“ขั้นตอนที่ 1: ยอมรับว่าตัวเราไม่มีพลังที่จะเอาชนะสิ่งที่เราเสพติด และชีวิตเราอยู่ในภาวะที่จัดการไม่ได้,” การเยียวยาผ่านพระผู้ช่วยให้รอด: คู่มือการบำบัด 12 ขั้นตอนของโปรแกรมบําบัดการเสพติด (2023)
“ขั้นตอนที่ 1,” คู่มือการบำบัด 12 ขั้นตอนของโปรแกรมบําบัดการเสพติด
ขั้นตอนที่ 1: ยอมรับว่าตัวเราไม่มีพลังที่จะเอาชนะสิ่งที่เราเสพติด และชีวิตเราอยู่ในภาวะที่จัดการไม่ได้
หลักธรรมสําคัญ: ความซื่อสัตย์
พวกเราหลายคนเริ่มเสพติดเพราะความอยากรู้อยากเห็น บางคนเข้ามาพัวพันเพราะความจําเป็นอันสมควร (เช่น ยาที่ต้องสั่งโดยแพทย์) หรือเป็นการกระทำเพื่อต่อต้าน บางคนเริ่มจากความพยายามหลีกหนีจากความเจ็บปวด หลายคนเริ่มต้นบนเส้นทางนี้ตั้งแต่เมื่อพ้นวัยเด็กเท่านั้น ไม่ว่าแรงจูงใจและสภาวการณ์ของเราจะเป็นอย่างไร ในไม่ช้าเราจะพบว่าการเสพติดบรรเทามากกว่าแค่ความเจ็บปวดทางร่างกาย การเสพติดช่วยลดความเครียดหรือทําให้เรารู้สึกชินชา ทั้งยังช่วยให้เราหนีปัญหา—หรือที่เราคิดว่าเป็นเช่นนั้น เรารู้สึกเป็นอิสระจากความกลัว ความกังวล ความเหงา ความท้อแท้ ความเสียใจ หรือความเบื่อหน่ายอยู่พักหนึ่ง แต่เนื่องจากชีวิตเต็มไปด้วยสภาวะที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกแบบนี้ เราจึงกลับไปใช้สิ่งที่เราเสพติดบ่อยขึ้น การเสพติดกลายเป็นหนึ่งในวิธีหลัก ที่เราใช้รับมือกับความต้องการและอารมณ์ของเรา พระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์เข้าพระทัยการต่อสู้ดิ้นรนนี้ ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์กล่าวว่า “พระเยซูทรงเห็นว่าบาปเป็นสิ่งที่ผิด แต่ทรงสามารถเห็นเช่นกันว่าบาปเกิดจากความต้องการที่ลึกซึ้งและไม่ได้รับการตอบสนองของผู้ที่ทำบาป” (“Jesus: The Perfect Leader,” Ensign, Aug. 1979, 5)
อย่างไรก็ตาม พวกเราส่วนใหญ่ยังไม่รับรู้หรือยอมรับว่าเราสูญเสียความสามารถในการต้านทานและเลิกเสพติดด้วยตนเองไปแล้ว เมื่อถึงจุดต่ำสุด หลายคนรู้สึกว่าเรามีทางเลือกไม่กี่ทาง ดังที่ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันอธิบายว่า “การเสพติดทำให้อิสรภาพของการเลือกในภายหลังหมดไป สารเคมีทำให้คนๆ นั้นไม่สามารถเชื่อมต่อกับจิตของตนได้เลย” (“Addiction or Freedom,” Ensign, Nov. 1988, 7)
เราอยากเลิกแต่ไร้ความหวัง บางคนเต็มไปด้วยความกลัวและความสิ้นหวัง จนถึงกับคิดว่าการจบชีวิตตนเองเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ แต่เราตระหนักว่านี่ไม่ใช่เส้นทางที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้เราเดิน
