กรกฎาคม
ฉันเลือกสิ่งดีโดยดำเนินชีวิตตามหลักธรรมพระกิตติคุณ
“ดังนั้น, ให้เราซื่อสัตย์ในการรักษาพระบัญญัติของพระเจ้า” (1 นีไฟ 3:16)
ร้องเพลง “คนมีปัญญาและคนโง่”
(พด หน้า 132) หรือเพลงที่ท่านเลือกจาก หนังสือเพลงสำหรับเด็ก
เสริมแนวคิดที่ให้ไว้ด้วยแนวคิดบางอย่างของท่านเอง แต่ละสัปดาห์ให้วางแผนวิธี (1) ระบุหลักคำสอน (2) ช่วยให้เด็กเข้าใจหลักคำสอน และ (3) ช่วยให้เด็กประยุกต์ใช้หลักคำสอนในชีวิตพวกเขา ถามตัวท่านว่า “เด็กต้องทำอะไรจึงจะเรียนรู้ และฉันจะช่วยให้พวกเขารู้สึกถึงพระวิญญาณได้อย่างไร”
สัปดาห์ 1: การอดอาหารและการสวดอ้อนวอนเสริมสร้างประจักษ์พยานของฉัน
ระบุหลักคำสอน (ดูบทเรียนที่ใช้อุปกรณ์) เตรียมบัตรคำสองใบ การอดอาหาร และ การสวดอ้อนวอน ให้เด็กสองคนออกมายืนชิดกัน และแจกบัตรคำคนละใบ ให้เด็กอีกคนหนึ่งเดินแทรกระหว่างเด็กทั้งสอง ขอให้เด็กสองคนแรกเกี่ยวแขนกันให้แน่น และให้เด็กอีกคนหนึ่งพยายามเดินแทรกระหว่างพวกเขาอีกครั้ง ชี้ให้เห็นว่าเด็กทั้งสองแข็งแกร่งขึ้นเมื่อพวกเขาเกี่ยวแขนกัน อธิบายว่าการอดอาหารและการสวดอ้อนวอนมีพลังมากขึ้นเมื่อเราใช้ทั้งสองอย่างด้วยกัน เขียนบนกระดานว่า “การอดอาหารและการสวดอ้อนวอนเสริมสร้างประจักษ์พยานของฉัน” ให้เด็กอ่านทวนข้อความนี้พร้อมกัน
ส่งเสริมความเข้าใจ (ฟังพระคัมภีร์และมีส่วนร่วมในบทเรียนที่ใช้อุปกรณ์) ขณะที่ท่านอ่าน แอลมา 17:2–3 ให้เด็กฟังสิ่งที่พวกบุตรชายของโมไซยาห์ทำเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในพระกิตติคุณ ให้เด็กเบ่งกล้ามทุกครั้งที่ได้ยินบางอย่างซึ่งช่วยให้พวกบุตรของโมไซยาห์เข้มแข็ง
นำการสนทนาเรื่องการอดอาหารโดยถามคำถามหลายๆ ข้อเช่น “การอดอาหารคืออะไร” “เหตุใดเราจึงอดอาหาร” “เราควรอดอาหารเมื่อใด” และ “เหตุใดเราจึงสวดอ้อนวอนเมื่อเราอดอาหาร” (ดู โจเซฟ บี. เวิร์ธลิน “กฎการอดอาหาร” เลียโฮนา พฤษภาคม 2011 หน้า 105–108) ให้เด็กทุกคนที่เพิ่มเติมการสนทนาจับปลายด้านหนึ่งของเชือกแต่ละเส้น และท่านจับปลายอีกด้านของเชือกแต่ละเส้นเหล่านั้น เมื่อสิ้นสุดการสนทนา ให้เด็กที่จับเชือกมาอยู่กลางห้องแล้วฟั่นเชือกทุกเส้นด้วยเข้าด้วยกันทำเป็นเชือกเหนียวๆ เส้นเดียว อธิบายว่าแต่ละเกลียวที่เราเพิ่มเข้ามาในเส้นเชือกจะทำให้เชือกเหนียวขึ้น ช่วยให้เด็กเข้าใจว่า ในทำนองเดียวกัน ทุกครั้งที่เราอดอาหารและสวดอ้อนวอน เรากำลังเพิ่มความเข้มแข็งให้ประจักษ์พยานของเรา
สัปดาห์ 2: การมีเมตตาคือการทำและพูดเรื่องดีๆ กับผู้อื่น
ระบุหลักคำสอน (ท่องพระคัมภีร์) เขียนบนกระดานว่า “จงเมตตาต่อกัน” (เอเฟซัส 4:32) พร้อมกับเขียนเลข 1 ถึง 5 ไว้ใต้คำแต่ละคำด้วย กำหนดเลข 1 ถึง 5 ให้เด็กแต่ละคน เริ่มโดยให้ทุกคนที่ได้เลข 1 ยืนขึ้นพูดว่า “จง” แล้วรีบนั่งลง จากนั้นให้ทุกคนที่ได้เลข 2 พูดว่า “เมต” แล้วรีบนั่งลง ทำเช่นนี้กับถ้อยคำที่เหลือ ทำซ้ำหลายๆ ครั้ง แล้วให้เด็กทุกคนท่องข้อความนี้พร้อมกัน
ส่งเสริมความเข้าใจ (ฟังเรื่องเล่าและร้องเพลง) เล่าเรื่องเกี่ยวกับความเมตตาให้เด็กฟัง เช่นเรื่อง “ปกป้องคาเล็บ” (เลียโฮนา มี.ค. 2009 หน้า พ8–พ9) ให้เด็กยกนิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างเมื่อได้ยินเรื่องราวของการแสดงความเมตตาในเรื่องเล่าและเอานิ้วหัวแม่มือลงเมื่อได้ยินเกี่ยวกับการกระทำอันไร้เมตตา ร้องเพลง “ความเมตตาเริ่มที่เรา” (พด หน้า 83) ให้เด็กลุกขึ้นยืนเมื่อพวกเขาร้องถึงตอนที่ว่าเราควรเมตตาใคร ร้องเพลงอีกครั้ง และให้พวกเขาชี้นิ้วหัวแม่มือมาที่ตนเองเมื่อร้องว่า “ความเมตตาเริ่มที่เรา”
ส่งเสริมการประยุกต์ใช้ (บอกวิธีแสดงความเมตตา) ใช้บัตรคำ รูปภาพ หรืออุปกรณ์ง่ายๆ (เช่น เน็กไทแทนพ่อ หรือไม้เท้าแทนคุณปู่) แทนคนหลายๆ คนในชีวิตเด็ก (เช่น พ่อ แม่ พี่สาวน้องสาว พี่ชายน้องชาย ปู่ย่าตายาย เพื่อน หรือครู) แจกอุปกรณ์เหล่านั้นให้เด็กสองสามคน และเชิญพวกเขาออกมาหน้าชั้น ให้เด็กแต่ละคนบอกสิ่งดีๆ ที่พวกเขาพูดหรือทำเพื่อบุคคลนั้นได้ แล้วให้พวกเขาส่งบัตรคำ รูปภาพ หรืออุปกรณ์ให้เด็กคนอื่น ทำซ้ำเท่าที่เวลาเอื้ออำนวย
สัปดาห์ 3: ความคารวะคือความเคารพและความรักอย่างสุดซึ้งต่อพระผู้เป็นเจ้า
ระบุหลักคำสอน (ร้องเพลง) เตรียมเชือกหลายๆ เส้นทำเป็นสร้อยคอแล้วติดหัวใจกระดาษไว้ที่สร้อยแต่ละเส้น เขียนคำหรือข้อความสำคัญจากเพลง “ความคารวะคือความรัก”(พด หน้า 12) ไว้ที่หัวใจแต่ละดวง (ตัวอย่างเช่น นั่งสงบ คิด รู้สึก และอื่นๆ) เชิญชวนเด็กหลายๆ คนให้สวมสร้อยคอ ร้องเพลง “ความคารวะคือความรัก” และให้เด็กที่สวมสร้อยคอเดินด้วยความคารวะมาหน้าชั้นเมื่อร้องตรงคำที่เขียนไว้บนหัวใจของพวกเขา เชิญเด็กที่สวมสร้อยคอยืนเรียงตามลำดับและร้องเพลงอีกครั้ง
ส่งเสริมการประยุกต์ใช้ (สนทนาเรื่องความคารวะ) เตรียมบัตรคำหรือวาดรูปง่ายๆ ของตา มือ เท้า หู ปาก และจิตใจ แบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มๆ และให้แต่ละกลุ่มเลือกบัตรคำหรือรูปภาพหนึ่งหรือสองรูป ให้แต่ละกลุ่มบอกหลายๆ วิธี (ด้วยคำพูดหรือการกระทำ) ที่ร่างกายส่วนนั้นสามารถแสดงความคารวะและความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าได้
สัปดาห์ 4: ความซื่อสัตย์คือการพูดความจริงไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร
ส่งเสริมความเข้าใจ (สนทนาเกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้น) เตรียมกรณีศึกษาหลายๆ กรณี (ดู มกรส หน้า 161–162) ซึ่งเด็กต้องพบเจอการเลือกให้ซื่อสัตย์หรือไม่ซื่อสัตย์ ตัวอย่างเช่น “หนูตีน้องชาย และคุณแม่ถามว่าทำไมน้องร้องไห้” ถามว่า “อะไรคือผลของการเป็นคนซื่อสัตย์” แล้วถามว่า “อะไรคือผลของการเป็นคนไม่ซื่อสัตย์” ช่วยให้เด็กพบว่าผลของความซื่อสัตย์อาจไม่เกิดขึ้นทันทีแต่ผลระยะยาวนำไปสู่สันติและความสุข
ส่งเสริมการประยุกต์ใช้ (แต่งคำประพันธ์) เชิญชวนเด็กแต่ละชั้น (ด้วยความช่วยเหลือของครู) ให้แต่งประโยคหรือคำประพันธ์หนึ่งบรรทัดเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ ตัวอย่างเช่น “ยึดมั่นในความจริง คือสิ่งที่พึงกระทำ” เชิญเด็กแต่ละชั้นให้บอกข้อความของพวกเขากับเด็กคนอื่นๆ กระตุ้นพวกเขาให้ท่องข้อความนั้นทุกครั้งที่ถูกล่อลวงให้ไม่ซื่อสัตย์