การพึ่งพาตนเอง
เรียนรู้—ใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที


เรียนรู้—ใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที

การสนทนาวันนี้:

2 ป้องกันไม่ให้ครอบครัวท่านลำบาก

ภาพ
กราฟิกของบ้าน

แผนที่ความสำเร็จด้านการพิทักษ์การเงิน

จุดตรวจสอบงบประมาณและการใช้จ่าย

อ่าน:ทบทวนและอัปเดตงบประมาณของท่าน อะไรได้ผลดี ท่านต้องปรับหมวดหมู่ใดหากจำเป็น ท่านจะใช้จ่ายน้อยลงในบางหมวดหมู่ได้หรือไม่เพื่อจะออมไว้สำหรับกองทุนฉุกเฉินได้เร็วขึ้น ปลอดหนี้ หรือออมไว้สำหรับอนาคต คำมั่นสัญญาข้อหนึ่งของท่านสัปดาห์นี้คือสนทนากิจกรรมต่อไปนี้ระหว่างสภาครอบครัว

ไตร่ตรอง:ท่านจะทำอะไรถ้าท่านประสบวิกฤติการเงิน ท่านเคยประสบวิกฤติการเงินอะไรบ้างในอดีต

อ่าน:ในพันธสัญญาเดิม โยเซฟเตือนฟาโรห์ล่วงหน้าว่าจะมีความอุดมสมบูรณ์เจ็ดปี ตามด้วยความอดอยากเจ็ดปี ฟาโรห์แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในทันทีให้กันส่วนหนึ่งจากช่วงปีที่ดีเผื่อไว้สำหรับช่วงปีที่ไม่ดี (ดู ปฐมกาล 41:1–37) แม้เราจะไม่มีคำพยากรณ์ชัดเจนเสมอไปว่าช่วงเวลาที่ดีและไม่ดีจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ทุกวันนี้ศาสดาพยากรณ์กระตุ้นให้เราเตรียมเผื่อวิกฤติ โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์กำลังราบรื่น

ในบทนี้ เราจะเรียนรู้ว่าต้องทำอะไรเมื่อเราประสบวิกฤติการเงินและวิธีเตรียมรับวิกฤติก่อนเกิด

สนทนา:ท่านอาจจะประสบวิกฤติการเงินแบบใด จดแนวคิดของกลุ่มไว้ด้านล่าง

1. เรียนรู้วิธีจัดการวิกฤติการเงิน

อ่าน:เหมือนแผนฉุกเฉินหรือแผนหนีไฟ ในเหตุวิกฤติการเงินท่านควรมีขั้นตอนดำเนินการที่เรียบง่ายให้ทำตาม เกี่ยวกับวิธีจัดการกับการทดลองต่างๆ เอ็ลเดอร์มาร์วิน เจ. แอชตันถามว่า “ท่านสามารถนั่งเงียบๆ ทบทวนข้อเท็จจริง และเขียนขั้นตอนดำเนินการที่เป็นไปได้ทั้งหมดออกมาเป็นข้อๆ ได้ไหม ท่านทราบสาเหตุและคิดหาวิธีแก้ได้หรือไม่ การตรึกตรองเงียบๆ สามารถแก้ปัญหาได้เร็วกว่าวิตกตื่นกลัว” (“Give with Wisdom That They May Receive with Dignity,” Ensign, Nov. 1981, 88) การคิดหาวิธีรับมือวิกฤติการเงินล่วงหน้าจะช่วยให้ท่านพร้อมทางอารมณ์และการเงินเมื่อเกิดความลำบากและสามารถช่วยท่านป้องกันวิกฤติบางอย่างในอนาคต การจัดการวิกฤติการเงินมีสองขั้นตอนคือ ประเมินสถานการณ์ และดำเนินการอย่างเหมาะสม

สนทนา:เหตุใดการตัดสินใจตอนนี้ว่าจะจัดการวิกฤติการเงินอย่างไรจึงเป็นเรื่องสำคัญ พระวิญญาณทรงช่วยท่านจัดการวิกฤติในอดีตอย่างไร

ประเมินสถานการณ์

อ่าน:เพื่อประเมินวิกฤติการเงินที่อาจเกิดขึ้น ท่านอาจต้องถามคำถามต่อไปนี้

  • ท่านซื่อสัตย์ในการจ่ายส่วนสิบและเงินบริจาคหรือไม่ ท่านดำเนินชีวิตในลักษณะที่ท่านมีค่าควรรับพรของพระผู้เป็นเจ้าหรือไม่

  • ท่านวางมาตรการป้องกันภาวะฉุกเฉินอะไรไว้บ้างที่จะช่วยท่านเผชิญความท้าทายในปัจจุบัน ท่านมีการสะสมอาหารและน้ำ กองทุนฉุกเฉิน และประกันตามสมควรหรือไม่

  • การเตรียมรับภาวะฉุกเฉินของท่านยังขาดอะไรอีกบ้าง

  • ท่านมีกรมธรรม์ประกันภัยอะไรบ้างที่อาจครอบคลุมความท้าทายทั้งหมดนี้หรือบางส่วน

  • ท่านจะสามารถใช้กองทุนฉุกเฉินของท่านได้นานเท่าใด

  • ในงบประมาณและแผนล้างหนี้ของท่านมีช่องทางเผื่อไว้สำหรับการปรับเปลี่ยนชั่วคราวหรือไม่ หากจำเป็น

สนทนา:เหตุใดการประเมินสถานการณ์อย่างละเอียดก่อนดำเนินการจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ดำเนินการ

อ่าน:มีวิธีดำเนินการหลายวิธีที่ท่านอาจจะสามารถใช้ช่วยเอาชนะความท้าทายทางการเงินของท่าน ขึ้นอยู่กับรูปแบบและความรุนแรงของวิกฤติการเงิน แม้วิธีดำเนินการเหล่านี้อาจไม่เหมาะกับทุกสถานการณ์ แต่ขั้นตอนต่อไปนี้ควรให้แนวคิดถึงสิ่งที่ท่านจะทำได้ในกรณีเกิดวิกฤติการเงิน

โทรแจ้งบริษัทประกันของท่าน

อ่าน:วิกฤติการเงินบางอย่างอาจเกี่ยวข้องกับภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ อุบัติเหตุรถยนต์ การซ่อมบ้าน หรือตกงาน สำหรับสถานการณ์เช่นนั้น ก่อนท่านตื่นตระหนกหรือดำเนินการใดก็ตาม ให้โทรแจ้งผู้รับประกันเพื่อตรวจสอบความคุ้มครอง การสอบถามเรื่องความคุ้มครองไม่ได้หมายความว่าท่านกำลังเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าคุ้มครองสถานการณ์ของท่าน ท่านก็ควรจะพอคาดเดาส่วนที่ท่านจะต้องจ่ายได้

สนทนา:วิกฤติการเงินอะไรบ้างที่ท่านควรโทรแจ้งบริษัทประกันของท่าน

ใช้กองทุนฉุกเฉินของท่าน

อ่าน:จุดประสงค์ของกองทุนฉุกเฉินคือช่วยให้ท่านผ่านพ้นวิกฤติการเงิน อย่ารู้สึกผิดที่ต้องใช้กองทุนดังกล่าวสำหรับสถานการณ์เหล่านี้ ท่านสามารถใช้กองทุนฉุกเฉินสำหรับอะไรก็ได้ที่ท่านจำเป็นต้องใช้—ตั้งแต่ค่าครองชีพไปจนถึงค่าเสียหายส่วนแรกก่อนประกันจ่ายส่วนที่เหลือ จงฉลาดใช้กองทุนนี้สำหรับสิ่งที่เหมาะสมในเวลาที่เหมาะสม เติมกองทุนฉุกเฉินของท่านให้เต็มเร็วที่สุดหากท่านต้องใช้เงินจากกองทุนนั้น

ชำระรายจ่ายที่สำคัญที่สุดและบิลต่างๆก่อน

อ่าน:สำรวจรายจ่ายและบิลทั้งหมดของท่านอย่างละเอียดและพิจารณาว่าส่วนใดต้องชำระทันทีและส่วนใดยืดเวลาออกไปได้สั้นๆ โดยเสียค่าปรับไม่มาก ท่านอาจจำเป็นต้องโทรสอบถามคนออกบิลว่าพวกเขามีระยะผ่อนผันชั่วคราวช่วงลำบาก แผนชำระแบบไม่มีดอกเบี้ย หรือยืดวันครบกำหนดหรือไม่ พึงทราบว่าท่านจะดูแลรายจ่ายส่วนใดก่อน และศึกษาผลเสียของการผัดผ่อนการชำระบิลอื่นๆ ก่อนจะขอผัดผ่อน ท่านอาจต้องตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นเวลานั้นหากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ จ่ายค่าอาหาร ที่พัก สาธารณูปโภค และค่าเดินทางที่จำเป็นก่อนรายจ่ายอื่นๆ

สนทนา:เหตุใดจึงสำคัญที่จะชำระรายจ่ายตามที่กล่าวมาข้างต้นก่อน

โทรแจ้งเจ้าหนี้ของท่าน

อ่าน:ในสภาวการณ์ที่ร้ายแรงมาก การโทรแจ้งเจ้าหนี้และอธิบายสถานการณ์ปัจจุบันของท่านอาจเป็นวิธีที่ฉลาด ขึ้นอยู่กับวิกฤตินั้นๆ ท่านอาจต้องขอให้พวกเขา:

  • เลื่อนเวลาชำระชั่วคราวหรือลดเงินชำระ

  • ยืดเวลาและปรับเงื่อนไขเงินกู้อย่างถาวร

แม้ทั้งหมดนี้อาจจะเป็นทางเลือกที่ใช้ได้ในกรณีร้ายแรงมาก แต่จงระวังว่าการเลื่อนเวลาชำระหรือการปรับเงื่อนไขเงินกู้จะคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มและทำให้เงินกู้สูงขึ้นในระยะยาว

ค้นหาแหล่งช่วยอื่นที่จะช่วยได้

อ่าน:ความรับผิดชอบของเราคือจัดหาให้ตัวเราเองและครอบครัวของเรา แต่อาจมีบางครั้งที่เราต้องพึ่งคนอื่นชั่วคราว ขณะท่านหาแหล่งช่วยอื่น จงระวังอย่าพึ่งความช่วยเหลือระยะยาว—เพราะการพึ่งเช่นนั้นจะทำให้ความก้าวหน้าทางโลกและทางวิญญาณของท่านหยุดชะงัก ตามที่เราอ่านในบทที่ 2 ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์สอนว่ามีความช่วยเหลือทางโลกสี่ชั้นลดหลั่นลงมาที่เราหันไปพึ่งได้

ภาพ
การพึ่งพาด้านการเงิน
  1. ตนเอง: เราควรทำสุดความสามารถก่อนเพื่อจัดหาให้ครอบครัวและบรรเทาปัญหาใกล้ตัว

  2. ครอบครัว: ถ้าท่านไม่สามารถตอบรับความต้องการพื้นฐานด้านการเงินด้วยตนเองหลังจากทำสุดความสามารถแล้ว ท่านควรติดต่อครอบครัวหรือญาติพี่น้องหากจำเป็นเพื่อขอความช่วยเหลือชั่วคราวด้านการเงิน ไม่ว่าจะเรื่องที่พัก อาหาร หรือความจำเป็นอื่น

  3. ศาสนจักร: หลังจากตัวท่านทำสุดความสามารถและขอความช่วยเหลือจากครอบครัวแล้ว ท่านอาจต้องเข้าพบผู้นำศาสนจักร (อธิการ ประธานสาขา หรือประธานสมาคมสงเคราะห์) เพื่อสำรวจทางเลือกเพิ่มเติม พึงจดจำว่าผู้นำศาสนจักรได้รับการสอนมาอย่างดีให้ช่วยผู้คนประคองชีวิตเมื่อจำเป็น ไม่ใช่ประคองรูปแบบการดำเนินชีวิต

  4. ชุมชน: โปรแกรมความช่วยเหลือต่างๆ จากชุมชนหรือรัฐบาลอาจมีให้ท่านในรูปแบบของการให้คำปรึกษาเรื่องอาชีพและการเงิน ความช่วยเหลือเรื่องที่พัก ความช่วยเหลือเรื่องโภชนาการสำหรับเด็กแรกเกิดและสุขภาพมารดา เป็นต้น พึงจดจำว่าโปรแกรมเหล่านี้ออกแบบไว้ให้ความช่วยเหลือระยะสั้นเท่านั้น อย่าพึ่งพวกเขาระยะยาว

สนทนา:เหตุใดเราจึงควรขอความช่วยเหลือจากครอบครัวเราก่อนขอความช่วยเหลือจากศาสนจักรและชุมชน แหล่งช่วยใดที่กลุ่มของท่านระบุว่ามีอยู่ในพื้นที่ของท่านเพื่อช่วยรับมือกับภาวะวิกฤติ

2. เพิ่มการเตรียมรับภาวะฉุกเฉินของท่าน

อ่าน:ท่านควรมีหรือควรตั้งกองทุนฉุกเฉินหนึ่งเดือน การเตรียมของท่านไม่ควรจบตรงนั้น จงทำให้ปลอดหนี้ผู้บริโภคและจากนั้นตั้งกองทุนฉุกเฉินสามเดือนถึงหกเดือนและทำประกันคุ้มครองรายได้ของท่าน

ตั้งกองทุนฉุกเฉินสามเดือนถึงหกเดือน

อ่าน:หลังจากท่านชำระหนี้ผู้บริโภคหมดแล้ว ขั้นต่อไปคือเพิ่มกองทุนฉุกเฉินจากหนึ่งเดือนเป็นสามถึงหกเดือน จำไว้ว่าต้องเก็บเงินสำหรับกองทุนฉุกเฉินของท่านไว้ในที่ปลอดภัยซึ่งท่านสามารถนำออกมาใช้ได้โดยไม่เสียค่าปรับ เพิ่มกองทุนนี้ให้เร็วที่สุดเพื่อท่านจะพร้อมรับวิกฤติการเงินมากขึ้น คำมั่นสัญญาข้อหนึ่งของท่านสัปดาห์นี้คือประเมินกองทุนฉุกเฉินของท่านและชำระหนี้ผู้บริโภคให้หมด

ทำประกันรายได้ตามสมควร

หมายเหตุ: ข้อมูลนี้อาจใช้ไม่ได้กับภูมิภาคหรือพื้นที่ของท่าน

อ่าน:สินทรัพย์สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของท่านคือรายได้ของท่าน ค้นหากรมธรรม์ประกันชีวิตและประกันทุพพลภาพที่น่าเชื่อถือในพื้นที่ของท่านและซื้อประกันครอบคลุมมากพอให้เร็วที่สุด

สนทนาในสภาครอบครัวของท่านเรื่องการเตรียมรับวิกฤติการเงิน

อ่าน:คำมั่นสัญญาข้อหนึ่งของท่านสัปดาห์นี้คือสนทนาคำตอบของ “จุดตรวจสอบงบประมาณและการใช้จ่าย” (ดู หน้า 147) และการเตรียมรับวิกฤติการเงินของท่าน สนทนาภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในครอบครัวท่าน วิธีที่ท่านจะเตรียมรับภาวะเหล่านั้น ประกันที่ท่านอาจต้องมีเพื่อช่วยคุ้มครองตัวท่านเอง และแผนโทรแจ้งคนออกบิลและเจ้าหนี้หากจำเป็น ท่านอาจต้องการใช้โครงร่าง “ตัวอย่างการสนทนาในสภาครอบครัว” ด้านล่าง พึงจดจำว่า ถ้าท่านไม่ได้แต่งงาน สภาครอบครัวของท่านอาจได้แก่ เพื่อนร่วมห้อง มิตรสหาย สมาชิกครอบครัว หรือครูพี่เลี้ยง

พิมพ์