เป็นเรื่องยากที่จะยอมรับพฤติกรรมเสพติดของเรา เราปฏิเสธความร้ายแรงของอาการและพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกตรวจจับ รวมถึงผลที่ตามมาจากการเลือกของเรา โดยการกดหรือปิดบังพฤติกรรมของเรา เราไม่รู้ตัวว่าการหลอกลวงผู้อื่นและตนเองจะทำให้เรายิ่งถลำลึกไปกับการเสพติดมากขึ้น เมื่อความรู้สึกไร้พลังในการต่อสู้กับการเสพติดเพิ่มมากขึ้น หลายคนเริ่มโทษครอบครัว เพื่อน ผู้นําศาสนจักร และแม้แต่พระผู้เป็นเจ้า เรายิ่งจมดิ่งลงไปสู่ความโดดเดี่ยวมากขึ้น แยกตนเองออกห่างจากผู้อื่น—โดยเฉพาะพระผู้เป็นเจ้า
เมื่อเราหันไปพึ่งการโกหกและการปิดบัง เพื่อหวังที่จะหาข้อแก้ตัว หรือโทษผู้อื่น เราก็จะยิ่งอ่อนแอลงทางวิญญาณ ทุกครั้งที่เราโกหกและปิดบังการเสพติด เราจะผูกมัดตนเองไว้ด้วย “ใยป่าน” ที่ในไม่ช้าจะแข็งแรงเหมือนโซ่ตรวน (2 นีไฟ 26:22) แต่เมื่อถึงเวลาที่เราต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริง การโกหกหรือพูดว่า “ไม่เลวร้ายขนาดนั้น!” ไม่สามารถปกปิดการเสพติดของเราได้อีกต่อไป
คนที่เรารัก แพทย์ ผู้พิพากษา หรือผู้นําทางศาสนาบอกความจริงที่เราไม่อาจปฏิเสธได้อีกว่า การเสพติดกําลังทําลายชีวิตเรา เมื่อเราสำรวจอดีตด้วยความจริงใจ เรายอมรับว่าสิ่งใดที่เราพยายามทำด้วยตัวเองล้วนไร้ผลสำเร็จ เรายอมรับว่าอาการเสพติดแย่ลง เราตระหนักว่าการเสพติดของเราทําลายความสัมพันธ์และช่วงชิงความรู้สึกมีค่าของเราไปมากเพียงใด ณ จุดนี้ เราได้เริ่มก้าวแรกสู่เสรีภาพและการบำบัดด้วยการรวบรวมความกล้าหาญและยอมรับว่าสิ่งนี้เป็นยิ่งกว่าแค่ปัญหาหรือนิสัยไม่ดี
ในที่สุดเรายอมรับความจริงว่าชีวิตเราจัดการไม่ได้และเราต้องการความช่วยเหลือเพื่อเอาชนะการเสพติดของเรา เรายอมรับว่าเราไม่สามารถเยียวยาตนเองได้และยอมรับว่าเราไม่สามารถเลิกเสพได้ไม่ว่าจะเสพติดอะไรก็ตาม เราตระหนักว่าเราต้องการความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้าและผู้อื่นเพื่อให้เราซื่อสัตย์กับตนเอง สิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจเกี่ยวกับการยอมรับความพ่ายแพ้ด้วยความซื่อสัตย์ และการยอมจำนนที่ตามมาของเราคือการบำบัดที่เริ่มต้นขึ้นในที่สุด
ความซื่อสัตย์เป็นพื้นฐานสําหรับขั้นตอนอื่นทั้งหมดและช่วยให้เราตระหนักว่าเราต้องการพระผู้ช่วยให้รอด ประธานดีเทอร์ เอฟ.อุคท์ดอร์ฟ ฝ่ายประธานสูงสุดในขณะนั้นสอนว่า “แต่การที่เราสามารถมองเห็นตนเองอย่างชัดเจนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเติบโตทางวิญญาณและความผาสุกของเรา หากความอ่อนแอและข้อบกพร่องของเรายังคงแฝงอยู่ในเงา เมื่อนั้นอํานาจแห่งการไถ่ของพระผู้ช่วยให้รอดจะไม่สามารถเยียวยาและทําให้สิ่งเหล่านั้นเข้มแข็งได้ [ดู อีเธอร์ 12:27]” (“องค์พระผู้เป็นเจ้าคือข้าพระองค์หรือ?,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 58)
เมื่อเราหมกมุ่นอยู่กับการเสพติด เราโกหกตนเองและผู้อื่น แต่เราไม่สามารถหลอกตนเองได้จริงๆ เราแสร้งทําเป็นว่าเราไม่เป็นไร เต็มไปด้วยความอวดดีและข้อแก้ตัว แต่ลึกๆ ภายในใจเรารู้ดีว่าการหมกมุ่นกับสิ่งเสพติดจะนำไปสู่ความโศกเศร้าที่เลวร้ายยิ่งขึ้น แสงสว่างของพระคริสต์ยังคงเตือนเราเสมอ การปฏิเสธความจริงนี้เป็นเรื่องที่น่าหน่ายใจ การยอมรับเสียทีว่าเรามีปัญหาจะช่วยบรรเทาเรา ในที่สุด เรายินยอมที่จะมีความหวังขึ้นมาเล็กน้อย เมื่อเราเลือกที่จะยอมรับว่าเรามีปัญหาและเต็มใจที่จะขอความช่วยเหลือ เราเปิดโอกาสให้ความหวังนั้นเติบโต
ขั้นตอนการปฏิบัติ
นี่เป็นโปรแกรมแห่งการปฏิบัติ ความก้าวหน้าของเราขึ้นอยู่กับการนําขั้นตอนต่างๆ ไปใช้ในชีวิตประจําวันของเราอย่างสม่ำเสมอ นี่เรียกว่า “การปฏิบัติตามขั้นตอน” การปฏิบัติต่อไปนี้ช่วยให้เรามาหาพระคริสต์และได้รับการนําทางและพลังที่จําเป็นต่อการก้าวต่อไปในการบําบัดของเรา
ทิ้งความจองหองและแสวงหาความอ่อนน้อมถ่อมตน
ความจองหองและความซื่อสัตย์อยู่ร่วมกันไม่ได้ ความจองหองเป็นภาพลวงตาและเป็นองค์ประกอบสําคัญของการเสพติดทั้งหมด ความจองหองบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ตามที่เป็น ตามที่เคยเป็น และตามที่จะเป็น ความจองหองเป็นอุปสรรคสําคัญต่อการบำบัดของเรา ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันกล่าวว่า
“ความจองหองคือการมีอุปนิสัยการชิงดีชิงเด่นเป็นพื้นฐาน เราทำให้ความประสงค์ของเราขัดกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า เมื่อเรามุ่งความจองหองของเราไปที่พระผู้เป็นเจ้า เจตนารมณ์ของเราคือ ‘ขอให้เป็นไปตามความประสงค์ของเราและไม่ใช่ตามพระประสงค์ของพระองค์’ …
“ความประสงค์ของเราชิงดีชิงเด่นกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า จึงทำให้เราไม่ยอมหักห้ามความปรารถนา ความอยาก และลุ่มหลง
“คนจองหองไม่สามารถยอมรับผู้มีอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าที่กำลังชี้นำชีวิตพวกเขา พวกเขาทําให้การรับรู้ความจริงของตนแข่งกับความรู้อันยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า ให้ความสามารถของตนแข่งกับอํานาจฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้า ให้ความสําเร็จของตนแข่งกับงานยิ่งใหญ่ของพระองค์” (คําสอนของประธานศาสนจักร: เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน [2014], 232)
เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราจำเป็นต้องตัดสินใจละทิ้งความจองหอง และซื่อสัตย์ต่อตัวเราเองเกี่ยวกับการเสพติดของเรา ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะอ่อนน้อมถ่อมตนหลังจากหลอกตัวเองมาหลายปี และท้ายที่สุดเลือกที่จะซื่อสัตย์ แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งนี้จะกลายเป็นพรอันประเสริฐ
การทิ้งความจองหองและหันมาอ่อนน้อมถ่อมตน จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเรา พวกเราส่วนใหญ่ไม่ถ่อมตนแต่ “ถูกบังคับให้นอบน้อมถ่อมตน” (แอลมา 32:13) ไม่ว่าทางใด ผลกระทบจากการเสพติดก็จะติดตัวเรา และเราจะสูญเสียสิ่งอันเป็นที่รัก ไม่ว่าจะเป็นบ้าน หน้าที่การงาน ครอบครัว และแม้กระทั่งอิสรภาพของเรา เราสูญเสียความไว้วางใจจากครอบครัวและ เพื่อน เราสูญเสียทั้งความเคารพตนเองและความเชื่อมั่นในการเผชิญความท้าทายของชีวิต เรามาถึงจุดต่ำสุด และแม้ความอ่อนน้อมถ่อมตนที่เกิดขึ้นจะเจ็บปวด แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการบำบัดของเรา
การบำบัดจากการเสพติดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก แต่ในที่สุดเราตระหนักได้ว่าราคาต้องจ่ายเพื่อยังคงเสพติดต่อไปนั้นแพงกว่าราคาของการบำบัดมากนัก เมื่อเราทิ้งความจองหอง เราพร้อมที่จะเริ่มต้นบนเส้นทางสู่อิสรภาพจากการเสพติด
ซื่อสัตย์และพูดคุยกับใครสักคน
การปฏิบัติสําคัญที่ช่วยให้เราซื่อสัตย์เกี่ยวกับการเสพติดของเรา คือการพูดคุยเรื่องนี้กับใครสักคน เพราะการเสพติดของเรา ทําให้เราแก้ต่าง หาเหตุผลเข้าข้างตนเอง และโกหกผู้อื่น รวมทั้งโกหกตัวเราเอง ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงช่ำชองในการหลอกลวง การหลอกลวงนี้ทำให้เราสามารถเสพติดต่อไปได้ และทำให้ยากที่เราจะมองเห็นสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นจริง เมื่อเราคอยลดทอนและแก้ต่างให้พฤติกรรมของเรา เรากำลังเข้าใจผิดว่าเรายังคงควบคุมได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเปิดใจและซื่อสัตย์กับผู้อื่น คนผู้นั้นจะช่วยให้เรามองเห็นความจริงและฝ่าฟันการหลอกลวงได้
บุคคลที่เราอาจต้องการพูดคุยด้วยก่อนคือพระบิดาบนสวรรค์ของเรา เราสามารถสวดอ้อนวอนทูลขอให้พระองค์ทรงช่วยให้เราซื่อสัตย์ เห็นสิ่งต่างๆ ชัดเจน และกล้าที่จะยอมรับความจริง จากนั้นเราสามารถคิดร่วมกับการสวดอ้อนวอนเพื่อหาใครสักคนมาพูดคุยด้วย ผู้ที่เข้าใจในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และเส้นทางแห่งการบำบัด เลือกคนที่ท่านไว้ใจ อาจเป็นคู่สมรส พ่อแม่ สมาชิกในครอบครัว ผู้นําศาสนจักร เพื่อน เพื่อนร่วมงาน นักบําบัด ผู้อุปถัมภ์ ผู้สอนศาสนา หรือวิทยากรในการประชุมบำบัด หลังจากเลือกใครสักคนแล้ว ขั้นต่อไปคือแบ่งปันให้เขารู้ถึงปัญหาที่เราเผชิญอยู่ เราต้องสวดอ้อนวอนขอความกล้าหาญที่จะซื่อสัตย์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทําได้เกี่ยวกับการเสพติดของเรา (ดูเอกสาร “การสนับสนุนในการบำบัด”)
เข้าร่วมการประชุม
การประชุมบำบัดเป็นแหล่งพลังแห่งความหวังและการสนับสนุน ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใด เราสามารถเข้าร่วมการประชุมแบบพบหน้ากันหรือทางออนไลน์ การประชุมเหล่านี้เป็นสถานที่ชุมนุมกับผู้อื่นที่ต้องการการบำบัด และผู้ที่เคยก้าวผ่านเส้นทางนี้มาแล้ว ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพ ในการประชุมบําบัด เราพบผู้อื่นที่มีประสบการณ์ในการใช้ขั้นตอนต่างๆ และประสบความสำเร็จในการบำบัด และผู้ที่เต็มใจช่วยเราในเส้นทางการบำบัดของเราเอง การประชุมบำบัดเป็นสถานที่แห่งความเข้าใจ ความหวัง และการสนับสนุน
ที่การประชุมเหล่านี้ เราศึกษาหลักธรรมพระกิตติคุณที่สามารถช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์สอนว่า “การศึกษาหลักคำสอนของพระกิตติคุณจะปรับปรุงพฤติกรรมได้เร็วกว่าการศึกษาพฤติกรรมเพื่อปรับปรุงพฤติกรรม การหมกมุ่นกับพฤติกรรมที่น่าละอายสามารถนำไปสู่พฤติกรรมที่น่าละอาย นั่นคือสาเหตุที่เราเน้นหนักเรื่องการศึกษาหลักคำสอนของพระกิตติคุณ” (“Little Children,” Ensign, Nov. 1986, 17) การประชุมนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่พึงเปิดเผย ไปที่ AddictionRecovery.ChurchofJesusChrist.org เพื่อหาการประชุมที่อยู่ใกล้ท่าน
ศึกษาและทำความเข้าใจ
การศึกษาพระคัมภีร์และคํากล่าวของผู้นําศาสนจักรจะช่วยเราในการบำบัด การศึกษานี้จะเพิ่มความเข้าใจของเราและช่วยให้เราเรียนรู้ เราใช้พระคัมภีร์ คำกล่าว และคำถามเหล่านี้เพื่อการศึกษา การเขียน และการสนทนากลุ่มร่วมกับการสวดอ้อนวอน
แม้ความคิดที่จะเขียนอาจดูน่าหนักใจ แต่การเขียนเป็นเครื่องมืออันทรงพลังสำหรับการบำบัด การเขียนให้เวลาเราไตร่ตรอง ช่วยให้เราจดจ่อกับความคิด ช่วยให้เราเห็นและเข้าใจปัญหา ความคิด และพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเสพติดของเรา เมื่อเราเขียน เราจะได้บันทึกความคิดของเราด้วย เมื่อเราก้าวหน้าไปตามขั้นตอน เราจะเห็นความก้าวหน้าของเรา สําหรับตอนนี้ จงซื่อสัตย์และจริงใจขณะเขียนความคิด ความรู้สึก และความประทับใจของท่าน
ท่านมั่นใจหรือไม่ว่าไม่สามารถเอาชนะการเสพติดของท่านได้?
“การเสพติดมีพลังที่จะตัดขาดเจตจํานงของมนุษย์และลบล้างสิทธิ์เสรีทางศีลธรรม การเสพติดสามารถช่วงชิงอํานาจในการตัดสินใจไปได้” (Boyd K. Packer, “Revelation in a Changing World,” Ensign, Nov. 1989, 14)
-
อะไรคือสัญญาณบ่งบอกว่าฉันไม่มีพลังเหนือพฤติกรรมเสพติดของฉัน?
-
การเสพติดของฉันส่งผลกระทบต่อฉันอย่างไร?
-
ฉันซ่อนความลับอะไรจากคนอื่นบ้าง?
-
ฉันทำอะไรไปมากน้อยเพียงใดจึงมีพฤติกรรมเสพติดเช่นนี้?
-
ฉันละเมิดศีลธรรมหรือมาตรฐานอะไรบ้าง?
-
ฉันหาเหตุผลเข้าข้างการตัดสินใจเหล่านี้อย่างไร?
ความหิวและความกระหาย
“คนที่หิวและกระหายความชอบธรรมก็เป็นสุขเพราะว่าพระเจ้าจะทรงให้อิ่ม” (มัทธิว 5:6)
“และจิตวิญญาณข้าพเจ้าหิวโหย; และข้าพเจ้าคุกเข่าลงต่อพระพักตร์พระผู้รังสรรค์ของข้าพเจ้า, และข้าพเจ้าร้องทูลพระองค์ในคำสวดอ้อนวอนอย่างสุดกำลังและการวิงวอนเพื่อจิตวิญญาณข้าพเจ้าเอง; และตลอดทั้งวันข้าพเจ้าร้องทูลพระองค์; แท้จริงแล้ว, และเมื่อถึงเวลากลางคืนข้าพเจ้ายังได้เปล่งเสียงข้าพเจ้าขึ้นไปสูงจนถึงสวรรค์” (อีนัส 1:4)
-
ในพระคัมภีร์สองข้อนี้ เราเรียนรู้ว่าจิตวิญญาณเราหิวโหยได้ ฉันเคยรู้สึกว่างเปล่าภายในตนเองบ้างไหม แม้ว่าฉันจะไม่ได้หิวโหย? อะไรเป็นสาเหตุของความว่างเปล่านั้น?
-
ความหิวโหยเรื่องของพระวิญญาณจะช่วยให้ฉันซื่อสัตย์มากขึ้นได้อย่างไร?
ความซื่อสัตย์
“บางคนอาจมองว่าคุณภาพของอุปนิสัยที่เรียกว่าความซื่อสัตย์เป็นเรื่องธรรมดาที่สุด แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่านั่นเป็นแก่นแท้ของพระกิตติคุณ หากปราศจากความซื่อสัตย์สุจริต ชีวิตของเรา … จะสลายตัวไปสู่ความอัปลักษณ์และความโกลาหล” (Gordon B. Hinckley, “We Believe in Being Honest,” Ensign, Oct. 1990, 2)
-
ฉันเคยโกหกและพยายามปกปิดการเสพติดของตนเองในลักษณะใดบ้างทั้งกับตนเองและผู้อื่น? พฤติกรรมนี้ทําให้เกิด “ความอัปลักษณ์และความโกลาหล” อย่างไร?
ความถ่อมตน
“และบัดนี้, เพราะท่านถูกบีบบังคับให้ถ่อมตนท่านจึงเป็นสุข; เพราะมนุษย์บางครั้ง, หากถูกบีบบังคับให้ถ่อมตน, จะแสวงหาการกลับใจ; และบัดนี้โดยแน่แท้, ผู้ใดก็ตามที่กลับใจย่อมพบความเมตตา; และคนที่พบความเมตตาและอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ผู้นั้นจะได้รับการช่วยให้รอด.” (แอลมา 32:13)
-
สภาวการณ์ใดบีบบังคับให้ฉันนอบน้อมถ่อมตนและกลับใจ?
-
แอลมาให้ความหวังอะไรแก่ฉัน? ฉันจะพบหรือรับความหวังนั้นได้อย่างไร?
ห้อมล้อมด้วยการล่อลวง
“ข้าพเจ้าถูกห้อมล้อม, เนื่องจากการล่อลวงและบาปซึ่งได้รุกรานข้าพเจ้าโดยง่าย
“และเมื่อข้าพเจ้าปรารถนาจะชื่นชมยินดี, ใจข้าพเจ้าครวญครางเพราะบาปของข้าพเจ้า; กระนั้นก็ตาม, ข้าพเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้าได้วางใจผู้ใด
“พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าทรงเคยเป็นผู้สนับสนุนข้าพเจ้า; พระองค์ทรงนำข้าพเจ้าผ่านความทุกข์ของข้าพเจ้าในแดนทุรกันดาร; และพระองค์ทรงปกปักรักษาข้าพเจ้าเหนือผืนน้ำแห่งห้วงลึกอันใหญ่หลวง
“พระองค์ทรงทำให้ข้าพเจ้าเปี่ยมไปด้วยความรักของพระองค์, แม้จนจะเผาไหม้เนื้อหนังข้าพเจ้า” (2 นีไฟ 4:18–21)
-
เมื่อนีไฟรู้สึกหนักใจ ท่านวางใจใคร?
-
ฉันจะทําอะไรได้บ้างเพื่อวางใจในพระเจ้ามากขึ้น?
“ข้าพเจ้ารู้ว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นอะไรเลย”
“เหตุการณ์ได้บังเกิดขึ้นคือ เป็นระยะเวลาต่อเนื่องหลายโมงก่อนที่โมเสสจะได้รับพละกำลังเป็นปรกติเหมือนมนุษย์อีกครั้ง; และท่านรำพึงว่า: บัดนี้, เพราะเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงรู้ว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นอะไรเลย, ซึ่งเรื่องนี้ข้าพเจ้าไม่เคยคิดมาก่อน” (โมเสส 1:10)
-
เมื่อไม่มีความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้า ฉันรู้สึกไร้ค่าอย่างไรบ้าง?
-
ฉันมีค่าอเนกอนันต์ในด้านใดบ้าง?
-
การที่ตระหนักว่าตนเองจำเป็นต้องพึ่งพาพระผู้เป็นเจ้าจะทำให้ฉันยอมรับ “ความไม่สลักสำคัญ” ของตนเองและกลายเป็นเหมือนเด็กเล็กๆ ได้อย่างไร? (โมไซยาห์ 4:5; ดู โมไซยาห์ 3:19 ด้วย)