แปดกลยุทธ์ ช่วยเด็กปฏิเสธสื่อลามก
ผู้เขียนอาศัยอยู่ในรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา
ดัดแปลงจาก “Arm Your Kids for the Battle,” BYU Magazine, ฤดูใบไม้ผลิ 2015
สถิติสามารถทำให้พ่อแม่หนักใจได้ Extremetech.com ประมาณการว่าราว 30 เปอร์เซ็นต์ของข้อมูลทั้งหมดที่ส่งผ่านอินเทอร์เน็ตคือสื่อลามก1 สื่อลามกมีอยู่บนเว็บเพจหลายร้อยล้านเพจรวมทั้งยักษ์ใหญ่ด้านสื่อสังคมอย่างเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ และยูทูป สื่อลามกเข้าถึงได้ผ่านโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน
“เนื้อหาที่เด็กพบโดยบังเอิญทำให้สมองที่อ่อนเยาว์และเปราะบางของเด็กบอบช้ำ” ดร. จิลล์ ซี. แมนนิงก์นักบำบัดผู้นำเสนอผลกระทบของสื่อลามกซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับชีวิตแต่งงานและครอบครัวชี้ให้เห็น
แต่มีความหวัง
แม้ดูเหมือนจะพบเห็นสื่อลามกได้แพร่หลาย แต่พ่อแม่มีพลังคุ้มครองลูกๆ ของตนและเตรียมพวกเขาให้พร้อมเผชิญและปฏิเสธสื่อลามก
แปดกลยุทธ์ต่อไปนี้จากผู้นำศาสนจักรและผู้เชี่ยวชาญจะช่วยพ่อแม่สร้างปราการป้องกันครอบครัวของตน
1. จัดการกับการเข้าถึงข้อมูล และกฎของครอบครัว
เริ่มจากการป้องกันรอบนอก “เราคุ้มกันลูกๆ ของเราจนถึงเวลาที่พวกเขาสามารถคุ้มกันตนเองได้” เจสัน เอส. คาร์รอลล์อาจารย์สอนวิชาชีวิตครอบครัวที่มหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์กล่าว เขาอธิบายว่าก้านสมองซึ่งเป็นศูนย์ความพอใจของสมองจะพัฒนาก่อน แต่ความสามารถในการตัดสินใจและใช้เหตุผลในสมองกลีบหน้าพัฒนาเต็มที่ในภายหลัง “ด้วยเหตุนี้เด็กจึงมีคันเร่งแต่ไม่มีเบรค” เขากล่าว ฉะนั้น ตัวกรองภายนอกและการเฝ้าสังเกตจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อเยาวชน
ขั้นตอนและกฎเกณฑ์ที่เรียบง่ายสามารถคุ้มครองเด็ก (และผู้ใหญ่) จากการเห็นสื่อโดยไม่ตั้งใจและช่วยให้พวกเขาคิดอีกครั้งเกี่ยวกับเนื้อหาที่พวกเขาเลือกดู
-
ใช้ตัวกรองที่คอมพิวเตอร์ เราต์เตอร์ และที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของท่าน
-
เปิดการควบคุมเนื้อหาและการใช้คอมพิวเตอร์ของลูกผ่านผู้ให้บริการเคเบิลและบริการสื่อออนไลน์
-
ตั้งค่าจำกัดเนื้อหาบนอุปกรณ์มือถือ
-
เก็บคอมพิวเตอร์และแท็บเล็ตไว้ในบริเวณที่ทุกคนใช้ร่วมกัน
-
ขอให้เด็กและวัยรุ่นฝากโทรศัพท์และอุปกรณ์มือถือไว้กับท่านในช่วงกลางคืน
-
กำหนดนโยบายให้เปิดดูได้ พ่อแม่สามารถดูข้อความและบัญชีสื่อสังคมได้ทุกเมื่อ
สอนลูกว่าต้องทำอะไรหากเจอสื่อลามก (1) หลับตาและปิดอุปกรณ์ (2) บอกผู้ใหญ่ และ (3) หันเหความคิดของพวกเขา ปลอบพวกเขาว่าพวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิดและไม่ได้สร้างปัญหา
2. สั่งสอนเรื่องพระคริสต์
“ตัวกรองเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ แต่ตัวกรองที่ดีที่สุดในโลก ตัวกรองเดียวที่จะได้ผลสูงสุด คือตัวกรองภายในบุคคลนั้นซึ่งเกิดจากประจักษ์พยานอันลึกซึ้งและยั่งยืนถึงความรักของพระบิดาบนสวรรค์และการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อเราแต่ละคน” ลินดา เอส. รีฟส์ ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญกล่าว2
เพื่อช่วยให้เด็กมีตัวกรองภายใน ซิสเตอร์รีฟชี้ไปที่คำแนะนำของนีไฟดังนี้ “เราพูดถึงพระคริสต์, เราชื่นชมยินดีในพระคริสต์, เราสั่งสอนเรื่องพระคริสต์, เราพยากรณ์ถึงพระคริสต์, และเราเขียนตามคำพยากรณ์ของเรา, เพื่อลูกหลานของเราจะรู้ว่าพวกเขาจะมองหาแหล่งใดเพื่อการปลดบาปของพวกเขา” (2 นีไฟ 25:26)
ผู้เชี่ยวชาญเห็นด้วย งานวิจัยยืนยันว่าความเชื่อและการปฏิบัติศาสนาในบ้าน ควบคู่กับ “รูปแบบการเป็นพ่อแม่ที่อบอุ่น” มีประสิทธิผลในการป้องกันสื่อลามก3
“มาตรการป้องกันที่ดีที่สุดและมาตรการซ่อมแซมความเสียหายจากสื่อลามกที่ดีที่สุดคือการสอนพระกิตติคุณอย่างจริงจังในบ้าน” ทิโมธี ราริคอาจารย์สอนวิชาการเป็นบิดามารดาที่มหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์–ไอดาโฮและสมาชิกคณะที่ปรึกษา United Families International กล่าว “สิ่งดีที่สุดที่เราทำได้คือช่วยลูกของเราสร้างการเชื่อมต่อกับสวรรค์”
3. สอนลูกให้รู้วิธีกรองภายใน
พ่อแม่สามารถสอนกลยุทธ์พิเศษสำหรับกรองสื่อผ่านมาตรฐานพระกิตติคุณ สำหรับ ดร. แมนนิงก์ หลักแห่งความเชื่อข้อสิบสามเป็นตัวกรองชั้นยอดสำหรับการเลือกสื่อทั้งหมด
“‘เราเชื่อในการเป็นคนซื่อสัตย์, แน่วแน่, บริสุทธิ์, มีเมตตา, มีคุณธรรม, และในการทำดีต่อมนุษย์ทั้งปวง [ชายและหญิง] … หากมีสิ่งใดที่เป็นคุณธรรม, งดงาม, หรือกล่าวขวัญกันว่าดีหรือควรค่าแก่การสรรเสริญ, เราแสวงหาสิ่งเหล่านี้’ [หลักแห่งความเชื่อข้อ 13] มีเนื้อหามากมายในยุคสุดท้ายที่ไม่สอดคล้องกับเกณฑ์ดังกล่าว และหากสิ่งที่เราพบไม่สอดคล้อง เราต้องเฝ้าระวัง” ดร. แมนนิงก์กล่าว
แต่การทำเช่นนั้นทำให้วิสุทธิชนยุคสุดท้ายแตกต่าง ประธานมอนสันกล่าวว่า “ขณะที่โลกนับวันจะยิ่งห่างไกลจากหลักธรรมและแนวทางซึ่งพระบิดาบนสวรรค์ผู้เปี่ยมด้วยความรักประทานแก่เรา เราจะโดดเด่นท่ามกลางฝูงชน … เราจะแตกต่างเมื่อเราตัดสินใจไม่เติมความคิดเราด้วยการเลือกสื่อที่ต่ำช้าและเสื่อมทราม ที่จะขับไล่พระวิญญาณออกจากบ้านและชีวิตเรา”4
4. สอนให้ลูกเรียนรู้เพศศึกษาที่เหมาะสม
หลักธรรมของ “การตรงกันข้ามในสิ่งทั้งปวง” (2 นีไฟ 2:11) ประยุกต์ใช้ได้กับสื่อลามก การบอกว่าสื่อลามกไม่ดีเท่านั้นยังไม่พอ พ่อแม่ต้องสอนลูกด้วยว่าอะไรดี
“กันชนและเครื่องป้องกันที่ใช้ได้ผลมากที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับเยาวชนของเราคือสอนพวกเขาในบ้านตั้งแต่เยาว์วัยให้เรียนรู้เพศศึกษาที่เหมาะสม” ดร. แมนนิงก์กล่าว “เยาวชนของเราเผชิญความลำบากเพราะพวกเขาเติบโตในสุญญากาศของข่าวสารที่เป็นพิษและข่าวสารเชิงบวกในแง่พระกิตติคุณมีน้อยเกินไป”
มาร์ค เอช. บัทเลอร์ศาสตราจารย์สอนวิชาชีวิตครอบครัวที่มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์ให้คำอธิบายที่ตรงไปตรงมาดังนี้ “วงจรการตอบสนองทางเพศเกิดขึ้นตามธรรมชาติในเราซึ่งเป็นมนุษย์ ความปรารถนาและแรงขับทางเพศเป็นของประทานที่พระผู้เป็นเจ้าประทานไว้เพื่อเป็นพรแก่เรา โดยดึงเราเข้าหาเพศตรงข้าม การแต่งงาน และชีวิตครอบครัวอย่างเป็นธรรมชาติและด้วยเสน่หา”
การสนทนาที่เหมาะสมกับวัยเกี่ยวกับเพศศึกษาที่เหมาะสมสามารถเริ่มแต่เนิ่นๆ ศาสตราจารย์คาร์รอลล์ชี้ให้เห็นว่าการสนทนาเรื่องการจับต้องที่เหมาะสมกับการจับต้องที่ไม่เหมาะสมและความเป็นส่วนตัว พร้อมด้วยศัพท์บัญญัติที่ถูกต้องสำหรับอวัยวะต่างๆ ของร่างกายเริ่มสอนได้ตั้งแต่เยาว์วัย เขากล่าวว่าเมื่ออายุแปดขวบ เด็กสามารถรับความเข้าใจขั้นพื้นฐานเรื่องเพศในสถานการณ์แวดล้อมทางร่างกาย วิญญาณ อารมณ์ และความสัมพันธ์
เยาวชนชอบให้พูดตรงไปตรงมาและถูกต้องเช่นกัน เยาวชนชายคนหนึ่งกล่าวว่า “ถ้าคุณพูดอ้อมค้อม คนจะเข้าใจผิดได้ ผมได้รับการสอนเรื่องกฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศเป็นสิบๆ ครั้งกว่าจะรู้ว่าพวกเขากำลังพูดเรื่องเพศ”
ศาสตราจารย์คาร์รอลล์กล่าวว่าพ่อแม่ควรเอาใจใส่สถานการณ์แวดล้อมของการสนทนาเหล่านี้ด้วย “พยายามอย่าทำให้การสนทนาเหล่านี้เคร่งเครียดมีพิธีรีตอง” เขากล่าว “อย่างเช่น เราพาลูกออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน เราสวมชุดไปโบสถ์ หรือเรามีการสนทนาในที่จอดรถของพระวิหาร” เขากล่าว แต่ถ้าเด็กเข้าใจว่าเราสนทนาเรื่องเพศได้เฉพาะภายใต้สภาวการณ์เหล่านั้น พวกเขาอาจไม่รู้วิธีสร้างสภาวการณ์ดังกล่าวเมื่อพวกเขามีคำถาม
แต่พ่อแม่ควรสื่อสารตรงไปตรงมาและเปิดโอกาสให้ลูกซักถามได้ตลอดเมื่อพวกเขามีคำถาม “ถ้าการสนทนาเกิดขึ้นขณะนั่งบนพื้นห้องนอนหรือในรถกระบะหรือขณะเก็บสตรอเบอรี พวกเขาจะรู้วิธีสร้างสภาวการณ์เหล่านั้น” คาร์รอลล์กล่าว
“ประสบการณ์ของผมสอนผมว่าวัยรุ่นที่มีพลังทางเพศมากที่สุดมักจะมีข้อมูลน้อยที่สุด” แบรดลีย์ อาร์. วิลค็อกซ์รองศาสตราจารย์บีวายยูชี้ให้เห็น “เยาวชนที่ได้คำตอบจากพ่อแม่แต่เนิ่นๆ มักเป็นคนที่หลีกเลี่ยงการทดลองทางเพศ”
5. ขจัดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสื่อลามก
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) กล่าวความจริงเกี่ยวกับสื่อลามกไว้อย่างชัดเจน “มันเป็นความชั่วร้าย” ท่านกล่าว “เป็นความต่ำช้าและสกปรก น่าหลงใหลและเพาะนิสัย แน่นอนว่ามันจะทำให้ [ท่าน] ลงไปสู่ความพินาศเช่นเดียวกับสิ่งอื่นในโลกนี้ มันเป็นความสกปรกโสมมที่ทำให้ผู้คิดค้นร่ำรวย แต่ทำให้เหยื่อสิ้นเนื้อประดาตัว”5
วิทยาลัยกุมารแพทย์อเมริกันชี้ให้เห็นว่า “การใช้สื่อลามกของวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวมักทำให้เกิดทัศนะบิดเบือนเกี่ยวกับเรื่องเพศและบทบาทของเพศในการสร้างสัมพันธภาพส่วนตัวที่เหมาะสม” “ความบิดเบือนเหล่านี้รวมถึงการประเมินค่าความความดาษดื่นของกิจกรรมทางเพศในชุมชนสูงเกินไป ความเชื่อที่ว่าการสำส่อนทางเพศเป็นเรื่องปกติ และความเชื่อที่ว่าการไม่มีเพศสัมพันธ์จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ”6
ในการสนทนาเรื่องสื่อลามก พ่อแม่ควรชี้ให้เห็นว่ามีแนวคิดผิดๆ มากมายเกี่ยวกับสื่อลามก พฤติกรรมที่เห็นในสื่อลามกไม่ใช่ภาวะปกติทั้งไม่ใช่สะท้อนถึงสิ่งที่ควรคาดหวังในความสัมพันธ์อันดี “สื่อลามกเป็นสิ่งน่าดึงดูดต่อเมื่อยอมรับแนวคิดผิดๆ เกี่ยวกับสื่อลามกเท่านั้น” ศาสตราจารย์คาร์รอลล์กล่าว
6. เปลี่ยนการสนทนาเกี่ยวกับปัญหา
ผู้เชี่ยวชาญและผู้นำศาสนจักรเตือนไม่ให้ด่วนสรุปเร็วเกินไปว่าการเกี่ยวข้องกับสื่อลามกบ่งบอกว่าติดสื่อลามก
“ไม่ใช่ทุกคนที่จงใจใช้สื่อลามกจะติดสื่อลามก” เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบาย “อันที่จริง เยาวชนชายและเยาวชนหญิงส่วนใหญ่ที่ต่อสู้กับสื่อลามกไม่ติดสื่อลามก นี่เป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องแยกแยะให้ออก—ไม่เฉพาะบิดามารดา คู่ครอง และผู้นำที่ปรารถนาจะช่วยเท่านั้น แต่คนที่ต่อสู้กับปัญหานี้ต้องแยกแยะให้ออกเช่นกัน”7
“เยาวชนชายและเยาวชนหญิงข้องแวะกับสื่อลามกเพราะความอยากรู้อยากเห็น เพราะเปิดดูได้ง่ายและเพราะยังไม่เป็นผู้ใหญ่” ศาสตราจารย์คาร์รอลล์กล่าว “พวกเราทุกคนประสบพลังของวงจรตอบสนองทางเพศในวัยแรกรุ่นเป็นเวลานานก่อนที่เราจะมีวุฒิภาวะทางอารมณ์หรือทางวิญญาณพอจะเข้าใจเรื่องนี้อย่างถ่องแท้”
ริชาร์ด นีทเซล โฮลแซพเฟล อาจารย์บีวายยูประจำภาควิชาประวัติศาสนจักรและอาจารย์ที่ปรึกษาเรื่องการแก้ปัญหาสื่อลามกให้สโมสรนักศึกษา ตั้งข้อสังเกตว่า “ปัญหามีจริงและมีผลลัพธ์น่ากลัว แต่การพูดปัญหาครอบคลุมเกินไปมักผลักปัญหาให้ลึกลงไปในจิตวิญญาณของคนที่กำลังพยายามเอาชนะ”
เอ็ลเดอร์โอ๊คส์ชี้ให้เห็นว่าปัญหาสื่อลามกมีได้ตั้งแต่ “ใช้เป็นครั้งคราวหรือจงใจใช้ซ้ำ ใช้ถี่มากไป จนถึงใช้แบบควบคุมไม่ได้ (เสพติด) … ถ้าจำแนกผิดว่าเป็นพฤติกรรมเสพติด ผู้ใช้อาจคิดว่าเขาสูญเสียสิทธิ์เสรีและไม่สามารถเอาชนะปัญหาได้ … ในทางกลับกัน การเข้าใจความลึกซึ้งของปัญหาชัดเจนขึ้น—ว่าปัญหานั้นอาจไม่ได้ฝังแน่นหรือรุนแรงมากอย่างที่กลัว—จะให้ความหวังและสามารถ … กลับใจได้มากขึ้น”8
เมื่อพูดถึงวิธีแก้ปัญหา ศาสตราจารย์บัทเลอร์เสนอแนะให้พ่อแม่ใช้วิธีคัดแยกอาทิ ปัญหานั้นเกิดมานานเท่าใด พวกเขาดูสื่อลามกบ่อยแค่ไหน พวกเขาเข้าไปดูได้อย่างไร จากนั้นพ่อแม่จะทำงานกับเยาวชนเพื่อพิจารณาระดับของการกระทำ
“เข้าใจบุคคลนั้นและความเป็นตัวเขา” ศาสตราจารย์โฮลเซพเฟลกล่าว “ปัญหาของพวกเขาลงลึกเพียงใด จริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้น พวกเขามีเหตุผลอะไรที่ดูสื่อลามก และเราจะแก้ปัญหาที่ลึกกว่านั้นได้อย่างไร”
7. สอนเรื่องการควบคุมอารมณ์
“การแก้ปัญหาลึกกว่านั้นอาจเป็นกุญแจป้องกันปัญหาสื่อลามกเช่นกัน นาธาน เอครีนักบำบัดในยูทาห์กล่าว นอกจากสนองความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติแล้ว บุคคลมักจะใช้สื่อลามกเป็นวิธีรับมือกับอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์ที่ยากจะต่อต้าน”
ศาสตราจารย์บัทเลอร์เสริมว่า “บางกรณี เยาวชนชายหรือเยาวชนหญิงมีประสบการณ์ทางจิต ความสัมพันธ์ หรือทางวิญญาณที่ยุ่งยาก” เขากล่าวว่าประสบการณ์เชิงลบสามารถชักนำสมองวัยรุ่นให้วกไปหา “ประสบการณ์ที่ทำให้รู้สึกดี” เช่นการดูสื่อลามกและพัวพันกับพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องเช่นการสำเร็จความใคร่ จากนั้นอารมณ์อันเกิดจากพฤติกรรมดังกล่าวจะเข้าแทนที่หรือปกปิดอารมณ์อันยุ่งยาก และมีอันตรายอยู่ในนั้น “บุคคลเขยิบจากประสบการณ์ที่ทำให้รู้สึกดีเป็นการเริ่มต้นของอาการทางจิต เขากำลังใช้พฤติกรรมเป็นวิธีควบคุมชีวิต”
บราเดอร์อาครีบอกว่าบิดามารดาควรสอนลูกว่าอารมณ์ทั้งพอใจและไม่พอใจเป็นภาวะปกติ และไม่เป็นไรเมื่อประสบความรู้สึกเชิงลบ เช่น เสียใจ โกรธ หงุดหงิด หรือเจ็บปวด พ่อแม่มักจะรู้สึกว่าต้องควบคุมอารมณ์ของลูก แต่การยอมให้พวกเขาประสบและเผชิญกับความรู้สึกเชิงลบจะสร้างทักษะอันสำคัญยิ่ง
ถ้ามีปัญหาสื่อลามก พ่อแม่ควรระวังอย่าเพิ่มภาระทางอารมณ์ของลูกโดยการทำให้อับอาย เจมส์ เอ็ม. ฮาร์เปอร์ศาสตราจารย์บีวายยูสอนวิชาชีวิตครอบครัวกล่าวว่าแม้ ความรู้สึกผิด เป็นการตอบสนองตามธรรมชาติต่อการทำผิดที่สามารถผลักดันให้เปลี่ยนแปลง แต่ ความอับอาย เป็นความรู้สึกบ่อนทำลายที่สามารถทำให้เกิดความรู้สึกสิ้นหวังได้
อีกนัยหนึ่ง การทำให้เด็กรู้สึกอับอายหรืออับอายยิ่งกว่าเดิมจะทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนาการตอบสนองทางอารมณ์เชิงบวกและไม่รับรู้อิทธิพลของพระวิญญาณ ซึ่งเป็นแหล่งช่วยที่ได้ผลมากที่สุดในการป้องกันและเลิกใช้สื่อลามก
เยาวชนชายคนหนึ่งที่ต่อสู้กับสื่อลามกจำได้ชัดเจนว่าพ่อแม่ตอบสนองอย่างไรเมื่อทราบปัญหาของเขา “แม่ผมโต้กลับอย่างรุนแรง ตะโกนและแผดเสียง และนั่นทำให้ผมรู้สึกแย่แทนที่จะมีความหวังว่าจะเอาชนะได้” เขากล่าว “สิ่งที่ช่วยได้มากที่สุดคือพ่อบอกผมซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าท่านรักผมมาก”
“โปรดอย่าประณามพวกเขา” เอ็ลเดอร์โอ๊คส์ขอร้อง “พวกเขาไม่ใช่คนชั่วหรือไม่มีความหวัง พวกเขาเป็นบุตรและธิดาของพระบิดาบนสวรรค์ของเรา”9
8. สอนว่าการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดได้ผล
ในคำพูด บทเรียน และเนื้อหาที่อ่าน เยาวชนได้รับข่าวสารชัดเจนว่าสื่อลามกเป็นความชั่วร้ายที่อันตราย แต่เราต้องเน้นหลักคำสอนเรื่องการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ให้มากขึ้น
สำหรับเยาวชน ศาสตราจารย์บัทเลอร์เชื่อว่าสมองวัยรุ่นอาจเป็นสมองที่มีเหตุอันควรประการหนึ่งให้ต้องสอนพวกเขาเรื่องการชดใช้ “สมองวัยรุ่นยังไม่สมบูรณ์ และนั่นนำไปสู่ปัญหาบางอย่างเช่น การควบคุมแรงกระตุ้นและขาดความยั้งคิด” เขาอธิบาย “วัยรุ่นที่ดิ้นรนแสวงหาและจริงจังทางวิญญาณหยุดก้าวหน้าเพราะความรู้สึกผิดท่วมท้นเมื่อเขาเผชิญความอ่อนแอที่จู่โจมเขาได้ง่ายเพราะเขายังมีสมองวัยรุ่น สำคัญอย่างยิ่งที่ท่านจะสอนวัยรุ่นเรื่องการชดใช้ควบคู่กับการสอนเรื่องพระบัญญัติ—เพื่อช่วยให้พวกเขาอดทนกับพัฒนาการส่วนตัวและไม่ย่อท้อในชีวิต”
“เราทุกคนต้องการการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ … โดยผ่านการกลับใจอย่างถูกต้องสมบูรณ์ [ทุกคน] จะสะอาด บริสุทธิ์ และมีค่าควรรับพันธสัญญาทุกประการและพรพระวิหารที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญา” เอ็ลเดอร์โอ๊คส์กล่าว10 ทั้งหมดนี้รวมถึงคนที่ใช้สื่อลามกด้วย
ข่าวสารที่ให้ความหวังคือ มีมากมายที่พ่อแม่ทำได้เพื่อเตรียมลูกๆ ให้พร้อมปฏิเสธสื่อลามก และเมื่อพวกเขาล้มเหลว การชดใช้อันไม่มีขอบเขตของพระผู้ช่วยให้รอดจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการกลับใจ
“นั่นหมายความว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พระบิดาบนสวรรค์จะไม่มีวันหยุดรักท่าน และเรา พ่อแม่ของท่าน จะไม่มีวันหยุดรักท่าน” ศาสตราจารย์ราริคกล่าว สำหรับลูก ไม่มีความหวังใดมากกว่านั้นอีกแล้ว