บทที่ 1
พระคัมภีร์มอรมอนเป็นพยานหลักฐานอีกเล่มหนึ่งของพระเยซูคริสต์
คำนำ
คนที่ศึกษาคำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอนจะรู้ว่าพระเยซูคือพระคริสต์ ในบทนี้ นักเรียนจะเรียนรู้ว่าผู้เขียนหลักๆ ของพระคัมภีร์เล่มนี้เป็นพยานผู้เห็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าด้วยตาตนเองและถ้อยคำของพวกท่านช่วยทำให้ความเข้าใจและประจักษ์พยานของเราลึกซึ้งขึ้นในพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์
ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน
-
กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “ประจักษ์พยานอันแน่วแน่และมีพลัง,” เลียโฮนา, ส.ค. 2005, 2–6
-
“พระคัมภีร์มอรมอน—ศิลาหลักแห่งศาสนาของเรา,” บทที่ 9 ใน คำสอนของประธานศาสนจักร: เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน [2014], 125–135
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
1 นีไฟ 13:40; 2 นีไฟ 25:17–18; แอลมา 33:22–23
พระคัมภีร์มอรมอนเป็นพยานหลักฐานของพระเยซูคริสต์
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ (1805–1844) และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“ข้าพเจ้าบอกบรรดาพี่น้องชายว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นหนังสือที่ถูกต้องยิ่งกว่าหนังสือใด ๆ บนแผ่นดินโลก, และเป็นศิลาหลักแห่งศาสนาของเรา, และมนุษย์จะเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นโดยการยึดมั่นกับหลักการของหนังสือเล่มนี้, ยิ่งกว่าหนังสือเล่มอื่นใด.” (คำนำพระคัมภีร์มอรมอน)
-
ข้อความยืนยันของศาสดาพยากรณ์ข้อความใดทำให้ท่านมีประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน และเพราะเหตุใด
-
คำกล่าวของท่านศาสดาพยากรณ์เพิ่มแรงจูงใจอย่างไรให้ท่านศึกษาพระคัมภีร์มอรมอน
เชื้อเชิญให้นักเรียนระบายสีเน้นข้อความนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาในคำนำย่อหน้าที่หกของพระคัมภีร์มอรมอน และเสนอแนะให้พวกเขาเขียนข้ออ้างโยง 1 นีไฟ 13:40 และ 2 นีไฟ 25:17–18 ไว้ใกล้กับข้อความดังกล่าว (หมายเหตุ: การทำอ้างโยงเป็นทักษะการศึกษาพระคัมภีร์ที่ท่านอาจจะเลือกเน้นตลอดหลักสูตรนี้ เมื่อนักเรียนเพิ่มทักษะการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา พวกเขาจะพึ่งพาตนเองทางวิญญาณมากขึ้น)
เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 1 นีไฟ 13:40 และ 2 นีไฟ 25:17–18 ขณะชั้นเรียนมองหาจุดประสงค์เบื้องต้นของพระคัมภีร์มอรมอน
-
ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ อะไรคือจุดประสงค์เบื้องต้นของพระคัมภีร์มอรมอน (นักเรียนควรค้นพบความจริงต่อไปนี้: พระผู้เป็นเจ้าทรงนำพระคัมภีร์มอรมอนออกมาในวันเวลาสุดท้ายเพื่อทำให้คนทั้งปวงมั่นใจว่าพระเยซูคือพระคริสต์ [ดูปกหน้าด้านในของพระคัมภีร์มอรมอนด้วย])
-
พระคัมภีร์มอรมอนทำให้ผู้คนมั่นใจอย่างไรว่าพระเยซูคือพระคริสต์
ให้ดูข้อความต่อไปนี้ของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (1899–1994) และเชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านในใจ
“โลกของชาวคริสต์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันปฏิเสธความเป็นพระเจ้าของพระผู้ช่วยให้รอด พวกเขาสงสัยการประสูติอันน่าอัศจรรย์ของพระองค์ พระชนม์ชีพอันดีพร้อมของพระองค์ และความเป็นจริงของการฟื้นคืนพระชนม์อันรุ่งโรจน์ของพระองค์ พระคัมภีร์มอรมอนสอนความจริงทั้งหมดนี้ด้วยคำพูดที่ชัดเจนไม่ผิดพลาด อีกทั้งให้คำอธิบายครบถ้วนที่สุดเกี่ยวกับหลักคำสอนเรื่องการชดใช้ หนังสือที่ได้รับการดลใจจากเบื้องบนเล่มนี้เป็นศิลาหลักอย่างแท้จริงในการกล่าวคำพยานต่อโลกว่าพระเยซูคือพระคริสต์” (คำสอนของประธานศาสนจักร: เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน [2014], 129–130)
-
ความจริงอะไรบ้างเกี่ยวกับพระชนม์ชีพและการปฏิบัติศาสนกิจของพระเยซูคริสต์ที่ได้รับการยืนยันในพระคัมภีร์มอรมอน
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“ข้าพเจ้าอ่าน [พระคัมภีร์มอรมอน] มาแล้วหลายครั้ง ข้าพเจ้าอ่านข้อเขียนมากมายเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้เช่นกัน ผู้เขียนบางท่านมุ่งเน้นเรื่องราวในนั้น ผู้คนในนั้น หรือประวัติศาสตร์โดยสังเขปในนั้น บางท่านสนใจโครงสร้างภาษาหรือบันทึกในนั้นเกี่ยวกับอาวุธ ภูมิศาสตร์ ชีวิตสัตว์ เทคนิคการสร้าง หรือมาตราชั่งตวงวัด
“เรื่องราวเหล่านี้อาจจะน่าสนใจ แต่การศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนจะให้ผลคุ้มค่าที่สุดเมื่อคนนั้นมุ่งเน้นจุดประสงค์ เบื้องต้น ของพระคัมภีร์— นั่นคือ เป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ เมื่อเทียบกันแล้ว ประเด็นอื่นทั้งหมดไม่สำคัญ
“เมื่อท่านอ่านพระคัมภีร์มอรมอน ให้มุ่งเน้นบุคคลสำคัญในหนังสือเล่มนี้—ตั้งแต่บทแรกจนถึงบทสุดท้าย—นั่นคือ พระเจ้าพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์” (“ประจักษ์พยานในพระคัมภีร์มอรมอน,” เลียโฮนา, ม.ค. 2000, 69)
-
ในบรรดาข่าวสารทั้งหมดของพระคัมภีร์มอรมอน ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่สุดที่ต้องมุ่งเน้นข่าวสารเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์
อธิบายให้นักเรียนฟังว่าหลังจากศาสดาพยากรณ์แอลมาสอนชาวโซรัมเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอด (ดู แอลมา 33:22) ท่านเชื้อเชิญให้ผู้ฟังเพาะพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าในใจพวกเขาเพื่อมันจะงอกงาม เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน แอลมา 33:22–23 ในใจและหาความจริงที่แอลมากระตุ้นให้ผู้อ่าน “เพาะ” ไว้ในใจพวกเขา
-
แอลมาต้องการให้ผู้ฟังเพาะข่าวสารอะไรในใจพวกเขา
-
แอลมาสัญญาว่าจะเกิดผลอะไรบ้างถ้าพวกเขาเพาะและบำรุงเลี้ยงความเชื่อเหล่านี้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ (ประจักษ์พยานของพวกเขาจะงอกงาม “จนถึงชีวิตอันเป็นนิจ” ภาระของพวกเขาจะเบา)
-
การศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนช่วยให้ท่านได้รับพรที่แอลมาพูดถึงอย่างไร
1 นีไฟ 6:4; 2 นีไฟ 11:2–3; เจคอบ 1:7–8; มอรมอน 1:15; 3:20–22; อีเธอร์ 12:38–39, 41
ผู้เขียนพระคัมภีร์มอรมอนเป็นพยานผู้เห็นพระเยซูคริสต์ด้วยตาตนเอง
อธิบายว่าพระคัมภีร์มอรมอนมีผู้เขียนหลักสี่คนได้แก่ นีไฟ เจคอบ มอรมอน และโมโรไน (ยกเว้นหนังสือของอีนัส เจรอม และออมไน)
เขียนแผนภูมิต่อไปนี้ บนกระดาน เพื่อช่วยให้นักเรียนเรียนรู้เกี่ยวกับผู้เขียนหลักทั้งสี่คนนี้ ให้พวกเขาเลือกและอ่านข้อต่อไปนี้ในใจ ขอให้พวกเขาหาดูว่าคุณสมบัติอะไรทำให้ผู้เขียนเป็นพยานที่มีประสิทธิภาพของพระเยซูคริสต์
ผู้เขียน |
ประสบการณ์ |
---|---|
1. นีไฟ | |
2. เจคอบ | |
3. มอรมอน | |
4. โมโรไน |
ให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากทั้งสี่ข้อ จากนั้นให้ถามว่า
-
เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องเข้าใจว่าผู้เขียนหลักของพระคัมภีร์มอรมอนเป็นพยานผู้เห็นพระเยซูคริสต์ด้วยตาตนเอง (ขณะที่ท่านสนทนาคำถามนี้ จงช่วยให้นักเรียนค้นพบความจริงต่อไปนี้ โดยการศึกษาพระคัมภีร์มอรมอน เราเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และพระพันธกิจของพระองค์จากคนที่เห็นและรู้จักพระองค์ ท่านอาจจะชี้ให้เห็นว่าโจเซฟ สมิธผู้แปลพระคัมภีร์มอรมอนเป็นพยานผู้เห็นพระเยซูคริสต์ด้วยตาตนเองเช่นกัน)
เพิ่มคอลัมน์ที่สามเข้าไปในแผนภูมิบน กระดาน ตามที่แสดงให้เห็น
ผู้เขียน |
ประสบการณ์ |
จุดประสงค์ |
---|---|---|
1. นีไฟ | ||
2. เจคอบ | ||
3. มอรมอน | ||
4. โมโรไน |
ขอให้นักเรียนอ่านพระคัมภีร์ในคอลัมน์ที่สามคนละหนึ่งข้อในใจ โดยมองหาเหตุผลที่ผู้เขียนแต่ละคนบันทึกข่าวสารของเขา
-
เหตุใดผู้เขียนพระคัมภีร์มอรมอนจึงบันทึกข่าวสารของพวกเขา
-
ท่านคิดว่าเหตุใดผู้เขียนเหล่านี้จึงตั้งใจจะเชื้อเชิญให้ผู้อื่นมาหาพระคริสต์
-
คำเชื้อเชิญของพวกเขาให้มาหาพระคริสต์ประยุกต็ใช้กับท่านเป็นส่วนตัวได้อย่างไร ท่านมีความคิดและความรู้สึกอะไรบ้างขณะไตร่ตรองคำเชื้อเชิญเหล่านี้
2 นีไฟ 33:1–2, 4–5, 10–11
พระคัมภีร์มอรมอนช่วยให้เราเชื่อในพระเยซูคริสต์
อธิบายว่าถึงแม้ชีวิตคนนับไม่ถ้วนเปลี่ยนไปเพราะประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน แต่หลายคนต่อสู้กับความสงสัยเกี่ยวกับความจริงและความถูกต้องของหนังสือเล่มนี้
-
ท่านจะให้คำแนะนำอะไรเพื่อช่วยคนบางคนเสริมสร้างหรือมีประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน
ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 33:1–2 ขณะชั้นเรียนที่เหลือระบุอำนาจที่ทำให้ข่าวสารของพระคัมภีร์มอรมอนเข้ามาในใจเรา
-
นีไฟกล่าวว่าอำนาจอะไรจะช่วยให้ข่าวสารเข้ามาในใจบุคคลนั้น (อำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์)
-
นีไฟกล่าวว่าอะไรจะปิดกั้นคนบางคนไม่ให้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์
เชื้อเชิญให้นักเรียนบอกและสนทนาหลักธรรมที่สอนในข้อเหล่านี้ (ช่วยให้นักเรียนค้นพบหลักธรรมต่อไปนี้ พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสามารถนำข่าวสารของพระคัมภีร์มอรมอนเข้ามาในใจเราตราบใดที่เราไม่ทำใจแข็งกระด้างต่อต้านพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านอาจจะเขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)
ให้เวลานักเรียนศึกษา 2 นีไฟ 33:4–5 สักครู่โดยมองหาพรเพิ่มเติมที่เราจะได้รับจากการศึกษาพระคัมภีร์มอรมอน ขอให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาค้นพบ
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์แอล. วิทนีย์ เคลย์ตันแห่งสาวกเจ็ดสิบ และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“[เรา] ต้องเลือกที่จะเปิดใจต่อความจริงอันสูงส่งของพระผู้ช่วยให้รอด … พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงบังคับให้เราเชื่อ แต่ทรงเชื้อเชิญเราให้เชื่อโดยส่งศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกที่ยังมีชีวิตอยู่มาสอนเรา โดยจัดเตรียมพระคัมภีร์ และทรงเรียกเราผ่านพระวิญญาณของพระองค์ … การตัดสินใจเชื่อเป็นการเลือกครั้งสำคัญที่สุดที่เราเคยทำ การเลือกนี้ส่งผลต่อการตัดสินใจอื่นๆ ทั้งหมดของเรา” (“เลือกที่จะเชื่อ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 38)
-
การยอมรับคำเชื้อเชิญของผู้เขียนพระคัมภีร์มอรมอนให้เชื่อในพระเยซูคริสต์จะส่งผลต่อการตัดสินใจอื่นๆ ทั้งหมดของเราได้อย่างไร
ดำเนินบทเรียนต่อโดยเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 33:10–11 ขณะชั้นเรียนหาดูว่านีไฟอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างการเชื่อในถ้อยคำของท่านกับการเชื่อในพระเยซูคริสต์อย่างไร
-
ตามที่นีไฟกล่าว อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างการเชื่อในถ้อยคำของท่านกับการเชื่อในพระเยซูคริสต์
-
นีไฟกล่าวว่าจะเกิดอะไรขึ้น “ในวันสุดท้าย” กับคนที่ปฏิเสธถ้อยคำของท่าน
เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันประจักษ์พยานว่าพระคัมภีร์มอรมอนช่วยให้พวกเขาใกล้ชิดพระเยซูคริสต์มากขึ้นอย่างไร
สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน
-
1 นีไฟ 6:4; 13:40; 2 นีไฟ 11:2–3; 25:17–18; 33:1–2, 4–5, 10–11; เจคอบ 1:7–8; แอลมา 33:22–23; มอรมอน 1:15; 3:20–22; อีเธอร์ 12:38–39, 41.
-
“พระคัมภีร์มอรมอน—ศิลาหลักแห่งศาสนาของเรา,” บทที่ 9 ใน คำสอนของประธานศาสนจักร: เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน [2014], 125–135