หน่วย 11: วัน 1
ถ้อยคำของมอรมอน–โมไซยาห์ 2
คำนำ
ถ้อยคำของมอรมอนทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างแผ่นจารึกเล็กของนีไฟกับความย่อของมอรมอนจากแผ่นจารึกใหญ่ของนีไฟ หนังสือนี้เขียนราว 400 ปีหลังจากการประสูติของพระเยซูคริสต์ มีคำอธิบายโดยสังเขปว่าแผ่นจารึกเล็กของนีไฟคืออะไรและเหตุใดมอร-มอนจึงรู้สึกว่าต้องรวมไว้กับงานเขียนศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ถ้อยคำของมอรมอนให้ข้อคิดอันทรงคุณค่าว่าเหตุใดกษัตริย์เบ็นจามินจึงมีอิทธิพลอย่างยิ่งกับผู้คนของเขา
แผ่นจารึกเล็กของนีไฟส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางวิญญาณ การปฏิบัติศาสนกิจ และคำสอนของศาสดาพยากรณ์ แผ่นจารึกใหญ่ของนีไฟส่วนมากมีประวัติศาสตร์ทางโลกของผู้คนที่กษัตริย์ทั้งหลายเขียนไว้ เริ่มจากนีไฟ (ดู 1 นีไฟ 9:2–4) อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่เวลาของโมไซ-ยาห์ แผ่นจารึกใหญ่รวมเรื่องราวทางวิญญาณที่มีความสำคัญมากไว้ด้วย
แผ่นจารึกของมอรมอน หรือแผ่นจารึกทองคำที่มอบให้ โจเซฟ สมิธ มีความย่อของมอรมอนจากแผ่นจารึกใหญ่ของนีไฟ พร้อมข้อคิดเห็นมากมาย แผ่นจารึกทองคำเหล่านี้ยังมีความต่อเนื่องของประวัติศาสตร์ โดยมอรมอนและส่วนเพิ่มเติมโดยโมโรไนบุตรชายของเขาด้วย
โมไซยาห์ 1 เป็นบันทึกเกี่ยวกับคำสอนของกษัตริย์เบ็น-จามินที่ ให้บุตรชายของเขา เขาสอนบุตรชายว่าพระคัมภีร์ช่วยให้เราระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าและรักษาพระบัญญัติของพระองค์ เมื่อกษัตริย์เบ็นจามินใกล้ถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เขาปรารถนาจะกล่าวแก่ผู้คนเกี่ยวกับการรับใช้เป็นกษัตริย์ของเขาและกระตุ้นคนเหล่านั้นให้เชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า คำพูดของกษัตริย์เบ็นจามินบันทึกไว้ ใน โมไซยาห์ 2–5 กล่าวถึงความทุกขเวทนาและการชดใช้ของพระคริสต์ บทบาทของความยุติธรรมและความเมตตา ความจำเป็นในการรับพระนามของพระคริสต์ ไว้กับเราโดยพันธสัญญา ตอนเริ่มคำพูดของเขาซึ่งบันทึกไว้ ใน โมไซยาห์ 2 กษัตริย์เบ็นจามินเน้นความจำเป็นของการรับใช้พระผู้เป็นเจ้าโดยรับใช้ผู้อื่นและสภาพอันเป็นสุขของคนที่รักษาพระบัญญัติ
ถ้อยคำของมอรมอน 1:1–11
มอรมอนสอนว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงปกปักรักษาบันทึกต่างๆ ไว้เพื่อจุดประสงค์อันสุขุม
นึกถึงเวลาที่ท่านรู้สึกว่าพระวิญญาณกระตุ้นเตือนให้ทำบางสิ่งบางอย่าง ท่านรู้หรือไม่ว่าทุกอย่างจะเกิดผลอย่างไรถ้าท่านทำตามการกระตุ้นเตือนนี้ อะไรทำให้ท่านเกิดความมุ่งมั่นและความมั่นใจในการทำตามการกระตุ้นเตือน
ศาสดาพยากรณ์มอรมอนได้รับบัญชาจากพระผู้เป็นเจ้าให้ย่อบันทึกผู้คนของเขาซึ่งเก็บรักษาไว้บนแผ่นจารึกของนีไฟ ประมาณ ค.ศ. 385 เมื่อจะมอบบันทึกที่ย่อแล้วให้ โมโรไนบุตรชาย เขาทำตามการกระตุ้นเตือนแม้ ไม่รู้ผลที่จะเกิดขึ้น
มอรมอนพบบางอย่างเมื่อเขากำลังค้นคว้าบันทึก อ่าน ถ้อยคำของมอรมอน 1:3 เพื่อค้นหาสิ่งที่เขาพบ (“แผ่นจารึกเหล่านี้” หมายถึงแผ่นจารึกเล็กของนีไฟ ซึ่งประกอบด้วย 1 นีไฟจนถึงออมไน) อ่าน ถ้อยคำของมอร-มอน 1:4–6 และทำเครื่องหมายในพระคัมภีร์ของท่านว่าเหตุใดมอรมอนจึงพอใจเมื่อเขาค้นพบสิ่งที่อยู่บนแผ่นจารึกเล็กเหล่านี้
อ่าน ถ้อยคำของมอรมอน 1:7 ระบุว่าเหตุใดมอรมอนจึงรวมแผ่นจารึกเล็กเหล่านี้ไว้กับความย่อของเขาจากแผ่นจารึกของนีไฟ ท่านอาจต้องการทำเครื่องหมายหลักธรรมนี้ในพระคัมภีร์ของท่าน “พระเจ้าทรงรู้ทุกเรื่อง” โดยเข้าใจและเชื่อความจริงนี้ท่านย่อมสามารถพัฒนาศรัทธาในการเชื่อฟังการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ท่านได้รับ
พระเจ้าทรงบัญชานีไฟ ให้ทำแผ่นจารึกเล็กและเขียนเรื่องศักดิ์สิทธิ์ของผู้คนของเขาไว้บนนั้น (ดู 1 นีไฟ 9:3) เวลานั้นนีไฟประกาศว่า “พระเจ้าทรงบัญชาข้าพเจ้าให้ทำแผ่นจารึกเหล่านี้เพื่อพระประสงค์อันสุขุมในพระองค์, ซึ่งพระประสงค์นั้นข้าพเจ้าหารู้ ไม่” (1 นีไฟ 9:5)
พระประสงค์ดังกล่าวชัดเจนในอีกหลายศตวรรษต่อมาในปี ค.ศ. 1828 เมื่อศาสดาพยากรณ์ โจเซฟ สมิธเริ่มแปลแผ่นจารึกทองคำ เขาแปลต้นฉบับ 116 หน้าจากความย่อของมอรมอนจากแผ่นจารึกใหญ่ของนีไฟก่อน จากนั้นหน้าเหล่านี้หายไปหรือถูกขโมยเมื่อโจเซฟอนุญาตให้มาร์ติน แฮร์ริสนำออกไป พระเจ้ารับสั่งกับโจเซฟ ไม่ให้แปลส่วนที่หายไปซ้ำเพราะคนชั่ววางแผนจะปรับเปลี่ยนคำในหน้าที่หายเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของพระคัมภีร์มอรมอน พระเจ้ารับสั่งให้เขาแปลประวัติศาสตร์บนแผ่นจารึกเล็กซึ่งครอบคลุมช่วงเวลาเดียวกัน ประวัติศาสตร์ดังกล่าวเน้นเรื่องศักดิ์สิทธิ์มากกว่า (ดู คพ. 10:10, 41–43; ดู 1 นีไฟ 9:3–4 ด้วย)
ประสบการณ์นี้เป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่าพระเจ้าทรงทราบทุกเรื่องที่จะเกิดขึ้น พระองค์ทรงทราบว่าจะต้องใช้ประวัติศาสตร์บนแผ่นจารึกเล็ก และพระองค์ทรงกระตุ้นเตือนมอรมอนให้รวมแผ่นจารึกไว้กับความย่อของเขา
การรู้ความจริงนี้สามารถช่วยท่านได้อย่างไรเมื่อท่านได้รับการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณ
-
บรรยายลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านเวลาที่ท่านหรือคนรู้จักกระทำตามการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์แม้ท่านหรือพวกเขาอาจไม่เข้าใจการกระตุ้นเตือนนั้นในตอนแรก เขียนว่าท่านคิดว่าจะเตรียมให้ดีขึ้นได้อย่างไรเพื่อให้รู้แจ้งชัดและตอบสนองการกระตุ้นเตือนจากพระเจ้า จำไว้ว่าเมื่อท่านซื่อสัตย์ต่อการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณของพระเจ้า พระองค์จะทรงทำงาน “ใน [ท่าน] เพื่อให้ทำตามพระประสงค์ของพระองค์” (ถ้อยคำของมอรมอน 1:7)
ถ้อยคำของมอรมอน 1:12–18
กษัตริย์เบ็นจามินปราบชาวเลมันและปกครองด้วยความชอบธรรม
กษัตริย์เบ็นจามินเป็นกษัตริย์ที่ชอบธรรมผู้พบเจออุปสรรคมากมายระหว่างการปกครองของเขา รวมทั้งสงครามกับชาวเลมันและความขัดแย้งด้านหลักคำสอนในบรรดาผู้คน กษัตริย์เบ็นจามินนำกองทัพของชาวนี-ไฟ “ด้วยพละกำลังของพระเจ้า” ต่อต้านศัตรูและท้ายที่สุดสถาปนาสันติภาพในแผ่นดิน (ดู ถ้อยคำของมอร-มอน 1:13–14) ด้วยความช่วยเหลือของ “คนบริสุทธิ์จำนวนมาก” เขาทำงานเพื่อติเตียนศาสดาปลอมและผู้สอนปลอมผู้ก่อให้เกิดความขัดแย้งในบรรดาผู้คน ด้วยวิธีนี้จึงสถาปนาสันติภาพอันเกิดจากความชอบธรรม (ดู ถ้อยคำของมอรมอน 1:15–18)
อ่าน ถ้อยคำของมอรมอน 1:12–18 และเติมเลขข้อในช่องว่างด้านล่างซึ่งสอนความจริงต่อไปนี้ได้ดีที่สุด
-
พระเจ้าทรงเรียกศาสดาพยากรณ์ผู้สามารถนำผู้คนไปสู่สันติสุขแม้มีการท้าทาย
-
เราพบสันติสุขได้ โดยทำตามการนำด้วยการดลใจของศาสดาพยากรณ์
-
ด้วยพละกำลังของพระเจ้า เราสามารถเอาชนะการท้าทายได้
โมไซยาห์ 1:1–18
กษัตริย์เบ็นจามินสอนบุตรชายให้รู้ความสำคัญของพระคัมภีร์
คิดดูว่าชีวิตท่านจะเป็นอย่างไรถ้าท่านไม่เคยมีพระคัมภีร์ ให้อ่าน ศึกษา และเรียนรู้
กษัตริย์เบ็นจามินสอนบุตรชายว่าชีวิตพวกเขาจะต่างไปอย่างไรถ้าพวกเขาไม่มีพระคัมภีร์ ดังบันทึกไว้ ในโม-ไซยาห์ 1:3–5 เขาใช้วลี “หากมิ ใช่เพราะสิ่งเหล่านี้ [พระคัมภีร์]” ต่างกันสามครั้งเพื่อช่วยให้บุตรชายเข้าใจความสำคัญของพระคัมภีร์
-
ขณะที่ท่านอ่าน โมไซยาห์ 1:1–8 ให้มองหาพรที่ชาวนี-ไฟจะสูญเสียถ้าพวกเขาไม่มีพระคัมภีร์ เปรียบเทียบสิ่งที่ท่านเรียนรู้กับ ออมไน 1:17–18 เขียนประโยคสามถึงสี่ประโยคในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านโดยเติมคำในประโยคที่ว่า ถ้าฉันไม่มีพระคัมภีร์ …
ท่านอาจจะเขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้ ในพระคัมภีร์ของท่านใกล้กับ โมไซยาห์ 1:1–8: การค้นคว้าพระคัมภีร์ช่วยให้เรารู้จักและรักษาพระบัญญัติ
กษัตริย์เบ็นจามินสอนผู้คนของเขาให้รู้ความสำคัญของการซื่อสัตย์ต่อพระบัญญัติและอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนที่กลายเป็นคนชั่วร้ายหลังจากเป็นคนซึ่ง “พระเจ้าทรงโปรดปรานอย่างมาก” ( โมไซยาห์ 1:13) อ่าน โม-ไซยาห์ 1:13–17 และเปรียบเทียบ โมไซยาห์ 1:13 กับ แอลมา 24:30 จากนั้นให้ระบุผลอย่างน้อยห้าประการอันเกิดแก่คนเหล่านั้นผู้หันหลังให้พระเจ้า ท่านอาจต้องการทำเครื่องหมายหรือเขียนเลขกำกับผลเหล่านั้นในพระคัมภีร์ของท่าน
โมไซยาห์ 2:1–41
ชาวนีไฟมารวมกันฟังถ้อยคำของกษัตริย์เบ็นจามิน
อ่าน โมไซยาห์ 2:1–9 และเขียนคำตอบของคำถามต่อไปนี้
-
ใครมารวมกัน
-
พวกเขามารวมกันที่ ใด
-
ทำอะไรเพื่อให้คนกลุ่มใหญ่สามารถได้ยินถ้อยคำของกษัตริย์เบ็นจามิน
เพื่อให้เข้าใจอุปนิสัยของกษัตริย์เบ็นจามินดีขึ้น ให้อ่าน โมไซยาห์ 2:11–15 ระบุวลีที่แสดงว่ากษัตริย์เบ็นจามินมุ่งเน้นความชอบธรรมและการรับใช้ไม่ใช่สถานะหรือเกียรติยศชื่อเสียง
จากนั้นให้ไตร่ตรองคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ “อย่ากังวลเกินเหตุกับสถานะ ท่านจำพระดำรัสแนะนำของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับคนเหล่านั้นผู้แสวงหา ‘ที่นั่งอันมีเกียรติ’ หรือ ‘ที่นั่งโดดเด่น’ ได้หรือไม่ ‘คนที่เป็นใหญ่ในพวกท่านย่อมต้องปรนนิบัติท่าน’ (มัทธิว. 23:6, 11) สำคัญที่ต้องเห็นคุณค่า แต่จุดศูนย์รวมของเราควรอยู่ที่ความชอบธรรม ไม่ ใช่คำกล่าวขวัญ อยู่ที่การรับใช้ ไม่ ใช่สถานะ” (“To the Women of the Church,” Ensign, Nov. 1992, 96)
ศึกษา โมไซยาห์ 2:16–17 ทำเครื่องหมายหลักธรรมที่เราสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการรับใช้ได้จากกษัตริย์เบ็น-จามิน เมื่อเรากำลังรับใช้เพื่อนมนุษย์ของเรา เท่ากับเรากำลังรับใช้พระผู้เป็นเจ้า ( โมไซยาห์ 2:17 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ท่านอาจต้องการทำเครื่องหมายข้อนี้ให้ชัดเจนเพื่อจะสามารถหาเจอในภายหลัง)
นึกถึงเวลาที่มีบางคนเป็นพรแก่ชีวิตท่านโดยรับใช้ท่าน ท่านแสดงให้เห็น (หรือสามารถแสดงให้เห็น) อย่างไรว่าท่านสำนึกคุณพระผู้เป็นเจ้าสำหรับคนที่รับใช้ทั้งท่านและพระผู้เป็นเจ้าด้วยความชอบธรรม ท่านแสดงให้เห็นอย่างไรว่าท่านสำนึกคุณบุคคลนั้น
หลังจากสอนผู้คนเกี่ยวกับความจำเป็นของการรับใช้ผู้อื่นแล้ว กษัตริย์เบ็นจามินสอนว่าพระผู้เป็นเจ้าประทานพรเราในหลายๆ ด้านและเราจำเป็นต้องสำนึกในพระกรุณาธิคุณของพระองค์
-
ขณะที่ท่านศึกษา โมไซยาห์ 2:19–24, 34 ให้พิจารณาหลายๆ ด้านซึ่งพระผู้เป็นเจ้าประทานพรท่าน ตรึกตรองว่าท่านจะสามารถแสดงความกตัญญูต่อพระองค์ได้อย่างไร จากนั้นให้ตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน
-
เหตุใดกษัตริย์เบ็นจามินจึงกล่าวถึงตนเอง ผู้คนของเขา และเราว่าเป็น “ผู้รับใช้ที่ไม่สมค่า”
-
เหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องจดจำว่าเราเป็นหนี้พระผู้เป็นเจ้า
-
ถ้อยคำของกษัตริย์เบ็นจามินสอนเราว่า เมื่อเรารู้สึกเป็นหนี้พระผู้เป็นเจ้า เราจะอยากรับใช้ผู้อื่นและความกตัญญูของเราเพิ่มขึ้น
ใน โมไซยาห์ 2:34 กษัตริย์เบ็นจามินสอนว่าเราควร “ถวาย” ทั้งหมดที่เรามีและเป็นแด่พระผู้เป็นเจ้า ถวาย หมายถึง “ ให้หรือมอบ” ท่านอาจต้องการเขียนนิยามไว้ข้างๆ คำนี้ในพระคัมภีร์ของท่าน ใคร่ครวญว่าท่านจะถวายทั้งหมดที่ท่านมีและเป็นแด่พระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร จำไว้ว่าเมื่อท่านรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าและพยายามให้การรับใช้ที่จริงใจ พระองค์ย่อมประทานพรท่านสำหรับการกระทำนั้น
ข้อท้ายๆ ของ โมไซยาห์ 2 มีคำเตือนที่สำคัญจากกษัตริย์เบ็นจามินถึงผู้คนของเขา ท่านเคยเห็นป้ายบอกท่านให้ “ระวัง” หรือไม่ (ตัวอย่างเช่นป้ายอาจจะเตือนท่านให้ระวังสายไฟฟ้าแรงสูง หินถล่ม สัตว์ป่า หรือน้ำเชี่ยว) อ่าน โมไซยาห์ 2:32–33, 36–38 เพื่อค้นหาสิ่งที่กษัตริย์เบ็นจามินบอกผู้คนให้ระวัง (คำว่า วิบัติ ในข้อ 33 หมายถึง “ โทมนัสและความเศร้าหมอง”) เขียนข้อความหนึ่งประโยคบรรยายสิ่งที่จะเกิดกับคนที่ “กบฏต่อพระผู้เป็นเจ้าอย่างเปิดเผย” (ข้อ 37) หรือคนที่เจตนาฝ่าฝืนพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า
อ่านข้อความต่อไปนี้ “บางคนเจตนาฝ่าฝืนพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า โดยวางแผนว่าจะกลับใจภายหลัง เช่น ก่อนไปพระวิหารหรือรับใช้งานเผยแผ่ บาปที่จงใจเช่นนั้นทำให้การชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดเปล่าประโยชน์” (เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน [จุลสาร, 2011], หน้า 29)
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแสดงความเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของการรู้แจ้งชัดว่าเราอาจจะกำลังถอนตัวจากพระวิญญาณ
“เราควรพยายามมองให้ออกว่าเมื่อใดที่เรา ‘ถอนตัว [เรา] ไปจากพระวิญญาณของพระเจ้า…’ ( โมไซยาห์ 2:36) …
