เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 18: การเตรียมรับวันสุดท้ายของการพิพากษา


บทที่ 18

การเตรียมรับวันสุดท้ายของการพิพากษา

คำนำ

ชีวิตมรรตัยเป็นเวลาให้เราเตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า พระคัมภีร์มอรมอนอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับวิญญาณของเราระหว่างความตายกับการฟื้นคืนชีวิต หลังจากวิญญาณของเรากลับเข้าสู่ร่างอมตะ เราจะยืนอยู่หน้าบัลลังก์พิพากษาของพระผู้เป็นเจ้า ณ ที่นั้นการกระทำและความปรารถนาของใจเราจะกำหนดรางวัลนิรันดร์ของเรา

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 34:32–34; 40:6–7, 11–14

หลังจากเสียชีวิต คนชอบธรรมไปเมืองบรมสุขเกษมและคนชั่วไปเรือนจำวิญญาณ

ก่อนชั้นเรียน ให้เขียนคำถามบนกระดานดังนี้

คนที่ไม่เข้าใจจุดประสงค์ของชีวิตมรรตัยและไม่เชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายจะดำเนินชีวิตต่างจากคนที่เข้าใจเรื่องเหล่านี้อย่างไร

ขอให้นักเรียนตอบคำถามนี้ จากนั้นให้เตือนพวกเขาว่าพระคัมภีร์มอรมอนช่วยให้เราเข้าใจจุดประสงค์ของชีวิตบนแผ่นดินโลกและสอนเราว่าชีวิตดำเนินต่อไปหลังความตาย

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 34:32-34 ขณะชั้นเรียนดูว่าอมิวเล็คสอนอะไรให้ผู้คนของแอมันไนฮาห์เกี่ยวกับจุดประสงค์ของชีวิต

  • อมิวเล็คสอนหลักคำสอนสำคัญอะไรบ้างเกี่ยวกับจุดประสงค์ของชีวิตบนแผ่นดินโลก (นักเรียนควรระบุหลักคำสอนหลายประการในข้อนี้ รวมถึง: ชีวิตนี้เป็นเวลาให้เราเตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า)

  • หลักคำสอนนี้ช่วยให้ท่านเข้าใจว่าท่านควรดำเนินชีวิตประจำวันที่นี่ในความเป็นมรรตัยอย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักคำสอนนี้ดีขึ้น ท่านอาจจะแบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานโธมัส เอส. มอนสัน:

ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“เราเข้าใจว่าเรามาแผ่นดินโลกเพื่อเรียนรู้ มีชีวิต ก้าวหน้าในการเดินทางนิรันดร์ไปสู่ความดีพร้อม บางคนอยู่บนแผ่นดินโลกเพียงครู่เดียว ขณะที่คนอื่นๆ อยู่ยืนยาวบนผืนแผ่นดิน ตัววัดไม่ได้อยู่ที่ว่าเรามีชีวิตอยู่นานเท่าใด แต่อยู่ที่ว่าเราดำเนินชีวิตดีเพียงใด” (He Is Risen, Ensign, Nov. 1981, 18)

  • เหตุใดอมิวเล็คจึงเตือนเราไม่ให้ผัดวันแห่งการกลับใจของเรา

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงขณะชั้นเรียนหาดูว่าเหตุใดจึงมีอันตรายในการผัดวันประกันพรุ่ง

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์

“มีอันตรายอยู่ในคำว่า สักวันหนึ่ง เมื่อมีความหมายว่า ‘ไม่ใช่วันนี้’ ‘สักวันหนึ่งฉันจะกลับใจ’ ‘สักวันหนึ่งฉันจะให้อภัยเขา’ ‘สักวันหนึ่งฉันจะเล่าเรื่องโบสถ์ให้เพื่อนฟัง’ ‘สักวันหนึ่งฉันจะเริ่มจ่ายส่วนสิบ’ ‘สักวนหนึ่งฉันจะกลับไปพระวิหาร’ ‘สักวันหนึ่ง …’ พระคัมภีร์แสดงให้เห็นชัดเจนถึงอันตรายของการรีรอ [ดู แอลมา 34:33-34] … วันนี้เป็นของประทานล้ำค่าจากพระผู้เป็นเจ้า ความคิดว่า ‘สักวันหนึ่งฉันจะ’ สามารถขโมยโอกาสของเวลาและพรแห่งนิรันดร” (“วันนี้,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 111)

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 40:6-7, 11-14 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยหาดูว่าแอลมาสอนอะไรโคริแอนทอนบุตรชายเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับวิญญาณของเราหลังจากเราสิ้นชีวิต (อาจเป็นประโยชน์ถ้าชี้ให้เห็นว่าเมื่อใช้วลี “ความมืดภายนอก” เขาไม่ได้หมายถึงสภาพสุดท้ายของซาตานและคนที่อัปมงคล แต่เขากำลังหมายถึงสภาพของคนชั่วร้ายระหว่างเวลาของความตายกับการฟื้นคืนชีวิต เรามักจะเรียกสภาพนี้ว่าเรือนจำวิญญาณ)

  • อะไรคือความแตกต่างระหว่างสภาพของคนชอบธรรมกับสภาพของคนชั่วร้ายหลังจากสิ้นชีวิต (ถึงแม้พวกเขาจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้: ระหว่างความตายกับการฟื้นคืนชีวิต เหล่าวิญญาณของคนชอบธรรมอยู่ในเมืองบรมสุขเกษมและวิญญาณของคนชั่วร้ายอยู่ในเรือนจำวิญญาณ)

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องเข้าใจว่าการกระทำของเราในชีวิตนี้จะส่งผลต่อสิ่งที่เราประสบหลังความตาย

2 นีไฟ 9:12–13; โมไซยาห์ 15:21–26; 16:6–11; แอลมา 11:40–45; 40:4–5, 19–24

วิญญาณของเราจะกลับคืนสู่ร่างกายของเราในการฟื้นคืนชีวิต

เตือนนักเรียนว่าเมื่ออบินาไดสอนกษัตริย์โนอาห์และปุโรหิตของเขา เขาอธิบายว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเราหลังความตาย หลักคำสอนที่เขาสอนอธิบายว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเราหลังจากเวลาของเราในโลกวิญญาณ ทั้งเมืองบรมสุขเกษมและเรือนจำวิญญาณ ขอให้นักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 16:6-11 ขณะชั้นเรียนดูว่าอบินาไดสอนอะไร

  • อบินาไดสอนหลักคำสอนอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเราหลังจากเวลาของเราในโลกวิญญาณ (เน้นความจริงต่อไปนี้: เพราะพระเยซูคริสต์ทรงทำให้สายรัดแห่งความตายขาด เราแต่ละคนจะฟื้นคืนชีวิตและได้รับร่างกายอมตะ คนชอบธรรมจะรับความสุขอันหาได้สิ้นสุดไม่เป็นมรดก และคนชั่วร้ายจะถูกปล่อยให้ได้รับความอัปมงคลอันหาได้สิ้นสุดไม่)

บอกนักเรียนว่าศาสดาพยากรณ์หลายท่านในพระคัมภีร์มอรมอนเป็นพยานเรื่องการฟื้นคืนชีวิตและอธิบายว่าการฟื้นคืนชีวิตเป็นอย่างไร เขียนข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ไว้บนกระดาน (ไม่ต้องเขียนสรุปที่ให้มา) และมอบหมายให้นักเรียนอ่านคนละข้อ พึงแน่ใจว่าท่านได้มอบหมายครบทุกข้อ ขอให้นักเรียนอ่านข้อนั้นในใจโดยมองหารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิต

2 นีไฟ 9:12-13 (เมืองบรมสุขเกษมจะปลดปล่อยวิญญาณชอบธรรม และเรือนจำวิญญาณจะปลดปล่อยวิญญาณชั่วร้าย วิญญาณจะกลับคืนสู่ร่างกายและกลายเป็นจิตวิญญาณอมตะ)

โมไซยาห์ 15:21-26 (คนชอบธรรมจะออกมาในการฟื้นคืนชีวิตครั้งแรก เช่นเดียวกับคนที่สิ้นชีวิตในความไม่รู้และเด็กเล็กๆ คนชั่วร้ายไม่มีส่วนในการการฟื้นคืนชีวิตครั้งแรก)

แอลมา 11:40-45 (วิญญาณและร่างกายของทุกคน ทั้งคนชั่วร้ายและคนชอบธรรม จะรวมเป็นหนึ่งเดียวในรูปแบบที่สมบูรณ์และจะยืนอยู่เบื้องพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อรับการพิพากษาตามงานของพวกเขา)

แอลมา 40:4-5, 19-24 (มีเวลาระหว่างความตายกับการฟื้นคืนชีวิตเมื่อวิญญาณไปสู่โลกวิญญาณ หลังจากนั้น มีเวลาที่กำหนดให้วิญญาณของทุกคนกลับคืนสู่ร่างกายที่สมบูรณ์แบบของพวกเขาชั่วนิรันดร์และยืนอยู่เบื้องพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อรับการพิพากษา)

ให้เวลานักเรียนอธิบายสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิตจากข้อที่ได้รับมอบหมาย ท่านอาจจะเขียนความเข้าใจของพวกเขาไว้บนกระดานใกล้กับข้อที่สอดคล้องกัน หากจำเป็น ให้ถามคำถามทำนองนี้หนึ่งข้อหรือมากกว่านั้นเพื่อให้นักเรียนเข้าใจข้อเหล่านี้ลึกซึ้งขึ้น

  • ความจริงเหล่านี้เสริมความเชื่อของท่านที่ว่าการฟื้นคืนชีวิตเป็นเรื่องจริงและเป็นส่วนสำคัญในแผนของพระบิดาบนสวรรค์อย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังว่าประจักษ์พยานเรื่องการฟื้นคืนชีวิตจะเป็นพรแก่เราในความเป็นมรรตัยได้อย่างไร

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“อัครสาวกเปโตรอ้างข้อเท็จจริงที่ว่าพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา ในพระเมตตาล้นเหลือของพระองค์ ‘ทรงโปรดให้เราบังเกิดใหม่เข้าในความหวังที่ยั่งยืนโดยการคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์’ (1 เปโตร 1:3; ดู 1 เธสะโลนิกา 4:13–18ด้วย)

“‘ความหวังใจที่ยั่งยืน’ ที่เราได้จากการฟื้นคืนชีวิตคือความเชื่อมั่นว่าความตายไม่ใช่จุดหมายปลายทางในการดำรงอยู่ของเราแต่เป็นเพียงขั้นตอนที่จำเป็นในการเปลี่ยนที่กำหนดไว้จากความเป็นมรรตัยสู่ความเป็นอมตะ ความหวังเช่นนี้เปลี่ยนแปลงมุมมองทั้งหมดของชีวิตมรรตัย …

“ความเชื่อมั่นเรื่องการฟื้นคืนชีวิตให้ความเข้มแข็งและมุมมองแก่เราเพื่ออดทนต่อสิ่งท้าทายของชีวิตมรรตัยที่เราทุกคนและคนที่เรารักประสบ สิ่งเหล่านี้ได้แก่ความบกพร่องทางกาย จิตใจ หรืออารมณ์ที่เรานำมาด้วยตั้งแต่เกิดหรือได้มาในช่วงชีวิตมรรรตัย เพราะการฟื้นคืนชีวิต เราจึงรู้ว่าความบกพร่องในชีวิตมรรตัยเหล่านี้เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น!

“ความเชื่อมั่นเรื่องการฟื้นคืนชีวิตยังเป็นแรงจูงใจอันทรงอานุภาพให้เรารักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าในช่วงชีวิตมรรตัยของเรา … …

“ความรู้ที่แน่นอนของเราเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิตสู่ความเป็นอมตะทำให้เรากล้าเผชิญความตายของตนเอง —แม้ความตายที่เราเรียกว่าก่อนวัยอันควร …

“ความเชื่อมั่นเรื่องความเป็นอมตะช่วยให้เราทนรับความพลัดพรากในความเป็นมรรตัยอันเกี่ยวเนื่องกับความตายของคนที่เรารัก … เราควรสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าสำหรับความมั่นใจนั้นที่ทำให้ความพลัดพรากในความเป็นมรรตัยเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวโดยทำให้เรามีความหวังและมีพลังดำเนินต่อไป” (“การฟื้นคืนชีวิต,” เลียโฮนา, ก.ค. 2000, 19–20)

  • ความเชื่อมั่นเรื่องการฟื้นคืนชีวิตให้พลังหรือผลักดันท่านให้ดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมมากขึ้นเมื่อใด

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเองเกี่ยวกับความเป็นจริงของการฟื้นคืนชีวิต

แอลมา 5:15–21; 7:21–25; 41:2–6

การเตรียมรับการพิพากษาครั้งสุดท้าย

อธิบายว่าแอลมากระตุ้นสมาชิกศาสนจักรในเซราเฮ็มลาให้เตรียมรับการพิพากษาครั้งสุดท้ายโดยขอให้พวกเขาสมมติตนเองยืนอยู่เบื้องพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อรับการพิพากษา เชิญนักเรียนหลายคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 5:15-21 ให้ชั้นเรียนดูว่าแอลมาขอให้ผู้ที่ฟังเขาพิจารณาอะไร

  • คำถามข้อใดของแอลมามีความหมายต่อท่านมากที่สุด และเพราะเหตุใด

  • เราเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากประจักษ์พยานของแอลมาใน ข้อ 21 เกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องทำจึงจะรอด (ช่วยให้นักเรียนระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เราจะรอดไม่ได้เว้นแต่เราได้รับการชำระให้สะอาดผ่านพระโลหิตแห่งการไถ่ของพระเยซูคริสต์)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมนี้ดีขึ้น ให้ดูข้อความต่อไปนี้ของประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

“ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าจะมีอะไรสำคัญหรือจำเป็นมากไปกว่าการป่าวร้องการกลับใจในเวลานี้ แม้ในบรรดาวิสุทธิชนยุคสุดท้าย และข้าพเจ้าเรียกพวกเขา … ให้เอาใจใส่พระวจนะของพระผู้ไถ่ของเรา บัดนี้ พระองค์รับสั่งแน่นอนแล้วว่าไม่มีสิ่งไม่สะอาดจะเข้าไปในที่ประทับของพระองค์ได้ เฉพาะคนที่พิสูจน์ตนว่าซื่อสัตย์และล้างอาภรณ์ของพวกเขาในพระโลหิตของพระองค์ผ่านศรัทธาและการกลับใจของพวกเขา—นอกนั้นจะไม่มีใครพบอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าเลย” (คำสอนของประธานศาสนจักร: โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ [2013], 91)

ขอให้นักเรียนศึกษา แอลมา 7:21-25 ในใจและเชื้อเชิญให้พวกเขามองหาและทำเครื่องหมายคุณสมบัติที่เราควรมุ่งมั่นพัฒนาเพื่อให้อาภรณ์ของเราปราศจากมลทิน

  • ท่านค้นพบคุณลักษณะหรือคุณสมบัติอะไรบ้างในข้อเหล่านี้ที่สำคัญต่อเราเรามากจนต้องพัฒนาขณะเตรียมรับการพิพากษาจากพระเจ้า

กระตุ้นให้นักเรียนพิจารณาว่าการกระทำและความปรารถนาของใจพวกเขากำลังเตรียมพวกเขาให้พร้อมพบพระผู้เป็นเจ้าที่การพิพากษาครั้งสุดท้ายหรือไม่ กระตุ้นให้พวกเขาทำการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น ทั้งนี้เพื่อวันพิพากษาจะเป็นวันที่มีความสุข

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน