของท่านและล้างหนี้ผู้บริโภคก่อน ระหว่างการสนทนาของท่าน ท่านอาจต้องการใช้โครงร่าง “ตัวอย่างการสนทนาในสภาครอบครัว” ต่อไปนี้

ตัวอย่างการสนทนาในสภาครอบครัว

จงเริ่มและจบด้วยการสวดอ้อนวอนเพื่ออัญเชิญพระวิญญาณ

ส่วนที่ 1: ทบทวน

  • ลำดับความสำคัญด้านการเงินปัจจุบันของท่านเป็นอย่างไร

  • ปัจจุบันท่านเตรียมรับวัยเกษียณอย่างไร

ส่วนที่ 2: วางแผน

  • ท่านจะเกษียณเมื่อใด

  • แต่ละปีท่านจะต้องใช้เงินเท่าใดจัดหาตามความต้องการของท่านเอง

  • ท่านต้องออมเงินเท่าใด

  • สถานะการเงินของท่านจะเป็นอย่างไรเมื่อท่านเกษียณ ท่านจะมีบ้านเป็นของตนเองหรือไม่ ท่านจะยังผ่อนบ้านหรือไม่ ท่านจะเตรียมรับใช้งานเผยแผ่อาวุโสหรือไม่ ท่านจะต้องจุนเจือสมาชิกครอบครัวคนใดหรือไม่ ค่าครองชีพของท่านจะมากหรือน้อยกว่าตอนนี้

พิมพ์