การพึ่งพาตนเอง
เรียนรู้—ใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที


เรียนรู้—ใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที

การสนทนาวันนี้:

2 ป้องกันไม่ให้ครอบครัวท่านลำบาก

ภาพ
กราฟิกของบ้าน

แผนที่ความสำเร็จด้านการพิทักษ์การเงิน

1. ป้องกันไม่ให้ครอบครัวท่านลำบาก

อ่าน:การเตรียมพร้อมเป็นหลักธรรมพระกิตติคุณที่มีอานุภาพ พระเจ้าทรงสัญญาว่า “หากเจ้าพร้อมเจ้าจะไม่กลัว” (คพ. 38:30)

หลังจากทำสัญญาผูกมัดว่าเราจะจ่ายให้พระเจ้าผ่านส่วนสิบและเงินบริจาคอื่นๆ ก่อน สัญญาผูกมัดข้อสองของเราคือทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้ครอบครัวลำบาก เราทำเช่นนี้ได้ต่อเมื่อเรามองการณ์ไกลเท่านั้น ในบทนี้เราจะเรียนสองขั้นตอนที่ป้องกันไม่ให้ครอบครัวเราลำบากเรื่องเงิน

  • ตั้งกองทุนฉุกเฉินหนึ่งเดือน

  • ทำประกันภัยที่เพียงพอ

สนทนา:ใช้เวลาสองสามนาทีเพื่อดูแผนที่ความสำเร็จด้านการพิทักษ์การเงิน ท่านคิดว่าเหตุใดการป้องกันไม่ให้ครอบครัวท่านลำบากจึงมีความสำคัญเป็นอันดับสองหลังการจ่ายส่วนสิบและเงินบริจาค

2. ตั้งกองทุนฉุกเฉินหนึ่งเดือน

อ่าน:การติดตามรายจ่ายของท่านอย่างน้อยสี่สัปดาห์ควรทำให้ท่านทราบจำนวนเงินที่ต้องใช้จ่ายในหนึ่งเดือนแล้ว กองทุนฉุกเฉินหนึ่งเดือนของท่านควรเท่ากับจำนวนนี้

สำหรับกองทุนฉุกเฉินหนึ่งเดือน ท่านควรเก็บเงินสดไว้ในที่ปลอดภัยและนำออกมาใช้ได้ง่ายเช่นบัญชีธนาคาร อย่าใช้เงินส่วนนี้กับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน ถ้าท่านมีกรณีฉุกเฉินและต้องใช้เงินจากกองทุนฉุกเฉินหนึ่งเดือน ให้เริ่มคืนเงินเข้ากองทุนทันทีจนกว่าจะครบ ต่อมา หลังจากท่านชำระหนี้ผู้บริโภคครบหมดแล้ว ท่านจะเริ่มออมเงินให้มากพอครอบคลุมค่าใช้จ่ายสามถึงหกเดือน (เราจะพูดถึงขั้นตอนนี้ในบทที่ 9)

ท่านควรพยายามตั้งกองทุนฉุกเฉินหนึ่งเดือนให้เร็วที่สุด นำเงินพิเศษที่ท่านได้มาใส่ไว้ในกองทุนฉุกเฉินจนกว่าจะครบ ถึงแม้ท่านมีหนี้ จงชำระหนี้ขั้นต่ำสุดเท่านั้นจนกว่าท่านตั้งกองทุนฉุกเฉินหนึ่งเดือนแล้ว เพื่อช่วยเร่งกระบวนการนี้ ท่านอาจต้องการหางานพิเศษทำหรืองานที่ดีกว่าเดิม ขายของบางอย่างที่ท่านไม่จำเป็นต้องใช้ หรือตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกบ้าง

สนทนา:พรใดจะมาถึงครอบครัวท่านได้บ้างผ่านการมีกองทุนฉุกเฉินหนึ่งเดือน เหตุใดท่านจึงควรตั้งกองทุนฉุกเฉินก่อนชำระหนี้ให้หมด

3. ทำประกันภัยที่เพียงพอ

อ่าน:ท่านหรือครอบครัวท่านจะได้รับผลกระทบทางการเงินอย่างไรถ้าคนหนึ่งคนใดป่วยหนักหรือพิการ หรืออาจจะเสียชีวิต ไฟไหม้บ้านหรืออุบัติเหตุร้ายแรงจะส่งผลกระทบทางการเงินอย่างไรบ้าง ความลำบากแบบนี้เกิดขึ้น และถ้าเราไม่พร้อม จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่เรื่องเงิน แหล่งป้องกันความลำบากที่อาจเกิดขึ้นคือการทำประกัน การประกันภัย เป็นการเตรียมการซึ่งองค์กรหนึ่ง (โดยปกติคือบริษัทตัวแทนประกันภัย) รับรองว่าจะชดเชยความลำบากของบุคคลนั้น แลกกับเงินที่ชำระตามกำหนด

ประธานเอ็น. เอ็ลดัน แทนเนอร์สอนว่า “ดูเหมือนไม่มีอะไรแน่นอนเท่ากับเหตุการณ์ไม่คาดคิดในชีวิตเรา เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น ประกันสุขภาพจึงเป็นวิธีเดียวที่ครอบครัวส่วนใหญ่สามารถจ่ายค่าอุบัติเหตุร้ายแรง ความเจ็บป่วย หรือค่าคลอดบุตรได้ … ประกันชีวิตให้รายได้ต่อเนื่องเมื่อผู้ทำประกันเสียชีวิตก่อนกำหนด ทุกครอบครัวควรทำประกันสุขภาพและประกันชีวิตตามสมควร” (“Constancy amid Change,” Ensign, Nov. 1979, 82)

สนทนา:เหตุใดการทำประกันจึงสำคัญอย่างยิ่ง พรใดจะมาจากการมีประกันเพียงพอได้บ้าง

ประโยชน์ของการทำประกัน

อ่าน:การทำประกันจะช่วยป้องกันท่านจากหายนะทางการเงินที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือความลำบากอื่นๆ

ประเภทของประกัน

อ่าน:ท่านไม่จำเป็นต้องทำประกันทุกอย่าง—นั่นคือสาเหตุที่ท่านตั้งกองทุนฉุกเฉินและเงินออมอื่นๆ แต่สำคัญอย่างยิ่งที่ท่านต้องป้องกันไม่ให้ตนเองลำบากอันจะทำให้เกิดหายนะด้านการเงิน ประธานแมเรียน จี. รอมนีย์สอนว่า “เรา … ได้รับคำแนะนำให้มีเงินสดสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉินและมีประกันสุขภาพ ประกันบ้าน และประกันชีวิตที่เพียงพอ” (“Principles of Temporal Salvation,” Ensign, Apr. 1981, 6)

มีประกันภัยหลายประเภท แต่ที่ทำกันมากสุดมีสี่ประเภทได้แก่

  • ประกันทรัพย์สิน: ประกันทรัพย์สิน เช่น เจ้าของบ้าน ผู้เช่า และประกันรถยนต์ จะช่วยครอบคลุมค่าทดแทนหรือค่าซ่อมทรัพย์สินในกรณีเสียหายร้ายแรง ถูกขโมย หรือถูกทำลาย

  • ประกันสุขภาพ: ประกันสุขภาพจะช่วยครอบคลุมค่าบริการด้านสุขภาพ ตั้งแต่ค่าตรวจและค่ารักษาโรคไปจนถึงค่ารักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง บริการด้านสุขภาพอาจมาจากรัฐบาลและความจำเป็นของการทำประกันสุขภาพอาจต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นที่อยู่อาศัยของท่าน

  • ประกันชีวิต: ประกันชีวิตให้เงินก้อนหนึ่งแก่ครอบครัวถ้าสมาชิกครอบครัวที่ทำประกันเสียชีวิต

  • ประกันทุพพลภาพ: ประกันทุพพลภาพรับรองว่าจะจ่ายรายได้ส่วนหนึ่งให้ผู้ทำประกันถ้าเขาทุพพลภาพและไม่สามารถทำงานได้ช่วงหนึ่ง

ค่าทำประกัน

อ่าน:เรามีความเข้าใจในเบื้องต้นเรื่องประกันและผลประโยชน์บางอย่างของประกันแล้ว ต่อไปเราจะสนทนาเรื่องค่าใช้จ่ายบางอย่าง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับประกันมีสองแบบในเบื้องต้นได้แก่เบี้ยประกันและค่าเสียหายส่วนแรก

เบี้ยประกัน หมายถึงค่าประกันภัย—หรือเงินที่ท่านจ่ายให้บริษัทประกันโดยตรง (มักจะจ่ายรายเดือนหรือรายปี) แลกกับค่าคุ้มครอง

ค่าเสียหายส่วนแรก หมายถึงจำนวนเงินที่ท่านต้องจ่าย (เช่นค่ารักษาพยาบาลหรือค่าซ่อมรถ) ก่อนบริษัทประกันจะจ่ายส่วนที่เหลือ

การวิเคราะห์ความคุ้มค่า

อ่าน:เมื่อเปรียบเทียบแผนประกันภัย ท่านจำเป็นต้องพยายามเปรียบเทียบส่วนที่แผนจะให้ท่านจ่ายกับส่วนที่แผนจะให้ความคุ้มครอง การเปรียบเทียบสถานการณ์ดีที่สุดกับเลวร้ายที่สุดอาจจะช่วยได้

ค่าประกันต่ำสุดต่อปี (สถานการณ์ดีที่สุด)

เพื่อคำนวณค่าประกันต่ำสุดต่อปี ให้เอา 12 คูณเบี้ยประกันรายเดือนของท่าน (12 x เบี้ยประกันรายเดือน) หรือดูเบี้ยประกันรายปีถ้าเรียกเก็บปีละครั้ง สถานการณ์นี้สมมติว่าท่านไม่มีเหตุให้ใช้ประกันได้ในปีนั้น

ค่าประกันสูงสุดต่อปี (สถานการณ์แลวร้ายที่สุด)

เพื่อคำนวณค่าประกันสูงสุดต่อปี ให้บวกค่าประกันต่ำสุดต่อปีกับค่าเสียหายส่วนแรกต่อปี ([12 x เบี้ยประกันรายเดือน] + ค่าเสียหายส่วนแรก) สถานการณ์นี้สมมติว่ารายจ่ายของเหตุให้ใช้ประกันมากกว่าค่าเสียหายส่วนแรกต่อปี

ตอนนี้ท่านสามารถใช้ข้อมูลนี้เปรียบเทียบค่าผันแปรของแผนต่างๆ ตัวอย่างต่อไปนี้แสดงให้เห็นวิธีที่ท่านจะเปรียบเทียบแผนต่างๆ

การพิจารณาผลประโยชน์อื่นๆ

อ่าน:ในกิจกรรมที่เราเพิ่งทำไปแล้ว เราประเมินแผนประกันภัยทรัพย์สินแบบหนึ่ง (ประกันผู้เช่า) เราสามารถใช้กระบวนการเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบประกันภัยแบบอื่น แต่มักจะมีองค์ประกอบอื่นให้พิจารณานอกเหนือจากค่าประกันสูงสุดและต่ำสุด ต่อไปนี้เป็นคำถามเพิ่มเติมที่ต้องถามเมื่อวิเคราะห์แผนประกันภัยแบบต่างๆ:

  • ครอบคลุมการบริการหรือเหตุการณ์อะไรบ้าง

  • แบบและข้อจำกัดของความคุ้มครองมีอะไรบ้าง

  • อะไรคือชื่อเสียงของผู้รับประกัน

  • มีส่วนลดอะไรให้ท่านบ้าง

  • แนวโน้มที่ท่านจะควักกระเป๋าจ่ายน้อยที่สุดเป็นอย่างไร

  • แนวโน้มที่ท่านจะควักกระเป๋าจ่ายมากที่สุดเป็นอย่างไร

สนทนาเรื่องกองทุนฉุกเฉินและการประกันภัยในสภาครอบครัวของท่าน

อ่าน:ในสภาครอบครัวของท่านสัปดาห์นี้ ให้สนทนาวิธีตั้งกองทุนฉุกเฉินหนึ่งเดือน พิจารณาว่าแผนประกันภัยใดสำคัญต่อครอบครัวท่าน และตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัย ท่านอาจต้องการใช้โครงร่าง “ตัวอย่างการสนทนาในสภาครอบครัว” ด้านล่าง

ตัวอย่างการสนทนาในสภาครอบครัว

จงเริ่มและจบด้วยการสวดอ้อนวอนเพื่ออัญเชิญพระวิญญาณ

ส่วนที่ 1: ทบทวน

  • การทำตามงบประมาณของท่านเป็นอย่างไร

  • ท่านทำประกันที่เพียงพอหรือไม่ ท่านต้องมีกรมธรรม์ประกันภัยอะไรบ้างในสภาวการณ์ของท่าน

ส่วนที่ 2: วางแผน

  • ถ้าท่านมีประกันที่ไม่เพียงพอ ท่านควรมีประกันใดคุ้มครอง ดำเนินการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของแผนที่มีให้ (ดูหน้า 97–98)

  • ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อตั้งกองทุนฉุกเฉินหนึ่งเดือนอย่างรวดเร็ว

พิมพ์