“มีมาตรฐานชัดเจน ถ้าบางสิ่งที่เราคิด เห็น ได้ยิน หรือทำนำเราออกห่างจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราควรหยุดคิด หยุดมอง หยุดฟัง หรือหยุดทำสิ่งนั้น ตัวอย่างเช่น ถ้าสิ่งที่ ให้ความบันเทิงทำให้เราเหินห่างจากพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ แน่นอนว่าความบันเทิงประเภทนั้นไม่เหมาะกับเรา เพราะพระวิญญาณทนไม่ ได้กับเรื่องต่ำช้า หยาบคาย หรือไม่สุภาพ จึงเห็นได้ชัดว่าเรื่องเช่นนั้นไม่เหมาะกับเรา เพราะเราเหินห่างจากพระวิญญาณของพระเจ้าเมื่อเราเข้าร่วมกิจกรรมที่เรารู้ว่าควรหลีกเลี่ยง เรื่องเช่นนั้นจึงไม่เหมาะกับเรา” (“เพื่อเราจะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับเราตลอดเวลา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, หน้า 35)
ไตร่ตรองสิ่งที่ผู้คนสูญเสีย—บางครั้งไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ—เมื่อพวกเขาถอนตัวจากพระวิญญาณ อ่าน โมไซยาห์ 2:40–41 และระบุสิ่งที่กษัตริย์เบ็นจามินต้องการให้เราพิจารณาและสิ่งที่เขาต้องการให้เราจดจำ
-
ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน
-
บันทึกประสบการณ์บางอย่างที่สอนท่านว่าถ้าท่านเชื่อฟังพระเจ้า ท่านจะได้รับพรทั้งทางโลกและทางวิญญาณ
-
เลือกหนึ่งด้านในชีวิตท่านซึ่งท่านประสงค์จะเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น เขียนเป้าหมายเพื่อปรับปรุงด้านนั้น
-
ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—โมไซยาห์ 2:17
อ่าน มัทธิว 22:36–40; 25:40; และโมไซยาห์ 2:17 ทำรายการพระคัมภีร์ ห่วงโซ่ หรือจัดกลุ่มโดยอ้างโยงพระคัมภีร์เหล่านี้เข้าด้วยกัน การศึกษาพระคัมภีร์ โดยใช้เทคนิคนี้จะช่วยอธิบายความหมายและขยายความเข้าใจ
อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างข้อความที่ท่านเชื่อมโยงกัน
ไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้
-
ท่านรู้สึกเมื่อใดว่าท่านกำลังรับใช้พระผู้เป็นเจ้าโดยรับใช้บุคคลอีกคนหนึ่ง
-
ท่านสามารถทำสิ่งใดเป็นพิเศษให้ผู้ที่อยู่รอบข้างท่านดังที่พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงทำถ้าพระองค์ประทับอยู่ที่นี่
-
หลังจากท่านพยายามท่องจำ โมไซยาห์ 2:17 แล้วให้เขียนข้อความข้อนี้จากความทรงจำลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน
-
เขียนต่อท้ายงานมอบหมายของวันนี้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านว่า
ฉันได้ศึกษาถ้อยคำของมอรมอน–โมไซยาห์ 2 และศึกษาเสร็จวันที่ (วันเดือนปี)
คำถาม ความคิด และข้อคิดเพิ่มเติมที่ฉันอยากแบ่งปันกับครู: