บทที่ 11
การป้องกันตัวเราจากหลักคำสอนเท็จของวันเวลาสุดท้าย
คำนำ
นอกจากจะสอน “ความสมบูรณ์แห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์” แล้ว (คพ. 20:9) พระคัมภีร์มอรมอนยังได้เสริมกำลังให้ผู้ติดตามพระคริสต์ป้องกันคำสอนเท็จและแนวคิดที่แพร่หลายในวันเวลาสุดท้ายด้วย วิธีหนึ่งที่ทำสิ่งนี้สำเร็จคือ เปิดโปงศัตรูของพระคริสต์และค้นพบหลักคำสอนเท็จที่พวกเขาเผยแพร่ ขณะนักเรียนศึกษาเรื่องราวของผู้สอนเท็จในพระคัมภีร์มอรมอน พวกเขาจะรู้วิธีแยกแยะระหว่างความจริงของพระกิตติคุณกับแนวคิดผิดๆ ของโลก
ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน
-
ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “อย่าถูกหลอก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2004, 54–58
-
ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “ตามที่เขาคิดในใจ” (ยามค่ำกับเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, 8 ก.พ., 2013), lds.org/broadcasts.
-
นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “ลมหมุนทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 18–21
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
2 นีไฟ 28:3–9, 12–15; เจคอบ 7:1–12; แอลมา 1:2–6; 30:12–18, 39–44; โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:22
การค้นพบและป้องกันตัวเราจากหลักคำสอนเท็จ
ขอให้นักเรียนพิจารณาความเห็นต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกเกี่ยวกับประเด็นดังต่อไปนี้ ความจริงของพระผู้เป็นเจ้าตรงข้ามกับสัมพัทธนิยมทางศีลธรรม (แนวคิดที่ว่าไม่มีถูกหรือผิดเป็นสากล) เสรีภาพทางศาสนาตรงข้ามกับสิทธิ์ของกลุ่มที่มีความสนใจพิเศษ และสิทธิ์ในการทำแท้งตรงข้ามกับสิทธิ์ในการมีชีวิต ขณะสนทนาประเด็นเหล่านี้ ท่านอาจจะเขียนไว้บนกระดาน ให้เวลานักเรียนสักครู่สนทนาว่าเหตุใดเราจึงต้องน้อมรับแนวคิดที่ถูกต้อง
อธิบายว่าใกล้บั้นปลายพระชนม์ชีพ พระเยซูคริสต์ทรงพยากรณ์ถึงสภาพอันตรายทางวิญญาณที่จะมีอยู่ในวันเวลาสุดท้าย เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่าน โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:22 ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าวลี “ผู้ที่ทรงเลือกไว้ตามพันธสัญญา” หมายถึงสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์
-
“พระคริสต์ปลอม” และ “ศาสดาพยากรณ์ปลอม” มีคำขู่อะไรบ้างในสมัยของเรา
ให้ดูและอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (1899–1994)
“พระคัมภีร์มอรมอนเปิดโปงศัตรูของพระคริสต์ หักล้างหลักคำสอนเท็จและยุติความขัดแย้ง (ดู 2 นีไฟ 3:12) อีกทั้งเสริมความแข็งแกร่งให้ผู้ติดตามที่อ่อนน้อมถ่อมตนของพระคริสต์ต้านแผนชั่ว กลยุทธ์ และหลักคำสอนของมารในยุคสมัยของเรา รูปแบบของผู้ละทิ้งความเชื่อในพระคัมภีร์มอรมอนคล้ายกับรูปแบบที่เรามีในปัจจุบัน ด้วยพระปรีชาญาณล่วงหน้าอันไม่มีขอบเขตของพระองค์ พระผู้เป็นเจ้าทรงออกแบบพระคัมภีร์มอรมอนให้เรามองเห็นความผิดพลาดและรู้วิธีต่อสู้กับแนวคิดผิดๆ ด้านการศึกษา การเมือง ศาสนา และปรัชญาในสมัยของเรา” (คำสอนของประธานศาสนจักร: เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน [2014], 132)
-
ข้อความนี้สอนอะไรในเรื่องที่ว่าการศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนสามารถคุ้มครองเราจากคำสอนเท็จได้อย่างไร (นักเรียนควรระบุหลักธรรมนี้: เมื่อเราศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนและประยุกต์ใช้คำสอนในนั้น เราได้รับการเสริมกำลังป้องกันมารตลอดจนคำสอนและแนวคิดผิดๆ ในสมัยของเรา)
-
มีข้อได้เปรียบอะไรในการเรียนรู้กลยุทธ์ของซาตานก่อนเผชิญหน้าจริงๆ
ขอให้นักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 28:3–9 ขณะชั้นเรียนมองหาแนวคิดผิดๆ ที่นีไฟกล่าวว่าจะแพร่หลายในสมัยของเรา ท่านอาจกระตุ้นให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำและวลีสำคัญๆ เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่ค้นพบ แล้วถามว่า
-
ตัวอย่างแนวคิดผิดๆ เหล่านี้ในยุคปัจจุบันมีอะไรบ้าง (ตัวอย่างอาจได้แก่ สัมพัทธนิยมทางศีลธรรม ความเชื่อที่ว่าเพราะความรักอันใหญ่หลวงที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อเรา พระองค์จะไม่ทรงลงโทษบาป และอคติต่อต้านชาวคริสต์ผู้มักจะถูกมองว่าเป็นพวกหัวรั้นหรือพวกคลั่งศาสนา)
เพื่อช่วยตอบคำถามนี้ ให้แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้นักเรียนฟังคำสอนเท็จที่พวกเขาเคยเจอ
“ศาสดาพยากรณ์ปลอมและผู้สอนปลอมคือคนที่ประกาศว่าศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเป็นคนหลอกลวงที่กลับกลอก พวกเขาค้านว่านิมิตแรกไม่ใช่ประสบการณ์จริง พวกเขาประกาศว่าพระคัมภีร์มอรมอนและพระคัมภีร์เล่มอื่นไม่ใช่บันทึกพระคัมภีร์สมัยโบราณ พวกเขาพยายามนิยามพระลักษณะของพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ขึ้นมาใหม่ และพวกเขาปฏิเสธว่าพระผู้เป็นเจ้าได้ประทานและยังคงประทานการเปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์ที่พระองค์ทรงแต่งตั้งและสนับสนุน …
ที่น่าตำหนิมากที่สุดคือ พวกเขาปฏิเสธการฟื้นคืนพระชนม์และการชดใช้ของพระคริสต์ โดยแย้งว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่สามารถช่วยเราให้รอดได้ พวกเขาปฏิเสธถึงความจำเป็นที่ต้องมีพระผู้ช่วยให้รอด สรุปคือ ผู้กล่าวร้ายเหล่านี้พยายามตีความหลักคำสอนของศาสนจักรให้เข้ากับทัศนะที่ตนคิดไว้ และระหว่างนั้นก็ปฏิเสธพระคริสต์และบทบาทการเป็นพระเมสสิยาห์ของพระองค์
“ศาสดาพยากรณ์ปลอมและผู้สอนปลอมคือคนที่พยายามเปลี่ยนหลักคำสอนพื้นฐานในพระคัมภีร์ที่พระผู้เป็นเจ้าประทานซึ่งคุ้มครองความศักดิ์สิทธิ์ของการแต่งงาน ธรรมชาติอันสูงส่งของครอบครัว และหลักคำสอนที่จำเป็นของศีลธรรมส่วนบุคคล พวกเขาสนับสนุนนิยามใหม่ของศีลธรรมเพื่อแก้ต่างให้การผิดประเวณี การล่วงประเวณี และความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศ” (ดู “ระวังศาสดาปลอมและผู้สอนปลอม,” เลียโฮนา, ม.ค. 2000, 77)
ขอให้นักเรียนค้นคว้า 2 นีไฟ 28:12–15 โดยมองหาผลของการเชื่อคำสอนเท็จ
-
ผลของการเชื่อคำสอนเท็จและแนวคิดผิดๆ มีอะไรบ้าง
ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์อูลิส์เสส ซวาเรสแห่งสาวกเจ็ดสิบ และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง
“เราจะไม่ปล่อยให้ตนเองสับสนตามข่าวสารอันเป็นที่นิยมซึ่งโลกยอมรับโดยง่ายแต่ขัดแย้งกับหลักคำสอนและหลักธรรมที่แท้จริงของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ข่าวสารทางโลกมากมายเหล่านี้ไม่แสดงให้เห็นอะไรเลยนอกจากเห็นสังคมเราพยามยามจะทำให้บาปเป็นสิ่งที่ถูกต้อง” (“ใช่ เราชนะได้และจะชนะ!” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 75)
-
เอ็ลเดอร์ซวาเรสกล่าวว่าอะไรคือจุดประสงค์ของข่าวสารอันเป็นที่นิยมมากมายที่ขัดแย้งกับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ (ช่วยให้นักเรียนค้นพบความจริงนี้: ซาตานใช้คำสอนเท็จชักจูงให้เราทำบาป ท่านอาจกล่าวถึง แอลมา 30:53 เพื่อได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความจริงนี้)
แบ่งชั้นเรียนออกเป็นสามกลุ่ม เขียนข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ไว้บนกระดาน และมอบหมายให้แต่ละกลุ่มศึกษาข้อพระคัมภีร์หนึ่งช่วง เจคอบ 7:1–7; แอลมา 1:2–6; หรือ แอลมา 30:12–18 ขอให้นักเรียนระบุคำสอนเท็จบางประการที่เชเร็ม นีฮอร์ และคอริฮอร์สอน และเขียนไว้บน กระดาน ใต้หัวข้อที่เหมาะสม
เชเร็ม (เจคอบ 7:1–7) |
นีฮอร์ (แอลมา 1:2–6) |
คอริฮอร์ (แอลมา 30:12–18) |
-
ท่านเคยเห็นคำสอนหรือแนวคิดผิดๆ เช่นที่เขียนไว้บนกระดานส่งผลต่อสมาชิกศาสนจักรในปัจจุบันอย่างไร
เชื้อเชิญให้นักเรียนเปรียบเทียบ เจคอบ 7:5, 8–12 กับ แอลมา 30:39–44 เพื่อดูว่าอะไรปกป้องเจคอบกับแอลมาจากคำสอนเท็จของเชเร็มและคอริฮอร์ (หมายเหตุ: การเปรียบเทียบเป็นทักษะการศึกษาพระคัมภีร์ การสังเกตความคล้ายคลึง “ระหว่างคำสอน ผู้คน หรือเหตุกรณ์จะทำให้ความจริงพระกิตติคุณคมชัดขึ้น” [การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ: คู่มือสำหรับครูและผู้นำในเซมินารีและสถาบันศาสนา (2012), 22])
-
อะไรเสริมกำลังให้เจคอบกับแอลมาป้องกันคำสอนเท็จ (คำตอบควรได้แก่ ประสบการณ์ทางวิญญาณที่เคยได้รับ ความรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์ ความรู้ที่ได้จากพระวิญญาณบริสุทธิ์ และประจักษ์พยานในพระเยซูคริสต์)
-
อะไรคือหลักธรรมที่เราน่าจะเรียนรู้จากการตอบสนองของเจคอบกับแอลมาต่อคำสอนเท็จเหล่านี้ (ช่วยให้นักเรียนระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเราพึ่งพาประจักษ์พยานของเราในพระคริสต์และแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจะเอาชนะการท้าทายศรัทธาของเราได้)
-
ประจักษ์พยานของท่านให้พลังท่านต้านคำสอนเท็จหรือบทวิจารณ์ความเชื่อของท่านอย่างไร
กระตุ้นให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาทำอยู่เพื่อป้องกันตนจากคำสอนเท็จที่สามารถกัดกร่อนศรัทธาของพวกเขาในพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู
2 นีไฟ 26:29; 3 นีไฟ 18:24; 27:27
การรับรู้อันตรายของการฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิต
บอกนักเรียนว่าอันตรายทางวิญญาณบางอย่างต่อศาสนจักรมาจากสมาชิกในศาสนจักร ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 26:29 ขณะชั้นเรียนมองหาอันตรายทางวิญญาณที่นีไฟพูดถึง
-
ตามที่กล่าวไว้ในข้อนี้ การฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิตคืออะไร (เมื่อผู้คนสั่งสอนพระกิตติคุณเพื่อชื่อเสียงหรือความมั่งคั่งของตนแต่ไม่ใช่เพื่อความผาสุกของบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า)
-
การฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิตจะก่อให้เกิดอันตรายทางวิญญาณต่อสมาชิกของศาสนจักรในทางใด
เพื่อช่วยตอบคำถามเหล่านี้ ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด
“ขอให้เราระวังศาสดาพยากรณ์ปลอมและผู้สอนปลอม ทั้งชายและหญิง ที่แต่งตั้งตนเองเป็นผู้ประกาศหลักคำสอนของศาสนจักร มุ่งประกาศพระกิตติคุณปลอมและดึงดูดผู้ติดตามโดยเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยง แจกหนังสือและวารสารซึ่งเนื้อหาในนั้นท้าทายคำสอนพื้นฐานของศาสนจักร จงระวังคนที่พูดและตีพิมพ์สิ่งตรงข้ามกับศาสดาพยากรณ์ที่แท้จริงของพระผู้เป็นเจ้าและผู้ชักจูงคนอื่นอย่างแข็งขันโดยไม่คำนึงถึงความผาสุกนิรันดร์ของคนที่เขาล่อลวงไป” (“ระวังศาสดาปลอมและผู้สอนปลอม,” เลียโฮนา, ม.ค. 2000, 77)
-
ท่านจะป้องกันตนเองและคนอื่นๆ จากการฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิตได้อย่างไร
-
ท่านจะปกป้องหลักคำสอนของศาสนจักรได้อย่างไรเมื่อคนอื่นพูดตรงข้ามกับศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายของพระผู้เป็นเจ้า
บอกนักเรียนว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเหล่าสานุศิษย์ว่าคนที่เป็นตัวแทนของพระองค์ควรสอนและเป็นอิทธิพลต่อผู้อื่นอย่างไร ขอให้นักเรียนค้นคว้า 3 นีไฟ 18:24 และ 3 นีไฟ 27:27 ในใจโดยดูว่าการรับใช้จริงๆ ในพระกิตติคุณต่างจากการฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิตอย่างไร
-
เจตนาและการกระทำของผู้สอนและครูที่ชอบธรรมต่างจากเจตนาและการกระทำของผู้ทำผิดฐานฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิตอย่างไร (นักเรียนควรค้นพบความจริงต่อไปนี้: สานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์มุ่งมั่นรับใช้และเป็นพรแก่ผู้อื่นโดยให้พวกเขาหันไปมองพระองค์)
โมโรไน 7:12–17; อีเธอร์ 4:11–12
การแยกแยะความจริงจากความเท็จ
ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่มีคนถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ความเชื่อทางศาสนาของพวกเขา เชิญนักเรียนหนึ่งหรือสองคนแบ่งปันประสบการณ์พอสังเขป
เชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก โมโรไน 7:12–17 และ อีเธอร์ 4:11–12 ขณะชั้นเรียนดูตามโดยมองหาวิธีแยกแยะว่าสิ่งนั้นมาจากพระเจ้าหรือมาจากมาร
-
ท่านเรียนรู้อะไรจากข้อนี้เกี่ยวกับวิธีที่เราจะตัดสินระหว่างความดีกับความชั่ว (นักเรียนพึงเข้าใจหลักธรรมต่อไปนี้: ทุกอย่างที่เชื้อเชิญให้เราทำดี เชื่อในพระเยซูคริสต์ รักพระผู้เป็นเจ้าและรับใช้พระองค์ล้วนมาจากพระผู้เป็นเจ้า)
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน
“ข้าพเจ้าขอเสนอการทดสอบสั้นๆ สามข้อเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกหลอก …
“1. งานมาตรฐานพูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ …
“2. แนวทางที่สองคือ ประธานศาสนจักรยุคสุดท้ายกล่าวอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้—โดยเฉพาะศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ …
“3. การทดสอบข้อสามและข้อสุดท้ายคือ พระวิญญาณบริสุทธิ์—การทดสอบของพระวิญญาณ … การทดสอบข้อนี้จะมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อช่องทางการสื่อสารของคนนั้นกับพระผู้เป็นเจ้าสะอาด บริสุทธิ์ และไม่ถูกปิดกั้นด้วยบาป” (in Conference Report, Oct. 1963, 16–17)
เพื่อสรุป ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะใช้พระคัมภีร์ ถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ และพระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยแยกแยะคำสอนเท็จและหลีกเลี่ยงการถูกหลอกได้ดีขึ้นอย่างไร ท่านอาจจะกระตุ้นให้นักเรียนศึกษา เจคอบ 7, แอลมา 1, และ แอลมา 30 ละเอียดมากขึ้นและไตร่ตรองว่าสามบทนี้จะช่วยพวกเขาแยกแยะความจริงกับความเท็จได้ดีขึ้นอย่างไร
สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน
-
2 นีไฟ 26:29; 28:3–9, 12–15; เจคอบ 7:1–12; แอลมา 1:2–6; 30:12–18, 39–44; 3 นีไฟ 18:24; 27:27; อีเธอร์ 4:11–12; โมโรไน 7:12–17; โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:22
-
นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “ลมหมุนทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 18–21