เซมินารี
หน่วย 32: วัน 1, โมโรไน 7:20–48


หน่วย 32: วัน 1

โมโรไน 7:20–48

คำนำ

ดังที่บันทึกใน โมโรไน 7:20–48 มอรมอนกล่าวโอวาทในธรรมศาลาต่อไปโดยสอนผู้ฟังให้รู้วิธี “ยึดมั่นในทุกสิ่งที่ดี” (โมโรไน 7:20–21, 25) เขาอธิบายความสำคัญของศรัทธา ความหวัง และจิตกุศล เขาสรุปโอวาทด้วยคำวิงวอนขอให้ผู้ฟังสวดอ้อนวอนพระบิดาจนสุดพลังของใจสำหรับของประทานแห่งจิตกุศล—ซึ่งมอรมอนนิยามว่าเป็น “ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์” (มอรมอน 7:47)

โมโรไน 7:20–39

มอรมอนสอนเรื่องศรัทธาในพระเยซูคริสต์

ทบทวน โมโรไน 7:12–13 พิจารณาสิ่งที่ท่านเรียนรู้ ในบทก่อนเกี่ยวกับวิธีบอกสิ่งดีจากสิ่งชั่วร้าย เขียนตัวอย่างของสิ่งดี (สิ่งที่มาจากพระผู้เป็นเจ้าและชักชวนให้เราเชื่อในพระคริสต์) และสิ่งชั่วร้าย (สิ่งที่ชักชวนเราไม่ให้เชื่อในพระคริสต์และไม่รับใช้พระผู้เป็นเจ้า) ลงในช่องว่างที่เตรียมไว้

สิ่งดี

สิ่งชั่วร้าย

สังเกตว่ามอรมอนกระตุ้นเราให้ “ยึดมั่นในสิ่งที่ดี ไว้ทุกอย่าง” (โมโรไน 7:19) ไตร่ตรองสิ่งที่ท่านคิดว่าหมายถึงการยึดมั่นในสิ่งที่ดี ไว้ทุกอย่าง

มอรมอนถามคำถามสำคัญกับผู้ฟังของเขา ซึ่งจากนั้นเขาก็ ให้คำตอบ อ่าน โมโรไน 7:20 หาคำถามที่มอรมอนมีแผนจะพูดถึง จากนั้นให้ค้นคว้า โมโรไน 7:21–26 หาคำตอบของคำถามนี้

ขณะที่ท่านดู โมโรไน 7:21, 25 ให้ทำเครื่องหมายคำหรือวลีที่สอนหลักธรรมนี้ ขณะที่เราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เราสามารถยึดมั่นสิ่งดีทุกอย่าง

  1. ไอคอนสมุดบันทึกตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน

    1. ตามที่กล่าวไว้ใน โมโรไน 7:22–26 พระบิดาบนสวรรค์ทรงพยายามช่วยเราสร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์ด้วยวิธีใด

    2. ศรัทธาของท่านในพระเยซูคริสต์ได้ช่วยให้ท่านยึดมั่นสิ่งดีหรือช่วยให้ท่านไม่สนใจสิ่งชั่วร้ายเมื่อใด

มอรมอนยังคงพูดถึงสิ่งดีหลายอย่างที่มาถึงผู้ ใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ อ่าน โมโรไน 7:32–34 ทำเครื่องหมายพรอย่างน้อยหนึ่งประการในแต่ละข้อเหล่านี้อันเนื่องมาจากการมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์

  1. ไอคอนสมุดบันทึกนึกถึงและสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านทำได้เพื่อใช้ศรัทธามากขึ้นในพระเยซูคริสต์ เมื่อท่านมีเป้าหมายในใจ ให้จดลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน เป้าหมายนี้อาจจะเป็นการทำบางสิ่งบางอย่างที่จะช่วยให้ท่านทำตามถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ (ดู โมโรไน 7:23) สวดอ้อนวอนด้วยศรัทธามากขึ้น (ดู โมโรไน 7:26) หรือกลับใจจากบาป (ดู โมโรไน 7:34) ขณะที่ท่านเขียนเป้าหมาย ให้ลงรายละเอียดเจาะจงว่าท่านจะทำให้บรรลุเป้าหมายนั้นได้อย่างไร เขียนด้วยว่าเป้าหมายนี้จะนำสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิตท่านอย่างไร

โมโรไน 7:40–43

มอรมอนสอนเรื่องความหวัง

ในโอวาทที่บันทึกไว้ ใน โมโรไน 7 มอรมอนระบุหลักธรรมอันสูงส่งสามประการที่จำเป็นสำหรับชีวิตนิรันดร์ เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “หลักธรรมศักดิ์สิทธิ์สามประการ [เหล่านี้] สร้างรากฐานให้เราวางโครงสร้างของชีวิตเราไว้บนนั้น” ท่านกล่าวว่าหลักธรรมทั้งสามนี้ “ ให้ฐานค้ำจุนเฉกเช่นขาของม้านั่งสามขา” (“The Joy of Hope Fulfilled,” Ensign, Nov. 1992, 33)

ม้านั่งสามขา

สื่อการเรียนการสอนต่อไปนี้จะช่วยให้ท่านพบหลักธรรมทั้งสามที่มอรมอนระบุ หลักธรรมแรกคือศรัทธา ซึ่งท่านเพิ่งศึกษาใน มอรมอน 7:20–39 เขียนว่า ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ที่ขาม้านั่งขาหนึ่ง หาว่าขาที่สองแทนอะไรโดยอ่าน โมโรไน 7:40 เขียนหลักธรรมนั้นไว้ที่ขาม้านั่งอีกขาหนึ่ง

อ่าน โมโรไน 7:41–42 ระบุสิ่งที่มอรมอนสอนว่าเราควรหวัง ( โมโรไน 7:41 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์) ท่านอาจต้องการเขียนคำว่า “สำหรับชีวิตนิรันดร์” ไว้บนขาที่สองเพื่อให้อ่านได้ว่า “ความหวังสำหรับชีวิตนิรันดร์”

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุดพูดเกี่ยวกับความหวังที่มอรมอนกล่าวถึงดังนี้

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

“ความหวังเป็นของประทานแห่งพระวิญญาณ เป็นความหวังว่าโดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์และพลังอำนาจแห่งการฟื้นคืนพระชนม์ เราจะได้ลุกขึ้นสู่ชีวิตนิรันดร์และนี่เพราะศรัทธาของเราในพระผู้ช่วยให้รอด …

“ความหวังไม่ใช่ความรู้ แต่คือการวางใจว่าพระเจ้าจะทรงทำตามที่สัญญาไว้กับเรา คือมั่นใจว่าถ้าเราดำเนินชีวิตตามกฎของพระผู้เป็นเจ้าและทำตามคำพูดของศาสดาพยากรณ์ของพระองค์เดี๋ยวนี้ เราจะได้รับพรสมปรารถนาในอนาคต ความหวังคือการเชื่อและคาดหวังว่าคำสวดอ้อนวอนของเราจะได้รับตอบ ความหวังปรากฏให้เห็นในความมั่นใจ การมองโลกในแง่ดี ความกระตือรือร้น และความวิริยะอุตสาหะ” (“พลังอันไร้ขอบเขตของความหวัง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 26–27)

หลักธรรมหนึ่งที่เราเรียนรู้จาก โมโรไน 7:40–42 คือ ถ้าเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เราจะได้รับความหวังผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ว่าพระองค์จะทรงยกเราขึ้นสู่ชีวิตนิรันดร์

อ่าน โมโรไน 7:43 ระบุลักษณะพิเศษที่ต้องมีเพื่อให้บุคคลนั้นมีศรัทธาและความหวังดังที่ โมโรไนพูดถึง

การเป็นคน “อ่อนโยน, และใจนอบน้อม” หมายถึง อ่อนน้อมถ่อมตนจริง สุภาพ และยอมตามพระประสงค์ของพระเจ้า ท่านคิดว่าเหตุใดความอ่อนโยนและใจนอบน้อมจึงจำเป็นต่อการมีศรัทธาและความหวังในการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

  1. ไอคอนสมุดบันทึกบรรยายในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านว่าศรัทธาของท่านในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ให้ความหวังท่านอย่างไร

โมโรไน 7:44–48

มอรมอนสอนเรื่องจิตกุศล

ย้อนกลับไปดูแผนภาพม้านั่งตอนต้นบทเรียน อ่าน โม-โรไน 7:44 ระบุหลักธรรมสามข้อที่มอรมอนสอน เขียนหลักธรรมข้อสุดท้ายที่ขาม้านั่งที่เหลือ

ดังที่บันทึกไว้ ใน โมโรไน 7:44–48 มอรมอนให้คำอธิบายมากพอสมควรเกี่ยวกับจิตกุศล อ่าน โมโรไน 7:45–47 ทำเครื่องหมายคำหรือวลีที่มอรมอนใช้นิยามจิตกุศล ( โมโรไน 7:45, 47–48 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์) เพื่อช่วยให้ท่านเข้าใจสิ่งที่มอรมอนกำลังสอนดีขึ้น ท่านอาจต้องการเขียนนิยามเหล่านี้บางส่วนลงในพระคัมภีร์ของท่าน “อดทนนาน” หมายถึงอดทนอย่างอดกลั้น “ ไม่ริษยา” หมายถึงไม่อิจฉา “ ไม่ผยอง” หมายถึงอ่อนน้อมถ่อมตนและอ่อนโยน “ ไม่แสวงหาเพื่อตน” หมายถึงให้พระผู้เป็นเจ้าและคนอื่นมาก่อน “ ไม่ขุ่นเคืองง่าย” หมายถึงไม่ โกรธง่าย และ “เชื่อทุกสิ่ง” หมายถึงยอมรับความจริงทั้งหมด

  1. ไอคอนสมุดบันทึกตอบคำถามต่อไปนี้หนึ่งข้อหรือมากกว่านั้นลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน

    1. จากนิยามใน โมโรไน 7:45–47 ท่านคิดว่าเหตุใดจิตกุศลจึงเป็นของประทานฝ่ายวิญญาณอันประเสริฐสุดที่เราจะได้รับ

    2. ท่านคิดว่าจิตกุศลไม่มีวันสูญสิ้นหมายความว่าอย่างไร

    3. ท่านคิดว่าเหตุใดเราจึงไม่เป็นอะไรเลยถ้าเราไม่มีจิตกุศล

หลังจากกล่าวถึงคำสอนของอัครสาวกเปาโลเกี่ยวกับจิตกุศลใน 1 โครินธ์ 13 เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า “เหตุผลที่จิตกุศลไม่มีวันสูญสิ้นและเหตุผลที่จิตกุศลยิ่งใหญ่กว่าการกระทำสำคัญที่สุดของคุณงามความดีที่เขากล่าวถึงคือจิตกุศล ‘ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์’ (โมโรไน 7:47) ไม่ ใช่ การกระทำ แต่เป็น สภาวะ หรือสภาพของมนุษย์ จิตกุศลบรรลุได้ โดยการกระทำต่อเนื่องอันส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนใจเลื่อมใส จิตกุศลคือบางสิ่งที่มนุษย์จะเป็น ดังนั้น ตามที่ โมโรไนกล่าว ‘เว้นแต่มนุษย์จะมี จิตกุศลพวกเขาจะรับ’ สถานที่ซึ่งพระองค์ทรงเตรียมไว้ในปราสาทพระบิดาของพระองค์เป็นมรดกไม่ ได้ (อีเธอร์ 12:34; เน้นตัวเอน)” (ดู “การท้าทายเพื่อที่จะเป็น,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 49)

อ่านสถานการณ์ต่อไปนี้และพิจารณาว่าท่านจะตอบสนองอย่างไรหากท่านขาดของประทานแห่งจิตกุศลและท่านจะตอบสนองอย่างไรหากท่านเปี่ยมด้วยจิตกุศล

  • นักเรียนคนอื่นหยอกล้อท่านหรือคนอื่นที่ โรงเรียน

  • ท่านมีน้องชายหรือน้องสาวที่กวนใจท่านบ่อยๆ

  • ท่านไม่ชอบผู้ ให้คำปรึกษาคนใหม่ของโควรัมหรือชั้นเรียนเท่ากับที่ท่านชอบผู้ ให้คำปรึกษาคนเก่า

หลังจากอธิบายว่าสำคัญเพียงใดที่เราต้องพัฒนาจิตกุศลในชีวิตเรา มอรมอนอธิบายว่าเราจะได้คุณลักษณะสำคัญนี้อย่างไร อ่าน โมโรไน 7:48 ทำเครื่องหมายคำหรือวลีที่สอนหลักธรรมนี้ ถ้าเราสวดอ้อนวอนพระบิดาด้วยสุดพลังของใจและดำเนินชีวิตในฐานะผู้ติดตามที่ซื่อสัตย์ของพระเยซูคริสต์ เราจะเปี่ยมด้วยจิตกุศล ไตร่ตรองว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องสวดอ้อนวอนขอของประทานแห่งจิตกุศลจนสุดพลังของใจท่านแทนที่จะสวดอ้อนวอนขอของประทานนี้อย่างไม่สนใจ

  1. ไอคอนสมุดบันทึกเขียนลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านเกี่ยวกับเวลาที่ท่านรู้สึกว่าพระเจ้าทรงช่วยให้ท่านมีจิตกุศล หรือเขียนเกี่ยวกับเวลาที่ท่านเห็นคนอื่นมีจิตกุศล นอกจากนี้ให้ตั้งเป้าหมายเฉพาะเจาะจงว่าท่านจะปรับปรุงคุณลักษณะประการหนึ่งของจิตกุศลที่ระบุไว้ใน โมโรไน 7:45 อย่างไร จงสวดอ้อนวอนขอของประทานแห่งจิตกุศลขณะที่ท่านพยายามทำให้บรรลุเป้าหมาย

ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์
ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—โมโรไน 7:41

เขียนทั้งข้อลงบนแผ่นกระดาษ ท่องข้อนี้หลายๆ รอบ ลบ (หรือขีดฆ่า) คำหรือวลีจนกว่าท่านจะท่องจำได้ทั้งข้อ

ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์
ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—โมโรไน 7:45, 47–48

เขียนอักษรตัวแรกของทุกคำในสามข้อนี้ลงบนแผ่นกระดาษ ใช้กระดาษแผ่นนั้นช่วยท่านท่องข้อเหล่านี้ หลังจากท่องหลายครั้งแล้ว ให้ลบหรือขีดฆ่าตัวอักษรจนกว่าท่านจะท่องจำได้ทั้งหมด จากนั้นให้เลือกคนกลุ่มหนึ่งต่อไปนี้ที่ท่านประสงค์จะมีจิตกุศลต่อพวกเขามากขึ้น ได้แก่ ครอบครัว สมาชิกโควรัมหรือสมาชิกชั้นเรียน เพื่อนร่วมชั้นที่ โรงเรียน มิตรสหาย หรือเพื่อนบ้าน นึกถึงคนที่ท่านเลือกขณะอ่าน โมโรไน 7:45 และคิดหาวิธีที่ท่านจะแสดงความรักเหมือนพระคริสต์ต่อคนเหล่านี้มากขึ้น

  1. ไอคอนสมุดบันทึกเขียนหนึ่งหรือสองวิธีที่ท่านจะแสดงจิตกุศลต่อคนเหล่านี้มากขึ้นในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน ในช่วงสัปดาห์ที่จะมาถึง จงสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าให้ท่านมีจิตกุศลต่อพวกเขามากขึ้น เมื่อสิ้นสัปดาห์ให้แบ่งปันประสบการณ์ของท่านกับเพื่อนหรือสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว

  2. ไอคอนสมุดบันทึกเขียนต่อท้ายงานมอบหมายของวันนี้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านว่า

    ฉันได้ศึกษาโมโรไน 7:20–48 และศึกษาเสร็จวันที่ (วันเดือนปี)

    คำถาม ความคิด และข้อคิดเพิ่มเติมที่ฉันอยากแบ่งปันกับครู: