เซมินารี
หน่วย 1: วัน 1 การศึกษาพระคัมภีร์


หน่วย 1: วัน 1

การศึกษาพระคัมภีร์

คำนำ

จุดประสงค์ของบทเรียนนี้คือเพื่อช่วยให้ท่านรู้วิธีศึกษาพระคัมภีร์และอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้ดลใจและสอนท่านขณะศึกษา บทเรียนนี้จะสอนทักษะซึ่งจะช่วยให้ท่านเข้าใจพระคัมภีร์ดีขึ้นและประยุกต์ใช้คำสอนในชีวิตท่าน ขณะศึกษาบทเรียนนี้ ให้มองหาวิธีที่ท่านจะอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาในการศึกษาพระกิตติคุณของท่าน

เรียนรู้โดยการศึกษาและโดยศรัทธา

สมมติว่าท่านต้องการปรับปรุงสมรรถภาพทางกาย ท่านจึงขอให้เพื่อนออกกำลังกายแทนท่าน การออกกำลังกายของเพื่อนส่งผลต่อสมรรถภาพทางกายของท่านมากน้อยเพียงใด เมื่อเชื่อมโยงตัวอย่างนี้กับการเติบโตทางวิญญาณ คนหนึ่งจะออกกำลังกายแทนอีกคนหนึ่งไม่ได้ฉันใด คนหนึ่งจะเรียนพระกิตติคุณแทนอีกคนหนึ่งไม่ได้ฉันนั้น เราแต่ละคนต้องรับผิดชอบการเรียนพระกิตติคุณและการเติบโตทางวิญญาณของเราเอง

ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:118 พระเจ้าทรงบอกวิธีเรียนพระกิตติคุณ ขณะอ่านให้ระบุสิ่งที่ท่านต้องทำเพื่อเรียนพระกิตติคุณและเติมข้อความต่อไปนี้ให้สมบูรณ์: “แสวงหาการเรียนรู้, แม้ โดย และโดย .”ด้วย”

การแสวงหาการเรียนรู้โดยการศึกษาและโดยศรัทธาเรียกร้องความพยายามส่วนบุคคล การพยายามศึกษาพระกิตติคุณร่วมกับการสวดอ้อนวอนจะอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาในกระบวนการเรียนรู้ การทุ่มเทศึกษาพระกิตติคุณในปีนี้บางวิธีต้องสวดอ้อนวอนขอความเข้าใจ ทำงานมอบหมายเซมินารีของท่านให้สำเร็จ แบ่งปันประจักษ์พยานและประสบการณ์ในการดำเนินตามพระกิตติคุณกับคนอื่นๆ และประยุกต์ใช้สิ่งที่ท่านเรียนรู้ในชีวิตท่าน

ความพยายามอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ ได้เพื่ออัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ทางวิญญาณของท่านคือการศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน การศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวทุกวันช่วยให้ท่านได้ยินสุรเสียงของพระเจ้าตรัสกับท่าน (ดู คพ. 18:34–36) เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสัญญาว่า “เมื่อเราต้องการให้ [พระผู้เป็นเจ้า] ตรัสกับเรา เราค้นคว้าพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์เพราะพระคำของพระองค์ตรัสผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ จากนั้นพระองค์จะทรงสอนเราขณะที่เราฟังการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์” (ดู “พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์: อำนาจของพระผู้เป็นเจ้าอันไปสู่ความรอดของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, หน้า 32–)

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์และอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาในการศึกษาของท่าน ท่านจะได้รับพรของการเติบโตมากขึ้นทางวิญญาณ ความใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า การเปิดเผยมากขึ้นในชีวิตท่าน พลังต่อต้านการล่อลวงมากขึ้น และประจักษ์พยานเพิ่มขึ้นในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

การศึกษาพระคัมภีร์

ประธานมาเรียน จี. รอมนีย์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดระบุจุดประสงค์สำคัญประการหนึ่งสำหรับพระคัมภีร์เมื่อท่านกล่าวว่า “พระคัมภีร์เขียนไว้เพื่อสงวนหลักธรรมอันเป็นประโยชน์ต่อเรา” (“Records of Great Worth,” Ensign, Sept. 1980, 4) เราเรียนรู้หลักธรรมและหลักคำสอนของพระกิตติคุณขณะศึกษาพระคัมภีร์ หลักธรรมและหลักคำสอนเหล่านี้จะนำทางเราเมื่อเราประยุกต์ ใช้กับชีวิตเรา

gem

การหาหลักธรรมและหลักคำสอนอันประมาณค่ามิได้ที่อยู่ ในพระคัมภีร์ต้องใช้ความพยายามและการฝึกฝน เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัคร-สาวกสิบสองเปรียบเทียบการศึกษาพระคัมภีร์กับการทำงานในเหมืองอัญมณี “จงหาเพชรแห่งความจริงที่บางครั้งต้องตั้งใจขุดหาจากหน้า [พระคัมภีร์]” (“Four Fundamentals for Those Who Teach and Inspire Youth,” in Old Testament Symposium Speeches, 1987 [1988], 1) กระบวนการศึกษาหรือขุดพระคัมภีร์มีส่วนสำคัญสามส่วน (1) เราต้องเข้าใจภูมิหลังและเหตุการณ์แวดล้อมของพระคัมภีร์ (2) เราต้องระบุหลักธรรมและหลักคำสอนที่สอน และ (3) เราต้องประยุกต์ใช้ความจริงเหล่านั้นกับชีวิตเรา

  1. ไอคอนสมุดบันทึกในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน ให้ตอบคำถามต่อไปนี้ อะไรคือความคล้ายคลึงกันระหว่างการขุดเหมืองเพื่อค้นหาเพชรกับการค้นคว้าพระคัมภีร์เพื่อหาหลักธรรมพระกิตติคุณและประยุกต์ใช้ในชีวิตตนเอง

เข้าใจภูมิหลังและเหตุการณ์แวดล้อมของพระคัมภีร์

การเข้าใจภูมิหลังและเหตุการณ์แวดล้อมข้อความพระคัมภีร์เตรียมท่านให้รู้จักข่าวสารพระกิตติคุณที่อยู่ในนั้น ประธานโธมัส เอส. มอนสันแนะนำดังนี้: “จงทำความเข้าใจกับบทเรียนที่พระคัมภีร์สอน เรียนรู้ภูมิหลังและเหตุการณ์แวดล้อม … ศึกษาพระคัมภีร์ประหนึ่งพระคัมภีร์กำลังพูดกับท่าน เพราะนั่นคือความจริง” (“เป็นตัวของตัวเองให้ดีที่สุด,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, หน้า 84)

เมื่ออ่านพระคัมภีร์ การถามคำถามลักษณะนี้จะเป็นประโยชน์: “ใครเขียนข้อเหล่านี้” “เขียนถึงใคร” “กำลังเกิดอะไรขึ้นในเรื่องนี้” และ “เหตุใดผู้เขียนจึงเขียนข้อเหล่านี้” หัวบท (ใจความสรุปตัวเอนที่อยู่ต้นบทแต่ละบท) ให้ภาพรวมของเหตุการณ์สำคัญในบทและมักจะตอบคำถามเหล่านี้

การหาคำยากหรือคำไม่คุ้นเคยในพจนานุกรมก็ช่วยได้เช่นกัน เมื่อวลีหรือข้อความพระคัมภีร์ไม่ชัดเจน การค้นดูเชิงอรรถที่มีจะช่วยให้ท่านเข้าใจได้ดีขึ้น

เพื่อฝึกใช้เครื่องมือเหล่านี้ ให้อ่าน 3 นีไฟ 17:1–10 และหาคำตอบของคำถามต่อไปนี้ ใครเป็นผู้พูด เขากำลังพูดกับใคร เกิดอะไรขึ้น พึงจำไว้ว่าต้องดูหัวบทเพื่อมองภาพรวมของเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

  1. ไอคอนสมุดบันทึกใช้เชิงอรรถใน 3 นีไฟ 17:1 ตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน พระเยซูทรงหมายความว่าอย่างไรเมื่อพระองค์ตรัสว่า “เวลาของเราอยู่แค่เอื้อม”

  2. ไอคอนสมุดบันทึกในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน ให้เขียนด้วยคำพูดของท่านเองว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงเตรียมจะไปจากฝูงชน เหตุใดพระองค์ทรงอยู่ต่อ พระองค์ทรงทำอะไรเพื่อคนเหล่านั้น

ระบุหลักคำสอนและหลักธรรม

หลักคำสอนและหลักธรรมคือความจริงพระกิตติคุณนิรันดร์อันไม่เปลี่ยนแปลงที่ให้ทิศทางสำหรับชีวิตเรา ศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณสอนความจริงเหล่านี้แก่เราผ่านเหตุการณ์ เรื่องเล่า หรือโอวาทที่พวกท่านบันทึกไว้ในพระคัมภีร์

เมื่อท่านเข้าใจภูมิหลังและเหตุการณ์แวดล้อมในข้อพระคัมภีร์ ท่านย่อมพร้อมระบุหลักคำสอนและหลักธรรมที่สอน เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์บอกวิธีที่จะช่วยให้เข้าใจหลักธรรมดังนี้ “หลักธรรมคือความจริงเข้มข้น มีไว้เพื่อประยุกต์ใช้กับสภาวการณ์หลากหลายทั่วไป หลักธรรมที่แท้จริงทำให้การตัดสินใจชัดเจนแม้ภายใต้สภาวการณ์ที่สับสนและบีบคั้นที่สุด การจัดระเบียบความจริงที่เรารวบรวมให้เป็นถ้อยแถลงหลักธรรมที่เรียบง่ายมีค่าพอที่เราจะพยายามอย่างเต็มที่” (“Acquiring Spiritual Knowledge,” Ensign, Nov. 1993, 86)

การใช้วลีเช่น “ดังนั้นเราจึงเห็น” หรือ “กระนั้นก็ตาม”ทำให้หลักธรรมพระกิตติคุณบางข้อชัดเจน อย่างไรก็ดี หลักธรรมส่วนใหญ่ไม่ได้กล่าวอย่างตรงไปตรงมา แต่ใช้ชีวิตของผู้คนในพระคัมภีร์มาอธิบาย ท่านสามารถค้นพบหลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านี้ได้ โดยถามตัวท่านเองทำนองนี้ “หลักศีลธรรมหรือประเด็นของเรื่องนี้คืออะไร” และ “เหตุใดผู้เขียนจึงรวมเรื่องราวหรือเหตุการณ์นี้ไว้ ในนั้น” “ผู้เขียนตั้งใจจะให้เราเรียนรู้อะไร” และ “พระคัมภีร์ข้อนี้สอนความจริงอะไรบ้าง”

  1. ไอคอนสมุดบันทึกเพื่อฝึกระบุหลักธรรมและหลักคำสอนบางประการที่สอนไว้ใน 3 นีไฟ 17:1–10 ให้เขียนคำตอบของกิจกรรม หรือ  ลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน พึงจดจำว่าต้องอ่านหัวบทเพื่อให้เห็นภาพรวมของบทนั้น

    1. ใครกำลังพูดข้อเหล่านี้ เขากำลังพูดกับใคร หลักศีลธรรมหรือประเด็นของ 3 นีไฟ 17:1–10 คืออะไร

    2. ผู้เขียน ข้อ 1, 5–6, และ 9–10 ตั้งใจจะให้เราเรียนรู้อะไรบ้างจากเรื่องนี้ ท่านเรียนรู้ความจริงสำคัญๆ อะไรบ้างจากข้อเหล่านี้

ความจริงพระกิตติคุณประการหนึ่งที่ท่านอาจระบุจากข้อเหล่านี้คือ พระเจ้าทรงตอบสนองความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น

ประยุกต์ใช้หลักคำสอนและหลักธรรม

หลังจากท่านระบุหลักคำสอนและหลักธรรมพระกิตติคุณแล้ว ท่านย่อมพร้อม ปฏิบัติ และ ทำ บางอย่าง เมื่อท่านปฏิบัติตามสิ่งที่ท่านเรียนรู้ ท่านจะรู้สึกว่าพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์เป็นพยานถึงความจริงของหลักธรรม (ดู โมโรไน 10:4–5) บทเรียนทุกบทที่สอนในบ้าน ที่เซมินารีและที่โบสถ์ ในกิจกรรมหน้าที่ต่อพระผู้เป็นเจ้าและประสบการณ์ความก้าวหน้าส่วนบุคคลล้วนมุ่งหมายจะช่วยให้เราปฏิบัติตามสิ่งที่เราได้รับการสอน

ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

ประธานโธมัส เอส. มอนสันกล่าวว่า “เป้าหมายของการสอนพระกิตติคุณ … ไม่ใช่เพื่อ ‘กรอกความรู้’ ใส่สมองของสมาชิกชั้นเรียน … จุดม่งหมายคือเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แต่ละบุคคลคิด รู้สึก แล้วทำบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมพระกิตติคุณ” (ใน Conference Report, Oct. 1970, 107)

เพื่อช่วยท่านประยุกต์ใช้หลักธรรมที่ท่านเรียนรู้ ให้ถามทำนองนี้ “พระเจ้าทรงต้องการให้ฉันทำอะไรกับความรู้นี้” “ฉันได้รับความประทับใจทางวิญญาณอะไรบ้างที่จะช่วยให้ฉันเป็นคนดีขึ้น” “หลักธรรมนี้สร้างความแตกต่างอะไรบ้างในชีวิตท่าน” “ฉันจะเริ่มหรือเลิกทำอะไรเวลานี้เพื่อดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับความจริงดังกล่าว” “ชีวิตฉันจะดีขึ้นอย่างไรถ้าฉันทำสิ่งที่พระคัมภีร์ข้อนี้สอน”

  1. ไอคอนสมุดบันทึกในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน ให้เขียนย่อหน้าสั้นๆ บรรยายว่าท่านจะประยุกต์ใช้หลักธรรมหรือหลักคำสอนที่ท่านเรียนรู้จาก 3 นีไฟ 17:1–10 ได้อย่างไร

ทักษะและวิธีศึกษาพระคัมภีร์

การใช้ทักษะและวิธีศึกษาเหล่านี้จะช่วยให้ท่านเข้าใจภูมิหลังของพระคัมภีร์ ระบุและประยุกต์ใช้หลักคำสอนและหลักธรรมที่สอนในนั้น คู่มือเล่มนี้จะกล่าวถึงวิธีเหล่านี้ตลอดเล่ม จงอ่านทักษะแต่ละอย่าง และเลือกมาหนึ่งหรือสองอย่างที่ท่านรู้สึกว่าต้องใช้บ่อยขึ้นในการศึกษาพระคัมภีร์ส่วนตัวของท่าน

เหตุและผล มองหาความสัมพันธ์ หาก-เมื่อนั้น และ เพราะ-ฉะนั้น ตัวอย่าง: 2 นีไฟ 13:16–26; แอลมา 34:33

การอ้างโยง จัดกลุ่ม เชื่อมโยง หรือจัดหมวดหมู่พระคัมภีร์เข้าด้วยกันเพื่อให้ความหมายชัดเจนและไขความเข้าใจ ตัวอย่างเช่น เปรียบเทียบ โมไซยาห์ 11:2–6, 14 กับ เฉลยธรรมบัญญัติ 17:14–20 ท่านสามารถใช้เชิงอรรถหาข้ออ้างโยงพระคัมภีร์ได้ด้วย ตัวอย่าง: 3 นีไฟ 12:28–29, เชิงอรรถ 29ก, อ้างอิง หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:23

พิจารณาเหตุการณ์แวดล้อม นิยาม ใคร อะไร เมื่อใด และ ที่ไหน ของเหตุการณ์พระคัมภีร์ ตัวอย่าง: แอลมา 31:1, 6–11; 32:1–6 ให้เหตุการณ์แวดล้อมสำหรับ แอลมา 32:21–43

คำสำคัญ คำและวลีเช่น “กระนั้นก็ตาม” หรือ “ดังนั้นเราจึงเห็น” เป็นคำเชื้อเชิญให้หยุดและมองหาคำอธิบายของสิ่งที่เพิ่งเขียน ตัวอย่าง: แอลมา 30:60; ฮีลามัน 6:35–36; 3 นีไฟ 18:30–32

การทำเครื่องหมายพระคัมภีร์ เน้นข้อความ วงกลม หรือขีดเส้นใต้คำและวลีสำคัญๆ ในพระคัมภีร์ของท่านที่ให้ความหมายพิเศษแก่ข้อนั้น เขียนความคิด ความรู้สึก ข้อคิด หรือหลักธรรมสั้นๆ ไว้ตรงช่องว่างริมหน้าด้วย สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ท่านจำได้ว่าอะไรทำให้พระคัมภีร์ข้อนี้สำคัญต่อท่าน

การแทนชื่อ ใส่ชื่อท่านแทนชื่อในพระคัมภีร์ ตัวอย่าง: ใส่ชื่อท่านแทนชื่อนีไฟ ใน 1 นีไฟ 3:7

การไตร่ตรอง การไตร่ตรองหมายถึงการคิดลึกซึ้งเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่าง การไตร่ตรองเกี่ยวข้องกับการถามคำถามและประเมินสิ่งที่ท่านรู้และสิ่งที่ท่านเรียนรู้ การไตร่ตรองมักส่งผลให้รู้วิธีประยุกต์ใช้หลักธรรมในชีวิตท่าน

คำซ้ำ คำหรือวลีที่กล่าวซ้ำอาจสำคัญมากจนผู้อ่านต้องเอาใจใส่ คำเหล่านี้บอกเป็นนัยให้รู้สิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกว่าสำคัญ ตัวอย่าง: คำว่า ร้าย, พรั่นพรึง ใน 2 นีไฟ 9:10, 19, 26–27, 39, 46–47; คำว่า จำ ใน ฮีลามัน 5:6–14

ข้อเปรียบเทียบในพระคัมภีร์ บางครั้งศาสดาพยากรณ์วางเรื่องราวของผู้คน แนวคิด หรือเหตุการณ์ต่างกันให้อยู่ติดกันในพระคัมภีร์ การเปรียบเทียบระหว่างสองสิ่งช่วยให้ระบุและเข้าใจหลักธรรมพระกิตติคุณที่สอนได้ง่ายขึ้น จงมองหาการเปรียบเทียบในข้อนั้น พระคัมภีร์ช่วงนั้น หรือบทนั้น ตัวอย่าง: 2 นีไฟ 2:27; แอลมา 47–48

รายการในพระคัมภีร์ การหารายการในพระคัมภีร์จะช่วยให้ท่านเข้าใจสิ่งที่พระเจ้าและศาสดาพยากรณ์กำลังสอนได้ดีขึ้น เมื่อท่านพบรายการ ท่านอาจต้องการเขียนตัวเลขกำกับองค์ประกอบแต่ละอย่าง ตัวอย่าง: รายการของการปฏิบัติชั่วในหมู่ชาวนีไฟที่พบใน ฮีลามัน 4:11–13

การใช้สัญลักษณ์ในพระคัมภีร์ คำต่างๆ เช่น เหมือน ดัง หรือ เปรียบกับ ช่วยระบุสัญลักษณ์ ลองพิจารณาว่าสัญลักษณ์นั้นแทนอะไร ใช้เชิงอรรถ Bible Dictionary และ Topical Guide เพื่อช่วยหาความหมายของสัญลักษณ์ ตัวอย่าง: เปรียบเทียบเจคอบ 5:3, 75–77 กับ เจคอบ 6:1–7

การสร้างมโนภาพ นึกภาพในใจท่านขณะอ่านสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ถามคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์และสมมติว่าอยู่ตรงที่เกิดเหตุ ตัวอย่าง: ลองสร้างมโนภาพสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นใน อีนัส 1:1–8

คำนิยาม พระคัมภีร์มักใช้คำที่เราไม่คุ้นหู เมื่อท่านพบคำไม่คุ้นหู ให้ ใช้ Bible Dictionary เชิงอรรถ หรือพจนานุกรมปกติเพื่อหาความหมายของคำนั้น

  1. ไอคอนสมุดบันทึกเลือกและใช้ทักษะหนึ่งอย่างจากหมวด “ทักษะและวิธีศึกษาพระคัมภีร์”ดังกล่าวข้างต้น ให้เขียนในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านว่าทักษะนั้นช่วยท่านอย่างไรในการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

  2. ไอคอนสมุดบันทึกเขียนต่อท้ายงานมอบหมายของวันนี้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านว่า

    ฉันได้ศึกษาบทเรียนเรื่อง “การศึกษาพระคัมภีร์” และศึกษาเสร็จวันที่ (วันเดือนปี)

    คำถาม ความคิด และข้อคิดเพิ่มเติมที่ฉันอยากแบ่งปันกับครู: