บทที่ 3
การเชื่อฟังนำมาซึ่งพร
คำนำ
การเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าเป็นวิธีหนึ่งที่เราแสดงความสำนึกคุณต่อพรอันน่าอัศจรรย์ของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมของการเชื่อฟัง เราปรารถนาจะเชื่อฟังมากขึ้นเมื่อความรักที่เรามีต่อพระผู้เป็นเจ้าเพิ่มขึ้น การเชื่อฟังพระบัญญัติทำให้พระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถให้ความช่วยเหลือที่เราต้องการขณะที่เราพยายามทำงานยากให้สำเร็จ
ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน
-
โธมัส เอส. มอนสัน, “การเชื่อฟังนำมาซึ่งพร,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 89–92
-
โรเบิร์ต ดี. เฮลส์, “ถ้าพวกท่านรักเรา ท่านก็จะประพฤติตามบัญญัติของเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 35–38
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
1 นีไฟ 2:2–4, 9–13, 16, 19–20; โมไซยาห์ 2:20–24, 41
เราแสดงความสำนึกคุณต่อพระผู้เป็นเจ้าและได้รับพรอันประเสริฐที่สุดของพระองค์ผ่านการเชื่อฟังของเรา
ให้ดูข้อความต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลิน (1917–2008) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“เราจะคืนหนี้ที่เรามีต่อพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร พระองค์ทรงชำระหนี้ที่พระองค์ไม่ได้ก่อเพื่อปลดหนี้ที่เราไม่สามารถจ่ายได้ เพราะพระองค์ เราจะมีชีวิตตลอดไป เพราะการชดใช้อันไม่มีขอบเขตของพระองค์ บาปของเราจึงถูกล้างไปได้ ทำให้เราประสบกับของประทานอันยิ่งใหญ่ที่สุดของพระผู้เป็นเจ้า นั่นคือ ชีวิตนิรันดร์
“ของประทานดังกล่าวมีค่ามากขนาดนั้นเชียวหรือ เราจะชดเชยของประทานดังกล่าวได้หรือ” (“หนี้สินทางโลก หนี้สินทางสวรรค์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 54)
ให้เวลานักเรียนครู่หนึ่งสนทนาคำตอบของคำถามสุดท้ายที่เอ็ลเดอร์เวิร์ธลินถาม กระตุ้นให้นักเรียนมองหาหลักธรรมและหลักคำสอนระหว่างบทเรียนที่ช่วยตอบคำถามนี้
เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน โมไซยาห์ 2:20–24 ในใจ ขอให้พวกเขามองหาสิ่งที่กษัตริย์เบ็นจามินสอนเกี่ยวกับว่าเราควรมองตัวเราอย่างไรในความสัมพันธ์กับพระผู้เป็นเจ้า
-
ท่านคิดว่าเหตุใดกษัตริย์เบ็นจามินจึงสอนว่าไม่ว่าเราทำอะไร เราก็ยังเป็น “ผู้รับใช้ที่ไม่สมค่า” ของพระผู้เป็นเจ้า
-
แม้เราไม่สามารถคืนหนี้พระผู้เป็นเจ้าได้ แต่ข้อเหล่านี้เสนอแนะให้เราทำอะไรเพื่อแสดงความสำนึกคุณต่อทั้งหมดที่พระองค์ทรงทำเพื่อเรา (ช่วยให้นักเรียนค้นพบหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเรายอมรับว่าเราเป็นหนี้พระผู้เป็นเจ้าชั่วนิรันดร์ เราย่อมปรารถนาจะรับใช้พระองค์และรักษาบัญญัติของพระองค์)
บอกนักเรียนว่าเรื่องราวพระคัมภีร์ที่ดีมากเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้าอยู่ต้นเล่มพระคัมภีร์มอรมอน ซึ่งบันทึกว่าศาสดาพยากรณ์ลีไฮและครอบครัวตอบสนองอย่างไรเมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงขอให้พวกเขาทำสิ่งที่ยากมาก ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 2:2–4
-
เหตุใดครอบครัวของลีไฮจึงไม่อยากเชื่อฟังพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าให้ออกจากเยรูซาเล็ม
เชื้อเชิญให้นักเรียนศึกษา 1 นีไฟ 2:9–13, 16โดยมองหาความแตกต่างระหว่างเจตคติและพฤติกรรมของเลมันกับเลมิวเอลและนีไฟในการตอบสนองต่อพระบัญชานี้ (หมายเหตุ: กิจกรรมนี้จะกระตุ้นให้นักเรียนฝึกทักษะการศึกษาพระคัมภีร์ที่สำคัญของการเปรียบเทียบ)
-
คำและวลีใดอธิบายการตอบสนองของเลมันกับเลมิวเอล (พวกเขาดื้อรั้น พวกเขาพร่ำบ่น พวกเขาไม่รู้การกระทำของพระผู้เป็นเจ้า)
-
นีไฟตอบสนองอย่างไรต่อพระบัญชาให้ออกจากเยรูซาเล็ม (เขาอ่อนน้อมถ่อมตน เขาปรารถนาจะรู้เรื่องของพระผู้เป็นเจ้า เขามีศรัทธาในถ้อยคำของบิดาผู้เป็นศาสดาพยากรณ์ และเขาสวดอ้อนวอน)
-
เหตุใดนีไฟจึงตอบสนองถ้อยคำของบิดาต่างจากพี่ๆ
ให้เวลานักเรียนไตร่ตรองครู่หนึ่งว่าพวกเขาเหมือนเลมันกับเลมิวเอลหรือเหมือนนีไฟมากกว่าเมื่อพระเจ้าหรือผู้นำของศาสนจักรขอให้พวกเขาทำงานยากบางอย่าง
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 2:19–20 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุคำสัญญาของพระเจ้าต่อนีไฟ
-
ข้อความใดในข้อเหล่านี้สรุปสิ่งที่พระเจ้าทรงสัญญากับนีไฟ (นักเรียนพึงเข้าใจหลักธรรมต่อไปนี้: ถ้าเรารักษาพระบัญญัติ เราจะรุ่งเรืองในแผ่นดิน ท่านอาจจะชี้ให้เห็นว่านี่เป็นสาระสำคัญที่กล่าวย้ำบ่อยที่สุดในพระคัมภีร์มอรมอน ท่านอาจจะกระตุ้นนักเรียนขณะพวกเขาศึกษาพระคัมภีร์มอรมอน ให้มองหาหลายๆ วิธีที่กล่าวย้ำสาระสำคัญดังกล่าว)
-
พระเจ้าทรงยกย่องคุณสมบัติใดของนีไฟ ท่านคิดว่าเหตุใดคุณสมบัติเหล่านี้จึงสำคัญที่เราแต่ละคนต้องมีในความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า
-
ถึงแม้การเชื่อฟังอาจไม่ส่งผลให้รุ่งเรืองทางโลกเสมอไป แต่เราจะคาดหวังพรอะไรได้บ้างอันเนื่องจากการเชื่อฟังพระเจ้า (เพื่อช่วยตอบคำถามนี้ ให้อ่าน โมไซยาห์ 2:41)
2 นีไฟ 31:6–10, 15–16; โมไซยาห์ 15:7; 3 นีไฟ 11:11; 12:19–20, 48
การทำตามแบบอย่างการเชื่อฟังของพระผู้ช่วยให้รอดช่วยให้เรามาหาพระองค์และพระบิดา
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“จากบทเรียนทั้งหมดที่เราเรียนรู้จากพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด ไม่มีบทเรียนใดชัดเจนและทรงพลังมากไปกว่าบทเรียนเรื่องการเชื่อฟัง” (“ถ้าพวกท่านรักเรา ท่านก็จะประพฤติตามบัญญัติของเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 35)
-
ตัวอย่างอะไรจากพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดแสดงให้เห็นการเชื่อฟังของพระองค์
เพื่อช่วยนักเรียนสนทนาคำถามนี้เพิ่มเติม ขอให้พวกเขาอ่าน โมไซยาห์ 15:7 และ 3 นีไฟ 11:11โดยมองหาสิ่งที่พระเยซูเต็มพระทัยทำเพื่อเชื่อฟังพระบิดาของพระองค์
เชื้อเชิญให้นักเรียนผลัดกันอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 31:6–10, 15–16 ขณะสมาชิกชั้นเรียนมองหาสิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับความสำคัญของการเชื่อฟังและพรที่มาจากการเชื่อฟัง
-
เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับความสำคัญของการเชื่อฟัง เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากแบบอย่างของพระองค์เกี่ยวกับพรที่มาจากการเชื่อฟัง (นักเรียนพึงค้นพบหลักธรรมนี้: เมื่อเราทำตามแบบอย่างการเชื่อฟังพระบิดาของพระผู้ช่วยให้รอด เราจะยังอยู่บนทางแคบที่นำไปสู่ความรอด)
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์ และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“การเชื่อฟังที่มีวุฒิภาวะทางวิญญาณคือ ‘การเชื่อฟังของพระผู้ช่วยให้รอด’ ซึ่งมีแรงจูงใจจากรักแท้ต่อพระบิดาบนสวรรค์และพระบุตร … การที่เรารักพระผู้ช่วยให้รอดคือสิ่งสำคัญของการเชื่อฟังเหมือนพระผู้ช่วยให้รอด” (“ถ้าพวกท่านรักเรา ท่านก็จะประพฤติตามบัญญัติของเรา,” 36–37)
-
เหตุใดความรักต่อพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์จึงเป็น “สิ่งสำคัญ” ของการเชื่อฟังพระบัญญัติ
ชี้ให้เห็นว่าพระเยซูคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์ทรงสอนชาวนีไฟเกี่ยวกับจุดประสงค์ของการเชื่อฟังพระบัญญัติ ขอให้นักเรียนอ่าน 3 นีไฟ 12:19–20, 48 ในใจเพื่อค้นหาจุดประสงค์เหล่านี้
-
ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าอะไรคือเหตุผลที่เราได้รับพระบัญญัติ (นักเรียนควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเรามาหาพระคริสต์และรักษาพระบัญญัติ เราจะเป็นเหมือนพระองค์และพระบิดาในสวรรค์มากขึ้น และเราจะได้รับการช่วยให้รอด)
-
การเชื่อฟังของท่านช่วยให้ท่านมาหาพระผู้ช่วยให้รอดในด้านใด
ให้เวลานักเรียนไตร่ตรองสักครู่ว่าพวกเขาจะทำอะไรเพื่อเชื่อฟังพระบัญญัติของพระบิดาบนสวรรค์มากขึ้นทั้งนี้เพื่อพวกเขาจะเป็นเหมือนพระองค์และพระบุตรของพระองค์มากขึ้น
1 นีไฟ 3:4–7, 15–16; 4:1–2; 7:12; 17:1–31; 18:1–4
พระเจ้าทรงจัดเตรียมความช่วยเหลือให้คนที่เชื่อฟัง
เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาเวลาที่การรักษาพระบัญญัติข้อใดข้อหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้าดูเหมือนจะยากหรือเวลาที่การทำการเรียกหรืองานมอบหมายในศาสนจักรให้เกิดสัมฤทธิผลดูเหมือนจะท้าทาย เตือนนักเรียนว่านีไฟกับพี่ๆ ประสบอันตรายและอาจเสียชีวิตได้เมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาพวกเขาให้กลับไปเอาแผ่นจารึกทองเหลืองที่เยรูซาเล็ม ขอให้นักเรียนอ่าน 1 นีไฟ 3:4–7 และระบุหลักธรรมที่พวกเขาเรียนรู้จากแบบอย่างของนีไฟที่จะทำให้พวกเขาสามารถเชื่อฟังได้มากขึ้น
-
เราเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากการตอบสนองของนีไฟต่อพระบัญญัติยากๆ จากพระผู้เป็นเจ้า (เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดานเมื่อนักเรียนค้นพบ: ถ้าเราหมายมั่นทำสิ่งที่พระเจ้าทรงบัญชา พระองค์จะทรงเตรียมทางให้เราทำสำเร็จ)
เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมนี้ ให้เขียนข้ออ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดานและให้เวลานักเรียนค้นคว้า โดยดูว่านีไฟตอบสนองอย่างไรเมื่อพยายามทำงานยากที่ได้รับบัญชาให้สำเร็จ 1 นีไฟ 3:15–16; 4:1–2; 7:12 หลังจากนักเรียนแบ่งปันสิ่งที่ค้นพบแล้ว ให้อธิบายว่าต่อมานีไฟพูดถึงวิธีที่พระเจ้าทรงช่วยคนที่รักษาพระบัญญัติของพระองค์ ขอให้นักเรียนอ่าน 1 นีไฟ 17:1–4 และระบุวิธีที่พระเจ้าทรงช่วยเรา ขอให้นักเรียนใช้ปากกาเน้นข้อความตรงวลีของนีไฟ “และดังนั้นเราเห็นว่า” ซึ่งใช้ทั่วพระคัมภีร์มอรมอนเพื่อเตรียมให้ผู้อ่านเอาใจใส่ถ้อยคำต่อจากนั้นเป็นพิเศษ
ขณะนักเรียนแบ่งปันคำตอบ ให้เขียนคำต่อไปนี้บน กระดาน:
เชื้อเชิญให้นักเรียนใช้เวลาสักสองสามนาทีอ่านเรื่องราวใน 1 นีไฟ 17:5–31; 18:1–4 อย่างถี่ถ้วน โดยมองหาตัวอย่างวิธีที่พระเจ้าทรงบำรุงเลี้ยง เสริมสร้างพละกำลัง หรือจัดหาหนทางให้ครอบครัวของลีไฮ
-
พระเจ้าทรงบำรุงเลี้ยงหรือเสริมสร้างพละกำลังให้ครอบครัวของลีไฮอย่างไร พระองค์ทรงจัดหาหนทางช่วยพวกเขาอย่างไร
-
พระเจ้าประทานพรอะไรบ้างแก่ครอบครัวของลีไฮซึ่งคล้ายกับพรที่เราต้องการในทุกวันนี้
-
ท่านเคยประสบความช่วยเหลือของพระเจ้าในวิธีใดวิธีหนึ่งเหล่านี้เมื่อใดขณะที่ท่านพยายามเชื่อฟังพระองค์
เตือนนักเรียนว่าพระเจ้าทรงขอให้เราเชื่อฟังทั้งนี้เพื่อพระองค์จะทรงจัดเตรียมพรมากมายให้เราขณะที่เราพยายามเป็นเหมือนพระองค์ แบ่งปันข้อความต่อไปนี้ของประธานฮาโรลด์ บี. ลี (1899–1973)
“พระบัญญัติข้อสำคัญที่สุดของพระผู้เป็นเจ้าคือพระบัญญัติที่ท่านรักษาได้ยากที่สุดเวลานี้ … เอาชนะปัญหานั้นแล้วเริ่มกับพระบัญญัติข้อต่อไปที่ท่านรักษาได้ยากที่สุด นั่นคือวิธีที่จะชำระท่านให้บริสุทธิ์โดยการรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: ฮาโรลด์ บี. ลี [2000], 28)
เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงพระบัญญัติที่พวกเขารักษาได้ยาก กระตุ้นให้พวกเขาวางแผนว่าจะเชื่อฟังมากขึ้นเพื่อให้มีคุณสมบัติคู่ควรรับความช่วยเหลือจากพระเจ้าอย่างเต็มที่มากขึ้น
สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน
-
1 นีไฟ 2:1–20; 3:4–7, 15–16; 4:1–2; 7:12; 17:1–31; 18:1–4; 2 นีไฟ 31:6–10, 15–16; โมไซยาห์ 2:20–24, 41; 15:7; 3 นีไฟ 11:11; 12:19–20, 48
-
โธมัส เอส. มอนสัน, “การเชื่อฟังนำมาซึ่งพร,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 89–92