เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 5: การชดใช้อันไม่มีขอบเขตของพระเยซูคริสต์


บทที่ 5

การชดใช้อันไม่มีขอบเขตของพระเยซูคริสต์

คำนำ

การชดใช้ของพระเยซูคริสต์—เหตุการณ์ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น—ทำให้คนทั้งปวงได้รับการอภัยบาปและได้อยู่กับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ชั่วนิรันดร์ โดยผ่านการชดใช้ ทุกคนจะฟื้นคืนชีวิตและกลับไปที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อรับการพิพากษา เพราะการชดใช้เรียกร้องให้พระเยซูคริสต์ต้องทนทุกข์หลายด้านนับไม่ถ้วน พระองค์จึงทรงมีพระเมตตาสงสารเราแต่ละคนอย่างสมบูรณ์

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • บอยด์ เค. แพคเกอร์, “การชดใช้,” เลียโฮนา,, พ.ย. 2012, 75–78

  • ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “การไถ่,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 109–112

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โมไซยาห์ 3:5–11; แอลมา 34:8–12

เฉพาะพระเยซูคริสต์เท่านั้นทรงสามารถทำการชดใช้อันไม่มีขอบเขตได้

ให้ดูและเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเจมส์ อี. เฟาสท์ (1920–2007) แห่งฝ่ายประธานสูงสุด

ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์

“ข้าพเจ้าอยากจะพูดถึงเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ที่สุดเหนือประวัติศาสตร์ทั้งมวล เหตุการณ์อันเป็นเลิศนั้นคือการชดใช้ที่มิอาจหาสิ่งใดมาเทียบได้ของพระเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดของเรา พระเยซูพระคริสต์ เป็นการกระทำสำคัญที่สุดที่เคยเกิดขึ้น” (“การชดใช้: ความหวังอันยิ่งใหญ่ที่สุดของเรา,” เลียโฮนา, ม.ค. 2002, 22)

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 34:8–12 ขณะชั้นเรียนทำเครื่องหมายคำและวลีสำคัญๆ ที่แสดงว่าเหตุใดการชดใช้จึงเป็นเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

  • เหตุใดการชดใช้ของพระเยซูคริสต์จึงเป็นเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น (เน้นความจริงต่อไปนี้: การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์ ทำให้ความรอดเกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทั้งปวง)

ท่านอาจแบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน

“การชดใช้อันไม่มีขอบเขตจำเป็นต่อการไถ่อาดัม เอวา และลูกหลานทั้งหมดของพวกท่าน … ตามที่กล่าวไว้ในกฎนิรันดร์ การชดใช้เรียกร้องการเสียสละของสัตภาวะอมตะที่ไม่อยู่ใต้เงื่อนไขของความตาย ทว่าผู้นั้นต้องตายและรับร่างกายคืนอีกครั้ง พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นพระองค์เดียวผู้จะทำสิ่งนี้สำเร็จ พระองค์ทรงสืบทอดเดชานุภาพในการสิ้นพระชนม์จากพระมารดาของพระองค์ พระองค์ทรงได้รับเดชานุภาพเหนือความตายจากพระบิดาของพระองค์” (Constancy amid Change, Ensign, Nov. 1993, 34).

  • เหตุใดพระเยซูคริสต์จึงทรงเป็นพระองค์เดียวที่สามารถไถ่ทุกคนได้ (พระองค์ทรงเป็นสัตภาวะอมตะที่ไม่อยู่ใต้เงื่อนไขของความตาย)

  • การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์ในทางใด

เพื่อช่วยตอบคำถามนี้ ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน

“การชดใช้ [ของพระเยซูคริสต์] ไม่มีขอบเขต—ไม่มีการสิ้นสุด ไม่มีขอบเขตเช่นกันในเรื่องที่ว่ามนุษย์ทั้งปวงจะได้รับการช่วยให้รอดจากความตายที่ไม่สิ้นสุด ไม่มีขอบเขตในแง่ของความทุกขเวทนาใหญ่หลวงของพระองค์ … ไม่มีขอบเขตในขอบข่าย—ต้องทำครั้งเดียวให้ทุกคน และความเมตตาของการชดใช้ไม่เพียงขยายไปถึงคนมากมายนับไม่ถ้วนเท่านั้น แต่ถึงโลกมากมายนับไม่ถ้วนที่พระองค์ทรงสร้างด้วย ไม่มีขอบเขตเหนือระดับการวัดหรือความเข้าใจของมนุษย์” (ดู “การชดใช้,” เลียโฮนา, ม.ค. 1997, 39)

อธิบายว่าเมื่อสิ้นสุดการปกครองของกษัตริย์เบ็นจามิน เขาสอนผู้คนว่าเทพได้ประกาศข่าวสารซึ่งเป็น “ข่าวอันน่ายินดีแห่งความปรีดียิ่ง” แก่ท่านซึ่งจะทำให้ผู้คน “เปี่ยมด้วยปีติ” (โมไซยาห์ 3:2–4) ขอให้นักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก โมไซยาห์ 3:5–11 ขณะชั้นเรียนดูตามโดยมองหา “ข่าวอันน่ายินดี” ที่กษัตริย์เบ็นจามินพูดถึง

  • ท่านคิดว่าข่าวสารอะไรในข้อเหล่านี้ทำให้ผู้คนของกษัตริย์เบ็นจามินเปี่ยมด้วยปีติ (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เน้นว่าพระเยซูคริสต์ทรงทำให้ความรอดเกิดขึ้นได้)

  • คำหรือวลีใดพูดถึงราคาที่พระเยซูคริสต์ทรงจ่ายเพื่อความรอดของเรา

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทาลเมจ (1862–1933) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทาลเมจ

“ความคิดที่จำกัดไม่สามารถหยั่งถึงความปวดร้าวของพระคริสต์ในสวนอีกทั้งความสาหัสและสาเหตุนั้นได้ … พระองค์ทรงดิ้นรนและคร่ำครวญภายใต้ภาระอย่างชนิดที่ไม่มีสัตภาวะอื่นใดผู้เคยมีชีวิตบนแผ่นดินโลกจะเข้าใจได้ ไม่ใช่ความเจ็บปวดทางกาย ทั้งไม่ใช่ความปวดร้าวทางใจเพียงอย่างเดียวที่ทำให้พระองค์ทรงทนทุกข์แสนสาหัสจนพระโลหิตออกจากทุกรูขุมขน แต่คือความปวดร้าวทางวิญญาณของจิตวิญญาณซึ่งมีเพียงพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่จะสามารถทนได้ ไม่มีมนุษย์คนใดสามารถทนทุกข์เช่นนั้นได้ ไม่ว่าเขาจะมีพลังความอดทนทางกายหรือทางใจมากเพียงใดก็ตาม” (Jesus the Christ, 3rd ed. [1916], 613)

  • ท่านมีความคิดและความรู้สึกอะไรบ้างขณะไตร่ตรองความทุกขเวทนาอันใหญ่หลวงของพระเยซูคริสต์เพื่อเรา

2 นีไฟ 9:6–12, 20–22

พระเยซูคริสต์ทรงเอาชนะทั้งความตายทางร่างกายและความตายทางวิญญาณ

ขอให้นักเรียนจินตนาการว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าไม่มีการชดใช้ เพื่อช่วยให้นักเรียนนึกภาพว่าสภาพของมนุษย์จะเป็นเช่นไรถ้าไม่มีการชดใช้ ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 9:6–9 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาวลีที่บอกว่าชะตากรรมของเราจะเป็นเช่นไรหากปราศจากการชดใช้

  • ตามที่ศาสดาพยากรณ์เจคอบกล่าว จะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของเราถ้าไม่มีการชดใช้ จะเกิดอะไรขึ้นกับวิญญาณของเรา

เตือนนักเรียนว่าข่าวสารหลักของพระกิตติคุณคือ เพราะการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เราจึงไม่ต้องประสบสภาพอันน่าสะพรึงกลัวเช่นนั้น

ขอให้นักเรียนสองคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 2 นีไฟ 9:10–12, 20–22 ขณะชั้นเรียนมองหาวิธีที่เราได้รับการปลดปล่อยจากความตายทางร่างกายและทางวิญญาณ

  • อะไรคือวิธีที่เตรียมไว้ให้เราหนีพ้นความตายทางวิญญาณและทางร่างกาย (ช่วยนักเรียนสรุปหลักคำสอนต่อไปนี้: โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ พระองค์ทรงเอาชนะผลของความตายทางร่างกายและทางวิญญาณ)

  • ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับพรของการฟื้นคืนชีวิต (ร่างกายของเราและวิญญาณของเราจะรวมเป็นหนึ่งเดียวชั่วนิรันดร์ พระองค์จะทรงนำเรากลับไปยังที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อรับการพิพากษา)

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“โดยการชดใช้และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ พระเยซูคริสต์ทรงเอาชนะการตกในทุกด้าน ความตายทางร่างกายเป็นเพียงชั่วคราว แม้แต่ความตายทางวิญญาณก็มีจุดสิ้นสุด เพราะทุกคนกลับมาในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า อย่างน้อยระยะเวลาหนึ่ง เพื่อรับการพิพากษา” (“การฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 112)

  • ท่านสำนึกคุณเมื่อใดที่พระเยซูคริสต์ทรงเอาชนะความตายทางร่างกายและความตายทางวิญญาณ

โมไซยาห์ 3:11, 16; 15:7–9; แอลมา 7:11–13; โมโรไน 8:8–12; หลักคำสอนและพันธสัญญา 137:7–9

โดยผ่านการชดใช้ของพระองค์ พระเยซูคริสต์ทรงมอบการไถ่ให้คนทั้งปวง

เตือนนักเรียนว่านอกจากปลดปล่อยมวลมนุษย์จากความตายทางร่างกายและทางวิญญาณอันเนื่องจากการตกแล้ว พระเยซูคริสต์ทรงสามารถปลดปล่อยเราจากความตายทางวิญญาณอันเนื่องจากบาปของเราด้วย เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 15:7–9 ขณะชั้นเรียนดูว่าพระคริสต์ทรงทำให้เราได้รับการไถ่จากบาปของเราอย่างไร

  • ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับวิธีที่พระคริสต์ทรงทำให้เราได้รับการไถ่จากบาปของเรา (เน้นหลักคำสอนนี้: โดยผ่านการชดใช้ พระเยซูคริสต์ทรงทำให้สายรัดแห่งความตายขาดและทรงรับเอาความชั่วช้าสามานย์ของเราไว้กับพระองค์ ทรงสนองข้อเรียกร้องของความยุติธรรม และได้รับอำนาจในการวิงวอนแทนเรา)

  • คำว่า วิงวอนแทน หมายถึงอะไร (การวิงวอนแทน คือการเข้ามาแทรกระหว่างสองฝ่ายเพื่อช่วยให้พวกเขายอมรับความแตกต่าง ในกรณีนี้ พระเยซูทรงวิงวอนแทนเรากับพระผู้เป็นเจ้าเพื่อให้ความสัมพันธ์ที่ขาดสะบั้นเพราะบาปของเรากลับมาเหมือนเดิม)

อธิบายว่าพระคัมภีร์มอรมอนช่วยให้เราเข้าใจว่าการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ช่วยให้เด็กเล็กๆ และคนที่สิ้นชีวิตโดยไม่ได้รับพระกิตติคุณหรือรับบัพติศมารอดได้อย่างไร

ให้นักเรียนส่วนหนึ่งอ่าน โมไซยาห์ 3:16 ในใจและทำการอ้างโยงกับ โมโรไน 8:8–12 ให้นักเรียนอีกส่วนหนึ่งอ่าน โมไซยาห์ 3:11 และทำการอ้างโยงกับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 137:7–9

  • ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับความรอดของเด็กที่สิ้นชีวิตก่อนรับบัพติศมา

  • ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับความรอดของคนที่ “ตายโดยไม่รู้พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า” (โมไซยาห์ 3:11)

บอกนักเรียนว่าโดยผ่านการชดใช้ พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีพระเมตตาสงสารอย่างสมบูรณ์จนเข้าใจเราและช่วยให้เราฟันฝ่าความท้าทายของความเป็นมรรตัย ขอให้นักเรียนค้นคว้า แอลมา 7:11–13 โดยมองหาคำที่พูดถึงความท้าทายในมรรตัยที่พระเยซูคริสต์ทรงประสบอันเป็นส่วนหนึ่งของการชดใช้ ขณะนักเรียนรายงานสิ่งที่พบ ให้เขียนคำต่อไปนี้ไว้บนกระดาน ความเจ็บปวด ความทุกข์ การล่อลวง ความป่วยไข้ ความตาย ความทุพพลภาพ (ความอ่อนแอหรือการไร้ความสามารถ) และ บาป ชี้ให้เห็นวลี “ทุกอย่าง” ใน แอลมา 7:11 และขอให้นักเรียนยกตัวอย่างสภาพต่างๆ ที่เขียนไว้บนกระดาน

ชี้ให้เห็นว่าวลี “รับเอา” กล่าวซ้ำหลายครั้งใน ข้อ 11–13 (หมายเหตุ: การระบุคำซ้ำเป็นทักษะการศึกษาพระคัมภีร์ที่ท่านอาจจะเน้นตรงนี้ การสังเกตคำซ้ำในพระคัมภีร์จะช่วยให้ผู้เรียนค้นพบประเด็นหลักที่เน้น)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 11–12 เหตุใดพระเยซูคริสต์ทรง “รับเอา“ ความเจ็บปวด ความป่วยไข้ ความทุพพลภาพ และสภาพอื่นที่เขียนไว้บนกระดาน (ช่วยให้นักเรียนค้นพบหลักธรรมต่อไปนี้: พระผู้ช่วยให้รอดทรงรับเอาความเจ็บปวด ความป่วยไข้ และความทุพพลภาพของเรามาไว้กับพระองค์เพื่อพระองค์จะทรงช่วยเราได้เมื่อเราประสบความท้าทายของความเป็นมรรตัย

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดไม่เพียงยกภาระบาปจากเราไปเท่านั้น แต่ยกภาระของความผิดหวังและโทมนัสของเรา ความปวดร้าวและความสิ้นหวังของเราไปด้วย [ดู แอลมา 7:11–12] นับแต่กาลเริ่มต้น ความวางใจในความช่วยเหลือเช่นนั้นให้ทั้งเหตุผลและวิธีปรับปรุงแก่เรา เป็นแรงจูงใจให้วางภาระของเราและรับเอาความรอดของเรา” (“แตกสลายแต่ซ่อมได้,” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, 85)

  • การวางใจในการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดจะมีผลต่อการกระทำและมุมมองนิรันดร์ของท่านได้อย่างไร

  • การเข้าใจถึงความจริงใน แอลมา 7:11–13 จะช่วยได้อย่างไรขณะท่านเผชิญความท้าทาย

เชิญนักเรียนแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งพวกเขารู้สึกถึงเดชานุภาพแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ในชีวิตพวกเขา (เตือนพวกเขาว่าอย่าเล่าเรื่องศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นส่วนตัวมากเกินไป)

เชื้อเชิญให้นักเรียนจดสิ่งที่พวกเขาจะทำได้เพื่อให้พลังแห่งการเยียวยาและการเพิ่มพลังแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เกิดผลในชีวิตพวกเขา เชื้อเชิญให้พวกเขาทำตามความรู้สึกของตน

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน