เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 25: การดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมในวันของความชั่วร้าย


บทที่ 25

การดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมในวันของความชั่วร้าย

คำนำ

พระคัมภีร์มอรมอนบันทึกความพินาศของบุคคลและสังคมที่น้อมรับความชั่วร้ายและยอมให้มีการมั่วสุมลับ ขณะเดียวกัน พระคัมภีร์มอรมอนสอนเช่นกันว่าเราสามารถดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมได้แม้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ชั่วร้าย ในบทนี้ นักเรียนจะเรียนรู้ว่าพวกเขาสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่ออยู่อย่างชอบธรรมในโลกทุกวันนี้

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • เควนทิน แอล. คุก, “เก็บเกี่ยวรางวัลของความชอบธรรม,” เลียโฮนา, ก.ค. 2015, 26-33

  • เดนนิส บี. นอยน์ชวันเดอร์, “คนหนึ่งท่ามกลางฝูงชน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2008, 124-126

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 37:21–22, 25–27; ฮีลามัน 6:20–26, 37–40; อีเธอร์ 8:18–26

การมั่วสุมลับสามารถทำลายเสรีภาพและสังคมได้

เขียนวลี อาณาเขตศัตรู ไว้บนกระดานและถามนักเรียนว่าหมายถึงอะไร

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์ (1924-2015) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“เยาวชนทั้งหลาย ท่านกำลังเติบโตขึ้นในอาณาเขตศัตรู เรารู้จากพระคัมภีร์ว่ามีสงครามเกิดขึ้นในสวรรค์ ลูซิเฟอร์กบฏ และ ‘ถูกโยนลงมาที่แผ่นดินโลก’ [วิวรณ์ 12:9] เขามุ่งขัดขวางแผนของพระบิดาบนสวรรค์และพยายามควบคุมความคิดและการกระทำของทุกคน” (“คำแนะนำสำหรับเยาวชน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 16)

  • การมีชีวิตอยู่เวลานี้เหมือนอยู่ในอาณาเขตศัตรูในด้านใด

อธิบายว่าบทนี้จะสำรวจคำบรรยายของพระคัมภีร์มอรมอนเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่ชั่วร้ายซึ่งคนชอบธรรมบางคนมีชีวิตอยู่ เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาหลักธรรมและหลักคำสอนที่พวกเขาประยุกต์ใช้ได้ขณะศึกษาตัวอย่างของคนที่ยังคงซื่อสัตย์แม้จะแวดล้อมไปด้วยความชั่วร้าย

เตือนนักเรียนว่าโมโรไนเห็นความพินาศของอารยธรรมชาวนีไฟทั้งหมดด้วยตาตนเอง เขาพูดถึงความชั่วร้ายที่นำไปสู่ความพินาศของทั้งชาวนีไฟและชาวเจเร็ด เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง อีเธอร์ 8:18 และ 21 ขณะชั้นเรียนค้นหาสาเหตุของความพินาศนี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาค้นพบ

เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงและคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน:

แอลมา 37:21-22, 25-27

ฮีลามัน 6:20-26

อีเธอร์ 8:18-26

การมั่วสุมลับคืออะไร

อะไรคือเป้าหมายและจุดประสงค์ของการมั่วสุมลับ

การมั่วสุมลับมีอยู่อย่างต่อเนื่องอย่างไร

ขอให้นักเรียนอ่านหนึ่งข้อบนกระดานและหาคำตอบของคำถามที่ระบุไว้ บอกนักเรียนว่าข้อที่พวกเขาเลือกอาจจะไม่ตอบคำถามทั้งสามข้อ แต่พวกเขาควรหาเท่าที่จะหาได้ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้ชั้นเรียนสนทนาคำถามบนกระดาน จากนั้นให้สนทนาดังนี้

  • จากที่ท่านอ่าน อะไรคือผลของการยอมให้มีการมั่วสุมลับและปล่อยให้เฟื่องฟู (นักเรียนควรค้นพบหลักธรรมต่อไปนี้: การมั่วสุมลับสามารถทำลายอิสรภาพ การปกครอง และสังคม)

  • ท่านคิดว่ามีตัวอย่างการมั่วสุมลับอะไรบ้างในสมัยของเรา

เพื่อช่วยตอบคำถามนี้ ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองและประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (1899-1994) ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

“การมั่วสุมลับส่วนหนึ่งในสมัยนี้คือแก๊ง กลุ่มผู้ค้ายา และเครือข่ายอาชญากรรมที่ตั้งขึ้น การมั่วสุมลับในสมัยของเราทำงานเหมือนกันมากกับกองโจรแกดิแอนทันในสมัยพระคัมภีร์มอรมอน … จุดประสงค์ส่วนหนึ่งของพวกเขาคือ ‘กระทำฆาตกรรม, และปล้นสะดม, และลักขโมย, และกระทำการผิดประเวณีและการชั่วร้ายนานาชนิด’ [ฮีลามัน 6:23]” (เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “ยืนหยัดเพื่อความจริงและความถูกต้อง,” เลียโฮนา, ม.ค. 1998, 47)

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

“ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าความชั่วร้ายขยายตัวอย่างรวดเร็วในสังคมของเราทุกภาคส่วน (ดู คพ. 1:14–16; 84:49-53) ความชั่วร้ายมีระบบสูงกว่า แฝงตัวได้แยบยลกว่า และได้รับการส่งเสริมมากกว่าแต่ก่อน การมั่วสุมลับที่กระหายอำนาจ ผลประโยชน์ และความมีชื่อเสียงกำลังเฟื่องฟู … (ดู อีเธอร์ 8:18–25)” (เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน, I Testify, Ensign, Nov. 1988, 87)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดศาสดาพยากรณ์ในพระคัมภีร์มอรมอนจึงรวมข้อมูลเกี่ยวกับการมั่วสุมลับไว้ในบันทึกของพวกเขา

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฮีลามัน 6:20, 37-40 ให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาความแตกต่างระหว่างชาวเลมันกับชาวนีไฟ (หมายเหตุ: การเปรียบเทียบและการเปรียบต่างเป็นทักษะการศึกษาพระคัมภีร์ที่ท่านอาจจะเน้นในบทนี้ [ดู การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ: คู่มือสำหรับครูและผู้นำในเซมินารีและสถาบันศาสนา (2012), 22])

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับวิธีขจัดความชั่วร้ายและการมั่วสุมลับ

แอลมา 62:41; 4 นีไฟ 1:42; มอรมอน 1:13–17, 19; 2:8, 14–15, 18–19; 3:2–3, 12, 22; โมโรไน 9:6, 22, 25–26

การอยู่อย่างชอบธรรมขณะแวดล้อมไปด้วยความชั่วร้าย

บอกนักเรียนว่าศาสดาพยากรณ์มอรมอนเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่ความชั่วร้ายเพิ่มขึ้นทุกขณะอันเนื่องจากการมั่วสุมลับเหล่านี้ ขอให้นักเรียนศึกษาข้อต่อไปนี้ มองหาและทำเครื่องหมายคำอธิบายสภาพแวดล้อมของมอรมอน มอรมอน 1:13–14, 16–17, 19; 2:8, 14–15, 18. เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ แล้วถามว่า

  • ท่านจะมีข้อกังวลอะไรเกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนั้น

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มอรมอน 1:15 และ 2:19

  • เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากแบบอย่างของมอรมอนในช่วงเวลาที่ชั่วร้ายนี้ (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียนความจริงนี้บนกระดาน: เราสามารถดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมได้แม้เมื่อเราแวดล้อมไปด้วยความชั่วร้าย)

ให้เวลานักเรียนอ่าน มอรมอน 3:2-3, 12, 22 เพื่อดูว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรอีกบ้างในเรื่องที่ว่ามอรมอนสามารถดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมในเวลาของความชั่วร้ายได้อย่างไร หลังจากนักเรียนแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้เกี่ยวกับมอรมอนแล้ว ให้ถามดังนี้

  • ในพระคัมภีร์มอรมอนมีใครอีกบ้างที่เป็นแบบอย่างของการดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมขณะแวดล้อมไปด้วยความชั่วร้าย (คำตอบอาจได้แก่ อีเธอร์ โมโรไน เอบิช และคนที่เชื่อว่าพระคริสต์จะประสูติมา ดังบันทึกไว้ใน 3 นีไฟ 1)

  • เราเผชิญการท้าทายอะไรบ้างขณะพยายามดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมในโลกที่ชั่วร้าย

เตือนนักเรียนว่าโมโรไนบุตรชายของมอรมอนมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ความชั่วร้ายแพร่ไปทั่ว ก่อนสิ้นชีวิต มอรมอนเขียนจดหมายถึงโมโรไนดังบันทึกไว้ใน โมโรไน 9 ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่าน โมโรไน 9:6, 22, 25-26 เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาว่าคำแนะนำของมอรมอนในข้อเหล่านี้จะช่วยเราดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมในโลกที่ชั่วร้ายได้อย่างไร

  • เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากข้อเหล่านี้ที่จะช่วยเราดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมในโลกปัจจุบัน (ช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมต่อไปนี้: หากเรามีศรัทธาในพระคริสต์และในการชดใช้ของพระองค์ เมื่อนั้นเราย่อมมีพลังดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมแม้จะแวดล้อมไปด้วยความชั่วร้าย)

  • ท่านเคยเห็นตัวอย่างอะไรบ้างของคนที่ดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมท่ามกลางความชั่วร้ายในปัจจุบัน

  • การมุ่งเน้นเรื่องพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ช่วยให้ท่านอยู่เหนือสภาพที่ชั่วร้ายและยุ่งยากอย่างไร

แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของซิสเตอร์เวอร์จิเนีย ยู. เจนเซ็น อดีตที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญ เพื่อช่วยนักเรียนพิจารณาว่าพวกเขาจะทำอะไรได้อีกบ้างเพื่อยืนหยัดในศรัทธาและความชอบธรรม

เวอร์จิเนีย ยู. เจนเซ็น

“เพื่อรักษาความหนักแน่นของตัวเราและช่วยให้ผู้อื่นยืนหยัด ข่าวสารของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูต้องถูกปลูกฝังในใจเราและสอนในบ้านของเรา … จงสอนคนที่ท่านรักให้รู้วิธีดึงพลังอำนาจของสวรรค์ลงมาใช้ผ่านการอดอาหารและการสวดอ้อนวอน จงสอนพวกเขาว่าการรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์จะสร้างฉนวนกันพวกเขาจากโลก จงสอนให้พวกเขาเชื่อฟัง จงสอนให้พวกเขาขอความเห็นชอบจากพระผู้เป็นเจ้า สอนพวกเขาว่าเส้นทางกลับไปบ้านบนสวรรค์มีทางเดียวคือรักและทำตามพระผู้ช่วยให้รอด ตลอดจนทำและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์และพระบัญญัติ ความจริงของพระกิตติคุณและความรู้เรื่องแผนแห่งความรอดเป็นอาวุธที่สมาชิกครอบครัวสามารถใช้พิชิตอิทธิพลชั่วของซาตาน” (“จงยึดมั่น,” เลียโฮนา, ม.ค. 2002, 131)

  • อะไรทำให้ท่านมีความเข้มแข็งและความมุ่งมั่นตั้งใจจะเชื่อฟังพระเจ้าในโลกที่ชั่วร้ายเพิ่มขึ้นทุกขณะ

อธิบายว่าในช่วงสงครามที่ยืดเยื้อระหว่างชาวนีไฟกับชาวเลมันดังที่บันทึกไว้ในหนังสือของแอลมา แต่ละบุคคลต้องยืนยัดต่อต้านอิทธิพลของความชั่วเพื่อรักษาชีวิตตน เชื้อเชิญให้นักเรียนศึกษา แอลมา 62:41 และมองหาวิธีต่างกันที่แต่ละบุคคลตอบสนองความยากลำบากและความชั่วร้าย เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พบซึ่งจะช่วยพวกเขาดำเนินชีวิตได้อย่างชอบธรรมในโลกที่ชั่วร้าย

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเจมส์ อี. เฟาสท์ (1920-2007) แห่งฝ่ายประธานสูงสุดเกี่ยวกับพระคัมภีร์ข้อนี้

ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์

“ในโลกที่อยุติธรรมเพิ่มขึ้นทุกขณะ เพื่อให้อยู่รอดและแม้กระทั่งพบความสุขและปีติ ไม่สำคัญว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราต้องมีจุดยืนชัดเจนกับพระเจ้า เราจำเป็นต้องพยายามซื่อสัตย์ทุกโมงยามทุกวันทั้งนี้เพื่อรากฐานความไว้วางใจของเราในพระเจ้าจะไม่สั่นคลอน …

“สิ่งที่เกิดกับเราไม่สำคัญเท่าวิธีที่เรารับมือกับสิ่งที่เกิดกับเรา นั่นเตือนข้าพเจ้าให้นึกถึงข้อความหนึ่งจากแอลมา หลังจากสงครามยืดเยื้อยาวนาน ‘คนจำนวนมากจึงกลับแข็งกระด้าง’ ขณะที่ ‘คนจำนวนมากจึงอ่อนลงเพราะความทุกข์ของพวกเขา’ [แอลมา 62:41] สภาพการณ์เดียวกันทำให้เกิดการตอบสนองตรงกันข้าม … เราแต่ละคนต้องมีคลังศรัทธาของเราเองเพื่อช่วยให้เราอยู่เหนือความทุกข์ยากเดือดร้อนอันเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบในมรรตัยนี้” (“จุดยืนของข้าพเจ้าอยู่ที่ใด” เลียโฮนา, พ.ย. 2004, 22, 25)

ขอให้นักเรียนใช้เวลาสองสามนาทีเขียนคำตอบของคำถามต่อไปนี้

  • ท่านเคยทำคำมั่นสัญญาอะไรบ้างเพื่อมีจุดยืน “ชัดเจนกับพระเจ้า”

จากนั้นกระตุ้นให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้

  • ท่านเคยได้รับการกระตุ้นเตือนอะไรบ้างจากพระวิญญาณในเรื่องที่ว่าท่านจะทุ่มเทให้พระเจ้ามากขึ้นได้อย่างไร

  • ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้สมาชิกครอบครัวทุ่มเทให้พระเจ้ามากขึ้น

เป็นพยานว่าเมื่อเราพากเพียรในศรัทธา พระเจ้าจะประทานพรเราและช่วยให้เราดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมท่ามกลางความชั่วร้าย

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน