การพึ่งพาตนเอง
เรียนรู้—ใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที


เรียนรู้—ใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที

แผนภาพของบ้านการสนทนาวันนี้:

งบประมาณ

อ่าน:ขอแสดงความยินดีเรื่องการตั้งงบประมาณ! งบประมาณจะเป็นเครื่องมือที่มีพลังควบคุมสถานะการเงินของท่านและลดความตึงเครียดในชีวิตท่าน ในพระคัมภีร์ เราเรียนรู้ว่า “ความจริงคือความรู้ถึงสิ่งทั้งหลายดังที่เป็นอยู่, และดังที่เป็นมา, และดังที่จะเป็น” (คพ. 93:24)

สนทนา:ข้อนี้จากพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาจะประยุกต์ใช้กับการเงินของท่านและการใช้งบประมาณได้อย่างไร

อ่าน:การรู้ว่าการเงินของครอบครัวท่านอยู่ตรงจุดไหนจำเป็นต่อการพิทักษ์การเงินได้สำเร็จ เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลินสอนว่า “ผู้ที่ดำเนินชีวิตอย่างปลอดภัยภายในขอบเขตรายได้ของตนรู้ว่าจะมีรายรับเท่าใดในแต่ละเดือน ถึงแม้จะยากแต่พวกเขาก็ฝึกวินัยตนเองให้ใช้จ่ายน้อยกว่าเงินจำนวนนั้น” (“หนี้สินทางโลก หนี้สินทางสวรรค์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 53)

การทำตามงบประมาณที่ตั้งไว้เป็นเรื่องยาก ต้องอาศัยคำมั่นสัญญา วินัย และความมุ่งมั่นตั้งใจ—อาจต้องพยายามหลายครั้งจึงจะทำได้! ขณะท่านพยายามเปลี่ยนนิสัยการใช้จ่ายของท่าน พึงจดจำว่าต้องปรึกษาพระจ้าและคู่สมรสของท่านหรือคู่รับผิดชอบ ด้วยความพยายามอย่างต่อเนื่องและการสนับสนุนช่วยเหลือด้วยความรัก ท่านจะสามารถเป็นเหมือนเด็กที่รู้จักรอในประสบการณ์มาร์ชเมลโลได้มากขึ้น (สนทนาไปแล้วในบทก่อน)

สนทนา:พระเจ้าจะทรงช่วยเราพัฒนาคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ รวมถึงวินัยในตนเองและความขยันหมั่นเพียรได้อย่างไร

อ่าน:วันนี้เราจะสนทนาหลักธรรมสี่ข้อสำหรับการทำตามงบประมาณที่ตั้งไว้:

  1. ตั้งเป้าหมายการเงินที่เป็นจริงและมีแรงจูงใจ

  2. หาและใช้ระบบจัดทำงบประมาณ

  3. รับผิดชอบตนเอง

  4. ทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า และพยายามต่อไป!

1. ตั้งเป้าหมายการเงินที่เป็นจริงและมีแรงจูงใจ

อ่าน:การตั้งเป้าหมายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่สามารถช่วยเราพัฒนาและมองการณ์ไกล

เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดสอนว่า “ข้าพเจ้าจะบอกท่านบางอย่างเกี่ยวกับการตั้งเป้าหมาย ข้าพเจ้าเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าหากเราไม่ตั้งเป้าหมายในชีวิตเราและฝึกใช้เทคนิคการดำเนินชีวิตให้บรรลุเป้าหมายจนเชี่ยวชาญ เมื่อเราแก่ตัวและมองย้อนกลับไปดูชีวิตเรา เราจะเห็นว่าเราบรรลุศักยภาพที่มีอยู่เต็มเปี่ยมเพียงน้อยนิดเท่านั้น เมื่อใดที่คนๆ หนึ่งฝึกใช้หลักการตั้งเป้าหมายจนเชี่ยวชาญ เมื่อนั้นเขาจะสามารถสร้างความแตกต่างใหญ่หลวงในผลที่เขาบรรลุในชีวิตนี้” (“Do Things That Make a Difference,” Ensign, June 1983, 69–70)

    สนทนา:
  • เป้าหมายช่วยให้ท่านก้าวหน้าในอดีตอย่างไร

  • การตั้งเป้าหมายเป็นการแสดงศรัทธาอย่างไร

อ่าน:การตั้งเป้าหมายการเงินที่เป็นจริงและมีแรงจูงใจเป็นเรื่องสำคัญ ตลอดสองสามบทต่อจากนี้ เราจะเรียนเรื่องเป้าหมายและลำดับความสำคัญด้านการเงิน รวมไปถึงการตั้งกองทุนฉุกเฉินหนึ่งเดือน การปลดหนี้ การตั้งกองทุนฉุกเฉินระยะยาว การลงทุนสำหรับวัยเกษียณ และการออมเงินสำหรับรายจ่ายที่คุ้มค่าอื่นๆ กิจกรรมต่อไปนี้จะช่วยให้ท่านทราบว่าสิ่งใดควรอยู่ในลำดับความสำคัญด้านการเงินปัจจุบันของท่าน

อ่าน:ท่านสามารถเลือกทำเป้าหมายระยะยาวอื่นๆ นอกเหนือจากลำดับความสำคัญด้านการเงินในปัจจุบันของท่าน ซึ่งอาจรวมถึง เงินออมเพื่อการศึกษา งานเผยแผ่ รถยนต์ บ้าน หรือวันพักร้อนของครอบครัวหรือนันทนาการอื่นๆ จะมีการล่อลวงมากมายให้เลือกมองสั้นๆ แทนที่จะมองการณ์ไกล เป้าหมายจะให้เหตุผลท่านตอบปฏิเสธในเวลานี้โดยมีบางสิ่งบางอย่างให้ท่านตั้งตารอในอนาคต

สนทนา:อะไรเป็นแรงจูงใจให้ท่านอยากทำตามงบประมาณที่ท่านตั้งไว้

2. หาและใช้ระบบจัดทำงบประมาณ

อ่าน:มีเครื่องมือและระบบมากมายไว้ช่วยท่านบริหารงบประมาณและติดตามรายจ่ายของท่าน ระบบจัดทำงบประมาณที่มีประสิทธิภาพเรียงลำดับลงมาตั้งแต่ระบบกระดาษและปากกาไปจนถึงแอปพลิเคชันมือถือและคอมพิวเตอร์

มีวิธีขั้นต้นสองวิธีในการชำระค่าสินค้าและบริการ คือ เงินสดหรือชำระทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ละวิธีมีทั้งข้อดีข้อเสีย และจะส่งผลต่อวิธีบริหารงบประมาณและติดตามรายจ่ายของท่าน ในสองสามหัวข้อถัดไป เราจะพูดถึงระบบจัดทำงบประมาณที่ใช้กันทั่วไปสองระบบ คำมั่นสัญญาข้อหนึ่งของท่านสัปดาห์นี้คือหาระบบที่เหมาะกับท่าน

ดูวีดิทัศน์:The Envelope System” มีอยู่ที่ srs.lds.org/videos (ถ้าดูวีดิทัศน์ไม่ได้ ให้อ่าน หน้า 83)

ไอคอนวีดิทัศน์

ดูวีดิทัศน์:Digital Systems” มีอยู่ที่ srs.lds.org/videos (ถ้าดูวีดิทัศน์ไม่ได้ ให้อ่าน หน้า 84)

ไอคอนวีดิทัศน์

อ่าน:ไม่ว่าวิธีใดก็ตาม จงแน่ใจว่าท่าน:

  • ไม่โกงโดยเปลี่ยนจำนวนที่ตั้งไว้หรือยืมจากหมวดหมู่อื่น ปรึกษาคู่สมรสหรือคู่รับผิดชอบของท่านถ้าต้องปรับเปลี่ยน

  • ติดตามรายจ่ายทั้งหมดอย่างใกล้ชิด และปรับหมวดหมู่งบประมาณของท่านในเดือนถัดไปตามความจำเป็น

3. รับผิดชอบตนเอง

อ่าน:ท่านจะทำตามงบประมาณที่ตั้งไว้ได้ก็ต่อเมื่อท่านรับผิดชอบตนเอง สภาครอบครัวประจำสัปดาห์จะเป็นโอกาสให้ทบทวนเป้าหมายและงบประมาณของท่านและทำการปรับเปลี่ยนหากจำเป็น ถ้าท่านรับผิดชอบตนเองไม่ได้ การรายงานความก้าวหน้าของท่านให้คนอื่นฟัง—เช่น เพื่อน คู่ปฏิบัติ ครูพี่เลี้ยง หรือผู้ให้คำปรึกษาด้านการเงิน อาจเป็นวิธีที่ฉลาด สิ่งสำคัญคือท่านต้องจัดเวลาประเมินความก้าวหน้าอยู่เสมอและทำการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น

สนทนา:เหตุใดการรับผิดชอบตนเองจึงสำคัญ ท่านจะรับผิดชอบงบประมาณของท่านเองอย่างไร

4. ทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า และพยายามต่อไป

อ่าน:พึงจดจำว่าการพิทักษ์การเงินอย่างซื่อสัตย์อาจเรียกร้องให้ท่านเปลี่ยนทัศนะ นิสัย และพฤติกรรม ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์จะช่วยให้ท่านผ่านการเปลี่ยนแปลงนี้ไปได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจถอนรากนิสัยที่ฝังลึก และเพราะการตั้งงบประมาณเป็นกระบวนการเรียนรู้ บางครั้งท่านจึงอาจทำตามงบที่ตั้งไว้ไม่ได้

นอกจากนี้ ท่านอาจพลั้งเผลอและซื้อโดยไม่ตั้งใจหรือประสบวิกฤติการเงินเช่นตกงาน กรณีฉุกเฉินด้านการรักษาพยาบาล หรือค่าซ่อมบำรุงที่คาดไม่ถึง ท่านจะเรียนเรื่องการตั้งกองทุนฉุกเฉินและการรับมือกับวิกฤติการเงินในบทต่อๆ ไปแต่ตอนนี้สำคัญที่ต้องจดจำว่างบประมาณปรับเปลี่ยนได้และการทำตามงบประมาณที่ตั้งไว้เรียกร้องความมุ่งมั่นตั้งใจ

เมื่อท่านประสบอุปสรรคเรื่องงบประมาณ จงสนทนาเรื่องนี้ในสภาครอบครัว และทบทวนงบประมาณในด้านที่อาจต้องปรับเปลี่ยน แม้ท่านจะรู้สึกท้อถอยและอยากเลิกทำตามงบประมาณที่ตั้งไว้ พึงจำไว้ว่าท่านสามารถพยายามต่อไป โดยปรึกษาพระเจ้าและทูลขอความช่วยเหลือจากพระองค์ ท่านจะมีพลังและสามารถพยายามต่อไป

สนทนา:ท่านจะทำอะไรเมื่อท่านประสบอุปสรรคเรื่องงบประมาณของท่าน

สนทนาเรื่องการทำตามงบประมาณตามที่ตั้งไว้ในสภาครอบครัวของท่าน

อ่าน:การทำตามงบประมาณที่ตั้งไว้เรียกร้องความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับคู่สมรสและกับครอบครัวของท่าน สัปดาห์นี้ให้สนทนาเรื่องระบบจัดทำงบประมาณที่ท่านสามารถใช้ได้และวิธีที่ท่านสามารถปรับเปลี่ยนงบประมาณหากท่านประสบความท้าทาย นอกจากนี้ ให้สนทนาลำดับความสำคัญด้านการเงินในปัจจุบันของท่าน เป้าหมายระยะยาว และแผนการบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น ท่านอาจต้องการใช้โครงร่าง “ตัวอย่างการสนทนาในสภาครอบครัว” ด้านล่าง พึงจดจำว่า ถ้าท่านไม่ได้แต่งงาน สภาครอบครัวของท่านอาจได้แก่เพื่อนร่วมห้อง มิตรสหาย สมาชิกครอบครัว หรือครูพี่เลี้ยง

ตัวอย่างการสนทนาในสภาครอบครัว

จงเริ่มและจบด้วยการสวดอ้อนวอนเพื่ออัญเชิญพระวิญญาณ

ส่วนที่ 1: ทบทวน

  • ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อปรับปรุงงบประมาณของท่าน

  • ลำดับความสำคัญด้านการเงินในปัจจุบันของท่านเป็นอย่างไร สนทนาเรื่องแบบประเมินใน หน้า 76

ส่วนที่ 2: วางแผน

  • ลำดับความสำคัญด้านการเงินและเป้าหมายระยะยาวของท่านคืออะไร

  • ท่านจะใช้ระบบจัดทำงบประมาณระบบใดจดงบประมาณและติดตามรายจ่าย

  • ท่านจะทำตามงบประมาณที่ตั้งไว้อย่างไร และท่านจะทำอะไรถ้าใช้เกินงบประมาณ