บทที่ 26
หลังการทดลองศรัทธา
คำนำ
ในบทนี้ นักเรียนจะเรียนรู้จากพระคัมภีร์มอรมอนว่าการมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์ทำให้พระผู้เป็นเจ้าทรงทำปาฏิหาริย์เพื่อเราได้ การใช้ศรัทธาสามารถเตรียมเราให้พร้อมรับพยานทางวิญญาณของความจริงเช่นกัน
ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน
-
โรเบิร์ต ดี. เฮลส์, “พยายามรู้จักพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาบนสวรรค์ของเรา และพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 35–39
-
เดวิด เอ. เบดนาร์, “ทูลขอด้วยศรัทธา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2008, 114–117
-
นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “ท่านรู้มากพอ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 15-17
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
2 นีไฟ 27:23; 3 นีไฟ 17:5–9, 20–24; มอรมอน 9:9, 18–20
ศรัทธามาก่อนปาฏิหาริย์
ขอให้นักเรียนยกตัวอย่างพระคัมภีร์สองสามข้อที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำปาฏิหาริย์เพื่อประโยชน์ของบุตรธิดาของพระองค์ตามศรัทธาที่พวกเขามีต่อพระองค์ (ตัวอย่างอาจได้แก่ พระเยซูทรงรักษาคนป่วยและทรงทำให้คนตายฟื้น โมเสสแยกทะเลแดง และพระคริสต์ทรงสัมผัสก้อนหินเพื่อให้ความสว่างแก่เรือชาวเจเร็ด)
-
ท่านจะพูดอะไรกับคนที่ไม่เชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้ายังคงทำปาฏิหาริย์ในทุกวันนี้
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 27:23 และให้อีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง มอรมอน 9:9, 18-20 ขอให้ชั้นเรียนหาดูว่าเหตุใดปาฏิหาริย์จึงยังเกิดขึ้นในทุกวันนี้
-
ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ เหตุใดเราจึงมั่นใจได้ว่าปาฏิหาริย์เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน (นักเรียนควรค้นพบหลักคำสอนต่อไปนี้: เพราะพระเจ้าทรงเป็นเหมือนกันทั้งวันวาน วันนี้ และตลอดกาล พระองค์จึงยังคงทำปาฏิหาริย์ตามศรัทธาของบุตรธิดาของพระองค์)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดพระเจ้าจึงทรงเรียกร้องให้เรามีศรัทธาก่อนพระองค์ทำปาฏิหาริย์
เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ในพระคัมภีร์ระหว่างศรัทธากับปาฏิหาริย์ ให้เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 3 นีไฟ 17:5-9 ขอให้ชั้นเรียนหาดูว่าพระคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์ทรงบอกว่าต้องมีอะไรมากพอก่อนพระองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์ให้แก่ผู้คน
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 8 อะไรยอมให้พระผู้ช่วยให้รอดทรงรักษาคนป่วยและคนมีทุกข์
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 17:20-24
-
ผู้คนประสบเหตุการณ์ศักดิ์สิทธิ์อะไรอีกบ้างเพราะศรัทธาของพวกเขา
-
การที่พระคริสต์เต็มพระทัยประทานปาฏิหาริย์เหล่านี้จะเพิ่มศรัทธาของเราได้อย่างไรว่าพระองค์ทรงสามารถใช้เดชานุภาพช่วยเราตามความต้องการของเรา
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของซิสเตอร์ซิดนีย์ เอส. เรย์โนลด์ส อดีตที่ปรึกษาในฝ่ายประธานปฐมวัยสามัญ
“ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ‘ปาฏิหาริย์อันน่าพิศวง’ … คือ ‘ปาฏิหาริย์ส่วนตัว’ ที่เล็กน้อยกว่า ซึ่งสอนเราแต่ละคนให้มีศรัทธาในพระเจ้า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อเรารับรู้และเอาใจใส่การกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณในชีวิต …
“ดิฉันเชื่อว่าเราทุกคนสามารถเป็นพยานถึงปาฏิหาริย์เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ได้ เรารู้จักเด็กที่สวดอ้อนวอนขอให้ช่วยพบของที่หายและพบ เรารู้เรื่องคนหนุ่มสาวที่รวบรวมความกล้าเพื่อยืนเป็นพยานของพระผู้เป็นเจ้าและรู้สึกถึงพระหัตถ์ค้ำจุนของพระองค์ เรารู้จักเพื่อนๆ ที่จ่ายส่วนสิบด้วยเงินก้อนสุดท้ายและจากนั้น โดยผ่านปาฏิหาริย์ พวกเขาพบว่าตนเองสามารถจ่ายค่าเล่าเรียน ค่าเช่า หรือมีอาหารให้ครอบครัว เราสามารถแบ่งปันประสบการณ์ของการสวดอ้อนวอนที่ได้รับคำตอบและพรฐานะปุโรหิตที่ให้ความกล้าหาญ เกิดความสบายใจ หรือฟื้นฟูสุขภาพ ปาฏิหาริย์ในแต่ละวันเหล่านี้ทำให้เราคุ้นเคยกับพระหัตถ์ของพระเจ้าในชีวิตเรา” (“พระผู้เป็นเจ้าของสิ่งอัศจรรย์,” เลียโฮนา, ก.ค. 2001, 16)
ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาหรือคนรู้จักประสบปาฏิหาริย์ของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตพวกเขา หากไม่ศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นส่วนตัวมากเกินไป ให้เชิญนักเรียนแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยมีซึ่งยืนยันต่อพวกเขาว่าพระผู้เป็นเจ้ายังทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าแห่งปาฏิหาริย์
อีเธอร์ 3:6–13, 17–20; 4:13–15; 12:6–7, 12, 19, 31
ศรัทธาเตรียมเราให้พร้อมรับพยานทางวิญญาณ
เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงความจริงพระกิตติคุณที่พวกเขาต้องการได้รับพยานทางวิญญาณหรือประจักษ์พยานแรงกล้ามากขึ้น อธิบายว่าบางคนเลือกไม่เชื่อหรือไม่ดำเนินชีวิตตามหลักธรรมพระกิตติคุณจนกว่าจะเห็นหลักฐานยืนยันว่าหลักธรรมนั้นจริง
เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน อีเธอร์ 12:6 ในใจโดยมองหาสิ่งที่ข้อเหล่านี้สอนเกี่ยวกับกระบวนการได้รับพยานทางวิญญาณ
-
เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรได้บ้างจาก อีเธอร์ 12:6 เกี่ยวกับการได้รับพยานทางวิญญาณ (นักเรียนควรค้นพบหลักธรรมต่อไปนี้: ก่อนเราจะได้รับพยานทางวิญญาณ เราต้องใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ก่อน)
-
ท่านคิดว่าวลี “การทดลองศรัทธาของท่าน” หมายถึงอะไร
อธิบายว่าการทดลองศรัทธาไม่ได้หมายถึงการประสบความยากลำบากเสมอไป ให้ดูและขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้เกี่ยวกับคำแนะนำของโมโรไนใน อีเธอร์ 12:6 โดยเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองและซิสเตอร์บอนนี่ แอล. ออสคาร์สัน ประธานเยาวชนหญิงสามัญ
“ท่านสามารถฝึกใช้ศรัทธาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้ที่โมโรไนสอน ‘… ท่านไม่ได้รับพยานจนหลัง การทดลองศรัทธาของท่าน’ [อีเธอร์ 12:6; เน้นตัวเอน] ดังนั้นทุกครั้งที่ท่าน ทดลองศรัทธาของท่าน คือ กระทำอย่างมีค่าควรตามความรู้สึก ท่านจะได้รับการยืนยันจากพระวิญญาณ” (ริชาร์ด จี. สก็อตต์, “อำนาจค้ำจุนของศรัทธาในช่วงเวลาแห่งความแปรปรวนและการทดสอบ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2003, 95)
“ในโลกของเราที่ความสมหวังทันทีคือความคาดหวัง บ่อยครั้งเรารู้สึกผิดที่คาดหวังรางวัลโดยไม่ได้ออกแรงทำ ดิฉันเชื่อที่โมโรไนกำลังบอกเราว่าเราต้องทำก่อนและใช้ศรัทธาโดยการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ แล้วเราจะได้รับพยานว่าเป็นความจริง การเปลี่ยนใจเลื่อมใสอย่างแท้จริงเกิดขึ้นเมื่อท่านยังคงประพฤติตามหลักคำสอนที่ท่านรู้ว่าจริงและรักษาพระบัญญัติต่อไป วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า” (บอนนี่ แอล. ออสคาร์สัน, “จงเปลี่ยนใจเลื่อมใส,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 77)
-
วิธีได้รับพยานของความจริงที่เอ็ลเดอร์สก็อตต์และซิสเตอร์ออสคาร์สันอธิบายต่างกันอย่างไรกับวิธีของคนที่ต้องการหลักฐานก่อนจึงจะเชื่อหรือปฏิบัติ
-
ท่านพบว่าหลักธรรมนี้เป็นจริงเมื่อใดและอย่างไร
เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก อีเธอร์ 12:7, 12, 19, และ 31 กระตุ้นให้ชั้นเรียนสังเกตวลี “หลังจากที่พวกเขามีศรัทธา” และ “จนภายหลังพวกเขามีศรัทธา” ในข้อเหล่านี้ (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลีเหล่านี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาด้วย)
-
ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ พระเจ้าทรงจัดเตรียมพรอะไรให้คนเหล่านี้หลังจากพวกเขาใช้ศรัทธา ท่านได้รับพยานทางวิญญาณของความจริงในรูปแบบใดเนื่องด้วยศรัทธาของท่าน
เป็นพยานว่าเหมือนกันมากกับปาฏิหาริย์คือพยานทางวิญญาณไม่เกิดขึ้นจนหลังจากเราใช้ศรัทธาของเรา เพื่อเน้นประเด็นนี้ ท่านอาจแบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์ (1924-2015) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“ในการแสวงหาความรู้ทางวิญญาณ บางช่วงจะมี ‘ก้าวกระโดดของศรัทธา’ ดังที่นักปรัชญาเรียกเช่นนั้น มันคือชั่วขณะที่ท่านไปถึงขอบของความสว่างและก้าวเข้าไปในความมืดเพื่อค้นพบว่าอีกเพียงก้าวสองก้าวก็จะถึงทางสว่างข้างหน้า” (“The Quest for Spiritual Knowledge,” New Era, Jan. 2007, 6)
เชิญนักเรียนคนหนึ่งพูดถึงความท้าทายที่พี่ชายของเจเร็ดประสบขณะต่อเรือซึ่งจะพาครอบครัวของเขาไปแผ่นดินที่สัญญาไว้และสรุปสิ่งที่เขาทำเพื่อแก้ไขความท้าทายเหล่านั้น (ดู อีเธอร์ 2:16-25; 3:1-5)
-
พี่ชายของเจเร็ดใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์อย่างไร
ขอให้นักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก อีเธอร์ 3:6-13, 17-20
-
พระเจ้าประทานพรพี่ชายของเจเร็ดเพราะศรัทธาของเขาอย่างไร
ขอให้นักเรียนอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนมองหาลักษณะพิเศษในศรัทธาของพี่ชายเจเร็ด
“ศรัทธาที่ต้องพยายามมาก ศรัทธาที่เคลื่อนภูเขา ศรัทธาเหมือนพี่ชายของเจเร็ด มาก่อน ปาฏิหาริย์และความรู้ เขาต้องเชื่อ ก่อน พระผู้เป็นเจ้าจึงจะตรัส เขาต้องลงมือทำ ก่อน จึงจะสามารถกระทำสิ่งนั้นให้สำเร็จได้ เขาต้องตั้งใจว่าจะรับประสบการณ์ทั้งหมดก่อนประสบการณ์ส่วนแรกจึงจะเกิดขึ้น ศรัทธาคือยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไข—และล่วงหน้า—ไม่ว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงเรียกร้องเงื่อนไขใดในอนาคตทั้งใกล้และไกล” (Christ and the New Covenant: The Messianic Message of the Book of Mormon [1997], 18–19)
-
ท่านจะสรุปคำอธิบายของเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์เกี่ยวกับศรัทธาของพี่ชายเจเร็ดว่าอย่างไร
-
เราสามารถทำตามตัวอย่างการกระทำอะไรบ้างเพื่อแสดงให้เห็นศรัทธาของเราในพระเจ้า
ให้เวลานักเรียนศึกษา อีเธอร์ 4:13-15 สักครู่และระบุสิ่งที่โมโรไนกล่าวว่าเราควรทำเพื่อรับความรู้และการแสดงให้ประจักษ์จากพระวิญญาณ
-
ท่านคิดว่า “ฉีกม่านความไม่เชื่อ” หมายความว่าอย่างไร การทำสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับกระบวนการใช้ศรัทธาอย่างไร (อาจเป็นประโยชน์ถ้าอธิบายว่า ฉีก หมายถึงทำให้ขาดหรือแยกออกและ ม่าน คือสิ่งที่ใช้คลุมหรือบัง)
-
โมโรไนแนะนำให้เราทำอะไรเพื่อ “ฉีกม่านความไม่เชื่อ”
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ (1805–1844) และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“พระผู้เป็นเจ้ามิได้ทรงเปิดเผยเรื่องใดต่อโจเซฟ นอกจากเรื่องที่พระองค์จะทรงทำให้เป็นที่รู้แก่อัครสาวกสิบสอง และแม้แต่วิสุทธิชนต่ำต้อยที่สุดก็อาจจะรู้เรื่องทั้งหมดได้เร็วเท่าที่เขาจะรับไหว เพราะวันต้องมาถึงเมื่อไม่มีใครจำเป็นต้องกล่าวกับเพื่อนบ้านว่า จงรู้จักพระเจ้า เพราะเขาทั้งหลายจะรู้จักพระองค์ … ตั้งแต่คนเล็กน้อยที่สุดไปจนถึงคนใหญ่โตที่สุด [ดู เยเรมีย์ 31:34]” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 289)
-
คำกล่าวนี้ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธช่วยให้ท่านเข้าใจอย่างไรว่าท่านสมารถรับการเปิดเผยได้
ท้าทายให้นักเรียนไตร่ตรองว่าปัจจุบันพวกเขากำลังประสบการทดลองศรัทธาในเรื่องใด และเชื้อเชิญให้พวกเขาพิจารณาว่าจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเสริมสร้างและใช้ศรัทธาของพวกเขา แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงจัดเตรียมพยานต่อเนื่องของความจริงให้ผู้ติดตามที่ซื่อสัตย์ของพระองค์เมื่อพวกเขาใช้ศรัทธา
สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน
-
2 นีไฟ 27:23; 3 นีไฟ 17:5–9, 20–24; มอรมอน 9:9, 18–20; อีเธอร์ 3:6–13, 17–20; 4:13–15; 12:6–7, 12, 19, 31.
-
เดวิด เอ. เบดนาร์, “ทูลขอด้วยศรัทธา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2008, 114–117