เซมินารี
หน่วย 15: วัน 2, แอลมา 5:37–62


หน่วย 15: วัน 2

แอลมา 5:37–62

คำนำ

ขณะที่แอลมายังคงสั่งสอนในเซราเฮ็มลา เขาเตือนผู้คนว่าการตัดสินใจสดับฟังหรือปฏิเสธถ้อยคำของเขามีพรหรือผลลัพธ์ตามมาแน่นอน เขากระตุ้นคนเหล่านั้นให้ตอบรับเสียงของพระเมษบาลผู้ประเสริฐ พระเจ้าพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงร้องเรียกตามหลังพวกเขาและทรงปรารถนาจะนำพวกเขากลับเข้ามาในคอกของพระองค์ ขณะที่ท่านศึกษาบทนี้ พึงพิจารณาว่าการติดตามเสียงของพระเมษบาลผู้ประเสริฐจะช่วยท่านหลีกเลี่ยงสิ่งไม่สะอาดของโลกและกลับไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร

แอลมา 5:37–42, 53–62

แอลมาเชื้อเชิญคนทั้งปวงให้ติดตามพระเมษบาลผู้ประเสริฐ ผู้ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอด

ในพระคัมภีร์บางครั้งเรียกพระเยซูคริสต์ว่า “พระเมษ-บาลผู้ประเสริฐ” (ดู ยอห์น 10:11–15) ท่านคิดว่าเหตุใดเมษบาลจึงเป็นสัญลักษณ์ที่ดีของพระผู้ช่วยให้รอด ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันให้คำอธิบายเกี่ยวกับเมษ-บาลสมัยโบราณดังนี้

“ ในสมัยของพระเยซู คนเลี้ยงแกะชาวปาเลสไตน์มีชื่อเสียงเรื่องปกป้องคุ้มครองแกะของตน ไม่เหมือนคนเลี้ยงแกะสมัยนี้ คนเลี้ยงแกะสมัยนั้นเดินนำหน้าฝูงแกะของตนเสมอ คนเลี้ยงแกะรู้จักแกะแต่ละตัวและมักมีชื่อให้ทุกตัว แกะรู้จักเสียงของเขา วางใจเขา และจะไม่เดินตามคนแปลกหน้า ดังนั้นเมื่อเขาเรียก แกะจะมาหาเขา (ดู ยอห์น 10:14, 16)

“ตอนกลางคืน คนเลี้ยงแกะจะพาแกะเข้าที่ล้อมขังสัตว์เรียกว่าคอกแกะ กำแพงสูงล้อมรอบคอกแกะและมีหนามอยู่บนกำแพงเหล่านี้เพื่อกันไม่ ให้สัตว์ป่าและขโมยปีนข้ามมา

ไม่หลงหายไปอีก

“แต่บางครั้งเพราะความหิวสัตว์ป่าจะกระโดดข้ามกำแพงเข้ามาท่ามกลางแกะ ทำให้มันตื่นตกใจ สถานการณ์เช่นนั้นแยกเมษบาลตัวจริง—คนที่รักแกะของเขา—จากเมษบาลรับจ้าง—คนที่ทำงานเพียงเพื่อค่าจ้างและทำตามหน้าที่

“เมษบาลตัวจริงเต็มใจสละชีวิตเพื่อแกะ เขาจะไปอยู่ท่ามกลางแกะและต่อสู้เพื่อสวัสดิภาพของแกะ ในทางตรงกันข้าม เมษบาลรับจ้างให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของตนมากกว่าแกะและมักจะหนีจากอันตราย

“พระเยซูทรงใช้ตัวอย่างนี้ที่เห็นได้ทั่วไป ในสมัยของพระองค์ประกาศว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมษบาลผู้ประเสริฐ พระเมษบาลองค์จริง เนื่องด้วยความรักที่ทรงมีต่อพี่น้องชายหญิงของพระองค์ พระองค์จึงพลีพระชนม์ชีพเพื่อพวกเขาด้วยความเต็มใจและความสมัครใจ (ดู ยอห์น 10:17–18)” (“A Call to the Priesthood: ‘Feed My Sheep,’” Ensign, May 1983, 43)

เขียนคำตอบสั้นๆ ของคำถามต่อไปนี้ลงในคู่มือเล่มนี้

  • อะไรอาจจะเกิดขึ้นกับแกะถ้าแกะเหล่านั้นไม่ฟังเมษ-บาล

  • เราเป็นเหมือนแกะอย่างไร และพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นเหมือนเมษบาลของเราอย่างไร

  • นำเข้าคอกของพระองค์หมายว่าอะไร (ดู แอลมา 5:60)

ใน แอลมา 5:37 แอลมาเรียกผู้คนของเซราเฮ็มลาว่าแกะที่ “หลงไป” อ่าน แอลมา 5:37–42 และมองหาสิ่งที่แอลมาสอนเกี่ยวกับการฟังเสียงของพระผู้ช่วยให้รอด

  1. ไอคอนสมุดบันทึกเขียนคำตอบของคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน

    1. ศึกษา แอลมา 5:37–38 และอธิบายด้วยคำพูดของท่านเองว่าแอลมาสอนอะไรเกี่ยวกับความพยายามของพระผู้ช่วยให้รอดในการเรียกเราให้ติดตามพระองค์

    2. ใน แอลมา 5:41 แอลมาสอนอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราจะบอกได้ว่าเรากำลังสดับฟังเสียงของพระเมษบาลผู้ประเสริฐ “งานดี” อะไรบ้างที่บ่งบอกได้ว่าเยาวชนวิสุทธิชนยุคสุดท้ายกำลังติดตามพระเมษบาลผู้ประเสริฐ

การจำได้และติดตามเสียงของพระผู้ช่วยให้รอดไม่ง่ายเสมอไป ไตร่ตรองคำพูดอ้างอิงต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง “จากท่ามกลางเสียงประสานที่เราได้ยินในความเป็นมรรตัย เราต้องจำเสียงของพระเมษบาลผู้ประเสริฐได้ ผู้ทรงเรียกเราให้ติดตามพระองค์ ไปบ้านบนสวรรค์ของเรา” (“Alternate Voices,” Ensign, May 1989, 27)

อ่าน แอลมา 5:53–56 ทำเครื่องหมายเจตคติและการกระทำที่อาจทำให้คนบางคนสดับฟังเสียงของพระผู้ช่วยให้รอดได้ยาก

นึกถึงเจตคติหรือการกระทำอื่นในโลกทุกวันนี้ที่ทำให้ผู้คนสดับฟังเสียงของพระผู้ช่วยให้รอดได้ยาก อธิบายพอสังเขปว่าเหตุใดท่านจึงคิดว่าเจตคติและการกระทำเหล่านี้ทำให้คนบางคนได้ยินเสียงของพระผู้ช่วยให้รอดได้ยาก

ใน แอลมา 5:57 ทำเครื่องหมายวลี “ทุกคนที่ปรารถนาจะติดตามเสียงของพระเมษบาลผู้ประเสริฐ” จากนั้นให้ทำเครื่องหมายอีกสามวลี ในข้อ 57 ที่บอกว่าท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อติดตามเสียงของพระผู้ช่วยให้รอด

  1. ไอคอนสมุดบันทึกเขียนตัวอย่างหนึ่งลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านสำหรับข้อความสามข้อต่อไปนี้ โดยแสดงให้เห็นว่าเยาวชนวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในโรงเรียนหรือชุมชนของท่านสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อ (ก) ออกมาจากคนชั่วร้าย (ข) แยกออกมา และ (ค) ไม่แตะต้องสิ่งไม่สะอาด จากนั้นให้นึกถึงกิจกรรมหรือนิสัยอันชอบธรรมสองอย่างที่จะช่วยให้เยาวชนสดับฟังเสียงของพระเมษบาลผู้ประเสริฐมากขึ้น หากกิจกรรมหรือนิสัยหนึ่งในนั้นช่วยให้ท่านได้ยินเสียงของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านอาจจะเขียนลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านเพื่อแบ่งปันกับครูหรือชั้นเรียนในภายหลัง

ดังบันทึกไว้ ใน แอลมา 5:58–60 แอลมาสอนความจริงนี้ ถ้าเราทำตามสุรเสียงของพระเจ้า [พระเมษบาลผู้ประเสริฐ] พระองค์จะทรงรวมเราไว้ ในอาณาจักรของพระองค์ ทำเครื่องหมายสัญญาหรือพรใน แอลมา 5:58–60 ที่ผู้ ได้รับมรดกทางพระหัตถ์ขวาของพระผู้เป็นเจ้าจะได้รับ

  1. ไอคอนสมุดบันทึกพิจารณาว่าสัญญาหรือพรแต่ละอย่างนี้ที่ท่านทำเครื่องหมายไว้มีความหมายต่อท่านอย่างไร จากนั้นให้เขียนลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านว่า ท่านคิดว่าเหตุใดการแยกตนเองจากสิ่งชั่วร้ายจึงคุ้มค่ากับพรเหล่านี้

ขณะติดตามสุรเสียงของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านจะได้รับพรเหล่านี้และได้รับพรแห่งความสูงส่งในท้ายที่สุด

แอลมา 5:43–52

แอลมาบอกวิธีที่เขาได้รับประจักษ์พยานและสอนเรื่องการกลับใจ

นึกถึงบางสิ่งที่ท่านเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทางกายทั้งห้าของท่านอันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มีวิธีที่ท่านสามารถรู้จักบางสิ่งโดยไม่ ใช้ประสาทสัมผัสทางกายอย่างใดอย่างหนึ่งเหล่านี้ของท่านหรือไม่ อ่าน แอลมา 5:45–48 และมองหาสิ่งที่แอลมากล่าวว่าเขารู้และเขารู้อย่างไร

ทำเครื่องหมายสิ่งที่แอลมาสอนเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ใน แอลมา 5:48 ข่าวสารของ แอลมา 5:45–48 สรุปได้ดังนี้ เราสามารถรู้ด้วยตนเองผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ ไถ่ของมนุษยชาติ

ทุกคนประสบการท้าทายศรัทธาและประจักษ์พยานของพวกเขา การมีประจักษ์พยานของท่านเองถึงความจริงของพระกิตติคุณโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถเพิ่มพลังให้ท่านในช่วงท้าทายเหล่านั้น การจดจำพยานของท่านเองจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เช่นเดียวกับแอลมา จะช่วยให้ท่านยืนอย่างมั่นคงท่ามกลางการท้าทาย จากแบบอย่างของแอลมา เราจะเรียนรู้เช่นกันว่าการอดอาหารและการสวดอ้อนวอนสามารถช่วยให้เรารู้สึกว่าพระวิญญาณยืนยันความจริงอีกครั้งและค้ำจุนประจักษ์พยานของเราเมื่อจำเป็นต้องทำให้ประจักษ์พยานนั้นเข้มแข็งขึ้น

เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

ไตร่ตรองประจักษ์พยานของท่านเองขณะอ่านคำพูดอ้างอิงต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัคร-สาวกสิบสองซึ่งกระตุ้นเราให้แสวงหาประจักษ์พยานของเราเองเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ “ประจักษ์พยานส่วนตัวของแต่ละบุคคลในความจริงพระกิตติคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระชนม์ชีพและพระพันธกิจของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ จำเป็นต่อชีวิตนิรันดร์ของเรา ‘และนี่แหละคือชีวิตนิรันดร์’ พระผู้ช่วยให้รอดตรัส ‘คือการที่พวกเขารู้จักพระองค์ ผู้ทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และรู้จักพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงใช้มา’ [ยอห์น 17:3] หรืออีกนัยหนึ่ง ชีวิตนิรันดร์ตั้งอยู่บนความรู้ส่วนตัวของเราแต่ละคนในเรื่องของพระบิดาในสวรรค์และพระบุตรศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ การเพียงแค่รู้เกี่ยวกับพระองค์เท่านั้นไม่พอ เราต้องมีประสบการณ์ส่วนตัวทางวิญญาณไว้ยึดเหนี่ยวเราด้วย” (ดู “งานเลี้ยงที่ โต๊ะเสวยของพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, ก.ค. 1997, หน้า 100)

  1. ไอคอนสมุดบันทึกทำกิจกรรมต่อไปนี้หนึ่งอย่างหรือมากกว่านั้นลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน

    1. เขียนเกี่ยวกับเวลาที่ท่านได้ยินคนบางคนแสดงประจักษ์พยานอันเปี่ยมด้วยพลัง โดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ไถ่ของมนุษยชาติ เขียนว่าท่านรู้สึกอย่างไรขณะฟังประจักษ์พยานนี้

    2. อ่าน แอลมา 5:46 แล้วเขียนด้วยคำพูดของท่านเองว่าแอลมาได้รับประจักษ์พยานในพระเยซูคริสต์อย่างไร ตรึกตรองว่าท่านสามารถทำตามแบบอย่างของแอลมาได้อย่างไรเพื่อช่วยเสริมสร้างประจักษ์พยานของท่านเองในพระผู้ช่วยให้รอด และเขียนความคิดของท่าน

    3. เขียนเกี่ยวกับเวลาที่ท่านรู้สึกว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพยานต่อท่านว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ไถ่ของโลก เขียนเป้าหมายอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้ท่านได้รับหรือเพิ่มพลังประจักษ์พยานของท่านในพระผู้ช่วยให้รอด อาทิ การอดอาหารหรือสวดอ้อนวอนอย่างจริงใจมากขึ้นหรือตั้งใจศึกษาพระคัมภีร์มากขึ้น ทำงานให้บรรลุเป้าหมายนี้ แม้ต้องใช้เวลา “หลายวัน” (แอลมา 5:46) (การทำกิจกรรมนี้อาจช่วยท่านบรรลุข้อกำหนดในความก้าวหน้าส่วนบุคคลหรือหน้าที่ต่อพระผู้เป็นเจ้าเช่นกัน)

อ่าน แอลมา 5:49–52 มองหาสิ่งที่แอลมาสอนผู้คนเกี่ยวกับการกลับใจ อธิบายบนบรรทัดที่เตรียมไว้ว่าท่านคิดว่าเหตุใดทุกคนต้องกลับใจเพื่อจะมีชีวิตนิรันดร์กับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์เชื้อเชิญเราให้พิจารณาคำถามหลายข้อที่สามารถช่วยเราประยุกต์ ใช้สิ่งที่แอลมาสอนเกี่ยวกับการกลับใจและการเตรียมเข้าอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“สมมุติว่าพระองค์เสด็จมาพรุ่งนี้ ถ้าเรารู้ว่าเราจะพบกับพระเจ้าพรุ่งนี้—โดยการที่เราตายก่อนเวลาอันควรหรือโดยการเสด็จมาอย่างไม่คาดฝัน—วันนี้เราจะทำอะไร เราจะสารภาพอะไร เราจะเลิกทำสิ่งใด เราจะสะสางเรื่องใด เราจะให้อภัยใคร เราจะแสดงประจักษ์พยานเรื่องใด

“ถ้าเราจะทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นในเวลานั้น ทำไมเราไม่ทำเสียตอนนี้ ทำไมเราไม่ค้นหาสันติสุขในเวลาที่สามารถได้รับสันติสุข” (ดู “การเตรียมพร้อมสำหรับการเสด็จมาครั้งที่สอง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, หน้า 10)

  1. ไอคอนสมุดบันทึกตรึกตรองคำถามข้อหนึ่งของเอ็ลเดอร์โอ๊คส์ เขียนในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านว่าท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องดำเนินชีวิตทุกวันประหนึ่งท่านกำลังเตรียมพบพระเจ้า

พิจารณาร่วมกับการสวดอ้อนวอนว่าท่านสามารถปฏิบัติตามสิ่งที่ท่านเรียนรู้วันนี้ได้อย่างไรเพื่อท่านจะพร้อมพบพระผู้ช่วยให้รอดและเข้าในอาณาจักรของพระองค์

  1. ไอคอนสมุดบันทึกเขียนต่อท้ายงานมอบหมายของวันนี้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านว่า

    ฉันได้ศึกษาแอลมา 5:37–62 และศึกษาเสร็จวันที่ (วันเดือนปี)

    คำถาม ความคิด และข้อคิดเพิ่มเติมที่ฉันอยากแบ่งปันกับครู: