หน่วย 28: วัน 2
มอรมอน 1–2
คำนำ
ถึงแม้มอรมอนเติบโตในช่วงเวลาของความชั่วร้ายใหญ่หลวง แต่เขาเลือกซื่อสัตย์ เพราะความซื่อสัตย์ของเขา เขาจึงได้รับเรียกให้ดูแลบันทึกของชาวนีไฟ เมื่ออายุ 15 ปีมอรมอน “ ได้รับการเสด็จมาเยือนจากพระเจ้า, และลิ้มรสและรู้ถึงพระคุณความดีของพระเยซู” (มอรมอน 1:15) ในปีเดียวกัน ชาวนีไฟกำหนดให้เขานำทัพ (ดู มอรมอน 2:1) เขาปรารถนาจะช่วยให้ชาวนีไฟกลับใจ แต่เพราะพวกเขาจงใจกบฏ พระเจ้าจึงทรงห้ามเขาไม่ให้สั่งสอนคนเหล่านั้น ชาวนีไฟสูญเสียของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์และของประทานอื่นของพระผู้เป็นเจ้าและถูกทิ้งให้อยู่กับกำลังของตนขณะสู้รบกับชาวเลมัน
มอรมอน 1:1–5
มอรมอนได้รับมอบหมายให้ดูแลบันทึกศักดิ์สิทธิ์
ท่านประสงค์จะให้ผู้คนใช้ถ้อยคำอะไรบ้างเมื่อพวกเขาพูดถึงท่าน
เคยมีคนเรียกท่านว่ามอรมอนหรือไม่ การมีคนเรียกท่านว่ามอรมอนมีความหมายต่อท่านอย่างไร
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์พูดเกี่ยวกับชื่อเล่น มอร-มอน ซึ่งมีคนใช้เรียกสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ดังนี้
“แม้บางครั้งข้าพเจ้าจะเสียใจที่ผู้คนไม่เรียกชื่อศาสนจักรนี้ให้ถูกต้อง แต่ก็มีความสุขกับชื่อเล่นที่พวกเขาใช้เพราะนั่นเป็นเกียรติยศสูงสุดประการหนึ่งซึ่งชายที่ ไม่ธรรมดาคนหนึ่งสร้างไว้ และเป็นชื่อหนังสือซึ่งให้ประจักษ์พยานอันไม่มีสิ่งใดเทียบได้เกี่ยวกับพระผู้ ไถ่ของโลก
“ ใครก็ตามที่ได้รู้จักชายชื่อมอรมอนผ่านการอ่านและไตร่ตรองถ้อยคำของเขา ใครก็ตามที่อ่านขุมทรัพย์ล้ำค่านี้ของประวัติศาสตร์ซึ่งส่วนใหญ่เขารวบรวมและรักษาไว้ จะได้รู้ว่ามอรมอน ไม่ ใช่คำฉาวโฉ่ แต่เป็นตัวแทนของความดีอันเกริกก้องที่สุด—ความดีซึ่งมาจากพระผู้เป็นเจ้า” (“Mormon Should Mean ‘More Good,’” Ensign, Nov. 1990, 52–53)
มอรมอนศาสดาพยากรณ์เกิดในเวลาที่แทบทุกคนในแผ่นดินมีชีวิตอยู่ ในความชั่วร้าย ณ เวลานี้ศาสดาพยากรณ์นามแอมารอนได้รับบัญชาให้ซ่อนบันทึกศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมด (ดู 4 นีไฟ 1:47–49) แอมารอนมาเยี่ยมมอรมอนเด็กชายวัย 10 ขวบเวลานั้นและให้คำแนะนำเกี่ยวกับความรับผิดชอบในอนาคตที่เขามีต่อบันทึก อ่าน มอรมอน 1:2 มองหาคำหรือวลีที่แอมารอนใช้พูดถึงมอรมอนในวัยเยาว์
คำหนึ่งที่แอมารอนใช้พูดถึงมอรมอนคือ มีสติ คำว่า มีสติ หมายถึงจริงจัง สุขุม ชอบธรรม หรือเคร่งขรึม ท่านอาจต้องการเขียนนิยามนี้ไว้ตรงช่องว่างริมหน้าพระคัมภีร์ของท่าน ท่านคิดว่าท่านควรมีสติ ในเรื่องใดหรือสถานการณ์ ใดในชีวิต สำคัญที่ต้องเข้าใจว่าคนมีสติสามารถสนุกสนานและหัวเราะได้ แต่พวกเขาเข้าใจว่าเมื่อใดควรร่าเริงและเมื่อใดควรจริงจังมากขึ้น
แอมารอนพูดถึงมอรมอนด้วยว่าท่าน “ช่างสังเกต” (มอร-มอน 1:2) ท่านคิดว่าช่างสังเกตหมายถึงอะไร เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าคำว่า สังเกต ใช้ ในพระคัมภีร์สองแบบ ดังนี้
“ของประทานทางวิญญาณอย่างหนึ่งที่ดูเหมือนธรรมดามากและอาจไม่มี ใครเห็นคุณค่า—คือความสามารถของการเป็นคน “ช่างสังเกต” (มอรมอน 1:2)— ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อท่านและข้าพเจ้าในโลกที่เรามีชีวิตอยู่เวลานี้หรือยังจะมีชีวิตต่อไป …
“ โปรดพิจารณานัยแห่งของประทานทางวิญญาณอันสำคัญนี้ ในพระคัมภีร์ ใช้คำว่า สังเกตสองแบบ แบบแรกหมายถึง ‘ดู’ หรือ ‘เห็น’ หรือ ‘สนใจ’—ดังที่เราเรียนรู้ ใน อิสยาห์ 42:20 …
“แบบที่สองคำว่า สังเกต หมายถึง ‘เชื่อฟัง’ หรือ ‘ทำตาม’ดังที่ประจักษ์ชัดใน [หลักคำสอนและพันธสัญญา 54:6] …
“ด้วยเหตุนี้ เมื่อเราช่างสังเกต เราจะดูหรือสนใจและเชื่อฟังทันที องค์ประกอบพื้นฐานทั้งสองอย่างนี้—ดูและเชื่อฟัง—จำเป็นอย่างยิ่งต่อการเป็นคนช่างสังเกต ศาสดาพยากรณ์มอรมอนเป็นแบบอย่างที่น่าประทับใจในเชิงปฏิบัติสำหรับของประทานนี้” (“ช่างสังเกต,” เลียโฮนา, ธ.ค. 2006, 15–16)
-
ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน ให้เขียนความคิดของท่านว่าลักษณะนิสัยของการเป็นคนช่างสังเกตจะช่วยท่านในชีวิต ประจำวันได้อย่างไร
อ่าน มอรมอน 1:3–5 ระบุคำแนะนำที่แอมารอนให้แก่มอรมอน ลักษณะนิสัยของการเป็นคนมีสติและช่างสังเกตของมอรมอนจะช่วยเขาทำหน้าที่รับผิดชอบเหล่านี้อย่างไร
มอรมอน 1:6–19
พระเจ้าทรงห้ามมอรมอนสั่งสอนเพราะผู้คนจงใจกบฏ
ท่านเคยสูญเสียของมีค่ามากบางอย่างหรือไม่ ขณะยังอยู่ในวัยเยาว์มอรมอนเห็นการสู้รบหลายครั้งระหว่างชาวนี-ไฟกับชาวเลมันและการแพร่ความชั่วร้ายใหญ่หลวงทั่วแผ่นดิน (ดู มอรมอน 1:6–13) เพราะความชั่วร้ายของชาวนีไฟ ใหญ่หลวงยิ่งนัก มอรมอนจึงบันทึกว่าพวกเขาสูญเสียของประทานล้ำค่ามากมายจากพระเจ้า
-
แบ่งสองคอลัมน์ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน คอลัมน์แรกชื่อ “ของประทานที่ชาวนีไฟสูญเสีย” อ่าน มอรมอน 1:13–14, 18 มองหาของประทานที่พระเจ้าทรงนำไปจากชาวนีไฟ เขียนสิ่งที่ท่านพบลงในคอลัมน์แรก คอลัมน์ที่สองชื่อ “สาเหตุที่พระเจ้าทรงนำของประทานไป” อ่าน มอรมอน 1:14, 16–17, 19 มองหาเหตุผลที่พระเจ้าทรงนำของประทานของพระองค์ไปจากชาวนีไฟ เขียนสิ่งที่ท่านพบลงในคอลัมน์ที่สอง
จากข้อเหล่านี้เราเรียนรู้ได้ว่า ความชั่วร้ายและความไม่เชื่อขับของประทานของพระเจ้าและอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ออกไป ถึงแม้การกบฏของชาวนีไฟจะรุนแรงมาก แต่หลักธรรมนี้ประยุกต์ใช้กับเราแต่ละคนเช่นกันเมื่อเราไม่เชื่อฟังพระบัญญัติข้อใดข้อหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า
ถ้าท่านมีชีวิตอยู่ในสมัยของมอรมอน การสูญเสียของประทานใดของพระผู้เป็นเจ้าดังที่กล่าวไว้ ใน มอรมอน 1:13–14, 18 จะทำให้ท่านเสียใจมากที่สุด
อ่าน มอรมอน 1:15 มองหาสิ่งที่มอรมอนกำลังประสบขณะชาวนีไฟที่เหลือสูญเสียของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์และของประทานอื่นของพระผู้เป็นเจ้า ท่านคิดว่ามอรมอนสามารถมีประสบการณ์ทางวิญญาณได้อย่างไรทั้งที่เขาอยู่ท่ามกลางความชั่วร้ายใหญ่หลวง
มอรมอน 2:1–15
มอรมอนนำทัพชาวนีไฟและโทมนัสเพราะความชั่วร้ายของพวกเขา
พิจารณาสถานการณ์ต่อไปนี้ ชายวัย 30 ปีอยู่บ้านกับพ่อแม่และเลือกไม่หางานทำ แต่กลับอาศัยน้ำพักน้ำแรงของพ่อแม่และใช้เวลาทำกิจกรรมที่ ไม่เกิดประโยชน์ เช่น ใช้เวลาส่วนใหญ่เล่นวิดีโอเกม เปรียบเทียบสถานการณ์นี้กับคำบรรยายถึงเด็กหนุ่มมอรมอนขณะที่ท่านศึกษามอรมอน 2
อ่าน มอรมอน 2:1–2 มองหาความรับผิดชอบที่มอรมอนได้รับและเขาอายุเท่าใดเมื่อได้รับ
ไม่นานหลังจากกำหนดให้มอรมอนเป็นผู้นำทัพชาวนีไฟ ทัพชาวเลมันก็เข้าประชิดชาวนีไฟด้วยกำลังทัพมากจนชาวนีไฟหวาดกลัวและล่าถอย ชาวเลมันขับไล่พวกเขาออกจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่งจนกระทั่งชาวนีไฟรวมกันอยู่ที่เดียว ในที่สุดกองทัพของมอรมอนก็ต้านชาวเลมันได้และทำให้พวกเขาหนีไป (ดู มอรมอน 2:3–9)
-
อ่าน มอรมอน 2:10–15 มองหาสภาพทางวิญญาณของชาวนีไฟหลังจากการสู้รบเหล่านี้ แล้วตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน
-
เหตุใดชาวนีไฟจึงโศกเศร้า
-
ตามที่กล่าวไว้ใน โมโรไน 2:14 มอรมอนรู้ได้อย่างไรว่าความโศกเศร้าของพวกเขาไม่ได้บ่งบอกการกลับใจที่แท้จริง
-
ท่านเห็นความแตกต่างอะไรบ้างใน มอรมอน 2:13–14 ระหว่างคนที่โศกเศร้าจนถึงการกลับใจกับคนที่ความโศกเศร้าของพวกเขานำไปสู่ความอัปมงคล (ถูกหยุดยั้งความก้าวหน้า)
-
ข้อเหล่านี้สอนว่า หากความโศกเศร้าเพราะบาปของเราเป็นไปเพื่อการกลับใจ นั่นย่อมนำเราให้มาหาพระคริสต์ด้วยใจนอบน้อม อีกทั้งแสดงให้เห็นหลักธรรมที่ว่า ความโศกเศร้าเพียงเพราะผลของบาปนำไปสู่ความอัปมงคล (หรือถูกหยุดยั้งความก้าวหน้าสู่ชีวิตนิรันดร์)
-
ตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน
-
คนทำบาปอาจแสดงให้เห็นความโศกเศร้าแบบชาวโลกอย่างไร—ความโศกเศร้าแบบที่นำไปสู่ความอัปมงคล
-
คนทำบาปอาจแสดงให้เห็นความโศกเศร้าแบบที่นำไปสู่การกลับใจได้อย่างไร
-
ไตร่ตรองว่าท่านตอบสนองอย่างไรเมื่อท่านรู้ตัวว่าท่านทำผิดหรือทำบาป ถ้าท่านมาหาพระผู้ช่วยให้รอดด้วยใจนอบน้อมและกลับใจ ท่านจะประสบสันติสุขและคืนดีกับพระผู้เป็นเจ้า
มอรมอน 2:16–29
มอรมอนได้รับแผ่นจารึกและบันทึกเรื่องราวความชั่วร้ายของผู้คนของเขา
ขณะการสู้รบกับชาวเลมันดำเนินต่อไป มอรมอนพบว่าตนเองอยู่ ใกล้เนินเขาที่แอมารอนซ่อนบันทึกชาวนี-ไฟ เขานำแผ่นจารึกของนีไฟออกมาและเริ่มบันทึกสิ่งที่เขาสังเกตเห็นในบรรดาผู้คนตั้งแต่สมัยที่เขาเป็นเด็ก (ดู มอรมอน 2:16–18) อ่าน มอรมอน 2:18–19 ทำเครื่องหมายวลีบางวลีซึ่งบอกสภาพทางวิญญาณที่มอร-มอนเติบโตมา
จากสิ่งที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับมอรมอน ท่านคิดว่าเหตุใดเขาจึงมั่นใจว่าเขาจะ “ ได้รับการยกขึ้นในวันสุดท้าย” (มอรมอน 2:19) ( ในบริบทนี้ “ ได้รับการยกขึ้นในวันสุดท้าย” หมายถึงได้รับความสูงส่ง—ฟื้นคืนชีวิตพร้อมร่างกายซีเลสเชียลและกลับไปที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าเพื่ออยู่กับพระองค์ตลอดกาล)
ชีวิตของมอรมอนเป็นประจักษ์พยานว่า เราสามารถเลือกดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมได้แม้ ในสังคมที่ชั่วร้าย
พิจารณาคำแนะนำต่อไปนี้ “ท่านต้องรับผิดชอบการเลือกที่ท่านทำ พระผู้เป็นเจ้าทรงเอาพระทัยใส่ท่านเสมอและจะทรงช่วยท่านทำการเลือกที่ดีแม้ครอบครัวท่านและมิตรสหายจะใช้สิทธิ์เสรี ในทางที่ ไม่ถูกต้องก็ตาม จงมีความกล้าหาญทางศีลธรรมเพื่อยืนหยัดในการเชื่อฟังพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าแม้ต้องยืนหยัดเพียงลำพัง ขณะทำเช่นนี้ ท่านกำลังเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นทำตาม” (เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน [จุลสาร, 2011], 2)
-
ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน ให้เขียนเกี่ยวกับเวลาที่ท่านเห็นเพื่อนหรือสมาชิกครอบครัวยืนหยัดเชื่อฟังพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าแม้เมื่อคนอื่นไม่ทำเช่นนั้น เขียนความคิดของท่านด้วยว่าแบบอย่างของบุคคลนั้นและแบบอย่างของมอรมอนเป็นประโยชน์ต่อท่านอย่างไร
คติพจน์เยาวชนหญิงคือ “ยืนหยัดเพื่อความจริงและความชอบธรรม” ไม่ว่าท่านเป็นเยาวชนหญิงหรือเยาวชนชาย ให้นึกถึงด้านหนึ่งของชีวิตท่านซึ่งท่านสามารถตั้งใจแน่วแน่มากขึ้นว่าจะยืนหยัดเพื่อสิ่งถูกต้อง พระเจ้าจะทรงช่วยท่านเมื่อท่านพยายามยืนหยัดเพื่อสิ่งถูกต้องแม้เมื่อคนรอบข้างอาจไม่ทำเช่นนั้น
-
เขียนต่อท้ายงานมอบหมายของวันนี้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านว่า
ฉันได้ศึกษา มอรมอน 1–2 และศึกษาเสร็จวันที่ (วันเดือนปี)
คำถาม ความคิด และข้อคิดเพิ่มเติมที่ฉันอยากแบ่งปันกับครู: