บทที่ 6
พระคัมภีร์มอรมอนเขียนไว้เพื่อสมัยของเรา
คำนำ
พระคัมภีร์มอรมอนและพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์เป็นส่วนหนึ่งของ “งานอัศจรรย์และการอันน่าพิศวง” ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำในยุคสุดท้าย (2 นีไฟ 25:17) เพราะพระคัมภีร์มอรมอนมีความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณ จึงมีบทบาทสำคัญในการเอาชนะการละทิ้งความเชื่อและนำจิตวิญญาณมาหาพระคริสต์ บทนี้เน้นว่าบันทึกศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวเขียนโดยผู้เขียนที่ได้รับการดลใจผู้เห็นยุคสมัยของเรา
ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน
-
เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ความปลอดภัยให้จิตวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 107–110
-
“ทำให้พระคัมภีร์มอรมอนท่วมท้นแผ่นดินโลกและชีวิตเรา,” บทที่ 10 ใน คำสอนของประธานศาสนจักร: เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน [2014], 137–145
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
2 นีไฟ 27:6, 29–30, 35; 3 นีไฟ 29:1–2; โมเสส 7:62; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:34
บทบาทของพระคัมภีร์มอรมอนในยุคสุดท้าย
อธิบายให้นักเรียนฟังว่าพระคัมภีร์มอรมอนบันทึกคำพยากรณ์ว่าจะมีความชั่วร้ายและการละทิ้งความเชื่อบนแผ่นดินโลกในยุคสุดท้าย (ดู 2 นีไฟ 27:1, 4–5) พระคัมภีร์มอรมอนบันทึกวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านี้ของพระเจ้าด้วย ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 27:6, 29–30, 35 ขณะชั้นเรียนมองหาวิธีแก้ไขของพระเจ้า
-
ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ พระเจ้าทรงทำอะไรในวันเวลาสุดท้ายเพื่อต่อต้านความชั่วร้ายและการละทิ้งความเชื่อ
-
พระคัมภีร์มอรมอนให้วิธีแก้ไขความชั่วร้ายของยุคสุดท้ายในด้านใด
บอกนักเรียนว่ามอรมอนบันทึกคำพยากรณ์เกี่ยวกับบทบาทเพิ่มเติมของพระคัมภีร์มอรมอนในวันเวลาสุดท้าย ให้เวลานักเรียนสองสามนาทีศึกษา 3 นีไฟ 29:1–2 และมองหาคำพยากรณ์ดังกล่าว ท่านอาจจะชี้ให้เห็นว่าวลี “คำกล่าวเหล่านี้” หมายถึงพระคัมภีร์มอรมอน
-
งานสำคัญอะไรจะเริ่มพร้อมกับการออกมาของพระคัมภีร์มอรมอน (การรวมอิสราเอล)
อธิบายว่าประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (1899–1994) พูดถึงบทบาทหลักของพระคัมภีร์มอรมอนในการฟื้นฟูพระกิตติคุณและการเริ่มงานของพระเจ้าในวันเวลาสุดท้าย เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความต่อไปนี้
“[พระคัมภีร์มอรมอน] จัดพิมพ์ไม่กี่วันก่อนจัดตั้งศาสนจักร วิสุทธิชนมีพระคัมภีร์มอรมอนให้อ่านก่อนได้รับการเปิดเผยเกี่ยวกับหลักคำสอนสำคัญๆ เช่น รัศมีภาพสามระดับ การแต่งงานซีเลสเชียล หรืองานแทนคนตาย พระคัมภีร์มอรมอนมาก่อนโควรัมฐานะปุโรหิตและการจัดระเบียบศาสนจักร ทั้งหมดนี้ไม่บอกบางสิ่งบางอย่างแก่เราหรอกหรือว่าพระเจ้าทรงมองงานศักดิ์สิทธิ์นี้อย่างไร” (“The Book of Mormon—Keystone of Our Religion,” Ensign, Nov. 1986, 4).
-
ท่านคิดว่าเหตุใดพระคัมภีร์มอรมอนจึงออกมาก่อนเกตุการณ์สำคัญอื่นๆ ของการฟื้นฟูและสำคัญยิ่งต่องานของพระเจ้าในการรวมอิสราเอลและเอาชนะความชั่วร้ายของวันเวลาสุดท้าย
เพื่อช่วยตอบคำถามนี้ ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:34 เชื้อเชิญให้นักเรียนหาดูว่าพระคัมภีร์มอรมอนประกอบด้วยอะไรบ้าง
-
พระคัมภีร์มอรมอนประกอบด้วยอะไรบ้าง (ช่วยให้นักเรียนค้นพบความจริงต่อไปนี้: พระคัมภีร์มอรมอนประกอบด้วยความสมบูรณ์แห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์)
-
อะไรคือความหมายในคำประกาศของโมโรไนที่ว่าพระคัมภีร์มอรมอนประกอบด้วย “ความสมบูรณ์แห่งพระกิตติคุณอันเป็นนิจ”
เพื่อช่วยตอบคำถามนี้ ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“พระเจ้าตรัสด้วยพระองค์เองว่าพระคัมภีร์มอรมอนประกอบด้วย ‘ความสมบูรณ์แห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์’ (คพ. 20:9) นั่นมิได้หมายความว่าพระคัมภีร์มอรมอนประกอบด้วยคำสอนทุกอย่าง หลักคำสอนทุกอย่างที่เคยเปิดเผย แต่หมายความว่าในพระคัมภีร์มอรมอนเราจะพบความสมบูรณ์ของหลักคำสอนเหล่านี้ที่จำเป็นต่อความรอดของเรา ซึ่งสอนไว้อย่างเรียบง่ายชัดเจน” (คำสอนของประธานศาสนจักร: เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน [2014], 131)
-
“หลักคำสอนที่จำเป็นต่อความรอดของเรา” ซึ่งอยู่ในพระคัมภีร์มอรมอนมีอะไรบ้าง (หลักคำสอนเหล่านี้ได้แก่ การชดใช้ ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ การกลับใจ บัพติศมา และของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์)
อธิบายว่าพระเจ้าทรงสอนศาสดาพยากรณ์เอโนคเกี่ยวกับความสำคัญของพระคัมภีร์มอรมอนในวันเวลาสุดท้าย เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมเสส 7:62 (ท่านอาจจะเขียนบนกระดานว่า “ความชอบธรรม [ส่ง] ลงมาจากสวรรค์” หมายถึงการเปิดเผยที่ทำให้เกิดการฟื้นฟูและ “ความจริง [ส่ง] ออกมาจากแผ่นดินโลก” หมายถึงพระคัมภีร์มอรมอน กระตุ้นให้นักเรียนเขียนนิยามเหล่านี้ไว้ตรงช่องว่างริมหน้าพระคัมภีร์หรือสร้างบันทึกในพระคัมภีร์อิเล็กทรอนิกส์)
-
ตามที่กล่าวไว้ในข้อนี้ ในยุคสุดท้ายจะใช้พระคัมภีร์มอรมอนอย่างไร (ช่วยรวมผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกเข้ามาในศาสนจักรจากสี่มุมโลก)
-
ท่านเคยเห็นพระคัมภีร์มอรมอนช่วยให้บางคนเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณและเข้าร่วมศาสนจักรของพระเจ้าเมื่อใด
-
เราจะทำให้ความชอบธรรมและข่าวสารของพระคัมภีร์มอรมอน “ถั่งท้นแผ่นดินโลกดังด้วยน้ำท่วม” ได้อย่างไรบ้าง
เชื้อเชิญให้นักเรียนรับปากทำบางอย่างเพื่อให้ใจของพวกเขา บ้านของพวกเขา และแผ่นดินโลก “ท่วมท้น” ด้วยข่าวสารของพระคัมภีร์มอรมอนในระหว่างสัปดาห์ที่จะมาถึง
3 นีไฟ 21:9–11
ความจริงของพระคัมภีร์มอรมอนสกัดกั้นการต่อต้าน
ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาปกป้องพระคัมภีร์มอรมอนหรือข่าวสารเรื่องการฟื้นฟูพระกิตติคุณให้พ้นจากการต่อต้าน
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 21:9–11 ก่อนนักเรียนเริ่มอ่าน ให้อธิบายว่าเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองบอกว่า “ผู้รับใช้” ในข้อเหล่านี้คือศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ (ดู Christ and the New Covenant [1997], 287–288)
-
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธตรงกับคำบรรยายที่พบในข้อเหล่านี้อย่างไร
-
ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงแสดงให้คนที่ต่อต้านโจเซฟ สมิธและพระคัมภีร์มอรมอนในยุคสุดท้ายเห็นอะไร (ช่วยให้นักเรียนค้นพบหลักคำสอนต่อไปนี้: พระปรีชาญาณของพระผู้เป็นเจ้ายิ่งใหญ่กว่ากลโกงของมาร)
-
พระคัมภีร์มอรมอนช่วยแสดงให้เห็นอย่างไรว่า “พระปรีชาญาณ” ของพระผู้เป็นเจ้า “ยิ่งใหญ่กว่ากลโกงของมาร”
ให้ดูและอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“เป็นเวลา [นานกว่า 180 ปี] ที่พระคัมภีร์มอรมอนถูกตรวจสอบและถูกโจมตี ถูกปฏิเสธและถูกขุดคุ้ย ตกเป็นเป้าและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ไม่เหมือนกับหนังสือเล่มอื่นๆ ในประวัติศาสนายุคปัจจุบัน—ไม่มีหนังสือเล่มอื่นใดในประวัติศาสนา ใด เคยถูกทำแบบนั้น แต่ก็ยังยืนยง ทฤษฎีที่ล้มเหลวเกี่ยวกับที่มาของพระคัมภีร์มอรมอนเกิดขึ้น ถูกนำมาพูดแล้วก็หายไป … คำตอบอันน่าสังเวชเหล่านี้สำหรับพระคัมภีร์เล่มนี้ต้องพ่ายแพ้ต่อการตรวจสอบเพราะ ไม่มีคำตอบอื่นใด นอกจากคำตอบที่โจเซฟให้ไว้ในฐานะผู้แปลหนุ่มที่มีการศึกษาน้อย ข้าพเจ้ายืนเคียงข้างกับคุณทวดของข้าพเจ้าในเรื่องนี้ผู้ที่กล่าวอย่างเรียบง่ายว่า ‘ไม่มีคนชั่วคนไหนจะเขียนหนังสืออย่างนี้ได้ และคนดีก็เขียนไม่ได้นอกเสียจากว่าหนังสือเล่มนี้จริงและเขาได้รับบัญชาจากพระผู้เป็นเจ้าให้เขียน” (“ความปลอดภัยให้จิตวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 109)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดจึงมีการต่อต้านพระคัมภีร์มอรมอนมากขนาดนั้น
-
ประสบการณ์อะไรสอนท่านว่าพระคัมภีร์มอรมอนสามารถสกัดกั้นการต่อต้านที่เกิดขึ้นได้
-
ท่านเคยรู้สึกอย่างไรและท่านเรียนรู้อะไรเมื่อท่านสอนคนอื่นๆ เกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนหรือปกป้องความจริงในนั้น
มอรมอน 8:1–5, 26–35
พระคัมภีร์มอรมอนเขียนไว้เพื่อสมัยของเรา
เตือนนักเรียนว่าโมโรไนเห็นความพินาศของอารยธรรมของเขาด้วยตาตนเอง ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่าน มอรมอน 8:1–5 และพิจารณาว่าโมโรไนอาจต้องทำอะไรเพื่อคุ้มครองแผ่นจารึกทองคำ
-
สมมติว่าท่านเป็นโมโรไน เหตุผลอะไรบ้างที่ท่านต้องการให้คนอื่นอ่านบันทึกของท่าน
ขอให้นักเรียนอ่าน มอรมอน 8:26–35 โดยหาดูว่าโมโรไนพยากรณ์อะไรเกี่ยวกับสภาพต่างๆ ขณะที่จะนำพระคัมภีร์มอรมอนออกมา ท่านอาจกระตุ้นให้นักเรียนทำเครื่องหมายสิ่งที่พบ
-
โมโรไนพูดถึงเวลาที่จะนำพระคัมภีร์มอรมอนออกมาว่าอย่างไร (จะเป็นวันแห่งการละทิ้งความเชื่อและความชั่วร้าย)
-
ท่านจะให้ข้อสรุปอะไรบ้างจาก ข้อ 35 (ท่านอาจชี้ให้เห็นว่านอกจากโมโรไนแล้ว ศาสดาพยากรณ์ท่านอื่น อาทิ นีไฟ เจคอบ และมอรมอนกล่าวด้วยว่าพวกท่านเขียนเพื่ออนุชนรุ่นหลัง ท่านอาจให้นักเรียนทำการอ้างโยง ข้อ 35 กับ 2 นีไฟ 25:21–22 และ มอรมอน 7:1)
-
เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องรู้ว่าโมโรไนและผู้เขียนพระคัมภีร์มอรมอนคนอื่นๆ รู้ถึงปัญหาที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน (ขณะที่นักเรียนสนทนาคำถาม ให้เน้นความจริงต่อไปนี้: คำสอนในพระคัมภีร์มอรมอนมีค่ายิ่งต่อเราในปัจจุบันเพราะผู้เขียนทราบปัญหาที่เราจะพบเจอ)
เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความจริงนี้ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน
“พระคัมภีร์มอรมอน … เขียนไว้เพื่อสมัยของเรา ชาวนีไฟไม่เคยมีหนังสือเล่มนี้ ชาวเลมันสมัยโบราณก็ไม่เคยมี แต่มีไว้เพื่อเรา มอรมอนเขียนเมื่อใกล้สิ้นสุดอารยธรรมชาวนีไฟ ท่านย่อบันทึกหลายร้อยปีภายใต้การดลใจของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเห็นสิ่งทั้งปวงนับจากกาลเริ่มต้น โดยเลือกเรื่องราว คำพูด และเหตุการณ์ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเรามากที่สุด …
“ผู้เขียนหลักแต่ละท่านของพระคัมภีร์มอรมอนเป็นพยานว่าท่านเขียนเพื่อคนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต … หากท่านเหล่านั้นเห็นยุคของเราและเลือกสิ่งซึ่งจะมีคุณค่าต่อเรามากที่สุด นั่นมิใช่เหตุผลที่เราควรศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนหรอกหรือ เราพึงถามตนเองอยู่เสมอว่า ‘เหตุใดพระเจ้าทรงดลใจมอรมอน (หรือโมโรไนหรือแอลมา) ให้รวมเรื่องนั้นไว้ในบันทึกของท่าน ฉันสามารถเรียนรู้บทเรียนอะไรได้บ้างเพื่อช่วยฉันดำเนินชีวิตในยุคสมัยนี้’” (คำสอน: เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน, 140)
-
การจดจำว่าพระคัมภีร์มอรมอนเขียนไว้เพื่อยุคสมัยของเราจะเปลี่ยนวิธีที่เราอ่านพระคัมภีร์เล่มนี้อย่างไร
เชิญนักเรียนยกตัวอย่างว่าพระคัมภีร์มอรมอนให้การนำทาง ความเข้มแข็ง คำตอบของคำถาม หรือวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร
สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน
-
2 นีไฟ 25:17–18; 3 นีไฟ 21:9–11; 29:1–4; มอรมอน 8:1–5, 26–35; อีเธอร์ 12:22–26; โมเสส 7:62; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:34
-
“ทำให้พระคัมภีร์มอรมอนท่วมท้นแผ่นดินโลกและชีวิตเรา,” บทที่ 10 ใน คำสอนของประธานศาสนจักร: เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน [2014], 137–145