บทที่ 28
มาหาพระคริสต์
คำนำ
จุดประสงค์หลักประการหนึ่งของพระคัมภีร์มอรมอนคือเชื้อเชิญให้คนทั้งปวง “มาหาพระคริสต์, และได้รับการทำให้ดีพร้อมในพระองค์” (โมโรไน 10:32) ขณะที่เราใช้ศรัทธาและ “ยึดมั่นในสิ่งที่ดีไว้ทุกอย่าง” เราสามารถกลับเป็นลูกของพระคริสต์ได้ (ดู โมโรไน 7:19) ช่วงท้ายของบทนี้ นักเรียนจะมีโอกาสแสดงประจักษ์พยานว่าพระคัมภีร์มอรมอนช่วยให้พวกเขามาหาพระคริสต์อย่างไร
ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน
-
เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ความปลอดภัยให้จิตวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 107–110
-
“ชีวิตที่มีพระคริสต์เป็นศูนย์กลาง,” บทที่ 24 ใน คำสอนของประธานศาสนจักร: เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (2014), 297-306
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
1 นีไฟ 6:4; เจคอบ 1:7; ออมไน 1:26; 3 นีไฟ 9:13–14; โมโรไน 10:30, 32–33
พระคัมภีร์มอรมอนเชื้อเชิญให้เรามาหาพระเยซูคริสต์
เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาเชื้อเชิญคนบางคนให้อ่านพระคัมภีร์มอรมอน
-
เหตุใดท่านจึงเชื้อเชิญให้คนนี้อ่านพระคัมภีร์มอรมอน
เชื้อเชิญให้นักเรียนคิดว่าเหตุใดพวกเขาจึงศึกษาพระคัมภีร์มอรมอน อธิบายว่าแม้มีเหตุผลที่ดีมากมายให้อ่านและศึกษาพระคัมภีร์มอรมอน แต่พระคัมภีร์เล่มนี้มีข่าวสารซ้ำๆ เกี่ยวกับจุดประสงค์สำคัญที่สุดประการหนึ่งของหนังสือ
เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน
เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านข้อเหล่านี้ในใจ โดยมองหาประเด็นซ้ำๆ ที่พบในพระคัมภีร์มอรมอน (ท่านอาจกระตุ้นให้นักเรียนทำการอ้างโยงข้อเหล่านี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา)
-
อะไรคือประเด็นซ้ำๆ ของพระคัมภีร์มอรมอนที่พบในข้อเหล่านี้
-
“มาหาพระคริสต์” หมายความว่าอย่างไร
-
ข้อเหล่านี้สอนให้เราทำอะไรเพื่อมาหาพระคริสต์ (คำตอบควรได้แก่ “ถวายทั้งจิตวิญญาณของท่านเป็นเครื่องบูชาแด่พระองค์” อดอาหาร สวดอ้อนวอน อดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ กลับใจ เปลี่ยนใจเลื่อมใส และ “ยึดมั่นในสิ่งที่ดีไว้ทุกอย่าง”)
-
วลี “ถวายทั้งจิตวิญญาณของท่านเป็นเครื่องบูชาแด่พระองค์” มีความหมายต่อท่านอย่างไร
เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจมากขึ้นว่ามาหาพระคริสต์หมายความว่าอย่างไร ให้ดูและสนทนาคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และเอ็ลเดอร์เดนนิส บี. นอยน์ชวันเดอร์แห่งสาวกเจ็ดสิบ
“เมื่อเราสวดอ้อนวอนอย่างสม่ำเสมอทุกเช้าค่ำ ศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน สังสรรค์ในครอบครัวทุกสัปดาห์ และเข้าพระวิหารเป็นประจำ เท่ากับเรากำลังตั้งใจตอบรับพระดำรัสเชื้อเชิญ [ของพระเยซูคริสต์] ให้ ‘มาหาพระองค์’” (ริชาร์ด จี. สก็อตต์, “ทำให้การใช้ศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 94)
“ข้าพเจ้ากล่าวคำพยานว่าเราสามารถมาหาพระคริสต์และได้รับการทำให้ดีพร้อมในพระองค์โดยการมีส่วนร่วมอย่างมีค่าควรในศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดและจัดวางไว้ตั้งแต่ก่อนการวางรากฐานของโลก” (เดนนิส บี. นอยน์ชวันเดอร์, “Ordinances and Covenants,” Ensign, Aug. 2001, 26)
อธิบายว่าบทสุดท้ายของพระคัมภีร์มอรมอนบันทึกคำแนะนำจากศาสดาพยากรณ์โมโรไนเกี่ยวกับวิธีมาหาพระคริสต์ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 10:32–33 ขณะชั้นเรียนหาดูว่าข้อนี้ใช้คำว่า “หาก” และ “เมื่อนั้น” อย่างไร ขอให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองว่าข้อความ “หาก-เมื่อนั้น” สอนอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราจะได้รับพรโดยพระคุณของพระคริสต์ (หมายเหตุ: การมองหาข้อความ “หาก-เมื่อนั้น” จะช่วยให้นักเรียนค้นพบหลักธรรมที่สอนในพระคัมภีร์)
-
เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับวิธีที่เราจะได้รับพรโดยพระคุณของพระคริสต์เมื่อเรามาหาพระองค์ (นักเรียนอาจจะใช้คำอื่น แต่พึงแน่ใจว่าพวกเขาระบุหลักธรรมต่อไปนี้: หากเรามาหาพระเยซูคริสต์และปฏิเสธตนจากความไม่เป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าทุกอย่าง เมื่อนั้นเราจะได้รับการทำให้ดีพร้อม การชำระให้ศักดิ์สิทธิ์และบริสุทธิ์ผ่านพระคุณของพระองค์ ดู แอลมา 5:33-35ด้วย)
เพื่อให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมนี้ลึกซึ้งขึ้น ให้แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์บรูซ ซี. ฮาเฟนแห่งสาวกเจ็ดสิบ เชื้อเชิญให้นักเรียนฟังว่าพระคุณของพระเจ้าสามารถเป็นพรแก่เราได้อย่างไร
“พระคุณของพระเจ้าที่การชดใช้ไขให้เราสามารถทำให้ความไม่ดีพร้อมของเราดีพร้อมได้ ‘โดยพระคุณของพระองค์ท่านจะดีพร้อมในพระคริสต์’ (โมโรไน 10:32) แม้กระบวนการทำให้ดีพร้อมส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการชำระให้สะอาดจากการแปดเปื้อนบาปและความขมขื่น แต่มีมิติเพิ่มเติมซึ่งรับรองว่าเราจะได้ลักษณะเหมือนพระคริสต์ โดยกลับดีพร้อมแม้ดังพระบิดาและพระบุตรทรงดีพร้อม …
ชัยชนะของพระผู้ช่วยให้รอดสามารถชดเชยไม่เฉพาะบาปของเราเท่านั้นแต่ความไม่ดีพอของเราด้วย ไม่เฉพาะความผิดพลาดที่เราจงใจทำเท่านั้นแต่บาปที่เราทำเพราะความเขลา ข้อผิดพลาดจากวิจารณญาณของเรา และความบกพร่องที่ไม่อาจเลี่ยงได้ของเราด้วย ความปรารถนาสูงสุดของเราเป็นมากกว่าได้รับการอภัยบาป—เราพยายามเป็นคนบริสุทธิ์ มีคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์อย่างแน่นอน เป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ เป็นเหมือนพระองค์ พระคุณของพระเจ้าเป็นแหล่งเดียวที่สุดท้ายแล้วสามารถทำให้บรรลุความปรารถนาดังกล่าว หลังจากเราทำสุดความสามารถแล้ว” (The Broken Heart [1989], 16, 20)
-
ตามที่เอ็ลเดอร์ฮาเฟนกล่าว พระคุณของพระเจ้าสามารถเป็นพรแก่เราในด้านใด
เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขารู้สึกว่าตนกำลังพยายามมาหาพระเยซูคริสต์ ขอให้พวกเขาตอบคำถามต่อไปนี้ถ้าประสบการณ์ของพวกเขาไม่เป็นส่วนตัวมากเกินไป
-
ในเวลานั้นท่านกำลังทำอะไรเพื่อมาหาพระคริสต์
-
พรใดมาสู่ชีวิตท่านเมื่อท่านพยายามมาหาพระเยซูคริสต์
เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อมาหาพระคริสต์อย่างเต็มที่มากขึ้นทั้งนี้เพื่อพวกเขาจะได้รับการทำให้ดีพร้อมและบริสุทธิ์ผ่านพระคุณของพระองค์ กระตุ้นให้พวกเขาทำตามการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณที่พวกเขาอาจได้รับ
โมโรไน 7:18-26
ยึดมั่นในสิ่งที่ดีไว้ทุกอย่างเพื่อกลับเป็นลูกของพระคริสต์
เตือนนักเรียนว่าใน โมโรไน 7 ศาสดาพยากรณ์โมโรไนบันทึกโอวาทที่มอรมอนบิดาของเขาให้ไว้เมื่อหลายปีก่อน ในโอวาทนี้ มอรมอนสอนว่าเราสามารถรู้ได้ว่าสิ่งนั้นได้รับการดลใจจากพระผู้เป็นเจ้าถ้าสิ่งนั้นเชื้อเชิญให้ผู้คนทำดี เชื่อในพระเยซูคริสต์ รักและรับใช้พระผู้เป็นเจ้า
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 7:18-19 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่ามอรมอนขอให้เราทำอะไร
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 19 จะเกิดอะไรขึ้นกับเราถ้าเราใช้แสงสว่างของพระคริสต์แยกแยะความดีจากความชั่วและจากนั้น “ยึดมั่นในสิ่งที่ดีไว้ทุกอย่าง” (เราจะเป็นลูกของพระคริสต์)
-
การเป็นลูกของพระคริสต์หมายความว่าอย่างไร (ชี้ให้เห็นว่าเราเป็นลูกทางวิญญาณของพระบิดาบนสวรรค์และลูกของบิดามารดาทางโลกของเราด้วย) แต่ดังที่ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ [1876-1972] สอน พระเยซูคริสต์ทรง “เป็นพระบิดาของเรา ตามความหมายซึ่งพระคัมภีร์ใช้คำนี้ เพราะพระองค์ทรงมอบชีวิตให้เรา ชีวิตนิรันดร์ ผ่านการชดใช้ซึ่งทรงทำเพื่อเรา [ดู โมไซยาห์ 5:7] … เรากลายเป็นลูก บุตรและธิดาของพระเยซูคริสต์ ผ่านพันธสัญญาของเราว่าจะเชื่อฟังพระองค์” [Doctrines of Salvation, comp. Bruce R. McConkie, 3 vols. (1954–56), 1:29])
ขอให้นักเรียนอ่าน โมโรไน 7:20 ในใจและระบุคำถามที่มอรมอนถาม จากนั้นให้แบ่งนักเรียนเป็นคู่ๆ และเชื้อเชิญให้พวกเขาศึกษา โมโรไน 7:21–26 โดยหาดูว่าพระเจ้าประทานอะไรแก่เราเพื่อช่วยให้เรา “ยึดมั่นในสิ่งที่ดีไว้ทุกอย่าง” หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนแบ่งปันความคิด และเขียนความคิดของพวกเขาไว้บนกระดาน คำตอบอาจได้แก่ การปฏิบัติของเหล่าเทพ (ข้อ 22) ศาสดาพยากรณ์ (ข้อ 23) พระคัมภีร์ (ข้อ 25) การใช้ศรัทธา (ข้อ 25) และการสวดอ้อนวอน (ข้อ 26)
-
ข้อเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับความหมายของวลี “ยึดมั่นในสิ่งที่ดีไว้ทุกอย่าง” (เราพึงแสวงหาทุกสิ่งที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งเหล่านั้นที่นำไปสู่ศรัทธาในพระคริสต์และความรอดผ่านพระนามของพระองค์)
-
สิ่งดีอะไรเข้ามาในชีวิตท่านเพราะข้อใดข้อหนึ่งที่เขียนไว้บนกระดาน
ขอให้นักเรียนเลือกสิ่งดีอย่างหนึ่งที่พวกเขาจะเริ่มทำ หรือทำให้ดีขึ้น เพื่อมาหาพระคริสต์ กระตุ้นให้พวกเขาตั้งเป้าหมายว่าจะทำจนยึดมั่นสิ่งดีนั้นไว้ในชีวิตพวกเขา
โมโรไน 10:3-5
คำสัญญาของโมโรไน
ชูพระคัมภีร์มอรมอนขึ้นและขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพระคัมภีร์มอรมอนช่วยให้พวกเขามาหาพระคริสต์อย่างไร อธิบายว่าโมโรไนกล่าวเชื้อเชิญและให้สัญญากับทุกคนที่อ่านและศึกษาพระคัมภีร์มอรมอน
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 10:3-5
-
ดังที่บันทึกไว้ใน ข้อ 3 โมโรไนชักชวนเราให้ทำอะไร
เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองตัวอย่างจากพระคัมภีร์มอรมอนและจากชีวิตพวกเขาเองที่แสดงให้เห็นว่า “พระเจ้าทรงเมตตาลูกหลานมนุษย์เพียงใด” ขอให้นักเรียนหลายๆ คนแบ่งปันความคิดกับชั้นเรียน
-
เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากคำเชื้อเชิญและคำสัญญาของโมโรไนในข้อเหล่านี้ (เมื่อเราทูลถามพระผู้เป็นเจ้าด้วยเจตนาแท้จริง โดยมีศรัทธาในพระคริสต์ ว่าพระคัมภีร์มอรมอนจริงหรือไม่ เราจะได้รับประจักษ์พยานถึงความจริงของพระคัมภีร์เล่มนี้ผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์)
-
ทูลถาม “ด้วยเจตนาแท้จริง, โดยมีศรัทธาในพระคริสต์” หมายความว่าอย่างไร (หมายความว่าเรามีศรัทธาว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของเราและเราตั้งใจจะทำตามคำตอบที่พระองค์ประทานแก่เรา)
-
การศึกษาและสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนในลักษณะนี้ช่วยให้เรามาหาพระคริสต์อย่างไร
ขอให้นักเรียนไตร่ตรองประสบการณ์ที่พวกเขาเคยมีกับการอ่านพระคัมภีร์มอรมอนและสวดอ้อนวอนเพื่อให้รู้ความจริงของพระคัมภีร์เล่มนี้ ถามนักเรียนว่ามีใครต้องการแบ่งปันประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระคัมภีร์มอรมอนช่วยให้พวกเขามาหาพระคริสต์อย่างไร กระตุ้นให้นักเรียนประยุกต์ใช้ถ้อยคำของโมโรไนต่อไปเพื่อให้ได้ประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนหรือเสริมสร้างประจักษ์พยานที่พวกเขามีอยู่แล้ว
สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน
-
1 นีไฟ 6:4; เจคอบ 1:7; ออมไน 1:26; 3 นีไฟ 9:13–14; โมโรไน 7:18–26; 10:3–5, 30, 32–33
-
“ชีวิตที่มีพระคริสต์เป็นศูนย์กลาง,” บทที่ 24 ใน คำสอนของประธานศาสนจักร: เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (2014), 297-306