การพึ่งพาตนเอง
8: เรียนรู้


“การบริหารกระแสเงินสดของธุรกิจของฉัน: เรียนรู้” การเริ่มต้นและการขยายธุรกิจของฉันสำหรับการพึ่งพาตนเอง (2017)

“การบริหารกระแสเงินสดของธุรกิจของฉัน: เรียนรู้”

เรียนรู้

ใช้เวลาไม่เกิน: 60 นาที

1. ความแตกต่างระหว่างกำไรกับกระแสเงินสด

อ่าน:

ท่านได้เรียนรู้แล้วว่าความสำเร็จของธุรกิจต้องมีการจดบันทึกประจำวัน ทุกครั้งที่ธุรกิจของท่านรับเงินหรือจ่ายเงิน ท่านต้องบันทึกไว้ ท่านเรียนรู้แล้วเช่นกันถึงวิธีสร้างงบกำไรขาดทุน ซึ่งสรุปให้เห็นยอดกำไร (หรือขาดทุน) ที่ธุรกิจท่านได้มาในช่วงเวลาหนึ่ง กำไร หมายถึงเงินที่เหลือจากธุรกิจของท่านหลังจากท่านลบรายจ่ายออกจากรายได้

แม้ว่ากำไรเป็นตัววัดที่สำคัญ แต่กำไรไม่ได้เป็นสิ่งเดียวที่ท่านต้องสนใจในฐานะเจ้าของธุรกิจ กระแสเงินสด เป็นตัววัดที่ชี้ชัดถึงจังหวะเวลาในการเคลื่อนที่ของเงินเข้าและออกของธุรกิจท่านทุกวัน กระแสเงินสดเป็นโลหิตหล่อเลี้ยงชีวิตของธุรกิจท่าน เมื่อธุรกิจของท่านมีเงินสด ท่านสามารถแสวงหาตัวเลือกในการขยาย ทำการลงทุน และเก็บเงินไว้สำหรับสถานการณ์ไม่คาดคิดหรือฉุกเฉิน

งบกำไรขาดทุนอาจแสดงว่าธุรกิจของท่านทำกำไรแต่อาจจะล้มละลายหากไม่มีเงินสดมากพอจะจ่ายสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ ปัญหากระแสเงินสดเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของความล้มเหลวในธุรกิจ

2. การเข้าใจกระแสเงินสด

อ่าน:

มีกระแสเงินสดสองประเภทคือ:

กระแสเงินสดเป็นบวก เกิดขึ้นเมื่อยอดรวมเงินสดที่เข้าสู่ธุรกิจของท่านในช่วงเวลาที่เจาะจงมากกว่ายอดรวมเงินสดที่ออกจากธุรกิจนั้นในช่วงเดียวกัน นี่คือสิ่งที่ท่านต้องการ: การหมุนเวียนกระแสเงินสดเป็นบวก

กระแสเงินสดเป็นลบ เกิดขึ้นเมื่อยอดรวมเงินสดที่ออกจากธุรกิจของท่านในช่วงเวลาที่เจาะจงมากกว่ายอดรวมเงินสดที่เข้าสู่ธุรกิจนั้นในช่วงเดียวกัน นี่เป็นสถานการณ์เสี่ยงอันไม่พึงปรารถนาซึ่งท่านควรแก้ปัญหาทันทีด้วยการลงมือทำซึ่งจะทำให้เกิดเงินสดเร็วเท่าที่เป็นไปได้และลดต้นทุน

ขอให้ทบทวนตัวอย่างที่แตกต่างสามประการเพื่อเข้าใจความกดดันจากกระแสเงินสดและวิธีที่เจ้าของธุรกิจอาจแก้ปัญหา ให้จินตนาการว่าธุรกิจหนึ่งเริ่มโดยมีเงินสดอยู่ 300 ธุรกิจมักจะได้รับชำระเงินสด 200 ทุกวันจันทร์และ 200 ทุกวันพุธ ธุรกิจจ่ายเงินสด 300 ทุกวันศุกร์ ตัวอย่างข้างบนแสดงให้เห็นการหมุนเวียนกระแสเงินสดสำหรับธุรกิจนี้ในช่วงสามสัปดาห์ เงินเข้ามาและออกไปจากธุรกิจในรูปแบบที่คาดเดาได้

ตัวอย่าง ก: กระแสเงินสดที่ควรเป็น

กระแสเงินสดที่ควรเป็น

น่าเสียดาย ที่ทุกธุรกิจประสบกับเรื่องไม่คาดคิดและถดถอย ตัวอย่าง ข ด้านล่างแสดงให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อธุรกิจไม่ได้เตรียมรับกระแสเงินสดที่เป็นลบ ในกรณีนี้ ลูกค้าสองคนไม่ได้ชำระใบเสร็จของพวกเขาทำให้มีหนี้ที่เรียกเก็บไม่ได้ 400 (เรียกอีกชื่อว่าหนี้เสีย) เจ้าของธุรกิจพึ่งเงินก้อนนี้เพื่อจ่ายลูกจ้าง ธุรกิจมีรายจ่ายฉุกเฉินด้วยที่ต้องจ่ายทันที

ตัวอย่าง ข: กระแสเงินสดเป็นลบ—ไม่ได้เตรียมตัว

กระแสเงินสดเป็นลบ: ไม่ได้เตรียมตัว

ตัวอย่าง ค ด้านล่างแสดงให้เห็นเรื่องไม่คาดคิดและถดถอยเช่นเดียวกันกับตัวอย่าง ข แต่ในกรณีนี้ เจ้าของธุรกิจเตรียมพร้อม เธอพึ่งพาวงเงินสินเชื่อของเธอเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ เธอจ่ายคืนยอดคงเหลือวงเงินสินเชื่อของเธอทันทีที่ทำได้

ตัวอย่าง ค: กระแสเงินสดมีแนวโน้มว่าจะเป็นลบ—มีการเตรียมตัว

กระแสเงินสดมีแนวโน้มว่าจะเป็นลบ

สนทนา:

ตัวอย่างเหล่านี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับความท้าทายในการบริหารกระแสเงินสด

อ่าน:

เป็นเรื่องปกติที่เจ้าของธุรกิจจะมีปัญหากระแสเงินสด ปัญหาเหล่านี้รวมถึง:

  • ความใหม่ของธุรกิจ ซึ่งทำให้เป็นเรื่องยากที่จะรับและจ่ายเงินโดยใช้สินเชื่อ

  • โอกาสในการเติบโต ซึ่งจะลดจำนวนเงินสดที่มี

  • การมีสินค้าคงคลัง ซึ่งทำให้เงินสดมีจำกัด

  • ลูกค้าจ่ายเป็นสินเชื่อ ซึ่งทำให้จำนวนเงินสดที่เข้ามาช้าลง

  • การขายให้ธุรกิจอื่นที่จ่ายโดยสินเชื่อ ซึ่งทำให้จำนวนเงินสดที่เข้ามาช้าลง

  • ยอดขายไม่คงที่เนื่องจากฤดูกาลหรือปัจจัยอื่นๆ ซึ่งทำให้เกิดช่วงเวลาที่ท่านมีเงินสดสูงมากและน้อยมาก

  • รายจ่ายที่ไม่คาดคิด

  • การไม่จ่ายเงินของลูกค้า (หนี้เสีย)

สนทนา:

ท่านคาดว่าปัญหาใดน่าจะเกิดขึ้นกับกระแสเงินสดของธุรกิจท่าน?

3. กลยุทธ์ในการปรับปรุงกระแสเงินสด

อ่าน:

มีหลายสิ่งที่ท่านทำได้เพื่อสร้างการหมุนเวียนกระแสเงินสดเป็นบวกให้ธุรกิจของท่านเพื่อเตรียมรับเรื่องไม่คาดคิดและการถดถอยที่อาจเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น ท่านสามารถค้นคว้าเงื่อนไขการชำระเงินมาตรฐานของธุรกิจ ในบางธุรกิจ ผู้จำหน่ายสามารถรอได้ 90 วันหรือนานกว่านั้นก่อนถึงกำหนดที่พวกเขาต้องชำระเงิน ธุรกิจอื่นมักต้องชำระภายใน 30 วัน เมื่อท่านเข้าใจเงื่อนไขการชำระเงินมาตรฐานสำหรับธุรกิจของท่านแล้ว ท่านสามารถเจรจาเงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์มากขึ้นสำหรับธุรกิจของท่านเอง

สนทนา:

โดยทั่วไปเจ้าของธุรกิจต้องการได้รับหรือเก็บเงินสดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้และชะลอการจ่ายเงินสดจนกระทั่งพวกเขาต้องจ่าย เมื่อมองภายนอก หลักการนี้อาจดูขัดแย้งกับคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดว่า “จงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่พวกท่านต้องการให้พวกเขาปฏิบัติต่อท่าน” (มัทธิว 7:12) ในฐานะเจ้าของธุรกิจ ท่านจะทำให้หลักการเหล่านี้สอดคล้องกันได้อย่างไร?

อ่าน:

ขณะที่ท่านพยายามสร้างการหมุนเวียนกระแสเงินสดของธุรกิจให้เป็นบวก เป็นเรื่องสำคัญที่จะดำเนินการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ให้พยายามเข้าใจเงื่อนไขการชำระเงินสำหรับอุตสาหกรรมของท่าน ให้ฉลาดในการกำหนดกลยุทธ์การชำระเงินของท่าน ให้ทำงานเพื่อสร้างเงื่อนไขการชำระเงินที่เอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจของท่าน เมื่อท่านกำหนดกลยุทธ์การชำระเงินของท่านแล้ว ให้สื่อสารความคาดหวังของท่านอย่างแจ้งชัดและรักษาคำมั่นสัญญาของท่าน

4. การบริหารกระแสเงินสดอย่างแข็งขัน

อ่าน:

การตรวจสอบบัญชีธนาคารธุรกิจของท่านเป็นช่วงๆ และหวังว่าตัวเลขจะไม่มีปัญหานั้นไม่เพียงพอ ท่านต้องบริหารกระแสเงินสดของธุรกิจท่านอย่างแข็งขัน

ในฐานะเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ท่านต้องทราบว่าธุรกิจของท่านมีเงินสดเท่าไรไม่ว่าตอนไหน อย่าพึ่งใบแจ้งยอดจากธนาคารในการบริหารกระแสเงินสดของท่าน ยอดคงเหลือในบัญชีของท่านมักไม่บอกถึงการชำระเงินที่อยู่ในขั้นตอนเช่นการชำระเงินออกไปให้ผู้จัดส่งสินค้าหรือที่เข้ามาจากลูกค้า

ท่านต้องสร้างและอัปเดตการคาดคะเนกระแสเงินสดของท่านอย่างต่อเนื่อง ดังที่อธิบายก่อนหน้า กระแสเงินสดเป็นจังหวะเวลาของจำนวนเงินสดที่ไหลเข้าออกธุรกิจของท่านระหว่างช่วงเวลาหนึ่ง การคาดคะเนของท่านควรแสดงให้เห็นกระแสเงินสดที่ท่านคาดไว้ในสองสามเดือนข้างหน้า การคาดคะเนของท่านไม่ต้องถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นเรื่องจำเป็นที่ท่านจะประเมินอย่างรอบคอบถึงรายได้ประจำเดือน รายจ่ายผันแปร และรายจ่ายคงที่อย่างต่อเนื่อง

กระแสเงินสดเป็นบวกไม่ได้เกิดขึ้นกับธุรกิจเอง กระแสเงินสดเกิดขึ้นได้ผ่านการทำงานหนักและการวางแผนอย่างรอบคอบ หากท่านรู้สถานะเงินสดในปัจจุบันของท่านและการคาดคะเนกระแสเงินสดในอนาคต ท่านสามารถตัดสินใจได้ว่าจะช่วยให้ธุรกิจของท่านประสบความสำเร็จและเติบโตได้อย่างไร เจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเก็บเงินสดไว้สำหรับรายจ่ายที่ไม่คาดคิดและมักมีแหล่งวงเงินสินเชื่อไว้ตามความต้องการกระแสเงินสดที่พวกเขาคาดไว้