วิธีใช้ดนตรีในปฐมวัย
จุดประสงค์ของดนตรีในปฐมวัยคือเพื่อสอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์แก่เด็กและช่วยให้เด็กเรียนรู้วิธีดำเนินชีวิตตามนั้น เพลงปฐมวัยทำให้การเรียนรู้สนุกขึ้น ช่วยให้เด็กเรียนรู้และจดจำความจริงพระกิตติคุณ และอัญเชิญพระวิญญาณ
ต่อไปนี้เป็นเทคนิคที่จะช่วยท่านสอนพระกิตติคุณผ่านดนตรี ตัวอย่างต่างๆ จะช่วยท่านสอนเพลงที่แนะนำไว้ในโครงร่างนี้ ดูหมวด “วิธีใช้ดนตรีในปฐมวัย” ในโครงร่างสำหรับแนวคิดเพิ่มเติมปี 2010 และ 2011
สอนพระกิตติคุณผ่านดนตรี
บทเรียนสำคัญที่สุดบางบทในปฐมวัยสอนผ่านดนตรี “เพลงจะเพิ่มความเข้าใจของเด็กเกี่ยวกับหลักธรรมพระกิตติคุณและทำให้ประจักษ์พยานของเขาเข้มแข็ง” (มกรส หน้า 174) ท่านอาจถามคำถามเกี่ยวกับเพลงเพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจความหมายของเพลงนั้น ตัวอย่างเช่น “เลือกสิ่งดี” (เพลงสวด บทเพลงที่ 122) สอนว่าเราไม่ได้ถูกทิ้งให้ตัดสินใจในชีวิตเพียงลำพัง พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์จะทรงนำทางเราในการเลือกที่ชอบธรรม วาดรูปโล่ ลสด สามรูปบนกระดานและเขียนคำถามต่อไปนี้ไว้ในนั้น “ใครจะนำฉันให้เลือกสิ่งดี” “เมื่อใดจะช่วยให้แสงตระการ” และ “มีสัญญาอะไรเมื่อฉันเลือกสิ่งดี” ชี้ไปที่โล่รูปแรก อ่านคำถามด้วยกัน ขอให้เด็กฟังขณะท่านร้องเพลงแล้วลุกขึ้นยืนเมื่อได้ยินคำตอบ ให้พวกเขาร้องคำตอบพร้อมกับท่านสองสามครั้ง นี่จะช่วยให้พวกเขาจำเนื้อร้องและทำนองได้ ทำซ้ำกับคำถามอีกสองข้อ สนทนาข้อความหรือคำที่เด็กอาจไม่เข้าใจ ร้องทั้งเพลง และเตือนเด็กว่าเมื่อพวกเขาร้องเพลงนี้ พวกเขากำลังเป็นพยานว่าพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์จะทรงช่วยเราถ้าเราฟังและเลือกสิ่งดี
ให้เด็กทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมดนตรี
เด็กทุกวัยไม่ว่าจะมีความสามารถด้านใดล้วนตอบสนองต่อดนตรีและชอบมีส่วนร่วมในกิจกรรมดนตรี จังหวะเพลงช่วยให้เด็กจำสิ่งที่พวกเขาร้องและข่าวสารของคำร้อง ขณะที่ท่านร้องเพลง “กล้าทำสิ่งถูก” (พด หน้า 80) ท่านอาจเพิ่มความหลากหลายของจังหวะความช้าเร็วและระดับความดังค่อยของเพลง หรือสอนศัพท์ดนตรี เช่น legato (ช้าและต่อเนื่อง) และ staccato (เร็วและสั้น) ให้เด็กร้องทั้งสองวิธี
เด็กชอบมีส่วนร่วมในการทำท่าทางประกอบเพลงเช่นกัน อาทิ ปรบมือตามจังหวะหรือทำท่ามือให้ตรงกับเนื้อร้อง ในเพลง “คนมีปัญญาและคนโง่” (พด หน้า 132) ท่ามือจะช่วยให้เด็กจดจ่อกับเนื้อร้องของเพลง ท่านอาจใช้ท่าประกอบด้วยเมื่อร้องเพลง “ความกล้าหาญของนีไฟ” (พด หน้า 64–65) ตัวอย่างเช่น ขอให้เด็กทำท่าถือโล่ด้วยแขนข้างเดียวขณะร้องว่า “ฉันจะไป” ทำท่าถือดาบไว้เหนือศีรษะเมื่อร้องว่า “ฉันจะทำสิ่งที่พระเจ้าบัญชา” เดินย่ำเท้าอยู่กับที่เมื่อร้องว่า “ฉันรู้ว่าพระเจ้าทรงเตรียมทาง และฉันต้องเชื่อฟัง” เชื้อเชิญเด็กๆ ให้คิดท่าที่เหมาะกับเพลง (บางท่าอาจไม่เหมาะกับการนำเสนอการประชุมศีลระลึก)
ทบทวนเพลงเพื่อเสริมน้ำหนักหลักธรรมพระกิตติคุณ
เมื่อท่านสอนเพลง ท่านจะต้องทวนบ่อยๆ เพื่อให้เด็กเรียนรู้ ท่านจะต้องทบทวนเพลงตลอดปีเพื่อให้เด็กจำได้ไม่ลืม หลังจากสอนเพลงหนึ่ง ให้ทบทวนและร้องให้สนุกโดยใช้หลายๆ วิธี ยังคงร้องต่อไปแม้หลังจากนำเสนอการประชุมศีลระลึกแล้วเพื่อเด็กๆ จะจำได้ ท่านอาจเขียนเพลงที่ต้องการให้เด็กทบทวนไว้ตามอุปกรณ์แต่ละชิ้น (ตัวอย่างเช่น ดอกไม้ในแจกัน ปลากระดาษในสระ ขนบนตัวไก่งวง ใบไม้บนต้นไม้ หรือหัวใจรอบห้อง) ขอให้เด็กเลือกอุปกรณ์ทีละหนึ่งอย่างแล้วร้องเพลง ต่อไปนี้เป็นแนวคิดเพิ่มเติมบางประการสำหรับวิธีทบทวนเพลง (ทัศนอุปกรณ์มีอยู่ที่ sharingtime.lds.org):
-
ลูกเต๋าประกอบการร้องเพลง ทำลูกเต๋าโดยเขียนท่าประกอบที่แตกต่างกันไว้บนลูกเต๋าแต่ละด้าน ขอให้เด็กคนหนึ่งทอยลูกเต๋าเพื่อดูว่าพวกเขาจะทำท่าใดตอนร้องเพลง
-
เด็กผู้หญิงร้อง/เด็กผู้ชายร้อง ทำรูปเด็กผู้ชายและรูปเด็กผู้หญิง ทากาวติดรูปเหล่านั้นไว้บนไม้สองชิ้นแยกกัน ขณะทบทวนเพลง ให้เปลี่ยนรูปเพื่อบอกว่าใครร้อง นี่จะช่วยให้เด็กร่วมมือเต็มที่
-
หุ่นประกอบการร้องเพลง: ถ่ายเอกสารหน้า 63 จากคู่มือบริบาล จงดูเด็กเล็กๆ ของเจ้าตัดให้เด็กแต่ละคนระบายสี ทากาวแล้วติดรูปกับถุงกระดาษทำเป็นหุ่น ให้เด็กร้องเพลงพร้อมกับถือหุ่นของพวกเขา
-
โยนลงตะกร้า ให้เด็กคนหนึ่งโยนถุงถั่วหรือกระดาษที่ขยำเป็นก้อนลงในตะกร้า ถ้าเด็กโยนครั้งแรกลงตะกร้า ให้เด็กร้องเพลงหนึ่งเที่ยว ถ้าโยนสองครั้งลงตะกร้า ให้ร้องเพลงสองเที่ยว และทำเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